หนุนโมเดล200สสร.แบบผสม


เพิ่มเพื่อน    

 

เต็งหนึ่งว่าที่ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรธน. แบะท่าแก้ รธน.อาจลากยาว ชงเข้าวาระสอง-สามต้นปีหน้า อ้าง กมธ.เวลาจำกัด พรรคร่วม รบ.-ส.ว. จับมือดัน "วิรัช" คุมทัพ หนุนโมเดล ส.ส.ร.มี 200 คน แต่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งทั้งหมด

    ความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ของรัฐสภา
    โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฯ เปิดเผยว่า กรรมาธิการจะมีการประชุมกันนัดแรกวันที่ 24 พ.ย. ที่จะมีการเลือกตำแหน่งต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้มีการหารือว่าตำแหน่งประธาน กมธ.จะเป็นใคร คงจะหารือกันในที่ประชุมทีเดียว เพราะตัวบุคคลในตำแหน่งต่างๆ มีความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนที่มีชื่อของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ จะมานั่งเป็นประธาน กมธ.นั้น เพราะนายวิรัชเคยเป็นประธานคณะกมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ก่อนรับหลักการมาแล้ว โดยฐานพรรคแกนนำรัฐบาลก็มีความเป็นไปได้
    "ทั้งนี้ส่วนตัวก็เห็นว่านายวิรัชมีความเหมาะสมที่จะเป็นประธาน กมธ. และตอนที่นายวิรัชเป็นประธาน กมธ.ศึกษาฯ ทาง ส.ว.ก็ยอมรับ ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องให้เกียรติพรรคเสียงข้างมากที่จะเป็นประธานคณะ กมธ. แล้ว ส.ว.และพรรคการเมืองต่างๆ ก็เป็นรองประธานเหมือนก่อนรับหลักการ" นายชินวรณ์กล่าว
         นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า จากนั้นคงเป็นการหารือกันในภาพรวมการทำงาน ซึ่งจะเป็นกระบวนการแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้ว เข้าใจว่ากรอบการพิจารณาแปรญัตติภายใน 15 วัน เนื่องจากมีเพียงมาตรา 256 และหมวด 15/1 ว่าด้วยการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) การพิจารณาคาดว่าน่าจะไม่เกิน 45 วัน โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก เพราะเป็นมติของที่ประชุมรัฐสภา ส่วนร่างของฝ่ายค้านก็คงต้องนำมาพิจารณาว่ามีส่วนไหนที่สอดคล้องต้องกันกับร่างของรัฐบาลบ้าง สำหรับร่างของภาคประชาชนที่เสนอโดยไอลอว์นั้น อยากเรียนว่าถึงแม้จะไม่ผ่าน ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่ร่างกฎหมายเสนอโดยภาคประชาชน ที่มาถึงชั้นการพิจารณาร่วมกันของ ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งทาง กมธ.คงจะหยิบยกเนื้อหาที่มีความสอดคล้องกันมาพิจารณาด้วย ส่วนประเด็นหลักที่ต้องการให้มีการแก้ไข ทางไอลอว์ก็ต้องไปรณรงค์ในชั้นที่มี ส.ส.ร.ต่อไป
    เช่นเดียวกับ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ กล่าวเช่นกันว่า การเลือกผู้ที่จะมาเป็นประธานกมธ. ต้องอยู่กับเสียงของ กมธ. ที่มีอยู่ 45 คน หากมีการเสนอชื่อประธาน กมธ.หลายชื่อ ก็ต้องโหวต ใครได้รับเสียงมากที่สุดก็ได้ตำแหน่งไป ส่วน กมธ.คนใดจะเสนอชื่อใคร ก็เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา
    "การเสนอนายวิรัชซึ่งเป็นประธานวิปรัฐบาล
 ตามข้อเท็จจริงก็ดูไม่แปลก อย่างไรก็ตาม ต้องรอการโหวตเลือกในการประชุมครั้งแรกวันที่ 24 พฤศจิกายน ส่วนพรรคฝ่ายค้านจะเสนอชื่อใครไปเป็นแคนดิเดตหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องหารือกัน" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
      เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้รับการยอมรับมากที่สุด น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน รัฐสภามีความเห็นให้ใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลเป็นหลัก แต่ก็ให้เวลาในการแปรญัตติในวาระสอง 15 วัน ขณะนี้คิดว่าการพิจารณาในวาระสอง จะเปิดกว้างให้ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน, ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ที่เป็น กมธ. สามารถแปรญัตติได้ แม้เสียงส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการแปรบางญัตติ สมาชิกก็ขอสงวนคำแปรญัตติมาอภิปรายให้สมาชิกรัฐสภาฟังได้ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ที่มาตรา 256 และการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ส.ร.ก็สามารถไปเขียนรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชนได้อยู่แล้ว
พท.รับได้สสร.ไม่เลือกตั้งหมด
    ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ที่เป็นกรรมาธิการชุดดังกล่าวเช่นกัน กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. เหมาะสมที่จะนั่งในตำแหน่งประธาน แต่เราคงจะแพ้เสียงโหวตตั้งแต่ในมุ้งแล้ว ก็ไม่เป็นไร ขอให้เป็นเรื่องในที่ประชุมที่จะพิจารณาโหวตเลือกกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าก่อนการประชุมในส่วนของฝ่ายค้านจะหารือกัน ว่าเราจะผลักดันการแก้ไขมาตรา 256 ในประเด็นใดบ้าง รวมทั้งหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือร่างฉบับไอลอว์ ที่ตกไปแล้วในชั้นรับหลักการ ก็จะมาดูว่ามีหลักการใดที่ตรงกัน ก็จะผลักดันเพื่อให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งมีเวลา 15 วันในการแปรญัตติ เชื่อว่า ส.ส.ที่เห็นด้วยกับหลักการของไอลอว์ ที่ต้องแก้ไข เช่น เรื่องของมาตรา 272 ที่ตัดอำนาจของ ส.ว. หรือเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น
    นายสมคิดกล่าวต่อว่า ในส่วนของรูปแบบการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าฝ่ายค้านยังคงเสนอให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.ทั้ง 200 คน แต่หากต้องยึดตามรูปแบบของฝ่ายรัฐบาล คือเลือกตั้ง 150 คน แต่งตั้งอีก 50 คนนั้น เราจะจับตาตั้งแต่ที่มาของคณะกรรมการคัดสรรเลยว่ามีที่มาอย่างไร ใครเป็นผู้คัดเลือก และหาก ส.ส.ร.ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นบุคคลที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น อธิการบดี สมาคมชาวนา หรือแม้แต่ประธานนิสิตนักศึกษา เป็นต้น แบบนี้เราพอรับได้ แต่ถ้ามาจากการคัดเลือกของผู้มีอำนาจ เราไม่ยอมแน่
"วิรัช"แบะท่าแก้รธน.ไม่เร็ว
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวไทย" ยืนยันคณะกรรมาธิการฯ จะเร่งเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าปีนี้มีวันหยุดหลายวัน จึงจะเร่งรัดโดยการประชุมนัดแรกในวันที่ 24 พ.ย. ตั้งประธาน  รองประธาน และตำแหน่งต่างๆ แล้วจะกำหนดกรอบเวลาการทำงาน แต่เนื่องด้วยวันจันทร์-อังคารมีประชุมวุฒิสภา ขณะที่วันพุธ-พฤหัสบดีมีประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงเหลือเวลาวันศุกร์เพียงวันเดียวที่จะประชุมได้ แต่หากมีเนื้อหาสาระที่จะต้องพูดคุยกันมาก เพราะเชื่อว่าจะต้องมีข้อคำถาม ข้อขัดแย้ง ที่มีความเห็นต่างเกือบทุกมาตรา โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนและที่มาของ ส.ส.ร. ที่เชื่อว่าต้องใช้เวลา 3-4 นัดอาจจะยังไม่จบ ดังนั้นอาจต้องประชุมวันเสาร์ ด้วย และคาดว่าจะพิจารณาวาระ 2-3 ได้ในต้นปีหน้า
    สำหรับข้อเสนอในร่างของภาคประชาชน หรือไอลอว์ ที่นอกเหนือจากร่างแก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับที่รัฐสภารับหลักการ จะนำมาประกอบการพิจารณาหรือไม่นั้น นายวิรัชกล่าวว่า หากคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าประเด็นใดที่เป็นประโยชน์ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับหมวด 1 และ 2 หรือพระราชอำนาจ ก็สามารถนำเข้ามาประกอบการพิจารณาได้ หากประชาชนมีความต้องการจะเห็น ก็สามารถนำมาปรับได้ โดยอาจจะเป็นข้อฝากลงไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ทั้งหมดด้วย เพราะจะต้องมีความเห็นเกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้นหากภาคประชาชนต้องการเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ก็สามารถเสนอเข้ามาได้ ขณะเดียวกันคงต้องตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ขึ้นมาอีกอย่างน้อย 2 คณะ ทำงานคู่ขนานกัน เพื่อพิจารณาในรายละเอียดบางเรื่องที่คิดว่าควรจะเพิ่มเติม หรือหากเพิ่มแล้วจะขัดหรือแย้งกับหลักการหรือไม่ โดยทำเหมือนตอนที่พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า กรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน. พบว่าจะมีกรรมาธิการประเภทฮาร์ดคอร์อยู่หลายคน ซึ่งไม่มั่นใจว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีกรรมาธิการบางคนได้แสดงท่าทีอภิปรายคัดค้านญัตติร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่งอย่างแข็งขันมาแล้ว จึงไม่มั่นใจว่ายังยืนยันในความคิดเดิมอีกหรือไม่
         ส่วนระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ จำนวน 45 วัน ตามกรอบเวลาที่รัฐสภาอนุมัติ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 1  มกราคม 2564 ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการพิจารณาในวาระ 2 ที่มีเนื้อหาของร่างเพียง 5 มาตรา และไม่ควรจะขยายเวลาออกไปอีก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองภายนอกกำลังกดดันรัฐบาลอยู่ แม้ว่าจะมีกรรมาธิการบางคนได้ออกมาแสดงความเห็นในลักษณะโยนหินถามทางไว้ก่อนว่าอาจจะไม่สามารถพิจารณาเสร็จทันภายในเดือนธันวาคม เพราะมีวันหยุดราชการหลายวันนั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ถ้าหากมีวันหยุดราชการหลายวัน คณะกรรมาธิการฯ ก็ควรจะเพิ่มวันประชุมให้มากขึ้น เพื่อให้การทำงาน ของคณะกรรมาธิการฯ เสร็จภายในกรอบเวลาที่รัฐสภากำหนด จะได้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทุกคนด้วย
    นายเทพไทกล่าวอีกว่า ส่วนรายละเอียดว่าด้วยที่มาของ ส.ส.ร.ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านกับร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ตอนแรกสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน มาจากสัดส่วนกลุ่มต่างๆ อีก 50 คน เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มนักวิชาการและตัวแทนของสมาชิกรัฐสภา มีส่วนร่วมในการเป็น ส.ส.ร.ด้วย แต่จากความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากประชาชนโดยตรงทั้ง 200 คนนั้น ส่วนตัวก็ไม่ขัดข้อง และสนับสนุนการแปรญัตติให้ ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนกับร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อจะได้ไม่มีข้อครหาเรื่องการล็อกสเปก เล่นพรรคเล่นพวก หรือรัฐบาลแทรกแซง ส.ส.ร.ได้
สภาสูงหนุนโมเดลร่างรัฐบาล
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการ ชุดดังกล่าวเช่นกัน กล่าวว่า ประธานคณะกรรมาธิการฯ น่าจะเป็นนายวิรัช รัตนเศรษฐ  
    เมื่อถามว่า เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว คิดว่าสถานการณ์การชุมนุมจะเบาลงหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ไม่เบาลง เพราะเป้าหมายข้างนอกไม่ใช่ตรงนี้แล้ว
     พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการอีกคน ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ กมธ.จะลงมติให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ส่วนกรอบการพิจารณาของ กมธ.นั้น นอกจากยึดบทบัญญัติของร่างฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ อาจนำเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพิจารณาร่วมด้วย เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด
         "ที่มาของ ส.ส.ร.นั้น ต้องยึดจากร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอคือ มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และการสรรหา 50คน เพราะถึงจะมีโควตาจากการสรรหา 50 คน แต่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. ที่ประชุมอธิการบดี นักวิชาการ ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ได้มีส่วนร่วมสรรหาบุคคลเข้ามาเป็น ส.ส.ร. ทำให้ ส.ส.ร.มีความหลากหลาย มีความเป็นธรรมเพราะได้ตัวแทนจากทุกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"