7ธ.ค.นายกฯลงเมืองคอน สังเวยน้ำท่วมแล้ว11ราย


เพิ่มเพื่อน    

 

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" พระราชทานถุงยังชีพ 10,000 ชุด บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัย จ.นครศรีธรรมราช "บิ๊กตู่" เตรียมลงพื้นที่ติดตามน้ำท่วมภาคใต้ 7 ธ.ค. กำชับเร่งช่วยเหลือ ปชช. "มท." สั่งผู้ว่าฯ ปรับใช้แผนเผชิญเหตุ "ปภ." แจ้ง 7 จว.ยังจมน้ำ 2,618 หมู่บ้านเดือดร้อน "นครศรีธรรมราช" มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 4 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ว่า ได้สั่งการและย้ำเตือนเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และตนเองจะต้องลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมในเร็วๆ นี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จึงไม่อยากไปเป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่ที่กำลังช่วยเหลือประชาชน จึงมอบแนวทางการทำงานลงไป อย่างไรก็ดี ในวันจันทร์ที่ 7 ธ.ค. ก็จะลงไปดูด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่คนไทยทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งภาครัฐพยายามหาวิธีการช่วยเหลือประชาชนให้กับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 7 ธ.ค. เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัย และมอบเครื่องอุปโภคบริโภค ที่ศูนย์ศิปลาชีพบ้านเนินธัมมัง ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จากผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และชลประทานจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นจะเดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลหูล่อง อ.ปากพนัง เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเวลา 12.00 น.
    ส่วนนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ นายกฯ มอบหมายให้ตนพร้อมทีมงานลงพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมถึงประเมินสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    ทั้งนี้ จังหวัดสงขลามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 13 อำเภอ (เมืองสงขลา จะนะ สะเดา หาดใหญ่ ควนเนียง สิงหนคร นาหม่อม รัตภูมิ บางกล่ำ สทิงพระ ระโนด กระแสสินธุ์ คลองหอยโข่ง) 70 ตำบล 435 หมู่บ้าน 56,873 ครัวเรือน
    "นายกฯ กำชับการลงพื้นที่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนและกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ให้ความช่วยเหลือประชาชน เน้นย้ำให้ลงพื้นที่เพื่อไปรับทราบข้อมูลความเดือดร้อน พร้อมกับเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป" รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    ด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ว่า ในภาพรวมรัฐบาลมีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นเงินที่ประชาชนบริจาคมา โดยได้เตรียมนำมาช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมจากงบฉุกเฉินที่แต่ละจังหวัดมีอยู่แล้ว โดยเตรียมซื้อถุงยังชีพ ส่วนในระยะถัดไป เตรียมช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย
    "ตอนนี้วงเงินเหลืออยู่พอสมควร แต่หากประชาชนต้องการจะช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ สามารถบริจาคเข้ามาเพิ่มเติมมาที่กองทุนได้ ซึ่งกองทุนนี้รับบริจาคเฉพาะเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือ ส่วนสิ่งของจำเป็นอื่นสามารถบริจาคได้ในพื้นที่" ปลัดสำนักนายกฯ กล่าว  
ร.10 พระราชทานถุงยังชีพ
    ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ประสบภัยให้ดำเนินการ 7 ด้าน คือ 1.ปรับแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่ 2.ให้ความสำคัญกับการสำรวจพื้นที่ประสบภัยและดำเนินการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินโดยทันที 3.ให้จัดสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพและจัดตั้งโรงครัวพระราชทานประกอบเลี้ยงบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทั่ว
    4.กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหายหรือถูกน้ำท่วมขังจนไม่สามารถใช้สัญจรผ่านได้ ให้เร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแขนงต่างๆ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร 5.กำชับหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยในการเดินเรือ 6.เน้นย้ำสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจสถานการณ์เป็นระยะ และ 7.ให้ความสำคัญกับการสรุปรายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือ
    "เน้นย้ำไปยังผู้ว่าฯ พื้นที่ประสบภัยเร่งสำรวจพื้นที่ประสบภัยและตรวจสอบซ้ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด" รมว.มหาดไทยระบุ
    ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัยในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด 90 อำเภอ 469 ตำบล 2,960 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 314,639 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 8 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา และยะลา รวมทั้งสิ้น 67 อำเภอ 374 ตำบล 2,618 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 302,110 ครัวเรือน
    ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันที่ 4 ธ.ค.ท้องฟ้าเปิด แดดออก ไม่มีฝนตกแล้ว ทำให้ระดับน้ำเริ่มลดลงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะระดับน้ำในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ยังมีน้ำท่วมทุกตรอกซอกซอยระดับสูง ถนนหลายสายยังใช้การไม่ได้ ชาวบ้านยังต้องใช้เรือพายเข้า-ออกซอยอยู่ ขณะที่ถนนราชดำเนินน้ำลดลงแล้ว โดยที่หน้าโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช น้ำลดลงปกติแล้ว สามารถเข้า-ออกด้านหน้าโรงพยาบาลได้ตามปกติ ยกเว้นบริเวณถนนราชดำเนินบริเวณคอสะพานราเมศวร์ถึงสนามกีฬาระดับน้ำยังท่วมอยู่, ถนนพัฒนาการคูขวางระดับน้ำยังท่วมสูงอยู่ รถเล็กยังผ่านไม่ได้, ถนนสายเทิดพระเกียรติระดับน้ำลดลง, ถนนประตูลอดน้ำยังท่วมอยู่ รถเล็กยังผ่านไม่ได้, ถนนสายพุทธภูมิน้ำลดลง
    เช่นเดียวกับถนนสายหน้าสนามบินนครศรีธรรมราช ช่วงสามแยกบางปู-น้ำแคบ ระดับน้ำลดแล้ว รถทุกชนิดสามารถวิ่งผ่านได้ และสามารถวิ่งเข้า-ออกสนามบินได้ตามปกติ ยกเว้นจุดทางเลี้ยวเข้าสนามบิน ระดับน้ำท่วมขังเล็กน้อย ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับ อย่างไรก็ตาม ยังมีอำเภอที่น้ำท่วมอยู่ประกอบด้วย อ.เมืองฯ อ.ปากพนัง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เชียรใหญ่ อ.พระพรหม อ.ท่าศาลา ซึ่งคาดว่าหากฝนไม่ตกซ้ำลงมาอีกภายใน 1-2 วันนี้ ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนยอดผู้เสียชีวิตใน จ.นครศรีธรรมราช ล่าสุดอยู่ที่ 11 ราย
     นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานถุงยังชีพจำนวน 10,000 ชุด ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบอุทกภัยของจังหวัดนครศรีธรรมราชในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจังหวัดได้จัดพิธีมอบให้ผู้ประสบภัยที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 อ.ท่งสง เป็นจุดแรกในวันที่ 4 ธ.ค.
    นอกจากนี้ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร   มหาวัชรราชธิดา ผ่านมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จำนวน 5,000 ชุด และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จำนวน 800 ชุด
หลายพื้นที่น้ำเริ่มลด
    ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราชกล่าวว่า พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ประสบภัยมีทั้งหมด 23 อำเภอ มีผู้ประสบภัยจนถึงขณะนี้ 184,000 ครัวเรือน ประชากร 525,000 คน ลักษณะที่ประสบภัยมีทั้ง 4 รูปแบบ คือ น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม สภาพที่เป็นน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ตอนนี้คลี่คลายลงในระดับหนึ่ง จะเหลือน้ำท่วมขังที่เป็นจุดที่ลุ่ม แต่มวลน้ำจำนวนหนึ่งก็ยังคงอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองในเขตตัวเมือง อำเภอพระพรหม น้ำกำลังไหลลงสู่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอปากพนัง ใน 1-2 วันนี้
    ในส่วนของมวลน้ำที่รับจากพัทลุง น้ำบางส่วนลงสู่อำเภอจุฬาภรณ์ ร่อนพิบูลย์ เฉลิมพระเกียรติ และอำเภอชะอวด ได้เร่งระบายน้ำลงสู่คลองพระราชดำริชะอวด-แพรกเมือง ซึ่งทำให้สามารถระบายลงสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น สำหรับในเขตพื้นที่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช มีจุดอพยพผู้ประสบภัยทั้งหมด 10 จุด มีผู้อพยพประมาณเกือบ 2,000 คน ระดับน้ำลดลงประมาณ 10-15 เซนติเมตร แต่ยังมีน้ำท่วมขัง คลองสายหลักในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ทั้ง 5 สายคลอง ตั้งแต่คลองคูพาย คลองป่าเหล้า คลองสวนหลวง คลองนครน้อย คลองราเมศร์ จะลงสู่คลองท่าซัก ยังมีสภาพน้ำเชี่ยว น้ำล้นตลิ่งอยู่บางส่วน
    "ในพื้นที่อำเภอทุ่งสงที่ทุกคนเป็นห่วง นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอทุ่งสงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะถุงยังชีพ การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลในเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยทุกภาคส่วนได้ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย" ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราชกล่าว
    จ.ตรัง มณฑลทหารบกที่ 43 ร่วมกับ อบต.ควนเมา และส่วนราชการ จัดรถครัวสนามเพื่อประกอบอาหารและนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบอุทกภัยที่ ต.ควนเมา อ.รัษฎา
    จ.กระบี่ กรมทหารราบที่ 15 สนับสนุนส่วนราชการท้องถิ่นช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อ.ลำทับ และ อ.เขาพนม มองถุงยังชีพพร้อมเฝ้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
    จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนี้ อ.พุนพิน มีน้ำท่วมขังสูง 70-90 เซนติเมตร ประชาชนไม่สามารถเดินทางได้ กรมทหารราบที่ 25 เข้าแจกจ่ายอาหารกล่องและขนย้ายสิ่งของให้กับประชาชนริมฝั่งแม่น้ำตาปี
    จ.สงขลา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดริมทะเลสาบสงขลาทั้งสองฝั่งใน 5 อำเภอ ทั้งฝั่ง อ.ควนเนียง และฝั่งคาบสมุทรสทิงพระ ทั้ง อ.ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร ยังคงต้องเผชิญกับน้ำในทะเลสาบสงขลาหนุนเข้าท่วมบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นมวลน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ จ.พัทลุง และต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่น้ำล้อมรอบบ้าน โดย จ.สงขลาถูกน้ำท่วม 13 อำเภอ ซึ่งได้ประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน 12 อำเภอ ยกเว้น อ.นาหม่อม มีเพียง 3 อำเภอที่แม้จะท่วมแต่ไม่หนักมากคือ อ.เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย   
    จ.นราธิวาส ท้องฟ้ายังคงมีเมฆฝนมืดครึ้มแผ่ปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ แต่ได้หยุดตกในช่วงเช้า ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของแม่น้ำสายหลักมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งประมาณ 50 ซม. และได้ไหลทะลักของท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ราบลุ่มริมตลิ่ง จำนวน 2 ชุมชนคือ ชุมชนท่าประปา และชุมชนหัวสะพาน เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ซึ่งมีระดับน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 30 ถึง 50 ซม. ที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวน 50 ครัวเรือน ถือว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และเกิดสภาวะน้ำท่วมขังในระลอกแรกที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนต้องใช้เรือพายเป็นพาหนะสัญจรไปมา
     วันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งได้ถูกประกาศยกระดับเป็นเขตภัยพิบัติทั้ง 23 อำเภอ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการสัญจร การคมนาคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว.
    
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"