ม็อบฝั่งธนฯจืด/ศาลยกคดีล้มล้าง


เพิ่มเพื่อน    


    ม็อบสามนิ้วขาลง แนวร่วมจัดกิจกรรมรวมพลคนอาชีวะที่วงเวียนใหญ่ มีการ์ดอาชีวะร่วมงานแค่ 200 คน แล้วรีบเผ่น ผวาโดนเอาผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซูเปอร์โพลเผยคนเอือมระอาม็อบเต็มทน ศาล รธน.ยกคำร้องไต่สวนแกนนำกลุ่มราษฎร  ชุมนุมล้มล้างการปกครอง ชี้ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ-กระบวนการร้องไม่สมบูรณ์ 
    เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. มีรายงานว่า วันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 67/2563 เรื่องพิจารณาที่ 16/2563 ยกคำร้องกรณีนายสนธิญา สวัสดี อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (ผู้ร้อง) ยื่นเรื่องร้องกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมนักเรียน นิสิต นักศึกษา และกลุ่มประชาชนเยาวชนปลดแอก (Free –YOUTH) ที่ปัจจุบันคือม็อบราษฎร 2563 (ผู้ถูกร้อง) กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมจัดการปราศรัยโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์
     โดยกรณีนี้ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อสั่งให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นการจัดการชุมนุมโดยใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผู้ร้องเคยยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ อสส.ไม่ดำเนินการภายใน 45 วันนับแต่รับคำร้อง ผู้ร้อง จึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ดังนี้ 1.สั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม 2.กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามมีการชุมนุมใดๆ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
     ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอ จึงให้ผู้ร้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 28 ก.ย.2563 ระบุตัวบุคคลที่กระทำตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างคือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง), นายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก 4 แกนนำม็อบราษฎร รวมทั้งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการชุมนุมปราศรัยในวันที่ 19-20 ก.ย.2563 บริเวณท้องสนามหลวง
     โดยประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นว่า คำร้องและคำร้องเพิ่มเติมของผู้ร้องต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่อ อสส. เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำดังกล่าวได้” และวรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ อสส.มีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้”
    คำสั่งระบุอีกว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ตามคำร้องและคำร้องเพิ่มเติมผู้ร้องจะระบุตัวบุคคลที่เป็นผู้จัดการชุมนุมเมื่อ 19 ก.ค. 2563 ก็ตาม แต่ยังคงไม่มีการเพิ่มเติมให้เห็นถึงการกระทำ พร้อมข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง คำร้องและคำร้องเพิ่มเติมดังกล่าวของผู้ร้องจึงมีรายการไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน และไม่อาจเข้าใจได้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง 
    อีกทั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ผู้ร้องไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง เป็นกรณีต้องด้วย พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 53 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนของการกระทำในการจัดการชุมนุมปราศรัย เมื่อ 19 ก.ค.2563 ไว้วินิจฉัย
     "ส่วนกรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีการจัดการชุมนุมปราศรัยเมื่อ 19-20 ก.ย.2563 นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อ อสส. กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป" คำสั่งดังกล่าวระบุ 
ซูเปอร์โพลเผยคนยี้ม็อบ 3 นิ้ว 
    ขณะที่เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “พลเอกประยุทธ์เดินหน้าต่อ...แล้วม็อบล่ะ?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง 
    ผลสำรวจดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองต่อจากนี้ จากผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธที่ผ่านมาทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
    จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองหลังผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.38 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงขึ้นอย่างน่ากังวล รองลงมา ร้อยละ 22.89 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงเหมือนเดิม แต่ไม่มีอะไรน่ากังวล 
    ส่วนร้อยละ 17.64 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงขึ้น แต่ไม่น่ากังวล, ร้อยละ 17.49 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงเหมือนเดิม และยังคงน่ากังวลอยู่, ร้อยละ 6.85 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะลดความร้อนแรงลง, ร้อยละ 6.46 ระบุว่าไม่มีเรื่องใดให้น่ากังวล และร้อยละ 1.29 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการยกระดับการชุมนุมทางการเมืองของม็อบคณะราษฎร โดยใช้ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.13 ระบุว่าการชุมนุมจะยกระดับ แต่ไม่สามารถกดดันรัฐบาล ให้ทำตามข้อเรียกร้องได้ รองลงมา ร้อยละ 29.36 ระบุว่าการชุมนุมจะไม่สามารถยกระดับ และไม่สามารถกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้องได้, ร้อยละ 12.17 ระบุว่าการชุมนุมจะยกระดับ จนสามารถกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้องได้, ร้อยละ 8.21 ระบุว่าการชุมนุมจะลดระดับ และไม่สามารถกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้องได้, ร้อยละ 7.45 ระบุว่าการชุมนุมจะไม่สามารถยกระดับ แต่สามารถกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้องได้, ร้อยละ 2.43 ระบุว่าการชุมนุมจะลดระดับ แต่สามารถกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้องได้ และร้อยละ 5.25 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 
    วันเดียวกัน นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ราษฎร จะไปต่อ ทางออกประเทศไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 2,108 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-5 ธันวาคม ที่ผ่านมา
    เมื่อถามถึงความเห็นของราษฎรเรื่อง การหยุดม็อบคุกคามผู้อื่น หยุดเบียดเบียนผู้อื่น หยุดสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นที่ต้องการเดินทางสัญจรไปมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.2 ระบุหยุดได้แล้ว ในขณะที่เพียงร้อยละ 1.8 ระบุว่าทำต่อไป
     อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายของราษฎร ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.6 รู้สึกเบื่อหน่าย บรรดารัฐมนตรีที่เอาแต่เปิดงาน นิทรรศการ วันเปิดคือวันปิด เสียดายงบประมาณ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ควรทำอะไรที่เป็นโครงการที่เด็กและเยาวชนและประชาชนจับต้องได้จะดีกว่า
ม็อบชุมนุมวงเวียนใหญ่แผ่ว 
    ขณะที่ความเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมืองนั้น เมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 6 ธ.ค. กลุ่มฟันเฟืองธนบุรี ที่เป็นแนวร่วมเดียวกับม็อบสามนิ้ว นัดรวมตัวบริเวณหน้าห้างแพลทฟอร์มวงเวียนใหญ่ เพื่อทำกิจกรรมรวมพลฅนอาชีวะ โดยมีการ์ดอาชีวะร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน จากนั้นเวลา 17.00 น. ได้เคลื่อนเพื่อที่จะเข้าไปบริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ทางเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. ไม่ยอมให้เข้า
     แต่นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำคนรุ่นใหม่นนทบุรี ที่อยู่บนรถเครื่องขยายเสียงพยายามนำมวลเข้าไปได้ในที่สุดเพื่อจะตั้งเวที พร้อมการด่าทอ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุปผารามได้เข้ามาอ่านประกาศห้ามใช้พื้นที่บริเวณนี้ในการชุมนุม เนื่องจากขัด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยไม่มีการแจ้งอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และขอให้ยกเลิกการชุมนุมในเวลา 17.30 น. 
    ขณะที่ผู้ชุมนุมต่างมายืนล้อมตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าขี้ข้าเผด็จการ พร้อมกล่าวว่า การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สองมาตรฐาน  ทำไมกลุ่มเสื้อเหลืองถึงเข้ามาข้างในได้ 
    ต่อมาแกนนำได้ประกาศว่าให้มวลชนออกจากพื้นที่เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย และถูกแจ้งข้อหาบุกรุกสถานที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ กทม.ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ จากนั้นมวลชนก็ทยอยเดินออกจากพื้นที่
    ต่อมาเวลา 17.30 น. กลุ่มฟันเฟืองธนบุรีได้ปักหลักตั้งเวทีปราศรัยบนรถขยายเสียงบริเวณขาออก ถนนลาดหญ้า โดยปิดถนนทั้ง 2 ด้าน ตั้งแต่สี่แยกลาดหญ้าจนถึงวงเวียนอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประมาณ 500 เมตร รวมทั้งซอยลาดหญ้าที่จะออกไปถนนใกล้เคียงก็โดนปิดด้วยเช่นกัน โดยในการชุมนุมครั้งนี้มีผู้ร่วมการชุมนุมประมาณ 150-300 คน ขณะที่บนเวทีปราศรัยได้พูดถึงการทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว รวมทั้งการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ด้วย
    อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ระหว่างกลุ่มแกนนำ กลุ่มการ์ดอาสา กลุ่มการ์ดคนเสื้อแดง และกลุ่มนักเรียนอาชีวะ จนทำให้นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” อดีตหัวหน้าการ์ดม็อบคณะราษฎร 2563 ในนามกลุ่ม “WEVO” ได้ประกาศขอยุติบทบาทในการทำหน้าที่การ์ดให้กลุ่มผู้ชุมนุม และเตรียมเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามกลุ่มวีโว่ของตัวเองที่จะแยกออกมาต่างหาก. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"