ฝ่ายค้านอ้างเด็ก ไม่ร่วมสังฆกรรม นั่งกก.สมานฉันท์


เพิ่มเพื่อน    

 

แก้ไขรัฐธรรมนูญอืดเป็นเรือเกลือ เพิ่งขยับ 2 มาตรา แต่ที่ชัดคือร่างฉบับไอลอว์ถูกถีบตกแน่นอน “วันชัย” เผย กม.ประชามติฉบับใหม่จะเปิดกว้างให้ 2 ฝ่ายรณรงค์ได้ เพื่อไทยอ้างเด็กเมินร่วมสังฆกรรม กก.สมานฉันท์ ผุดคณะกรรมการการเมือง-คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เลือกตั้ง หวังส่งชิงเก้าอี้ทั้ง 350 เขต
    เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) แถลงว่า การประชุม กมธ.ได้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 1 ว่าด้วยชื่อรัฐธรรมนูญ และมาตรา 2 ว่าด้วยการกำหนดให้รัฐธรรมนูญใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ มีสมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพื่อขอแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 106 ฉบับ มีผู้แปรญัตติทั้งสิ้น 109 คน แบ่งเป็น ส.ว. 8 คน และ ส.ส. 101 คน
    เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เข้ามาอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสิระกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตัวแทนของไอลอว์ได้มาชี้แจงต่อ กมธ. แต่ไม่สามารถโน้มน้าว กมธ.ได้ เช่น การใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แบบกลุ่ม จึงทำให้เหลือเฉพาะแค่การพิจารณาเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะของรัฐบาลและฝ่ายค้าน
    ส่วนนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมี ส.ส.แปรญัตติ 37 คน รวมถึงกฎหมายประชามติที่จะติดตามให้กฎหมายออกมาใช้ ไม่เหมือนการทำประชามติเหมือนครั้งที่ทำกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการจำกัดสิทธิ์
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... รัฐสภา กล่าวว่า ในที่ประชุม กมธ.นัดแรก ได้วางเป้าหมายทำเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประชามติเพื่อขจัดข้อครหาและข้อกังวลตามที่สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายไว้ในวันรับหลักการ ซึ่ง กมธ.ต้องทำกฎหมายเพื่อให้การออกเสียงประชามติที่จะเกิดขึ้นเป็นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้รณรงค์ความคิดอย่างเปิดเผย และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่เหมารวม
         “ร่าง พ.ร.บ.ประชามติถือเป็นกฎหมายคู่ขนานกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีความสำคัญ เบื้องต้น กมธ.คาดว่าการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะอยู่ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564 ดังนั้น กมธ.ต้องเร่งทำกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน”นายวันชัยกล่าว และว่า ในการประชุมนัดหน้า กมธ.จะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สถาบันพระปกเกล้า, นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำประชามติให้ความเห็น ก่อนที่จะลงรายละเอียดของเนื้อหาร่างกฎหมาย
    นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวในเรื่องนี้ว่า ยังไม่ทราบอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าสถาบันได้รับการประสานมา ก็จะเตรียมข้อมูลทางวิชาการ และอาจมีความเห็นประกอบว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในแง่ของขั้นตอนกระบวนการควรเป็นอย่างไร ซึ่งตามหลักการกระทำประชามติที่มีความสำคัญ จำเป็นต้องมีกระบวนการที่เปิดกว้างเสมือนให้ความรู้ ข้อมูลประกอบการตัดสินใจกับประชาชนทั้งด้านดีและไม่ดี และยังเป็นกระบวนการมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของประชามติ  ถ้าไม่ทำ 2 เรื่องนี้โอกาสที่ทำประชามติไปแล้วประชาชนไม่ยอมรับมีสูง
        เมื่อถามว่า ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.ยกร่างขึ้น จะสามารถรณรงค์ได้หรือไม่ นายสติธรกล่าวว่า ถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ก็ควรเป็นสิ่งที่ทำได้ เวลานี้สิ่งที่เราจะนำไปให้ประชาชนตัดสินใจผ่านการทำประชามติคือวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และรูปแบบของ ส.ส.ร. ซึ่งย่อมต้องมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย น่าจะเป็นเวทีที่ทุกคนมีโอกาสจะมาพูดคุยกันว่าที่เห็นด้วยเพราะอะไร มีข้อดีอย่างไร หรือมีรูปแบบอื่นที่ดีกว่า แต่สุดท้ายวันที่ลงประชามติจริงๆ ก็จะเป็นตัวตัดสินเองว่าแบบไหนที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ ก็จะทำให้กระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไปในอนาคตสามารถเดินหน้าต่อไปได้
    สำหรับความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวถึงโควตาพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 คนว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ปรึกษาหารือกันแล้ว มีมติไม่ส่งตัวแทนเข้าไปร่วม เพราะได้ดูองค์ประกอบของคณะกรรมการแล้ว เห็นว่ายังไม่มีความเป็นกลางเพียงพอ อีกทั้งคู่ขัดแย้งหลักปฏิเสธเข้าร่วม ทำให้ไม่เห็นว่าเรื่องนี้จะจบได้ หรือจบลงอย่างไร ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่ร่วมสังฆกรรม
    วันเดียวกัน นายสมพงษ์ยังนัดประชุมแกนนำพรรคก่อนแถลงผลประชุมว่า เพื่อให้การทำงานการเมืองตามทันสถานการณ์ จึงตั้งคณะกรรมการด้านการเมืองที่มีนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคเป็นประธาน นายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรค และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานกิจการพิเศษพรรคเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งนายประเสริฐเป็นเลขานุการ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมามีการเข้าและออกของสมาชิกจำนวนมาก จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องพื้นที่ เพราะในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคจะส่งครบทั้ง 350 เขต
นายประเสริฐกล่าวว่า ภารกิจของคณะกรรมการการเมืองจะทำหน้าที่ในการประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง เพื่อที่จะได้กำหนดท่าที บทบาทของพรรคให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นไปในแนวเดียวกัน ซึ่งจะมีความต่างจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เดิม เพราะจะเป็นการรวบรวมคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่เข้ามาทำงานร่วมกัน และมีการกระจายอำนาจไปในส่วนต่างๆ เชื่อว่าการทำงานจะออกมาดี
     วันเดียวกัน ยังคงมีความเคลื่อนไหวในพรรค พท. เมื่อนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม ได้ส่งจดหมายลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่ 4 ธ.ค. ซึ่งนายรัฐภูมิได้เข้าสมัครสมาชิกพรรค พท. เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562 ผ่านการชักชวนของนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคเพื่อไทย
ต่อมานายรัฐภูมิโพสต์เฟซบุ๊กว่า การทำงานด้านการเมืองมีจุดยืนของตัวเองชัดเจนเสมอคืออุดมการณ์ ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์คือผู้ใหญ่ที่เห็นอุดมการณ์ชัดเจน และเป็นผู้ให้โอกาสได้เรียนรู้งานต่างๆ มากมาย วันนี้ถ้ามีใครถามถึงจุดยืน ก็จะขอยืนยันอุดมการณ์เดิม และขอเลือกทำงานเคียงข้างผู้ใหญ่ที่ตนเองเลือกว่าท่านคือผู้ที่เป็นต้นแบบอุดมการณ์ในการทำงานด้านการเมือง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"