อยากเลือกตั้งไม่อยากเกณฑ์ทหาร


เพิ่มเพื่อน    

  กลุ่มอยากเลือกตั้ง...อยากอะไร?
    วันนี้ (๕ พฤษภาคม) เขานัดชุมนุมกันที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
    อีกกลุ่มอยากเลือกตั้งมากกว่า อยากเลือกตั้งใจจะขาด ใช้เวลาวันเดียวกันนี้ บินไปเตรียมเลือกตั้งถึงสิงคโปร์ 
    กุมเป้าเข้าหานายใหญ่ นายหญิง หนีคุกทั้งคู่
    แล้วไหน...ที่บอกว่า...ก้าวข้ามทักษิณแล้ว 
    ก็แหงล่ะซิ ก้าวข้ามทักษิณในความหมายเพื่อไทยคือ...อย่าด่าทักษิณ ความหมายมันมีแค่นั้น  
    อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย บินไปล่วงหน้าแล้วหลายคน บางคนไปวันนี้ เพราะ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์"  อยู่สิงคโปร์ถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม    
    ไปทำอะไรกัน? 
    "สามารถ แก้วมีชัย" อดีต ส.ส.เชียงราย บอกว่า  
    "อาจจะมีเรื่องการหารือเรื่องกระแสดูดและหาตัวผู้นำพรรคคนใหม่"
    "สุชาติ ลายน้ำเงิน" อดีต ส.ส.ลพบุรี
    "เป็นเรื่องปกติ ที่พรรคจะต้องประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง คสช.คงห้ามไม่ได้ ขนาดเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ยังหันกลับมาจับมือกัน"
    ตามรายงานข่าวบอกว่า เฉลิม อยู่บำรุง, วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล, เกรียง กัลป์ตินันท์ จะไปนั่งแถวหน้า 
    ประเด็นพูดคุยนอกจาก เรื่องการเลือกตั้งแล้ว... 
    "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" จะติดตามความเคลื่อนไหวร่วมกับแกนนำพรรค กรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มพีมูฟ กลุ่มไอลอว์ นัดชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล 
    เสาร์ ๕ พฤษภาคม ก็จะกลายเป็นวันที่ร้อนที่สุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา
    โฟกัสไปที่กลุ่มอยากเลือกตั้ง เพื่อให้เพื่อไทยได้ไปเลือกตั้งสมใจ กลุ่มนี้ต้องการอะไร?
    ชุมนุมกันมาหลายรอบบางคนอาจไม่รู้ว่า คนอยากเลือกตั้ง อยากได้อะไรบ้าง นอกจากความปรารถนาที่แปลตรงตัวว่า "เลือกตั้ง" 
    ไปดูสิ่งที่เรียกร้องซ้ำๆ มาหลายครั้ง      
    ๑.คสช.จะต้องยุติการดำรงอยู่ของตัวเอง เพราะไม่มีความจำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงแต่อย่างใด
    ๒.ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ มีภารกิจในการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จเท่านั้น โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขดังนี้
    (๑) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
    (๒) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน
    (๓) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน
    (๔) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใด อันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต.กำหนด
    โดยสรุปคือ เป็นการคัดลอกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ให้ ครม.ประยุทธ์มีสถานะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ
    ๓.จะต้องยกเลิกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ที่ ๕๗/๒๕๕๗ ที่ห้ามการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป โดยทันที เนื่องจากประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั้งหลายนั้น เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เหมาะสมต่อการนำไปสู่การเลือกตั้ง 
    และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีประกาศ คสช. ที่ ๕๗/๒๕๕๗ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘  ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับกรอบระยะเวลาในการเลือกตั้ง หากถูกยกเลิกโดยล่าช้าแล้ว ย่อมเป็นเหตุในการอ้างให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีก
    สุดท้าย ที่คนอยากเลือกตั้งต้องการคือ
    จะต้องรื้อถอนรากเหง้าแห่งเผด็จการที่ คสช.พยายามปลูกฝังไว้ด้วย!
    การชุมนุมในวันนี้ (๕ พฤษภาคม) ที่ลานปรีดี ซึ่งจะมีการประกาศท่าที ก็คงไม่ต่างจากที่เคยแถลงมาสักเท่าไหร่     
    นั่นคือที่แถลงเป็นน้ำเป็นเนื้อ แต่เป็นไปได้ยาก เพราะขนาด กปปส.ออกมาชุมนุมเป็นล้านๆ คน  ข้อเรียกร้องคล้ายกันนี้ "ยิ่งลักษณ์" เอาแต่ท่อง "หนูไม่รู้" อย่างเดียว 
    ยังมีทัศนะของเครือข่ายบูชาคนหนีคุกที่เก็บได้ระหว่างทาง กลับมีอะไรมากกว่าที่แถลง
    แน่นอนล่ะ...ต้าน ม.๑๑๒ เป็นที่ทราบกันดีแล้ว
    การพูดถึงชนชั้น ไพร่ ทาส อำมาตย์ มีการตอกย้ำกันเป็นระยะๆ
    ค้าน "เกณฑ์ทหาร" มองดูเป็นการค้านตามสถานการณ์ แต่ลึกๆ คืออะไร?
     ประเด็นนี้มีการให้ความเห็นสอดรับกันเป็นโครงข่ายน่าสนใจ 
    พรรคเพื่อไทย "วัฒนา เมืองสุข" ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า
    "การยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นรับสมัครและการลดขนาดของกองทัพลงเพื่อให้มีกำลังพลเหมาะสมกับภารกิจ การย้ายหน่วยงานของกองทัพออกไปอยู่ตามหัวเมือง และการป้องกันไม่ให้กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ 
    ไม่เพียงเพื่อรักษาประโยชน์ด้านงบประมาณและความมั่นคง แต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดอีกต่อไป นี่คือภารกิจสำคัญที่พวกเราจะต้องกระทำให้สำเร็จหากชนะการเลือกตั้ง"
    แกนนำอยากเลือกตั้งพูดเรื่องนี้กันหลายคน โดยเฉพาะ "รังสิมันต์ โรม"
    ....สังคมไทยวันนี้ เราไม่มีอะไรเลยที่เป็นจุดแข็ง เรายังเอาทรัพยากรสำคัญส่วนสุดท้ายคือเยาวชนคนทำงานไปเกณฑ์ทหาร ที่ไม่ได้สร้างการผลิตอะไรให้กับประเทศชาติเลยนอกจากไปเป็นทาสรับใช้ให้กับบรรดานายทหารที่อยากอยู่สบาย
.    ดังนั้นเราต้องหยุดได้แล้วครับ พอกันทีกับทหารรับใช้ อย่าเอาทรัพยากรมนุษย์ที่ควรเป็นกำลังสำคัญของชาติไปซักผ้าเสิร์ฟน้ำขับรถให้นายเสียทีเถอะ เลิกเถอะเกณฑ์ทหาร เราต้องมีทหารอาชีพได้แล้ว...
    คนกลุ่มนี้ มองการเกณฑ์ทหาร ไม่ต่างไปจากการดำรงอยู่ของ "ไพร่-ทาส" 
    เป็นความจริงที่ว่า ทหารเกณฑ์ถูกนำไปเป็นทหารรับใช้จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด 
    ความเป็นทหารเกณฑ์ หรือการเกณฑ์ทหารยังมีอะไรมากกว่านั้น ก็อยู่ที่ว่าจะมองกันมุมไหน แล้วจะเห็นความจำเป็นที่แตกต่างกัน
    อีกอย่างการเรียกร้องให้เลิกเกณฑ์ทหาร ก็มองคนละมุม
    กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มีจุดมุ่งหมายคือลบล้างทุกอย่างที่ตัวเองมองเป็นเรื่อง "ชนชั้น" 
    จับโยงประวัติศาสตร์เพื่อการเคลื่อนไหวปัจจุบัน  
    ไพร่ คือ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ขึ้นไปจนถึง ๗๐ ปี ทำหน้าที่รับใช้เจ้านายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะได้รับความคุ้มครองจากเจ้านาย หรือมีหน้าที่ให้แรงงาน ส่วย หรือเงินแก่บ้านเมืองเป็นการตอบแทนที่ได้รับความคุ้มครอง
     ไพร่แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ไพร่หลวง ไพร่สม และไพร่ส่วย
     ไพร่หลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือพวกที่ทำงานให้หลวงโดยมีกำหนดว่าปีหนึ่งต้องเข้ารับราชการ ๓  เดือน หรือมิฉะนั้นจะต้องจ่ายเงินให้คนอื่นมาทำแทนเดือนละหนึ่งตำลึงครึ่ง หรือปีละสี่ตำลึงครึ่ง
    ไพร่สมป็นไพร่ส่วนบุคคล แต่ต้องทำงานให้หลวงปีละเดือนหรือมีค่าเท่ากับหนึ่งตำลึงครึ่ง
    ไพร่ส่วย คือไพร่ที่ส่งสิ่งของเพื่อช่วยราชการ
    การใช้แรงงานไพร่มีระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ เรียกว่า "การเข้าเดือน" 
    ในแต่ละสมัยมีระยะเวลาไม่เท่ากัน เช่น ในสมัยอยุธยา ไพร่ต้องมาเข้าเวร ๖ เดือนโดยอาจใช้แรงงาน ๖ เดือนและกลับไปทำมาหากิน ๖ เดือน 
    หรืออาจต้องเข้าออกเดือนเว้นเดือนตามลักษณะของงานของแต่ละกรม 
    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ลดลงเหลือเพียงปีละ ๔ เดือน คือ เข้าเดือนออก ๒ เดือน  ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงลดเหลือเพียงปีละ ๓ เดือนจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕
     ปี ๒๔๒๕ มีการตราพระราชบัญญัติทหารออกมาหลายฉบับ มีลักษณะเป็นทหาร "สมัคร" อันเป็นกรรมวิธีเริ่มแรกในการแปลงไพร่มาเป็นพลเมือง
     ต่อมาปี ๒๔๔๐ เมื่อพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช) ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารบกจากประเทศเดนมาร์ก ได้ทรงริเริ่มการปรับปรุงการทหารให้ก้าวหน้าทันสมัยมากขึ้น 
    ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ มีประกาศใช้ "พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๔" เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบทหารจากการ "สมัคร" มาเป็น "เกณฑ์" 
    โดยกำหนดให้ไพร่ที่มีอายุ ๑๘-๒๐ ปี ต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารทุกคน
    ในแต่ละปีคนที่ได้รับการคัดเลือกต้องเข้ารับราชการเป็นทหารในกองประจำการ มีกำหนด ๒ ปี จึงปลดเป็นกองหนุนแล้วไม่ต้องเสียค่าราชการใดๆ อีกต่อไปจนตลอดชีวิต
    ส่วนคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะเสียเงินให้ราชการแทนหรือรอไว้สำหรับการคัดเลือกในปีต่อไปก็ได้
    พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ แต่จะค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    และในปี พ.ศ.๒๔๖๘ จึงมีการเลื่อนอายุทหารเกณฑ์จาก ๑๘ ปีเป็น ๒๐ ปี
    หลังจากเป็นทหารรับใช้ชาติครบกำหนด ๒ ปีแล้ว ไพร่ก็เป็นอิสระสามารถประกอบอาชีพได้ตามใจชอบ ไม่ต้องมีพันธะในการเข้าเวรรับใช้มูลนายดังแต่ก่อน ทำให้ราษฎรสามารถเพิ่มผลผลิตได้ตามความต้องการของตลาดในระบบใหม่ที่มีการค้ากับต่างประเทศ ประกอบกับระบบการศึกษาแบบใหม่ทำให้สามัญชนมีโอกาสเลื่อนฐานะทางสังคม
     ประวัติศาสตร์หน้านี้ถูกมองว่า ทาสยังคงดำรงอยู่ เปลี่ยนสภาพมาเป็นทหารเกณฑ์  
    ฉะนั้นไม่แปลกที่มีเสียงต้านเกณฑ์ทหาร ด้วยการยกเรื่องไพร่มาผสม แล้วจบด้วยเรื่องชนชั้น และยุคสมัย ประชาธิปไตย 
    หากจะมองเช่นนั้นก็ไม่ผิด แต่ไม่ถูก 
    โดยจารีตการเกณฑ์ทหารถูกตัดขาดจากความรู้สึกเป็นไพร่ ทาส มานานพอควรแล้ว 
    แต่มีความพยายามยัดเยียดรั้วของชาติให้เป็นไพร่ทาส โดยคนในกองทัพเอง ที่เอาทหารเกณฑ์ไปเป็นคนรับใช้ 
    กับกลุ่มอ้างเป็นหัวสมัยใหม่ ต้องการยกเลิกชนชั้น แต่โดยนัยสำคัญคือ ต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
    การเรียกร้องยกเลิกเกณฑ์ทหารจึงเป็นเพียงการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เท่านั้น 
    นั่นคือเรื่องราวของคนอยากเลือกตั้ง แต่ไม่อยากเกณฑ์ทหาร.
                                ผักกาดหอม
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"