เชิญอธิการบดีร่วมกก. ไพบูลย์ห้ามแตะสถาบัน


เพิ่มเพื่อน    

 

"ชวน" ส่งหนังสือเชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยร่วมนั่ง คกก.สมานฉันท์ ชี้ไม่หวังทุกฝ่ายตอบรับครบ เผยวาระเร่งด่วนหาทางลดความขัดแย้ง ดึงอดีตเป็นบทเรียน "ไพบูลย์” ชงแก้ รธน.ห้ามแตะสถาบัน พร้อมตีกรอบ ส.ส.ร. ยกร่างเสร็จให้ส่งศาล รธน.วินิจฉัย "ปิยุบตร" ตั้งเงื่อนไขร่วมวงต้องยึด 3 ข้อของม็อบ "เต้" ทิ้งลุงตู่ ลาออกพ้นขั้ว รบ. "สิระ" ตามซ้ำไปแล้วอย่ากลับมา
    ที่รัฐสภา วันที่ 26 พ.ย. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ตามโครงสร้าง 7 ฝ่าย 21 คน ว่า ได้ส่งหนังสือไปยังฝ่ายต่างๆ เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือไปยังที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งขณะนี้รอการตอบกลับมา
    ถามว่าคาดหวังว่าทุกหน่วยงานจะให้การสนับสนุนหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า เคยบอกแล้วว่าไม่ได้เล็งผลอะไรในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เมื่อสภามอบหมายให้ทำ จึงคิดว่ารูปแบบของการหารือนี้ไม่มีความประสงค์ที่จะต้องรอให้ครบทุกฝ่าย แต่หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือได้ทั้งหมดก็ถือเป็นเรื่องดี
    "ถ้าได้การตอบรับมาเท่าไหร่ก็เท่านั้น ซึ่งคณะทำงานจะหารือต่อไปว่าควรทำอย่างไร ส่วนกรอบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ต้องรอดูทั้ง 7 ฝ่ายว่ามีการตอบรับมากี่ฝ่าย และคงมีการรายงานให้ทราบต่อไป จากนั้นจะเป็นขั้นตอนเลือกประธานคณะกรรมการ" นายชวนกล่าว
    ประธานรัฐสภากล่าวว่า วาระเร่งด่วนของคณะกรรมการชุดนี้จะต้องหาทางลดความขัดแย้งภายในบ้านเมือง ซึ่งต้องแยกให้ออกว่ารูปแบบของคณะกรรมการชุดที่ 2 ที่วางแผนจะดำเนินการต่อเป็นการมองในระยะยาวในอนาคต ต้องนำบทเรียนในอดีตมาศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย โดยเชื่อว่าทั้งหมดมีวิธีการป้องกันได้
    "จะนำเรื่องที่เกิดจริงในอดีตมาศึกษาว่าความขัดแย้งระหว่างประชาชน ในกรณีนี้เกิดจากอะไร มาศึกษา เช่น ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากอะไร และนำตัวอย่างที่เกิดขึ้นมา ป้องกันตั้งแต่ต้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก" ประธานรัฐสภากล่าว
    ถามว่าหากผู้ชุมนุมไม่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ด้วยจะทำให้ความจริงทั้งหมดไม่ได้ออกมาจากอีกฝ่ายหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ความจริงทางคณะกรรมการฯ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการสำหรับการให้ข้อมูล การเข้าร่วมหากรอให้พร้อมทั้งหมดจะไม่มีทางทำอะไรได้ เพราะบางฝ่ายไม่อยากเข้าร่วม แต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการชุดนี้ต้องหาทางต่อไปว่าทำอย่างไรให้ประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากที่สุด
    ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... กล่าวว่า จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 256/13 วรรคห้าและวรรคหก โดยวรรคห้า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในหมวดอื่นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะกระทำมิได้ และต้องบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มาตรา 269 มาตรา 272 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป
    ส่วนวรรคหก เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นการชอบด้วยวรรคห้าหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ไม่เป็นไปตามวรรคห้าให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญคืนแก่สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไข กรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่แก้ไขให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
    "สาเหตุที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/13 วรรคห้าและวรรคหก เพื่อให้เป็นไปตามความห่วงใยของกลุ่มประชาชนปกป้องสถาบันฯ ที่ออกมาคัดค้านการตั้ง ส.ส.ร. เนื่องจากห่วงว่าจะกระทบพระราชอำนาจ ซึ่งผมแม้จะโหวตให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. แต่มีจุดยืนที่ไม่ยอมให้มีการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ส่วนสาเหตุที่เสนอให้ยังคงมาตรา 269 ก็เพื่อรักษาสิทธิ์ ส.ว. ให้ดำรงตำแหน่งครบตามวาระ และที่เสนอให้คงมาตรา 272 ให้ ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้นั้น เนื่องจากประชาชน 15 ล้านคนออกเสียงเห็นชอบ รวมทั้งการเสนอให้คงมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองประกาศและคำสั่ง คสช. ก็เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการดำเนินคดีเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการ ที่ดำเนินการในสมัย คสช." นายไพบูลย์กล่าว
    ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีพรรคฝ่ายค้านจะเสนอชื่อเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรองดองว่า ที่ผ่านมามีคณะกรรมการปรองดองเกิดขึ้นมาแล้วหลายชุด ครั้งนี้ก็เช่นกัน สำหรับตนเองนั้น หลักคือไม่ใช่ว่าใครที่ไปนั่งเป็นกรรมการบ้าง แต่ต้องเป็นเรื่องของเนื้อหา และขอบเขตของการทำงานนี้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกและเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่อย่างสันติ 2.การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าจงใจละเลยข้อใดไป คณะกรรมการชุดนี้ก็จะเหมือนชุดก่อนๆ คือมีแต่รายงาน ไม่ได้ถูกนำไปใช้ ดังนั้นไม่สำคัญว่าตนหรือธนาธรจะเข้าไปอยู่ในกรรมการหรือไม่ แต่อยู่ที่มีการพูดคุยข้อเรียกร้องนี้หรือไม่
    "พูดหลายครั้งว่าไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผมเข้าไปร่วม เพราะเนื้อหาที่ต้องคุยกันทั้ง 3 เรื่องนั้นอยู่ในที่สาธารณะอยู่แล้ว อยู่ที่กรรมการตั้งใจจะทำเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งพอได้มาเห็นโครงสร้างของกรรมการแล้ว ก็พบแต่กลุ่มคนที่โจมตีผู้ชุมนุมจะเอาคนเหล่านี้หรือมาเป็นคนสร้างความปรองดอง เพราะไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. ก็ล้วนแต่เป็นฝ่ายที่มีชุดความคิดเดียวกัน เชื่อมโยงมาจากการสืบทอดอำนาจของ คสช. ดังนั้นจึงกลัวว่าจะมาเป็นพวกที่ตีกรอบว่าเรื่องไหนพูดได้ เรื่องไหนพูดไม่ได้ ซึ่งคิดว่าจะไม่ได้สร้างบรรยากาศในกการพูดคุยเลย" นายปิยบุตรกล่าว
    วันเดียวกัน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ไลฟ์สดเปิดใจประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยช่วงหนึ่งอ้างว่า นายกฯ ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการปล่อยให้เกิดม็อบชนม็อบ ทำให้ประชาชนสองฝ่ายปะทะกันจนบาดเจ็บจำนวนมาก และที่สำคัญคือใช้กฎหมาย ม.112 ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ทั้งที่นายกฯ เคยบอกเองว่าในหลวงไม่ต้องการให้ใช้กฎหมายมาตรานี้เพราะมีอัตราโทษหนัก
    "ผมยังมองไม่เห็นอนาคตว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ จะเกิดผลดีอย่างไร ยังมองไม่เห็นว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จได้อย่างไร เพราะท่านไม่มีความจริงใจ แต่ยิ่งอยู่บ้านเมืองยิ่งแตกแยก ผมจึงไม่สามารถอยู่ร่วมกับรัฐบาลของท่านต่อไปได้" นายมงคลกิตติ์กล่าว
    ต่อมานายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาที่รัฐสภา พร้อมนำกล้วยหอมจำนวน 3 ลูก เตรียมมอบให้กับนายมงคลกิตติ์ หลังจากที่นายมงคลกิตติ์ไลฟ์เฟซบุ๊กถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ
    นายสิระกล่าวว่า วันนี้ถ้าผมเจอ ส.ส.เต้ ก็จะเอากล้วยหอมที่ถือมาไปให้ เผื่อไม่ได้รับประทานข้าวเช้ามา เดี๋ยวจะหิว มาสภาไม่มีอะไรกิน หรือหิวมาจากที่ไหนก็ไม่รู้ ก็กินกล้วย เผื่อจะได้มีสติปัญญาบ้าง ซึ่ง 3 ลูกนี้น่าจะพอ ถ้าไม่พอก็ไปหาเอาเอง
    ถามว่าหากนายมงคลกิตติ์กลับมาร่วมรัฐบาลอีกจะต้อนรับหรือไม่ นายสิระกล่าวว่า ไปแล้วไปเลย อย่าเข้ามา และให้สัญญากับประชาชนด้วยว่าจะไม่กลับมา เพราะพฤติกรรมอย่างนี้ใครจะต้อนรับ
    อย่างไรก็ตาม นายมงคลกิตติ์โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ทันทีว่า "ผมชอบกินข้าวเหนียวมะม่วงหรือขนุนมากกว่า ส่วนกล้วย 3 ใบนี้ ซึ่งเป็นของพี่ๆ ไม่ต้องแบ่ง กินเองเถอะ เห็นพี่กินบ่อยจนร่างกายท้วมตราเด็กสมบูรณ์ตุ้ยนุ้ยเลย ขอบคุณครับ".

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"