นักเรียนนัด1ธ.ค. ใส่‘ไปรเวท’ไปรร. ครูตั้นลั่นไม่ยอม!


เพิ่มเพื่อน    

 

“ภาคีนักเรียน KCC-นักเรียนเลว” ปลุก 1 ธันวาคมใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน อ้างโตแล้วใส่อะไรก็ได้ เลขาฯ กพฐ.บอกการเชิญชวนเป็นสิทธิ แต่สังคมเขามีกติกา “ครูตั้น” ลั่นยอมไม่ได้  ชี้รับฟังข้อเสนอแล้วแต่อย่ากดดัน เพราะทุกเรื่องมีขั้นตอน
    เมื่อวันที่ 27 พ.ย. เพจภาคีนักเรียน KKC ได้โพสต์เชิญชวน “1 ธันวาคม พร้อมใจกันแต่งไปรเวทไปโรงเรียน” โดยมีเนื้อหาว่า นักเรียนทุกคนจงอย่ากลัวที่จะตั้งคำถามกับการมีอยู่ของเครื่องแบบนักเรียน เราขอเชิญชวนให้พี่น้องนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนเพื่อเป็นการตั้งคำถามว่า ชุดนักเรียนนั้นสำคัญจริงหรือ หากใส่ชุดไปรเวทไปครูจะไม่ให้เราเข้าเรียนเพียงเพราะเราไม่ได้ใส่เครื่องแบบ?, สุดท้ายแล้วเราไปเรียนเพื่ออะไรกัน หากสิ่งที่ครูและผู้ใหญ่ให้ความสนใจมากกว่าการเรียนคือเครื่องแบบนักเรียน?, หากนักเรียนไม่มีเงินมากพอจะซื้อชุดนักเรียน=ไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนหรอ?  และหากใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ เรามาทดลองกัน
“ถ้าปล่อยให้ 10 คนใส่ชุดไปรเวท 10 คนนั้นอาจถูกทำโทษ แต่หากนักเรียนทั้งโรงเรียนใส่ชุดไปรเวท ทุกคนลองคิดภาพว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง 1 ธันวาคม ร่วมกันแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน โตแล้วใส่อะไรก็ได้”
ต่อมาทวิตเตอร์นักเรียนเลว @BadStudent_ ได้ทวีตข้อความเช่นกันว่า ในที่สุดเราก็มีที่หยัดยืน สลัดทิ้งเครื่องแบบขมขื่นที่ล้าหลัง มาร่วมแต่งไปรเวทอย่างเสรีมีพลัง จุดไฟหวังสร้างโลกใหม่ให้โสภี นักเรียนทั้งหลาย 1 ธันวานี้ จงโยนเครื่องแบบทิ้งไป และแต่งกายอย่างที่ตนเองพอใจมาโรงเรียน 1 ธันวาบอกลาเครื่องแบบ จะแต่งอะไรมันก็เรื่องของกู นักเรียนเลว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เข้าใจว่าเป็นการเชิญชวนของนักเรียน ซึ่งถือเป็นสิทธิ และคงไม่ถึงขั้นไม่ให้เด็กเข้าไปนั่งเรียน แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าการไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน จะผิดระเบียบของโรงเรียนหรือไม่ เพราะแต่ละแห่งก็มีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอยู่ ทั้งนี้ ในสังคมคงไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ทุกอย่าง แต่ก็จำเป็นต้องมีกฎกติกา เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
“การแต่งชุดนักเรียนอาจไม่มีผลกระทบกับการเรียนโดยตรง แต่ก็มีส่งผลดีในทางอ้อม อาทิ เป็นการรักษาอัตลักษณ์ของโรงเรียนแต่ละแห่ง เวลาออกไปข้างนอก คนก็จะรู้ว่าอยู่โรงเรียนใด หากได้รับอันตรายหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ก็จะได้รับความช่วงเหลืออย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ หากแต่งไปรเวท อาจเกิดการแข่งขันเรื่องแฟชั่นการแต่งกาย ขณะที่ผู้ปกครองแต่ละคนมีฐานะที่ไม่เท่ากัน” นายอัมพรกล่าว
ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า คงยอมให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะแต่ละโรงเรียนมีกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายที่ชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้งขณะนี้ ศธ.ก็ได้รับฟังข้อเรียกร้องต่างๆ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครูนักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการ
นายณัฏฐพลยืนยันว่า ศธ.รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกข้อเสนอที่เสนอมาจะสามารถนำมาปฏิบัติได้ในทันที เพราะทุกเรื่องจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในแนวทางการปฏิบัติ ข้อดี-ข้อเสีย จะไม่ยอมให้มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากดดันกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมา ศธ.ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งทุกฝ่ายก็ควรที่จะรอให้กระบวนการต่างๆ เหล่านั้นดำเนินการไปจนเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าแม้เรื่องชุดนักเรียนจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญทั้งหมด และอยากให้นักเรียนสนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่มากกว่า
         “ผมเชื่อว่าในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ผมไม่ต้องการที่จะเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นภายในโรงเรียน และเชื่อว่าผู้บริหารโรงเรียนและครูจะสามารถทำความเข้าใจกับนักเรียนได้เป็นอย่างดี และไม่เกิดปัญหาการลงโทษหรือการกระทำที่ดำเนินการเกินกว่าเหตุ” นายณัฏฐพลกล่าว.
 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"