งาน ‘มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตก’ ที่ จ.อุทัยธานี ‘ดิน..คือชีวิต น้ำ..คือสายเลือด ป่า..คือพลัง’ และการสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ


เพิ่มเพื่อน    

ชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์ อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี

 

จ.อุทัยธานี / ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคมนี้  มีการจัดงาน ‘มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตก’  และพิธีสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ  ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์หรือภูเหม็น ต.ทองหลาง  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี   โดยมีชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคตะวันตก 6 จังหวัด  คือ  ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  ราชบุรี  กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  และอุทัยธานี  พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย  ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนประมาณ 400 คนเข้าร่วมงาน 

 

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อเป็นชาติเชื้อไทย ?

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมหรืออพยพเข้ามาในภายหลังไม่ต่ำกว่า 70 ชาติพันธุ์  รวมประชากรประมาณ  6.1 ล้านคน  (ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ) เช่น  กะเหรี่ยง อาข่า  ม้ง  มอญ  ลาหู่   ลัวะ  เย้า  ไทใหญ่   ผู้ไท  กะเลิง  ญ้อ  กูย  ชาวเล  มันนิ  ฯลฯ  มีภาษาพูด  ประเพณี  วัฒนธรรมเป็นของตนเอง  แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  เหล่านี้บางส่วนไม่ได้รับการรับรองสิทธิต่างๆ  เหมือนกับคนไทยทั่วไป  เช่น  ไม่ได้รับรองสถานะว่าเป็นคนไทย  ไม่มีบัตรประชาชน   ทำให้เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐ  ด้านการรักษาพยาบาล  การศึกษา  ฯลฯ 

 

นอกจากนี้สังคมทั่วไปยังไม่เข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  จึงมองพวกเขาว่าเป็นคนป่า  คนดอย  ชอบบุกรุกป่าไม้  ทำลายป่า  ทำลายแหล่งต้นน้ำ  ฯลฯ  ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ขาดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม  ประเพณี  และภูมิปัญญาของตนเอง  รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตพื้นที่ป่า  เขตอุทยานแห่งชาติ  ฯลฯ  ทับซ้อนที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน  ทำให้พวกเขาต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ.อุทยานฯ

 

อย่างไรก็ดี  ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา  ภาคีเครือข่าย  และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  ได้ร่วมกันสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้  ฟื้นฟูภูมิปัญญา  วิถีชีวิต  วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ  รวมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน  รวมทั้งการต่อสู้ด้านกฎหมายและคดีความต่างๆ  จนรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้การยอมรับ  จนนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  โดยเฉพาะชาวเลและชาวกะเหรี่ยง

 

มติ ครม. ชาวเล  2 มิถุนายน  และกะเหรี่ยง 3  สิงหาคม 2553            

ชาวเล ในประเทศไทยมี 3  กลุ่มชาติพันธุ์  คือ  มอแกน  มอแกลน  และอุรัคลาโว้ย  อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย  มีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย  เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือและภาษาไทย  แม้จะอยู่อาศัยมาก่อนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวนานนับร้อยๆ ปี  แต่ไม่ได้แจ้งการครอบครองสิทธิในที่ดิน   จึงถูกผู้มาอยู่ทีหลังฟ้องร้องขับไล่หรือแจ้งความดำเนินคดี  รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานฯ ทางทะเล  ทำให้เข้าไปจับสัตว์น้ำไม่ได้  หรือถูกเจ้าหน้าที่จับกุม

 

คณะรัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ   ได้มีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล  ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล  และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงวัฒนธรรม)  นำแผนไปปฏิบัติ  

 

เช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ  ต่างประสบกับปัญหาต่างๆ  โดยเฉพาะปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้  ป่าอนุรักษ์   และเขตอุทยานต่างๆ

 

 ชาวกะเหรี่ยงในไร่ข้าว

 

คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม  2553  ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’  โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ เช่น  1. ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าที่มีหลักฐานประจักษ์ว่าชุมชนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว  2.ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเรื่องที่ทำกิน ฯลฯ  เพื่อปกป้องและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบางให้สามารถดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้  (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.m-culture.go.th/provincenetwork/images/File/CombineF .pdf)

 

แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง  มติ ครม. 2 มิถุนายน และ 3 สิงหาคม 2553  จึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง  จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว  แต่กลุ่มชาติพันธุ์  โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงยังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ  เช่น  ปัญหาเรื่องการประกาศเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง  ทำให้ชาวกะเหรี่ยงถูกขับไล่หรือถูกจับกุมดำเนินคดี  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  

 

พี่น้องชาวกะเหรี่ยงและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันขับเคลื่อนให้มติ ครม. ดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติ  โดยการสนับสนุนการจัดตั้ง เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ ขึ้นมาแล้วจำนวน 12 พื้นที่ในภาคเหนือ  และผลักดันให้มติ ครม.ยกระดับเป็นกฎหมายที่มีผลในทางปฏิบัติต่อไป   เพื่อให้สามารถคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

 

จัดงาน ‘มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตก’ ที่บ้านภูเหม็น จ.อุทัยธานี

ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2563  เครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตก  ประกอบด้วย  ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  ราชบุรี  กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  และอุทัยธานี  ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ  พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย  เช่น  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  มูลนิธิชุมชนไท  ขบวนการประชาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  สถาบันวิจัยสังคม  จุฒาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ  ร่วมกันจัดงาน  ‘มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตก’  และพิธีสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ  ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ต.ทองหลาง  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี                  

 

อังคาร  คลองแห้ง ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์

 

ลุงอังคาร  ครองแห้ง  ผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น (สำเนียงกะเหรี่ยงเรียกว่า “พุเม้ยง์” คือชื่อต้นเข้าพรรษา เป็นพืชตระกูลขิง  มีดอกสีเหลือง  ออกดอกช่วงฤดูเข้าพรรษา  คนภายนอกเรียกเพี้ยนเป็น “ภูเหม็น”)  บอกถึงเป้าหมายในการจัดงานวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตะวันตกว่า  เพื่อให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงทั้งภาคตะวันตกและภาคเหนือร่วมกันอนุรักษ์ประเพณี  วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง  โดยนำวิถีชีวิต  ภูมิปัญญา  วัฒนธรรมต่างๆ มาจัดนิทรรศการ  เช่น  การทอผ้า  พืชผลจากไร่หมุนเวียน  ฯลฯ

 

ภายในงานมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง ‘ดิน...คือชีวิต  น้ำ...คือสายเลือด  ป่า...คือพลัง’  การแสดงดนตรี  วิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง  พิธีสักการะแผ่นดินบรรพชน  สืบชะตาน้ำลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง  บวชป่าต้นไม้ใหญ่  พิธีปักหมุดเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงพุเม้ยง์  พิธีไหว้เจดีย์  ฯลฯ 

 

“ที่สำคัญก็คือ ในการจัดงานครั้งนี้เราจะเน้นย้ำว่า ‘ที่ดินคือชีวิต  น้ำคือสายเลือด  และป่าคือพลังของชาวกะเหรี่ยง’  เพราะพวกเราอยู่อาศัยและทำกินบนผืนดินผืนนี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  เราอยู่กันมานานไม่ต่ำกว่า 400 ปี   มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นของเรา  แล้วจะมาขับไล่ให้ชาวกะเหรี่ยงออกไปจากพื้นที่นี้ได้อย่างไร  พวกเราจึงต้องร่วมกันปกป้องวิถีชีวิตของเรา  และยังเป็นไปตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ด้วย”  ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์บอก

 

การจัดงานครั้งนี้ยังมีเวทีวิชาการ  เช่น  การบรรยายเรื่อง ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษกับการจัดการพื้นที่ต้นแบบ :  ความสำคัญ  แนวทางปฏิบัติตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553’ โดย ดร.ชยันต์  วรรธนะภูติ  หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  การบรรยายเรื่อง ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษกับแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553’  โดยนายแพทย์โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์  ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน)  การจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตามมติ ครม. โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงตะวันตก 6   จังหวัดและชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ

 

ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวในวันที่ 8 ธันวาคม  มีผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  และนายนพดล  พลเสน  ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมงาน  และมอบนโยบายการจัดการพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ  ส่วนวันที่ 9 ธันวาคม  นางมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเดินทางมาร่วมงาน  พร้อมทั้งมอบนโยบาย ‘แผนเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงภาคตะวันตก’  และปิดท้ายงานด้วยการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อน ‘การพัฒนาพื้นที่การคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ’ ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553

 

ลำห้วยพุเม้ยง์ที่ชาวกะเหรี่ยงช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสายน้ำ

 

กะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์ ‘คนอยู่คู่ป่า’

ตำบลทองหลาง  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี  มีเนื้อที่ประมาณ 150,000 ไร่  มี  8 หมู่บ้าน  ด้านทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  ส่วนบ้านพุเม้ยง์หรือภูเหม็นอยู่หมู่ที่ 8 เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง  มี 3 หย่อมบ้าน  จำนวน 194 ครอบครัว  ประชากรประมาณ 700 คน  มีอาชีพหลักคือปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียน  ชาวบ้านตั้งรกรากสืบทอดอยู่อาศัยทำกินมานาน (โดยมีหลักฐานยืนยัน) กว่า 150 ปี  โดยมีนายปองซ่า  คลองแห้ง  เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกเมื่อปี 2415  ปัจจุบันมีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 11 คน  ในปี 2557  ทางราชการได้ประกาศ ‘เขตวนอุทยานห้วยคต’ ทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนกับที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมานาน

 

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  บอกว่า  ชาวกะเหรี่ยงโดยทั่วไปมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ  มีวิธีการทำไร่แบบหมุนเวียน  ใช้เนื้อที่ประมาณ 5-10 ไร่เพื่อปลูกข้าวไร่  ฟักทอง  แตง  พริก  มะเขือ  เผือก  ฯลฯ  เก็บผักและอาหารจากป่า  เช่น  เห็ด  หน่อไม้  น้ำผึ้ง  เอาขี้ผึ้งมาทำเทียนไขเพื่อใช้ในพิธีกรรม  พอปีต่อไปก็จะหมุนเวียนจากไร่ข้าวแปลงนี้ไปปลูกแปลงอื่น  เพื่อให้ดินได้พักฟื้น  และกลับมาสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย  ไม่ใช่เป็นการทำไร่เลื่อนลอยตามที่คนภายนอกหรือหน่วยราชการเข้าใจ  แต่เป็นการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป 

 

“เมื่อก่อนพวกผมตื่นแต่เช้าก็จะพากันเดินไปไร่  เดินไปร้องเพลงกันไปอย่างมีความสุข  เพราะได้ทำมาหากินอยู่กับธรรมชาติ  ประมาณปี 2515  มีการประกาศ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ ทางเจ้าหน้าที่ก็ห้ามเข้าป่าห้วยขาแข้ง  ห้ามหาน้ำผึ้ง  พอถึงปี 2528 ชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบ  เพราะมีการประกาศเขตป่าสงวนฯ ป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควายทับที่ดินทำกินที่ชาวกะเหรี่ยงทำมาแต่เดิม 

 

พอปี 2535 มีการประกาศเป็นเขตสวนป่า  เจ้าหน้าที่เอาต้นไม้มาปลูกทับที่ทำกินอีก  ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน  เพราะเจ้าหน้าที่ห้ามชาวบ้านเข้าไปทำไร่หมุนเวียนในสวนป่า  ขู่จะจับ  และยึดที่ดิน  ตอนนั้นชีวิตผมและคนอื่นๆ ไม่มีความสุขแล้ว  ผมจึงคิดจะประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายในไร่ทั้งครอบครัว  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รู้  แต่มีความเป็นห่วงลูกหลานที่ยังอยู่จึงเลิกความคิด”  ลุงอังคารบอกเล่าผลกระทบ

 

 ชาวกะเหรี่ยงมีป่าเป็นพื้นที่ทำกิน

 

วิถีชีวิตเปลี่ยน  วัฒนธรรมชุมชนถูกทำลาย

ลุงอังคารเล่าถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปว่า  เมื่อชาวบ้านไม่มีพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจึงทำให้ที่ดินทำกินเหลือน้อยลงเพียงไม่กี่ไร่  บางครอบครัวไม่ที่ทำกินเลย  ต้องอาศัยพื้นที่ว่างตามซอกเขาไม่ถึง 1 ไร่เป็นที่ทำกิน  แต่ก็ไม่เพียงพอ  และต้องทำไร่แบบหลบๆ ซ่อนๆ  เพราะกลัวเจ้าหน้าที่จะมาจับ   ต้องออกไปทำไร่แต่เช้ามืด  พอพระอาทิตย์ขึ้นจึงกลับเข้าบ้าน  เพราะเจ้าหน้าที่จะออกตรวจพื้นที่ในช่วงสายๆ

 

เมื่อไม่มีที่ดินทำกิน  ไม่มีรายได้  ไม่มีข้าวและอาหาร   ชาวกะเหรี่ยงจึงต้องไปกู้ยืมเงินจากพ่อค้าพืชไร่ (เสียดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาทต่อเดือน)  หรือเอาบ้านไปจำนอง ธกส. และต้องเปลี่ยนจากการทำไร่ข้าวแบบวิถีดั้งเดิมมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี  เช่น  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด  ต้องซื้อเครื่องฉีดพ่นสารเคมี  จ้างรถไถ  ฯลฯ  ปลูกเพื่อขายเอาเงินมาใช้กินและใช้หนี้  (ครอบครัวลุงอังคารยังเป็นหนี้จนถึงปัจจุบันกว่า 4 แสนบาท)  ประเพณีดั้งเดิมหายไป  เช่น  พิธีทำขวัญข้าว  ไหว้แม่โพสพ  กินข้าวใหม่ ฯลฯ  เพราะไม่มีพื้นที่ปลูกข้าวแล้ว

 

จนถึงเดือนกรกฎาคม 2557  เป็นต้นมา  ปัญหาและความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวกะเหรี่ยงรุนแรงยิ่งขึ้น  เพราะมีการประกาศให้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านพุเม้ยง์เป็น ‘เขตวนอุทยานห้วยคต’   มีเนื้อที่ 155,30 ไร่   โดยทางราชการจะให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายออกไปอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก.ที่ตำบลระบำ  อำเภอลานสัก  ภายในเดือนเมษายน 2560  โดยจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่  และพื้นที่อยู่อาศัย 1 ไร่  ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นแปลงสัมปทานทำไม้  ผืนดินขาดความสมบูรณ์  ปลูกข้าวไม่ได้ 

 

ในปี 2558 ชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์จึงเริ่มร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัด  และส่วนกลางเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา  เช่น  ศูนย์ดำรงธรรม  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สำนักนายกรัฐมนตรี  รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอความเป็นธรรม  แต่การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า 

 

ใช้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  แก้ไขปัญหา         

ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวกะเหรี่ยงยังดำเนินต่อไปในช่วงปี 2558-2560  ในระหว่างนี้มีชาวกะเหรี่ยงถูกจับกุมดำเนินคดี 1 รายในข้อหาเกี่ยวกับการบุกรุกป่า  แต่ต่อมาศาลได้ยกฟ้อง  เพราะเห็นว่าชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน  ต่อมาชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนปัญหาไปยังอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกครั้ง  ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ารื้อถอนบ้านเรือนและให้ชาวกะเหรี่ยงออกไปจากเขตวนอุทยานภายในวันที่ 9 เมษายน  2560

 

นายสมบัติ  ชูมา  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  จ.อุทัยธานี  กล่าวว่า  จากปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  เมื่อเรื่องไปถึงคณะอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  จึงได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนชาวกะเหรี่ยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560  โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาแก้ไขปัญหาจำนวน 2 ชุด  โดยจะใช้มติคณะรัฐมนตรี  3 สิงหาคม 2553  เรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’ ที่มีอยู่แล้วมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา

 

คือ 1.คณะกรรมการเพื่อกำหนดพื้นที่ทำกินในเขตพื้นที่บ้านภูเหม็น  ตามมติ ครม.  3 สิงหาคม 2553  เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัย  วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย  ผู้แทนกรมป่าไม้  กรมอุทยาน  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ  นักวิชาการ  และผู้แทนชาวกะเหรี่ยง  และ 2.คณะกรรมการตรวจสอบรังวัดแนวเขตพื้นที่สวนป่าบ้านไร่  วนอุทยานห้วยคต 

 

ทั้งนี้โดยมีคณาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ร่วมเป็นที่ปรึกษา  และสนับสนุนชุมชนจัดทำข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นหลักฐานของชุมชนในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวกะเหรี่ยงตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 

 

จนถึงเดือนสิงหาคม  2562  ชุมชนชาวกะเหรี่ยงและทีมที่ปรึกษาได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าอุทยานห้วยคต  โดยทางอุทยานฯ แจ้งว่า   อุทยานฯ จะกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน  และให้ชาวบ้านบริหารจัดการ  ดูแลรักษาป่า  รวมทั้งเพื่อให้เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงตามมติ ค.ร.ม.ดังกล่าว  รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  13,000 ไร่เศษ  โดยชุมชนจะร่วมกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานฯ เดินสำรวจแนวเขตที่ดินร่วมกัน

 

 ชาวกะเหรี่ยงเดินสำรวจแนวเขตพื้นที่ทำกิน

 

“ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา  ทีมที่ปรึกษาและชาวกะเหรี่ยงได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลต่างๆ เช่น  ประวัติศาสตร์  วิถีชีวิต  วัฒนธรรม    และสำรวจพื้นที่เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  เพื่อร่วมกันหาแนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัย  และการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  เพื่อเตรียมการประกาศหรือสถาปนาเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงในการจัดงานระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคมนี้”  นายสมบัติกล่าว

 

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเมียง์  กล่าวว่า  เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงก็คือ  การดำรงวิถีชีวิตตามปกติของชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง  คือ  มีการทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวและอาหารเอาไว้กิน  มีจารีต  มีประเพณี  มีวัฒนธรรมอย่างไร  เราก็ปฏิบัติไปตามนั้น  ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องพิเศษแต่อย่างใด  แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ยอมรับในเรื่องสิทธิที่ดินที่พวกเราอยู่มาก่อน  เราจึงต้องเรียกร้องเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมขึ้นมา  และเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดอยู่อาศัยและทำกินต่อไป 

 

“กะเหรี่ยงมี 3  กฎที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  คือ  กฎจารีต  กฏประเพณี  และกฎวัฒนธรรม  แต่ที่ผ่านมาเราถูก ‘กฎหมาย’ เพียงกฎเดียวที่มากดขี่  บีบบังคับพวกเรา  เราจึงต้องต่อสู้และฟื้นฟูทั้ง 3  กฎของเราขึ้นมาเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนกะเหรี่ยง”  ผู้นำกะเหรี่ยงบ้าน ‘พุเม้ยง์’ หรือภูเหม็นกล่าว

 

                                                                      

 

เร่งผลักดัน ‘พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการเตรียมจัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงที่บ้านพุเม้ยง์แล้ว  ก่อนหน้านี้มีชุมชนกะเหรี่ยงจัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมในประเทศไทยแล้ว  รวม 12  พื้นที่   เช่น บ้านห้วยลาดหินใน  ต.ป่าโป่ง  อ.เวียงป่าเป้า  จ.เชียงราย,  บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ต.แม่วิน  อ.แม่วาง  จ.เชียงใหม่, ชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ  จ.ลำปาง, บ้านดอยช้างป่าแป๋  ต.ป่าพลู  อ.บ้านโฮ่ง  จ.ลำพูน  ฯลฯ 

 

นอกจากนี้หน่วยงานภาคีต่างๆ และชุมชนชาวกะเหรี่ยงยังมีแผนการผลักดันให้มติ  ครม. 3 สิงหาคม 2553  ยกระดับเป็นกฎหมายที่มีผลในการปฏิบัติภายในปี 2565 นี้  เพื่อให้สามารถคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง  โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่าง ‘พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ...’

 

นายอภินันท์  ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะคณะทำงานจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  กล่าวว่า  การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์  โดยรัฐบาลได้จัดความสำคัญให้เป็นกฎหมายเร่งด่วน 16 ฉบับที่ต้องจัดทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งกำหนดไว้ในเอกสารภาคผนวกคำแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560  และมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

 

 การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ...’ที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

นายอภินันท์กล่าวด้วยว่า  การผลักดันให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากความต้องการของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการยกระดับแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 3 สิงหาคม 2553 ขึ้นเป็น พ.ร.บ. ซึ่งมีความพยายามในการผลักดันตั้งแต่ปี 2559  

 

ส่วนความสำคัญที่ต้องมี พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ประกอบด้วยเหตุผลสำคัญหลายประการ   เช่น  ประเทศไทยมีชาติพันธุ์มากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์  มีประชากรรวมประมาณ 6.1 ล้านคน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรประเทศ  แต่ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยต่างเผชิญกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน  ด้วยอคติที่ถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าวไม่ใช่คนไทย  ทั้งที่จริงแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ต่างอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาเป็นเวลาช้านาน  การถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่าไม้  ด้วยความไม่เข้าใจในวิถีเกษตรกรรมและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์               

 

ปัญหาการขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน  ปัญหาการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมือง เพราะยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ยังได้รับสัญชาติ  การตั้งถิ่นฐานในถิ่นทุรกันดารที่ไม่ได้รับการพัฒนาก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐที่พึ่งได้รับตามสิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมือง

 

“ที่สำคัญไปกว่านั้นปัญหาสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์คือการสูญเสียอัตลักษณ์และภูมิปัญญา อันเป็นต้นทุนสำคัญในการพึ่งพาตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์  ทำให้ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธ์ต้องสูญเสียศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ดังนั้นการมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ” นายอภินันท์กล่าวทิ้งท้าย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"