คมนาคมโชว์แผนปี65คนไทยได้เห็นรถไฟทางคู่ 5เส้นทาง


เพิ่มเพื่อน    

26 พ.ย. 2563 นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดงานแสดงสินค้าและการประชุมด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง Rail Asia 2020 และกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Thailand’s Rail Developments” หรือการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายพัฒนาการคมนาคมระบบรางให้เป็นระบบหลักในการขนส่ง เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งขึ้น 30% พร้อมแนวคิดการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมการให้บริการเพื่อให้การใช้งานรางได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนสร้างผลตอบแทนให้ประเทศชาติอย่างคุ้มค่าสูงสุด

นายพิศักดิ์ กล่าวว่า การเดินทางด้วยระบบราง คือ การเดินทางแห่งอนาคตที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทที่เน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้ระบบรางเป็นระบบหลัก ในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ ทั้งการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล การพัฒนารถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างเมือง หรือการพัฒนารถไฟความเร็วสูง

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบรางเชื่อมการเดินทางระหว่างประเทศและช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นถึงความคุ้มค่าและมูลค่าเพิ่มในอนาคตจากการลงทุน จึงวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางในสัดส่วนมากที่สุด โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาระบบรางมีบทบาทต่อการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทำให้การเจริญเติบโตของเมืองกระจัดกระจายไม่ตอบสนองต่อจำนวนประชากรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการลงทุนระบบรางมากขึ้น เพื่อผลักดันระบบรางเป็นระบบหลักการเดินทางและการขนส่งของประเทศในอนาคต ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ การจ้างงาน การท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังรวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันทางรถไฟครอบคลุมพื้นที่กว่า 47 จังหวัด ระยะทางกว่า 4,044 กิโลเมตร แต่ยังไม่เพียงพอเพราะสัดส่วนของทางรถไฟเป็นทางเดี่ยวต้องผลักดันโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ให้มีเส้นทางเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2565 รถไฟทางคู่จะแล้วเสร็จเพิ่มอีก 5 สาย คิดเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรางและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ รวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 2 โครงการ คือโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมาและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการอีก 6 โครงการ ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะเป็นระยะทางรวมกว่า 2,466 กิโลเมตร โดยโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะมีจำนวนทั้งสิ้น 14 สายทาง 367 สถานี คิดเป็นระยะทางกว่า 553 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ คาดว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2570

อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญการพัฒนาระบบรางในทุกภูมิภาคโดยภายในปี 2571 ประเทศไทยจะมีระบบรางขนาดใหญ่ที่เข้าถึงทุกภูมิภาคของประเทศ และเมื่อโครงการทั้งหมดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วเสร็จ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับงานดังกล่าวมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าภาพร่วมการจัดงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมงาน นายเดวิด เอ๊ทคิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เอ็กซิบิชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"