ปตท.คาดราคาน้ำมันปี 64 ผันผวนจับตาการคุมโควิด-เทรดวอร์


เพิ่มเพื่อน    


27 พ.ย.2563 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในวาระเป็นประธานเปิดงานสัมมนาออนไลน์ 2020 The Annual Petroleum Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ “The Great Reset : เมื่อโรคปฏิวัติโลก… เจาะลึกจุดเปลี่ยนโลกพลังงาน” โดยทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของ กลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ว่าทีมนักวิเคราะห์นั้นได้มีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบในปี 2564 อยู่ที่ 45-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 63 เนื่องด้วยสัญญาณบวกจากความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ และแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดน้ำมันยังคงมีความเสี่ยง หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดเกิดการระบาดต่อเนื่องและยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ระดับ 35 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

นายเมธา วีระโอฬารกุล พนักงานการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายการค้าอนุพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าแนวโน้มของสถานการณ์การใช้น้ำมันของโลกในปี 2564 นั้น จะแบ่งได้เป็น 2 อย่าง ได้แก่ 1. ถ้าสถานการณ์มาตรการทางเศรษฐกิจจากทุก ๆ ประเทศอัดฉีดเข้าไปได้เพียงพอ หรือสถานการณ์โควิด-19 สามารถควบคุมได้ รวมถึงสงครามทางการค้า(เทรดวอร์) ระหว่างจีนกับสหรัฐลดความรุนแรงลง สามารถเจรจากันได้มากขึ้น จะส่งผลให้จีดีพีเติบโตอยู่ที่ 5.2% และส่งผลการใช้น้ำมันเติบโตอยู่ที่ 5.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน 2.ถ้ามาตรการทางด้านเศรษฐกิจไม่เพียงพอ สถานการณ์โควิดไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงเทรดวอร์ยังรุนแรงอยู่นั้นจะส่งผลให้จีดีพีโลกเติบโตเพียง 3.4% และความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นเหมือนพายุลูกใหญ่ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการใช้น้ำมัน โดยที่ผ่านมาความต้องการใช้น้ำมันในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลง 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ฝั่งประเทศยุโรปที่มีการล็อคดาวน์เช่นเดียวกัน จึงทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านประเทศจีนความต้องการใช้ลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลขมาจากภาคขนส่ง ในด้านการบินที่ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากแต่ละประเทศไม่สามารถเปิดน่านฟ้าให้มีเที่ยวบินได้ โดยมีตัวเลขลดลงกว่า 47% จากการเก็บสถิติของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา)  

ทั้งนี้ความต้องการใช้จะฟื้นคืนมาได้ต้องอาศัยความคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งดูได้จากประเทศจีนที่สามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้แล้ว และมีตัวเลขประเมินเศรษฐกิจ(จีดีพี)เป็นบวก ซึ่งในปีหน้าการคาดการณ์จีดีพีของประเทศจีนจะอยู่ที่ 8.2% จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเติบโตอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเป็นสัดส่วนโดยรวมของโลกเติบโตขึ้น 6.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี โดยเป็นการใช้จากภาคาการบิน การขับขี่ และภาคอุตสาหกรรม  

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวแบบช้า ๆ ขณะที่ประเทศไทยในปีหน้าการส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี โดยปัจจัยที่ต้องจับตามีทั้งหมด 4 ด้านได้แก่ 1.ความชัดเจนในการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือปัจจัยการเมืองต่าง ๆ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัจจัยทางการเมือง แต่ก็ต้องพยายามจัดการไม่ให้สะดุด  

2.ค่าเงินบาท ที่ปัจจุบันแข็งค่าอย่างมากทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาทก็จะลดลง ศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งก็จะลดลง จึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ไม่ให้เสียความสามารถในการส่งออก 3.การดูแลไม่ให้โควิด-19 มีการระบาดรอบสอง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าถ้าวัคซีนสามารถนำมาใช้ได้เร็วจะทำให้เศรษฐกิจกลับฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และ 4.เทรดวอร์ ไทยเองไม่ควรเลือกข้าง ต้องใช้กลยุทธ์เอียงจีนอ่อนตามสหรัฐ โดยพยายามค้าขายกับจีนผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงเดินหน้าตามสหรัฐหากมีมาตรการส่งเสริมการค้าหรือการลงทุน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"