แปรญัตติแก้รธน. 4ธค.เรียงมาตรา ‘ไทยภักดี’ไล่สกัด


เพิ่มเพื่อน    

 

กมธ.แก้ไข รธน.เผยสมาชิกเตรียมแปรญัตติร่วม 100 คน เริ่มถกเรียงมาตรา 4 ธ.ค. อดีต กรธ.ย้ำ รธน.ปี 60 ไม่เปิดทางให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ แนะส่งศาลตีความปมตั้ง ส.ส.ร. "ไอลอว์" ยันส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง "ไทยภักดี" ร้องศาล รธน.เบรกแก้ รธน.วาระ 2-3 ชี้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ-ตัดสิทธิ์ ส.ว.-ไม่ทำประชามติ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
    ที่รัฐสภา วันที่ 3 ธันวาคม นายสมคิด เชื้อคง โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาของ กมธ.ว่า วันนี้ กมธ.ได้เชิญนายจอน อึ๊งภากรณ์ ตัวแทนผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา และให้ กมธ.สอบถามและขอความเห็นเพิ่มเติม โดยนายจอนยืนยันเหมือนเดิมว่า การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องเป็นเขตประเทศ โดยมีทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล แต่มี กมธ.หลายคนบอกว่าถ้าจะเดินคนละครึ่งทางอาจจะ 100 คน หรือ 125 คน มาจากเขตเลือกตั้งจังหวัด และ 75 คนเป็นเขตเลือกตั้งประเทศ แต่นายจอนยืนยันเหมือนเดิมว่า ส.ส.ร.ต้องมีความหลากหลาย
    นายสมคิดกล่าวว่า ในส่วนของนายอุดม เป็นการให้ข้อมูลในฐานะผู้ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน ซึ่งมีคำถามหลายคำถามว่าสามารถร่างรัฐธรรมนูญแตะหมวด 1 หมวด 2 ได้หรือไม่ ซึ่งในร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่มีเรื่องนี้อยู่แล้ว สำหรับการขอแปรญัตตินั้น จะสิ้นสุดรับคำแปรญัตติในวันนี้ เวลา 16.30 น. เมื่อเวลา 10.30 น. มีสมาชิกรัฐสภาขอแปรญัตติแล้วจำนวน 95 คน ประกอบด้วย ส.ส. 87 คน ส.ว. 8 คน ซึ่งฝ่ายเลขานุการจะเชิญผู้ขอแปรญัตติมาชี้แจงต่อ กมธ.ต่อไป ทั้งนี้ กมธ.จะเร่งรัดการประชุมให้เสร็จสิ้นภายในกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม กมธ.จะเร่งรัดการประชุมเพื่อให้ทันกรอบเวลา โดยการประชุมในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ จะเป็นการพิจารณาเข้ารายมาตรา
    ด้านนายอุดม รัฐอมฤต กล่าวว่า ในฐานะผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2534 ในสภาพสังคมที่ขณะนั้นต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมีการกำหนดเงื่อนไขให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านกระบวนการร่างขึ้นมาจากความเห็นของหลายฝ่าย และผ่านความเห็นชอบจากประชาชน
    "จึงเห็นว่าการจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นจะต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ที่ผ่านมาก็ไม่มีประเทศใดกำหนดให้สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราสามารถทำได้อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ กมธ.เองต่างก็มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะสามารถตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ส่วนตัวจึงเห็นว่าควรส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจน แต่ก็มีผู้เสนอให้ใช้แนวทางตามมาตรา 5 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาตามประเพณีการปกครอง"
    เมื่อถามว่า ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ร่างมาเสียของหรือไม่นั้น นายอุดมกล่าวว่า มันพูดยาก เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึก จะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ใช้เลยก็ไม่ได้ อย่างน้อยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นที่มาของรัฐสภาชุดนี้ และองค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจในปัจจุบัน แต่ความพอใจในผลจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มันก็เป็นเรื่องของคนใช้รัฐธรรมนูญที่จะประเมิน โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องถามว่าเขาพอใจรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ หรือจะต้องร่างกันใหม่ ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประเด็นหลักควรมองที่เนื้อหามากกว่าการจะมองว่าจะเอาฉบับใหม่หรือฉบับเดิม  แต่ควรมองว่าเนื้อหาตรงนี้ ที่ฉบับเดิมไม่ดีแล้วควรต้องแก้ไขใหม่
    ส่วนนายจอนกล่าวว่า ไอลอว์ยังคงยืนยันหลักการว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงจากประชาชน รูปแบบคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ร.แบบกลุ่มและนโยบาย เพื่อให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร.ตามนโยบายหรือวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้สมัครเลือกตั้ง แทนการเลือกส.ส.ร.เพราะตัวบุคคลเป็นหลัก และควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่จำเป็นต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะเราต้องการให้ ส.ส.ร.เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่จะให้ผู้เชี่ยวชาญไปอยู่ในส่วนของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไปแทน
     ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี พร้อมด้วยนายบุญเกื้อ ปุสสเทโว โฆษกไทยภักดี นำเอกสารหลักฐานยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครองด้วยการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย นพ.วรงค์กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้กระทำการส่อเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พวกเรากลุ่มไทยภักดีในฐานะผู้ทราบเหตุการณ์ได้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เมื่อเรายื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว 15 วัน อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อ เราจึงใช้สิทธิ์นี้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
    โดยมีเหตุผล 4 ข้อคือ 1.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำหนดในมาตรา 256 และมีการกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดสัดส่วนให้ ส.ว.และ ส.ส. แต่การแก้ไขครั้งนี้ได้ตัดสิทธิ์ ส.ว.และ ส.ส.ตามสัดส่วนออก จึงทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งมีการยกเลิกการทำประชามติในมาตราสำคัญๆ จึงทำให้ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ซึ่งถือว่ากระบวนการตัดสิทธิ์เหล่านี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
    2.การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 10 ฉบับต้องถูกยกเลิก ทำให้ ส.ส.และ ส.ว.ต้องถูกยกเลิก ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องถูกยกเลิก จึงทำให้โครงสร้างทางการเมืองและการปกครองเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญและคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องถูกยกเลิกด้วย จึงทำให้คดีต่างๆ ทั้งที่ถูกตัดสินไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการทุกคดีจะหลุดพ้นไป เพราะกฎหมายที่ใช้บังคับถูกยกเลิก
    3.บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขรายมาตรา ไม่ได้กำหนดว่าให้มีการแก้ไขโดยการร่างใหม่ทั้งฉบับ จึงถือว่าผู้กระทำการนั้นมีเจตนาที่จะกระทำขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย และ 4.เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรให้ประชาชนได้ลงประชามติก่อน
    นพ.วรงค์กล่าวว่า ทั้ง 4 เหตุผลเป็นเหตุผลที่เราคิดว่าเพียงพอ ที่บ่งบอกว่าขณะนี้มีการกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พวกเราจึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัย และสั่งการ 3 ข้อ 1.สั่งการให้ประธานรัฐสภาในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งระงับการบรรจุระเบียบวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 และวาระ 3 ข้อ 2.ขอให้ผู้ถูกร้องคือ ส.ส.ที่ลงชื่อร่างฝ่ายค้านและร่างฝ่ายรัฐบาล ถอนระเบียบวาระออกจากที่ประชุมรัฐสภา และ 3.ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติในชั้นรับหลักการทั้ง 2 ฉบับ ที่ลงมติเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"