พปชร.ฟรีโหวต ญัตติส่งศาลรธน. ‘ปชป.-ภท.’ค้าน


เพิ่มเพื่อน    

 

ประธานวิปรัฐบาลเผยปล่อยฟรีโหวตญัตติส่งศาลวินิจฉัยแก้ รธน. "จุรินทร์" ย้ำมติ ปชป.ไม่เห็นชอบส่งศาลตีความ ยันผ่านการตรวจสอบจากพรรคการเมืองอย่างรอบคอบแล้ว "วิษณุ" ชี้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับฝ่ายค้านต้องให้นายกฯ ลงนามรับรองก่อนถึงเข้าสภาได้เหตุเป็นกฎหมายการเงิน "ฝ่ายค้าน" โต้ร่างรัฐบาลไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปที่ใช้เสียง ส.ว.ช่วยผ่านร่างโดยง่าย อัดเป็นกระบวนการนิติบัญญัติแบบพิเศษที่ คสช.ออกแบบรองรับไว้

    ที่รัฐสภา วันที่ 30 พฤศจิกายน นายวิรัช รัตนเศรษฐ  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)  ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมวิปรัฐบาลว่า สัปดาห์นึ้จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 1 ธ.ค. โดยจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติซึ่งรัฐบาลเป็นผู้เสนอ แต่ทราบว่าฝ่ายค้านก็เสนอร่าง ?พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติส่งให้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าวาระ เพื่อให้พิจารณา?พร้อมกันกับร่างของรัฐบาลด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากร่างที่ฝ่ายค้านเสนอเข้าข่ายกฎหมายการเงิน จึงต้องนำกลับไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา?รับรองอีกครั้งในที่ประชุม ครม.?วันอังคารนี้
    "แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่าแม้ ครม.?จะรับรองร่างของฝ่ายค้านแล้ว แต่ร่างของฝ่ายค้านก็ไม่เข้าข่ายกฎหมายปฏิรูป จึงต้องนำมาเข้าพิจารณา?ในสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร? ซึ่งวันนี้วิปรัฐบาลคงมีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง? ส่วนร่างที่ ครม.เสนอมาคงมีการพิจารณาและตั้งคณะกรรมาธิการ? คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้น?ในเวลาไล่เลี่ย?กับคณะกรรมาธิการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ?" นายวิรัชกล่าว
    นายวิรัชกล่าวด้วยว่า ยังจะมีการพิจารณาญัตติด่วนของนายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอขอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยเบื้องต้นตนได้พูดคุยกับสมาชิกวิปร่วมรัฐบาลหลายคนอยากให้เป็นการฟรีโหวต เพราะมีบางคนอยากให้ส่งเรื่องไปยังศาล แต่ก็มีบางคนไม่อยากให้ส่งเหมือนกัน ส่วนท่าทีของพรรคพลังประชารัฐในเรื่องนี้นั้นก็ยังไม่ได้หารือ แต่อาจเป็นฟรีโหวตก็ได้ต้องรอประชุมพรรคเสียก่อน
    เมื่อเวลา 15.30 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ มีการประชุม ส.ส.พรรค โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพรรค พปชร., นายไพบูลย์ นิติตะวัน  ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ประธานการประชุม
    จากนั้น น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรค พปชร.แถลงผลประชุมว่า ที่ประชุมหารือถึงการเตรียมความพร้อมประชุมสภาผู้แทนราษฎร 1-3 ธ.ค.นี้ โดยวันที่ 1  ธ.ค.นี้จะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ และญัตติด่วนเรื่องขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 32 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  210 (2) ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร. และนายสมชาย แสวงการ เป็นผู้เสนอ ส่วนวันที่ 2-3 ธ.ค.เป็นการประชุมสภา โดยพรรค พปชร.มีมติให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ตัดสินใจจะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยไม่ได้กำหนดว่าจะต้องลงมติในทิศทางใด เพราะแต่ละคนมีความคิดเห็นที่หลากหลายขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน
    ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมกันจะลงมติไม่เห็นชอบญัตติเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบรับหลักการจากรัฐสภา ผ่านการตรวจสอบจากพรรคการเมืองต่างๆ อย่างรอบคอบ ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก ซึ่งการรับหลักการในที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็เป็นการตอกย้ำว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว หากจะตรวจสอบความถูกต้องก็สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังจากลงมติในวาระที่ 3 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายได้ ไม่จำเป็นต้องมาตรวจสอบตอนนี้ ซึ่งการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขณะนี้เป็นการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองโดยไม่จำเป็น อาจถูกตีความว่าไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
    ด้านนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหารพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็นประธาน ได้พิจารณาถึงการเสนอญัตติให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256  โดยมีมติไม่เห็นด้วยกับการยื่นญัตติดังกล่าว
    "สมาชิกพรรคภูมิใจไทยเป็นผู้เสนอญัตติเองร่วมพิจารณาในการประชุมรัฐสภา และได้ลงมติรับหลักการ คือเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว จะให้เราสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการส่งองค์กรอื่นให้มาพิจารณาวินิจฉัยสิ่งที่เราทำอีก เราไปบังคับให้ ส.ส.ลงมติเช่นนั้นไม่ได้ เรามั่นใจว่ารัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขได้ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้" นายชาดาระบุ
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ฝ่ายค้านยื่นร่างกฎหมายประกบว่า ทราบว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรชี้ว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติของฝ่ายค้านเป็นกฎหมายการเงิน จึงจำเป็นต้องส่งมาให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง ทราบว่าเขาส่งมาเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อน  และเพิ่งถึงทำเนียบฯ วันที่ 30 พ.ย. จึงยังไม่ทราบว่านายกฯ ได้เห็นหรือยัง ส่วนเมื่อได้รับเรื่องแล้วนายกฯ จะรับรองหรือไม่ ก็ต้องถามไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้วประมวลกลับมาให้นายกฯ เป็นผู้วินิจฉัย แต่ถึงอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะฉบับของรัฐบาลต้องเข้าสภาในวันที่  1 ธ.ค.อยู่แล้ว จะแปรญัตติหรืออะไรก็ได้ หลักการนั้นมีบรรทัดเดียวคือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะตัดและเติมอะไรก็ได้ ยกของฝ่ายค้านมาใส่ก็ยังได้ถ้าคณะกรรมาธิการยอม
    ทั้งนี้ ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 1 ธ.ค. ตนจะเดินทางไปเป็นผู้เสนอร่าง เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประชามติเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้รัฐบาลเป็นผู้เสนอ แต่ถ้ามีประเด็นซักถามในส่วนของ กกต.หรือข้อกฎหมายจะให้ กกต.และคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ชี้แจง แต่ถ้าส่วนไหนเกี่ยวกับรัฐบาลจะเป็นผู้ชี้แจงเอง
    ส่วนกรณีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ระบุว่าร่างของฝ่ายค้านไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปจึงไม่สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ประเด็นขณะนี้มีเพียงฝ่ายค้านเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ประธานสภาวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายการเงินแล้วเสนอมาให้นายกฯ รับรอง ตราบใดที่นายกฯ ยังไม่รับรองก็ยังไม่สามารถเข้าสภาได้ ไม่ว่าจะสภาเดียวหรือสองสภาก็ตาม แต่ถ้านายกฯ รับรองแล้วและจะไปสู่การพิจารณาของสภาหรือไม่ถือเป็นอำนาจของสภา  
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 1 ธ.ค.จะไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับฝ่ายค้านควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่เสนอโดยรัฐบาลใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ใช่ ไม่แน่ใจว่านายกฯ จะรับรองทันหรือไม่"  
    ที่พรรคเพื่อไทย ตัวแทน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.ประชามติมีความจำเป็น  ต้องมีเพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เรามีข้อสังเกต 2  ประเด็น การเสนอ พ.ร.บ.ประชามติโดยรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภา  มองว่าไม่ใช่การปฏิรูป รัฐบาลใช้อำนาจ ครม.ดำเนินการเพื่อต้องใช้เสียง ส.ส.ซีกรัฐบาล และเสียง ส.ว. 250 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้โดยง่าย ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้านเราจะเสนอ พ.ร.บ.ประชามติควบคู่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ใช่การทำให้ล่าช้าไปกว่ากระบวนการของรัฐบาล แต่ทำเพื่อความรอบคอบ อีกประเด็นจากการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จะเห็นว่าเป็นการทำประชามติที่ไม่ให้ประชาชนแสดงความเห็น ทั้งยังจำกัดสิทธิ จึงไม่อยากให้เหตุการณ์ซ้ำรอย ทั้งยังทำให้การลงประชามติเป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งที่รัฐบาลต้องการ นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่มีประชาชนได้แสดงความเห็นแต่อย่างใด
    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีความเห็น 2 สองเรื่อง คือกระบวนการ เนื้อหาและหลักการที่เสนอ เราไม่เห็นด้วยในกระบวนการที่รัฐบาลอาศัยให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติให้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ทั้งยังมีการเร่งรัดในการพิจารณาเข้าสู่รัฐสภา ทั้งยังอาศัยเสียง ส.ว.มาช่วยออกกฎหมาย ควบคุมเนื้อหาตามที่รัฐบาลต้องการ เป็นกระบวนการนิติบัญญัติแบบพิเศษที่ คสช.ออกแบบรองรับไว้ กระบวนการนิติบัญญัติแบบปกติก็สามารถทำได้ และจะส่งผลเสียต่อกฎหมายหลายฉบับ นอกจากนี้ไม่เห็นด้วยที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอให้สภาพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าเป็นการเตะถ่วงและลดทอนอำนาจของรัฐสภา
    พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 60 ว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีถึง 113 คน เมื่ออ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติของรัฐบาล เห็นว่ามีการนิรโทษกรรมให้ กกต.และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกมาดำเนินการกับคนเห็นต่างที่ไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง และการให้ กกต.ชุดนี้ดำเนินการทำประชามติน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
    นายประเสริฐยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ยืนยันว่าฝ่ายค้านยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากสภา ทราบเพียงแต่ว่ามีคำปรารภจากประธานรัฐสภาผ่านทางประธานวิปฝ่ายค้านเท่านั้น ซึ่งเราขอดูรายละเอียดก่อน ทั้งนี้ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าควรแก้ปัญหาที่ต้นตอ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  โดยนายกฯ ต้องลาออกเพื่อเปิดทางในการสร้างบรรยากาศ  ไม่เช่นนั้นการตั้งกรรมการสมานฉันท์จะเป็นเพียงการยื้อเวลาต่ออายุรัฐบาล ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร
    นายชัยธวัชกล่าวว่า ถ้านายกฯ ลาออกจะเป็นเงื่อนไขเดียวในการยุติความขัดแย้ง และขอให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ไม่ใช้มาตรการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล และหยุดสร้างความเกลียดชังในสังคม โดยเฉพาะการที่ทหารสร้างไอโอเพื่อให้ข้อมูลเท็จ  ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ปรากฏให้เห็นว่ารัฐบาลให้การสนับสนุน
    นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย  กล่าวว่า ต้องให้คู่ขัดแย้งได้คุยกัน คณะกรรมการสมานฉันท์ไม่มีกฎหมายรองรับ หากผลออกมาอย่างไรก็ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะปฏิบัติตาม ที่สำคัญคือตัวนายกฯ ที่จะต้องพิจารณาตัวเอง.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"