การปรับตัวของธุรกิจโรงหนัง


เพิ่มเพื่อน    

 

          ปี 2020 ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ทั้งมาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การทำรายได้ของธุรกิจลดต่ำลงมหาศาล เพราะไม่สามารถเปิดให้ลูกค้าเข้าชม หรือเข้าชมได้แบบจำนวนจำกัด ขณะเดียวกันบรรดาค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างก็ปรับตัว มีการเลื่อนฉายภาพยนตร์ออกไป รวมถึงเปิดฉายควบคู่ไปกับบริการสตรีมมิ่งของตัวเอง

                เห็นได้จากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อย่าง Disney นำหนังใหม่บางเรื่องมาฉายบน Disney+ ส่งเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองแทน โดยมีทั้งเก็บเงินเพิ่มจากค่าสมาชิกปกติ และล่าสุดทางค่าย Warner Bros. Pictures Group ก็ประกาศแนวทางคล้ายกัน โดยวางแผนที่จะนำภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2021 ฉายบนสตรีมมิ่ง HBO Max พร้อมกับวันฉายในโรงภาพยนตร์เลย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากประเมินว่า โรงภาพยนตร์ในสหรัฐจะยังไม่สามารถเปิดได้เต็มรูปแบบตลอดทั้งปี 2021

                เมื่อมองมายังประเทศไทย ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปี 2563 ก็ถือว่าประสบชะตากรรมที่เลวร้ายเช่นเดียวกัน โดยนับตั้งแต่เปิดให้บริการหลังคลายล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์จำต้องแบกรับผลการขาดทุนจากการขายบัตรที่น้อยลง และอีกปัจจัยสำคัญ คือ ไม่มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่จะเป็นแม่เหล็กดูดผู้ชมกลับมาใช้บริการ

                แน่นอนสถานการณ์ในปี 2563 ซึ่งในขณะนี้เป็นเดือนสุดท้ายของปีแล้ว คงไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้มากนัก ดังนั้นความหวังของธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็คงจะต้องมองไปที่ปี 2564

                โดยในมุมมองของ 'สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บมจ.เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เอสเอฟซีเนม่า แสดงความมั่นใจว่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปี 2564 มีโอกาสสูงที่จะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง เนื่องจากปี 2564 จะมีไลน์อัพหนังฟอร์มยักษ์ระดับบ็อกซ์บัสเตอร์ที่เลื่อนจากปีนี้เตรียมเข้าฉายในโรงจำนวนมาก อาทิ เจมส์ บอนด์ 007, ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส, สไปเดอร์แมน, มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล ฯลฯ จึงน่าจะสามารถดึงดูดผู้ชมจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นปีทองของธุรกิจ เช่นเดียวกับปี 2562 ที่อเวนเจอร์ส : เผด็จศึก ช่วยผลักดันให้ตลาดทำสถิตินิวไฮ ก่อนจะชะลอตัวลงจากการระบาดของโควิด ซึ่งปี 2563 นี้ ตลาดน่าจะหดตัวอย่างน้อย 50%

                "สำหรับกระแสสตรีมมิ่งนั้นมองว่า ความเคลื่อนไหวของค่ายหนังที่นำคอนเทนต์ไปลงสตรีมมิ่งในช่วงที่ผ่านมา  เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ในโลกตะวันตก นอกจากนี้ด้านรายได้จากการฉายในโรงยังคงสูงกว่าหลายเท่า ผู้สร้างจึงน่าจะเลือกโรงหนังเป็นช่องทางหลักในระยะยาว"

                ขณะเดียวกัน ก็ต้องรอลุ้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งมีการผลิตออกมาสำเร็จได้ผลถึง 90% แล้ว ซึ่งมีบางประเทศจะเริ่มลองใช้กับประชาชนแล้ว โดยหากมีวัคซีนเข้ามาจริงๆ  ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจ และอีกหลายธุรกิจ รวมถึงโรงภาพยนตร์ด้วย

                ดังนั้น สิ่งที่เห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการก็คือ การเสริมรายได้ในส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจจากการขายตั๋ว อาทิเช่น การผันตัวไปขายอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตออกมาเป็นสินค้าให้หาซื้อทาน โดยไม่จำเป็นต้องซื้อทานตอนรับชมภาพยนตร์เท่านั้น อย่างที่เห็นทางเมเจอร์ก็เปิดตัวสินค้า Popstar สินค้าป๊อปคอร์นของตัวเองออกวางจำหน่าย หรือทางเครือเอสเอฟ ก็มีการจำหน่ายป๊อปคอร์นแบบสั่งเดลิเวอรีเช่นกัน

                นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเองก็พยายามปรับตัว เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ โดยมีการปรับธีมและสร้างโรงหนังโมเดลพิเศษ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการรับชมภาพยนตร์แบบใหม่ๆ อย่าง SF ก็มีโมเดลพิเศษ 5 แบบ คือ Zigma Cinestadium, MASTERCARD Cinema, CAT First Class Cinema, Happiness Cinema และ MX4D และล่าสุดก็เพิ่งจับมือกับกลุ่มบริษัท Lotus Bedding Group และโอมาซ (ประเทศไทย) ผู้จำหน่ายเครื่องนอนแบรนด์โลตัส โอมาซ และอื่นๆ เปิดโรงหนังโมเดลใหม่ The Bed Cinema by Omazz ให้ความสบายด้วยเครื่องนอนชั้นนำถือเป็นหนึ่งในการปรับตัวรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบกับธุรกิจโรงหนัง ทั้งการปิดช่วงล็อกดาวน์ และยังทำให้หนังหลายเรื่องต้องเลื่อนการฉายออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับตัวหลายด้านทั้งในและนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการนำคอนเทนต์และอีเวนต์ต่างๆ เข้ามาฉาย-จัดในโรง อาทิ สารคดี ทอล์กโชว์ คอนเสิร์ต ฯลฯ.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"