ธ.ค.ชงคนละครึ่งเฟส2 คลังเพิ่มเงินบัตรคนจน


เพิ่มเพื่อน    

  คลังชง ศบศ.ต้นเดือน ธ.ค.ลุยคนละครึ่งเฟส  2 เปิดใช้สิทธิ์ลากยาวถึงตรุษจีน ยัน 10 ล้านคนแรกไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ช้อปดีมีคืนหมดสิทธิ์เข้าร่วม พร้อมอัดฉีดเงินช่วยเหลือบัตรคนจนเพิ่ม ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินฟื้นฟู ศก.รอบ 2 อีก 1.52 แสนล้านบาท

    เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมรายละเอียดเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)  พิจารณาเห็นชอบ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การขยายเวลาโครงการคนละครึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดรับลงทะเบียนเพิ่ม รวมถึงวงเงินที่จะนำมาใช้ ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีวงเงินที่เหลือจากโครงการคนละครึ่งในรอบแรก วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาทเท่าไหร่ และจะต้องมีการขอใช้เงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาทอีกเท่าไหร่ และ 2.มาตรการดูแลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  โดยจะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ให้อยู่ 500  บาท
    ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งแล้ว 10 ล้านคน คาดว่าจะได้รับสิทธิ์ต่อทันที ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะมีข้อมูลอยู่ในระบบทั้งหมดแล้ว โดยหลังจากนี้ต้องไปหารือกับธนาคารกรุงไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป  แต่ถ้าผู้รับสิทธิ์ในรอบแรกคุณสมบัติขัดจะไม่ได้รับสิทธิ์ในรอบ 2
    ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง  กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอขยายอายุมาตรการคนละครึ่ง เฟส 2 เข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาจำนวนผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ที่มาแย่งกันลงทะเบียนผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย  โดยกระทรวงการคลังมีเป้าหมายที่จะเก็บตกกลุ่มตกหล่นให้ครบเพิ่มเติมจากกลุ่มที่ลงทะเบียน 10 ล้านคนในรอบแรก
    "กระทรวงการคลังขอเวลาไปพิจารณาตัวเลขกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ อาจจะเป็น 14-15 ล้านคนก็ได้ โดยได้สั่งให้กรุงไทยไปดูตัวเลขของคนที่เข้ามาลงทะเบียนพร้อมกันใน 3 รอบที่เปิดรับลงทะเบียนว่ามีปริมาณสูงสุดเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้วงเงินกู้จากพระราชกำหนดแก้ปัญหาโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทยังเหลือ ก็จะนำมาใช้ในส่วนนี้ โดยจะเสนอพร้อมกันกับมาตรการอื่นๆ เป็นแพ็กเกจเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่"  นายกฤษฎาระบุ
    ทั้งนี้ การขยายอายุมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 จะลากยาวให้พ้นช่วงเทศกาลตรุษจีนออกไปอีก แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะยาวถึง 3 เดือนหรือไม่ ซึ่งในหลักการจะเป็นการต่อเวลาออกไปและเป็นการให้เงินรอบใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะให้ถึง 3,000 บาทเหมือนเดิมหรือไม่  เพราะส่วนที่เหลือจากรอบแรกที่ใช้ไม่ทันภายในวันที่ 31  ธ.ค.นี้อาจจะไม่ได้ถูกนำไปรวมกับรอบใหม่
    ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า รมว.การคลังยังได้สั่งการให้ไปดำเนินการตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ไปดูแลกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐอีก 14 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ว่าจะมีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร  โดยเบื้องต้นจะมีการเสนอเพิ่มสวัสดิการให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ เช่น การให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมไปพร้อมกับการเสนอมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 เข้าที่ประชุม ศบศ.เป็นแพ็กเกจ
    อย่างไรก็ดี มาตรการคนละครึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือนให้มาใช้สิทธิ์ในมาตรการนี้ ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่ามาตรการช้อปดีมีคืน ดังนั้นการขยายมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 ออกไปอีก  คนที่เข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืนจะไม่สามารถเข้าร่วมคนละครึ่งเฟส 2 ได้เหมือนเดิม
    นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คาดว่าการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 จะลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com เหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนมีการปรับตัวและชำนาญในการลงทะเบียน รวมถึงใช้ระบบแอปพลิเคชันแล้ว แต่ยังต้องรอ ครม.พิจารณาก่อนว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนเฟส 2 ได้เมื่อไหร่  ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปลายเดือน ธ.ค.63 เพื่อให้เริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64
    "คนที่ได้สิทธิ์แล้ว 10 ล้านคนไม่ต้องกังวลว่าจะได้สิทธิ์ในเฟส 2 หรือไม่ ซึ่งคาดว่าใครที่เคยลงทะเบียนแล้วก็จะได้รับสิทธิ์ทันที ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ หรือกดปุ่มให้ยืนยันเพื่อยืนยันการใช้สิทธิ์ เพียงแต่ขอให้รอรายละเอียดจาก ครม.ก่อนว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเท่าไหร่ และระยะเวลาของมาตรการที่ขยายออกไปจะสิ้นสุดเมื่อใด" ผอ.สศค. กล่าว
    ทั้งนี้ สศค.จะเสนอให้ ครม.พิจารณาหลายตัวเลือก  เช่น การให้ยกเลิกวงเงินที่เหลือในโครงการรอบแรก ซึ่งใช้ไม่ทันในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ แต่จะเป็นการจ่ายเงินรอบใหม่ให้เลย หรือจะให้นำวงเงินที่เหลือในรอบแรกไปสมทบกับวงเงินในโครงการรอบใหม่ โดยยังต้องขอดูในภาพรวมก่อนว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะการใช้จ่ายเงินอย่างไร
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า? ครม.รับทราบกรอบแนวคิดการจัดทำแผนงานหรือโครงการ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด รอบที่ 2 วงเงิน 152,000 ล้านบาท ประกอบด้วย  4 กลุ่มแผนงาน/โครงการหลัก ได้แก่?
    1.กลุ่มแผนงานโครงการส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไป อาทิ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน  ของกระทรวงแรงงาน (19,462.0019 ล้านบาท) และกลุ่มโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพ 2.กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น เช่น โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก (45,000  ล้านบาท) 3.กลุ่มแผนงาน/โครงการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคเพื่อฟื้นฟูตลาดและเศรษฐกิจทุกระดับ เช่น  โครงการคนละครึ่ง (30,000 ล้านบาท) และ 4.กลุ่มแผนงาน/โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มโครงการเพื่อพัฒนาและบริการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะช่วยสนับสนุนจีดีพีของประเทศไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.2 ในปี 2563 และร้อยละ 0.25 ในปี 2564  
    นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติ 3 โครงการ ได้แก่  โครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด-19/ โครงการพลิกวิกฤติโควิด-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจากโอทอป สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน และโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการนวดไทยในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  โดยมีรายละเอียดดังนี้ โครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด-19  โดยกระทรวงมหาดไทย งบประมาณ วงเงินรวม 95.0000  ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการโอทอประดับ 3-5 ดาว ทั้ง 76 จังหวัด  
    ส่วนโครงการพลิกวิกฤติโควิด-19 COVID-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจาก OTOP สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน  โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมเกษตรสมุนไพรวนเกษตร 10 แห่ง (จ.เชียงราย จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.อุทัยธานี จ.อุตรดิตถ์ จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี จ.นครพนม จ.ชุมพร และ จ.พัทลุง) ผู้ประกอบการ OTOP 250 ราย วิสาหกิจชุมชนและประชาชน 2,500 คน ในวงเงิน 8.3211 ล้านบาท
    สำหรับโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการนวดไทยในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 9.1981 ล้านบาท โดยจะเปิดหลักสูตรอบรมนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง จำนวน 20 รุ่น รุ่นละ 40 คน และหลักสูตรนวดเท้าเพื่อสุขภาพ 60  ชั่วโมง จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 40 คน ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย 1,000 คน จะเป็นประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีอาชีพด้านการนวด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"