‘วราวุธ’ รมว.ทส.ร่วมงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 ที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เผยชาวเลมีปัญหาเรื่องที่ดิน 36 พื้นที่ โดนเอกชน-รัฐฟ้องขับไล่ที่ 28 คดี


เพิ่มเพื่อน    

                          

เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล/  ภาคีเครือข่ายภาครัฐ-ประชาสังคม-ชาวเล ร่วมจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 ‘ส่งเสริมชีวิต  สู่การผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล’ ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายนนี้  ที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในระดับนโยบาย  โดยเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมและเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ เผยชาวเล 5 จังหวัดมีปัญหาเรื่องที่ดิน 36 พื้นที่  โดนเอกชน-รัฐฟ้องขับไล่ที่ 28 คดี  ด้านตัวแทนชาวเลยื่นหนังสือเรียกร้องให้ ‘วราวุธ  ศิลปอาชา’ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินอุทยานฯ ทับที่อยู่อาศัย-ที่ทำกิน

 

ชาวเลเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  คือ  มอแกน  มอแกลน  และอูรัคลาโว้ย มีภาษาพูดเป็นของตนเอง  แต่ไม่มีภาษาเขียน  มีหลักฐานว่าพวกเขาอยู่อาศัยและหากินในท้องทะเลแถบอันดามันมานานไม่ต่ำกว่า 300 ปี  ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 43 ชุมชนกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน  คือ  ระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  และสตูล  มีประชากรรวมประมาณ 12,241 คน

 

10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล : “เสียงที่หายไปกับสายลม”                                                                  

เผยชาวเลมีปัญหาที่ดิน 36 พื้นที่  โดนฟ้องขับไล่ที่ 28 คดี

 

ชาวเลถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบาง  เนื่องจากวิถีชีวิตดั้งเดิมจะทำมาหากินด้วยการทำประมงแบบโบราณ จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือง่ายๆ  มีเรือลำเล็กเป็นบ้าน  รอนแรมอยู่ในทะเล  ยามมีคลื่นลมจะหลบเข้าไปอยู่ในเพิงพักที่ปลูกเอาไว้ตามชายหาดหรือบนเกาะต่างๆ แล้วปลูกมะพร้าวหรือพืชผลต่างๆ เอาไว้กิน  ไม่ถือครองที่ดิน  ไม่รู้หนังสือไทย  แม้จะอยู่อาศัยบนผืนดินชายฝั่งทะเลมานาน  โดยมีสุสานหรือที่ฝังศพบรรพบุรุษเป็นหลักฐาน  มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี  แต่ด้วยความไม่รู้หนังสือ  ไม่รู้กฎหมาย  ชาวเลส่วนใหญ่จึงไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน  ทำให้ถูกขับไล่จากผู้ที่มาอยู่ทีหลัง

 

 

โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องทะเลอันดามัน  ประกอบกับชายหาดที่ขาวสะอาด  น้ำทะเลเขียวใส  ความงดงามตามธรรมชาติของท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ  ทำให้ชาวเลได้รับผลกระทบหลายด้าน  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินบริเวณชายหาดซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวเลในหลายจังหวัด  ถูกนายทุน  เจ้าของกิจการโรงแรม  รีสอร์ท  ฯลฯ  อ้างเอกสารสิทธิ์ครอบครอง  และขับไล่พวกเขาออกไป  ไม่เว้นแม้แต่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล  ทำให้ชาวเลอยู่อาศัยและเข้าไปทำมาหากินในท้องทะเลไม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม  จากการผลักดันของภาคีหน่วยงานต่างๆ  เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวเล  คณะรัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ   ได้มีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล  ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล  และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ

 

ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย  การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง  หาทรัพยากรตามเกาะต่างๆ โดยผ่อนปรนพิเศษในการให้ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเล  การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการดำน้ำทำประมงทำให้เกิดโรคน้ำหนีบ  การแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน  การส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เด็กและสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  พร้อมกับจัดตั้งการศึกษาพิเศษ/หลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนชาวเล  การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์  การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเล  การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง  รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล  ฯลฯ

 

นางสาวแสงโสม  หาญทะเล  ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  บอกว่า  แม้ว่าจะมีมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลออกมาตั้งแต่ปี 2553  ปัจจุบันครบ 10 ปีแล้ว  แต่มติ ครม.ดังกล่าวก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ  มิหนำซ้ำปัญหากลับมีมากขึ้นกว่ากว่าเดิม  โดยเฉพาะชุมชนชาวเลที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวทะเลอันดามัน

 

10 ปีแล้วที่เสียงเรียกร้องของพวกเราหายไปกับสายลม  วันนี้พวกเรายังถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง  และถูกละเมิดสิทธิต่างๆ  ถูกจับกุมดำเนินคดี  เฉพาะที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล  ตอนนี้ชาวเลโดนคดีความเรื่องที่ดิน  โดนเอกชนและอุทยานฯ ตะรุเตาฟ้องร้องขับไล่รวมแล้ว 9 คดี  มีปัญหาที่ดิน 298 หลัง  จากบ้านเรือนชาวเลทั้งหมดบนเกาะหลีเป๊ะ 309 หลัง”  ตัวแทนชาวเลบอกเล่าปัญหา

 

นอกจากปัญหาที่ดินที่เกาะหลีเป๊ะแล้ว  ชาวเลในจังหวัดต่างๆ ยังมีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินรวม 36 พื้นที่  โดนฟ้องร้องรวม 28 คดี  (โดนฟ้องที่เกาะหลีเป๊ะ 9 คดี  และอีก 19 คดีโดนฟ้องในจังหวัดอื่น)  โดย 31 พื้นที่อยู่ในที่ดินของรัฐ (ที่ดินเขตอุทยานฯ ป่าไม้   ป่าชายเลน  กรมเจ้าท่า  ราชพัสดุ  ฯลฯ)  อีก 5 พื้นที่เป็นที่ดินที่เอกชนแสดงสิทธิเหนือพื้นที่  มีการขับไล่ฟ้องร้องชาวเล  เช่น  ที่ดินบริเวณชายหาดราไวย์,  เกาะสิเหร่  จ.ภูเก็ต  มีปัญหาที่ดินเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับที่อยู่อาศัย  สุสานชุมชน  พื้นที่ทางวัฒนธรรม  ฯลฯ 

 ทะเลและที่ดินทุกตารางนิ้วมีเจ้าของ  แม้แต่ทางเดินสาธารณะก็มีประกาศห้าม

 

‘วราวุธ’ รมว.กระทรวงทรัพยฯ ร่วมงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11

 

จากปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่สะสมมายาวนาน  ชาวเลและภาคีเครือข่ายจึงเริ่มจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลมาตั้งแต่ปี 2553  ที่บ้านน้ำเค็ม  จ.พังงา  เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย  รณรงค์ให้สังคมได้รับรู้และตระหนักถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์   รวมทั้งสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่ชาวเลเกี่ยวกับมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553  โดยจะหมุนเวียนจัดงานในจังหวัดต่างๆ ที่มีกลุ่มชาวเลตั้งถิ่นฐานอยู่ 

 

โดยในปีนี้มีการจัดงานรวมญาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 ชูประเด็นเรื่อง ‘ส่งเสริมชีวิต  สู่การผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล’ ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน  บริเวณชายหาดหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ  อ.เมือง  จ.สตูล  มีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น  ชาวมันนิ  ชาวกะเหรี่ยงจากภาคเหนือ  เครือข่ายภัยพิบัติชุมชน  ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ  ประชาสังคม  ฯลฯ  ประมาณ 600   คนเข้าร่วม พร้อมด้วยนายเอกรัฐ หลีเส็น  ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล โดยมีนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมงาน  เพื่อรับฟังปัญหาเรื่องที่ดิน-ปัญหาเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  และรับมอบข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ   

 

นายวราวุธ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ผูกผ้าสีที่หัวเรือโทงเพื่อความเป็นมงคล

 

นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่ทำกิน  และจิตวิญญาณของชุมชนชาวเลและกะเหรี่ยง  กล่าวว่า  ปัญหาของกลุ่มชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง  หลายกรม  และค่อนข้างสลับซับซ้อน  เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน   การแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้เวลา  และพี่น้องชาวเลอยู่อาศัยอยู่ที่นี่มานานหลายร้อยปี  จนถึงวันนี้เมื่อเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพ  ตนจึงเดินทางมารับฟังปัญหา  ให้กำลังใจกับพี่น้อง  และชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

 

“พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องประชาคนไทยทุกกลุ่ม  ทุกชาติพันธุ์  การเดินทางมาเกาะหลีเป๊ะในวันนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันว่า  รัฐบาลให้ความสำคัญ  ให้ความเป็นห่วง  และการแก้ไขปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ตอนนี้ต้องแก้ไขไปทีละเปลาะ  อาจจะไม่เร็วนัก  เพราะเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานหลายสิบปี  และมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง  ไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ขอยืนยันว่ากระทรวงทรัพยากรฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันการแก้ไขปัญหา เช่น  เรื่องที่ดินทำกิน และจะประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้พี่น้องชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีพและอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินศักดิ์นี้ได้”  นายวราวุธกล่าว

 

ทั้งนี้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวเลเกาะหลีเป๊ะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นหลังจากธุรกิจการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะเจริญเติบโต  ทำให้มีกลุ่มนายทุนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินบนเกาะทั้งที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องและไม่ถูกต้อง  บางรายเดิมมีเอกสารครอบครองเป็น สค.1 เนื้อที่ 50 ไร่  ต่อมาเมื่อนำไปออกเอกสารสิทธิเนื้อที่เพิ่มเป็น 80 ไร่  และอ้างสิทธิครอบครองกว่า 140 ไร่  ทำให้ทับที่อยู่อาศัยของชาวเล  จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ชาวเล (ปัจจุบันชาวเลโดนฟ้องร้องแล้ว 9 คดี) บางพื้นที่ห้ามชาวเลนำเรือไปจอดหน้าชายหาด  ฯลฯ

 

รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ รับมอบข้อเรียกร้องจากชาวมันนิ (ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตป่าภาคใต้)

 

เผย 7 ปัญหาหลักของชาวเล

นางสาวแสงโสม  หาญทะเล  ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ทะเล  กล่าวว่า   จากการรวบรวมปัญหาของชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัดชายทะเลอันดามัน  พบปัญหาต่างๆ  ดังนี้

  1. ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ทั้งๆ ที่อาศัยมายาวนาน  กลายเป็นที่ดินรัฐหลายประเภท  ทั้งป่าชายเลน  กรมเจ้าท่า ป่าไม้ เขตอุทยาน  กรมธนารักษ์  ฯลฯ  เช่น  ชุมชนชาวเลสะปำ  จ. ภูเก็ต  ชุมชนชาวเลเกาะสุรินทร์ จ.พังงา  ชุมชนชาวเลเกาะเกาะพีพี  จ.กระบี่  เป็นต้น
  2. สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน  จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งการออกเอกสารมิชอบทับที่ดิน  ถูกรุกล้ำแนวเขต  ถูกห้ามฝังศพ  เช่น  พื้นที่บาราย (พื้นที่ทำพิธีกรรม) ของชาวเลหาด ราไวย์  จ.ภูเก็ต  สุสานเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล  เป็นต้น
  3. ถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนออกเอกสารสิทธิ์มิชอบทับชุมชน  โดยเฉพาะ ชุมชนชาวเลหาดราไวย์  ชุมชนชาวเลบ้านสิเหร่ ภูเก็ต  และชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  ถูกดำเนินคดี  รวม 28 คดี  มีชาวเลเดือดร้อนมากกว่า 3,500 คน

 

 ขบวนเรือชาวเลรณรงค์ปัญหา

 

  1.  ปัญหาที่ทำกินในทะเล จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า  แต่เดิมชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่างๆ ไม่ต่ำกว่า  27 แหล่ง   แต่ปัจจุบันเหลือเพียง  2 แหล่ง  มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ จับกุม  พร้อมยึดเรือเพิ่มขึ้น  พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน   ผู้หญิงชาวเลใช้หาหอย หาปู  วางเครื่องมือประมง และที่จอดเรือ  กลายเป็นสิทธิของโรงแรมและนักท่องเที่ยว  เช่น หน้าหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต  บริษัทเอกชนพยายามปิดทางเข้า-ออก  ชายหาดและที่จอดเรือของเกาะหลีเป๊ะ และเกาะพีพี  ชาวเลถูกบีบบังคับกดดันไม่ให้จอดเรือ
  2. ปัญหาเรื่องการศึกษา  ภาษา  และวัฒนธรรม  กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่  ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม  ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมกำลังจะสูญหาย
  3. ปัญหาเรื่องสุขภาวะ  ด้วยปัญหารอบด้านทำให้ชาวเลเกิดความเครียด  บางส่วนติดเหล้า  มีปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ ตามมา
  4. ปัญหาการไร้สัญชาติ ยังมีชาวเลกว่า 400 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะ ชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์  จ.พังงา  เกาะเหลา  เกาะช้าง  เกาะพยาม  จ.ระนอง

นางสาวแสงโสมกล่าวด้วยว่า  เนื่องจากปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง  ทำให้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 เพียงอย่างเดียว  ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และเอื้อต่อการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน  ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามนโยบายรัฐบาล

โดยในขณะนี้ภาคีเครือข่ายที่ทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ ‘ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  พ.ศ....’  และรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศ  เพื่อนำมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.  โดยคาดว่าจะสามารถยื่นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ภายในปี 2564

 

ชาวเลบนเกาะหลีเปะในวันที่ธุรกิจท่องเที่ยวกำลังเติบโต

 

9 ภาคีร่วม MoU.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์

ในการจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งนี้  9 หน่วยงานภาคีได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงวัฒนธรรม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  โดยนายวราวุธ  รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  ร่วมลงนามร่วมกับผู้แทนภาคีหน่วยงานต่างๆ  มีเป้าหมาย 3 ประการ  คือ

 

ประการแรก สนับสนุนและผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่ม    ชาติพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เครือข่าย การพัฒนาศักยภาพผู้นำ การเข้าถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

 

ประการที่สอง การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการจัดการและใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลบนฐานภูมิปัญญาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการพื้นที่และการจัดทำธรรมนูญชุมชนร่วมกับชุมชน เพื่อประกาศเป็น “พื้นที่ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์”

 

ประการที่สาม คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนของรัฐและเอกชน และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม

 

พี่น้องชาวกะเหรี่ยงจากภาคเหนือร่วมงานชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ

 

พอช.พร้อมหนุนซ่อมสร้าง ‘บ้านพอเพียงชาวเล’ 150 ครัวเรือน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมลงนามในครั้งนี้  โดย พอช.มีภารกิจหลักในการเสริมสร้างชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศให้เกิดความเข้มแข้ง  สามารถพึ่งพาตนเองได้  ดำเนินงานในปีนี้เป็นปีที่ 20   โดยมีโครงการต่างๆ  เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ (บ้านมั่นคงเมือง-ชนบท  บ้านพอเพียงชนบท  ที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  คนไร้บ้าน)  การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  กองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชนฯ

 

นายธนภณ  เมืองเฉลิม     ผู้อำนวยการภาค  สำนักงานภาคใต้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  จากการสำรวจข้อมูลชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล  พบว่า  มีครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 309 หลัง  รวม 368  ครอบครัว  ประชากรจำนวน 1,191 คน  ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ผุพัง  ทางชุมชนชาวเลจึงร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและจัดทำโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ซึ่งเป็นโครงการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม  มีฐานะยากจน  โดยเสนอขอรับการสนับสนุนจาก พอช. เพื่อซ่อมสร้างบ้านในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 150 หลัง  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณซ่อมสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 20,000   บาท

 

สภาพบ้านเรือนของชาวเลบนเกาะหลีเปะ

 

“ส่วนการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้  พอช.จะร่วมมือกับหน่วยงานภาคี  และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เช่น  พมจ.จังหวัดสตูล  เพื่อร่วมกับชาวเล  กำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลในทุกด้าน  รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่ม  สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวเล  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนชาวเลต่อไป”  นายธนภณกล่าว

 

 รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ถ่ายภาพร่วมกับชาวเล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"