วิษณุชี้ผู้ชุมนุมไม่ร่วมวง ตั้ง‘กก.สมานฉันท์’ไร้ผล


เพิ่มเพื่อน    

 

นายกฯ เตรียมถก ครม.เคาะชื่อ 2 ตัวแทนรัฐบาลนั่งคกก.สมานฉันท์ "วิษณุ" ชี้จำนวนคณะกรรมการไม่สำคัญ หากผู้ชุมนุมไม่ร่วมพูดคุยก็ไร้ประโยชน์ "ภท." ส่ง "สรอรรถ" เป็นตัวแทนพรรค "พรรคฝ่ายค้าน" ยังกั๊กร่วมวงปรองดอง อ้างขอดูแนวทางก่อน แย้มมีแนวคิดเสนอ "ธนาธร-ปิยบุตร" ร่วมวง "พท." เล็งถกกมธ.แก้ รธน.ถามที่มา ส.ส.ร.
    เมื่อวันที่ 25 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการคัดตัวแทนรัฐบาล 2 คนร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาว่าจะเสนอใครเข้าไป วันนี้ทราบถึงความก้าวหน้าที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ข่าวแล้ว ก็มีหลายส่วนซึ่งต้องไปพิจารณาว่าเมื่อได้ข้อสรุปมาแล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อไป
    "อย่าลืมว่าอำนาจก้าวล่วงกันไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญ หลายคนก็เสนอว่าให้บังคับรัฐบาลได้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า เพียงแต่ขณะนี้ขอให้ไปหารือกันมา อะไรแก้ไขได้ทำได้เราก็ทำ ไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้งกัน ก็เป็นการดีเสียอีกถ้าทำได้" นายกฯ กล่าว
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทราบเพียงข่าวที่ออกมาทางสื่อถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ยังไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด ส่วนแนวทางที่จะให้ผู้ชุมนุมมาเป็นกรรมการเพียงแค่ 2 คนนั้นก็ไม่ทราบ เพราะเขาจะมีการตกลงกันเอง
    "แค่ 2 คนก็ขอให้มาเถอะ เพราะถ้าเขาไม่มา ต่อให้ตั้งคณะกรรมการเป็น 10 คนก็ไม่มีประโยชน์" นายวิษณุกล่าว
    ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวว่า พรรคเตรียมส่งชื่อนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย ร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ในโควตาของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งรายชื่อดังกล่าวต้องนำหารือกับที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) อีกครั้ง
    "แนวทางการสร้างสมานฉันท์หรือความปรองดองในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อเปิดพื้นที่ให้พูดคุยร่วมกัน" นายศุภชัยกล่าว
    ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรค พท.หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่มีมติต่อการส่งบุคคลเข้าร่วมเป็นตัวแทนร่วมกรรมการสมานฉันท์ ตามที่นายชวนสรุปโครงสร้างของกรรมการ ต้องรอพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง หากหลักการกรรมการคณะดังกล่าวเป็นประโยชน์ก็จะเข้าร่วม
    "การทำงานของกรรมการอาจยากต่อการหวังถึงความสำเร็จ เพราะกรรมการคณะดังกล่าวเป็นเพียงการพบปะพูดคุย ไม่มีผลในทางบังคับให้ต้องปฏิบัติ อีกทั้งที่ผ่านมาพบว่ากรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องใดนั้น ไม่มีหน่วยงานใดรับไปปฏิบัติ ซึ่งการปรองดองที่จะเกิดขึ้นได้จริงต้องอยู่ที่จิตสำนึก" นพ.ชลน่านกล่าว
    ซักว่ามีความเป็นไปได้ที่จะส่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นตัวแทนเข้าร่วมหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นไปได้ หากพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเสนอบุคคลในคณะก้าวหน้าเข้าร่วม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายชวนจะพิจารณาอย่างไรหรือไม่
    น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า แม้วันนี้รัฐบาลพยายามเสนอทางออกประเทศ แต่ก็เต็มไปด้วยความจอมปลอมและยื้อเวลา ด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ 21 คน 7 ฝ่าย ซึ่งพรรค พท.เสนอทางออกการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์  ได้แก่ 1.รัฐต้องมีความจริงใจในการรับฟังข้อเรียกร้องที่แท้จริงของประชาชน 2.รัฐต้องหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลยให้เกิดม็อบชนม็อบ สลายการชุมนุมโดยใช้สารเคมีรุนแรงหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.นี้ผ่านมา 3 พล.อ.ประยุทธ์ คือภาระ และเป็นสลักระเบิด ดึงให้สถานการณ์มาถึงจุดนี้ต้องลาออกทันที   
    "หากรัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอนี้ จะทำให้บรรยากาศการเมืองเดินหน้าได้ พรรคยังยืนยันว่ารัฐบาลควรฟังเสียงประชาชน และไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ในสภา เพื่อเดินหน้าทวงถามความจริง และหาทางออกที่สันติให้กับประเทศต่อไป" โฆษกพรรค พท.กล่าว
    ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี กล่าวถึงการส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ตนยินดี แต่กังวลในข้อเรียกร้อง 3 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งไม่มีทางที่จะพูดคุยกันได้รู้เรื่อง แต่ถ้าม็อบกลับมามองตัวเองว่าอย่าทำเรื่องนี้เลย เพราะเป็นการสนองความต้องการของนักการเมืองบางกลุ่มและต่างชาติ ถ้าลดตัวเองมาแล้ว และมาดูว่าอะไรที่เป็นปัญหาของประชาชน ก็สามารถเจรจากันได้ แต่ถ้าตั้งมั่นว่าจะล้มล้างสถาบันอย่างไรก็ไม่จบ
    ที่รัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นัดแรกเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ว่า กรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ จะมีการหารือกันในวันที่ 27 พ.ย. ซึ่งที่ประชุมขอให้สมาชิกรัฐสภาแปรญัตติเพื่อแก้ไขเนื้อหาให้ทันตามกำหนด 15 วัน โดยแต่ละพรรคได้แจ้ง ส.ส.ของตนเองแล้ว ส่วนระยะเวลาการทำงานที่ฝ่ายค้านต้องการระยะเวลาสั้นกว่า 45 วันนั้นได้หารือกับนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมาธิการฯ โดยได้รับแจ้งว่ากรอบเวลาของคณะกรรมาธิการฯ ขอให้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะมีความเห็นอย่างไร
    "การประชุมของคณะกรรมาธิการฯ จะมีขึ้นสัปดาห์ละหนึ่งวัน คือวันศุกร์ตลอดทั้งวัน และหากจะเร่งการทำงานก็ต้องมีการเพิ่มวันประชุมต่อไป โดยประเด็นแรกจะพูดคุยกันคือเนื้อหาแต่ละมาตรา ว่าจะดำเนินการพิจารณาอย่างไร แต่คิดว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะตั้งคณะอนุกรรมาธิการ" นายสมคิดกล่าว
    โฆษก กมธ.พิจารณาร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันว่ากำหนดการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น อยากให้ฟังเสียงของทุกภาคส่วน ซึ่งในส่วนนี้กรรมาธิการสัดส่วนของฝ่ายค้านจะเสนอแก้ไขจำนวนสมาชิก ส.ส.ร.ที่หลายฝ่ายยืนยันว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 200 คน โดยจะต้องมีการพูดคุยในคณะกรรมาธิการว่า ส.ส.ร.ที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งจำนวน 50 คนตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลจะปรับแก้ไขอย่างไร ซึ่งคณะกรรมาธิการแต่ละกลุ่มยังพูดคุยกันในวงกว้างๆ อยู่
    ถามว่าฝ่ายค้านอยากให้แก้ไขในประเด็นใดมากที่สุด นายสมคิดกล่าวว่า เป็นเรื่องที่มาของคุณสมบัติของสมาชิก ส.ส.ร. เพราะฝ่ายค้านยืนยันว่าอยากให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน นอกจากนี้จะมี ส.ส.เสนอให้นำเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์เข้ามาพิจารณาด้วย เพราะไอลอว์เสนอให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน โดยเป็นลักษณะการกำหนดให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง จึงคิดว่าอาจเสนอให้ปรับใช้โดยกำหนดให้สมาชิก ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งเขตจังหวัด 100 คน และระบบประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน ซึ่งสามารถเสนอเข้ามาได้ เพราะยังสอดคล้องกับหลักการที่รัฐสภาได้มีมติรับหลักการเอาไว้ นอกจากนี้ฝ่ายค้านยังประสานไปยังไอลอว์เพื่อขอให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการ
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสำคัญ เพราะเป็นข้อตกลงที่คนกว่า 60 ล้านคนจะอยู่ร่วมกันว่าเราจะเล่นในเกมนี้ ทุกคนไม่หยิบปืนมายิงกัน ไม่แย่งอำนาจกัน แต่ทุกคนจะเล่นในเกมนี้ แพ้ชนะกันว่าไปตามกติกา โดยมีข้อตกลงตามรัฐธรรมนูญ
    "ผมกังวลมากจริงๆ ถ้าใช้ร่างของรัฐบาลผ่านสภาในวาระ 2 และ 3 เกรงว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและอำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งหากไม่เปิดความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หาทางออกที่สันติไม่ได้ และหวังว่ามันจะไม่ต้องเดินไปถึงจุดที่บาดเจ็บล้มตายอีกรอบ” นายธนาธรกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"