ปปท.ผงะผ้าห่มยังทุจริต 'มท.'รับโอนจนท.พันโกง


เพิ่มเพื่อน    

    “ป.ป.ท.” ถึงกับผงะ! โกงลามถึงผ้าห่มแล้ว ที่สิงห์บุรี ชี้จัดซื้อแพงกว่าปกติแต่คุณภาพห่วย ซ้ำอากาศก็ไม่หนาวถึงขั้นต้องใช้ เพจหมาเฝ้าบ้านแฉย้ำ ปล่อยมือสอบปลอมลายเซ็นลอยนวล ที่สำคัญกำลังโยกจาก พม.ไปสังกัด มท.แล้ว กรมบัญชีกลางเร่งจัดสัมมนาถอดบทเรียนทุจริต
เมื่อวันอาทิตย์ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมชุดปฏิบัติการ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีการใช้จ่ายเงินอุดหนุนประเภทสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสิงห์บุรี ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในกรณีการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเพื่อแจกผู้สูงอายุตามฎีกาเบิกจ่าย
     พ.ท.กรทิพย์อธิบายว่า ในเดือน ก.พ. ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สิงห์บุรี ได้จัดซื้อผ้าห่มกันหนาวด้วยวิธีตกลงราคาในวงเงินงบประมาณ 200,000 บาท เพื่อจัดซื้อผ้าห่ม 500 ผืน โดยให้เหตุผลการจัดซื้อว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ จ.สิงห์บุรีมีผู้สูงอายุประสบภัยหนาวจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจัดหาผ้าห่มเพื่อมาแก้ไขปัญหาภัยหนาวให้แก่ผู้อายุดังกล่าว
    เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวต่อว่า ปกติการจัดซื้อผ้าห่มของหน่วยงานอื่นๆ นั้น ตามหลักแล้วจะอิงตามกำหนดขนาดและราคาของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย คือ ความกว้างไม่น้อยกว่า 146 เซนติเมตร ความยาวไม่น้อยกว่า 195 เซนติเมตร น้ำหนักไม่น้อยกว่า 1,100 กรัม และมีราคากลางไม่เกินผืนละ 240 บาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการก็ได้จัดซื้อผ้าห่มกันหนาว โดยอ้างอิงประกาศของ ปภ. 
“เมื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตรวจสอบการจัดซื้อผ้าห่มของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สิงห์บุรี สิ่งที่พบลำดับแรกคือ ราคาผืนละ 400 บาท เกินกว่าราคาที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเคยจัดซื้อ และเมื่อนำผ้าห่มมาชั่งน้ำหนัก พบว่ามีน้ำหนักไม่ถึง 1,100 กรัม และกว้างไม่ถึง 180 ซม. ไม่ตรงตามที่คุณลักษณะเฉพาะ ซึ่งผู้มีรายชื่อรับการสงเคราะห์ ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี ยืนยันว่าผ้าห่มที่นำมาให้ตรวจสอบนั้นเป็นผ้าห่มที่ได้รับจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสิงห์บุรี ในปีงบประมาณ 2560” พ.ท.กรทิพย์กล่าว 
พ.ท.กรทิพย์กล่าวย้ำว่า เมื่อตรวจสอบถึงคุณภาพของผ้าห่ม พบว่าบางรายใช้งานได้เพียงครั้งเดียวเกิดการชำรุด และไม่สามารถใช้ได้อีก บางรายใช้มาเป็นเวลา 1 ปี แต่เมื่อนำไปซัก สีผ้าตก และเนื้อผ้ามีลักษณะเปื่อยยุ่ย ส่วนใหญ่ได้มาก็ไม่ได้นำไปใช้ เนื่องจากอากาศไม่หนาว จึงไม่จำเป็นต้องใช้อีก รวมทั้งได้รับแจกมาแล้วหลายครั้งจากหน่วยงานอื่น จึงเก็บไว้ไม่ได้มีการนำมาใช้งาน
“ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีผ้าห่มในลักษณะเดียวกันได้แจกจ่ายให้ชาวบ้านในปีงบประมาณ 2561 ด้วย จึงได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการตรวจสอบลึกลงไปถึงรายละเอียดการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวในปีงบประมาณ 2561 ด้วย รวมถึงดำเนินการตรวจสอบการยื่นชำระภาษีของผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับศูนย์คุ้มครองเพื่อเชื่อมโยงพฤติการณ์ต่างๆ ต่อไป” พ.ท.กรทิพย์กล่าว
ขณะเดียวกัน เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ซึ่งเป็นแผนงานด้านป้องกันขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อสร้างสังคมแห่งการตรวจสอบ จับตาเฝ้าระวังคอร์รัปชัน ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพในหัวข้อว่า “ทาบกระจกปลอมลายเซ็น โกงคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น” มีเนื้อหาพร้อมภาพว่า ภาพสุดอินไซด์ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ทาบกระจกปลอมลายเซ็นชาวบ้านในเอกสารรับเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2560 ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น โดยน้องแบม น.ส.ปณิดา ยศปัญญา ส่วนคนในภาพคือ นางสายชล สมดา ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สนับสนุนปฏิบัติงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทีมทำงานของผู้อำนวยการศูนย์ และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม มีหน้าที่ถ่ายสำเนาบัตรประชาชนชาวบ้าน สอนวิธีกรอกข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ รายได้ ปัญหาที่ขอรับการช่วยเหลือของชาวบ้านในแบบสอบข้อเท็จจริง ปั้นข้อมูลกันเองโดยไม่ต้องลงพื้นที่ และเป็นคนสอนวิธีการเซ็นชื่อลายมือชาวบ้านด้วยการทาบกระจกให้กับคนอื่นๆ
“เป็นหนึ่งในสามของลูกจ้างศูนย์ที่ร่วมขบวนการโกงคนยากไร้ ซึ่ง พส.ไม่เคยแตะต้อง ไม่สอบสวนเอาผิด แถมยังเอาใจใส่ต่อสัญญาจ้างให้เป็นพิเศษ ขณะที่ลูกจ้างอื่นที่ไม่ใช่พวก ไม่ได้รับการต่อสัญญาแม้แต่คนเดียวไม่แค่นั้น พส.ยังได้เลือกสรรนางสายชลเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งนักพัฒนาสังคม ปฏิบัติงานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่นที่เดิม ตามประกาศกรมฉบับวันที่ 20 เม.ย.2561 ที่ลงนามโดยนางนภา เศรษฐกร อธิบดี พส.” เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านระบุ
เพจยังระบุอีกว่า อาจนับเป็นความโชคดีของคนดี ๆ ใน พส. เพราะนางสายชลสละสิทธิ์ไปเอาตำแหน่งข้าราชการ เป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการหรือพัฒนากร สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน มท.แล้ว โดยเตรียมรายงานตัวในวันที่ 11 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ไม่รู้ว่ากรมการพัฒนาชุมชนจะรู้หรือยังว่ากำลังรับของดีเข้าบ้าน
    ด้าน น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตภาครัฐเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก โดยสาเหตุการทุจริตส่วนใหญ่เกิดจากการกำกับดูแลและควบคุมด้านการเงินการบัญชีที่ยังไม่เหมาะสมและเพียงพอ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสที่จะก่อการทุจริตได้ ประกอบกับรัฐบาลให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกรมตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างการรับรู้ถึงเหตุการณ์การทุจริตและสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งแนวทางในการป้องกันการทุจริตและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยง ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ กระบวนการบริหารงานและการปฏิบัติงาน ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจัดให้มีการสัมมนาเรื่องการถอดรหัสการทุจริตภาครัฐภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการประกันคุณภาพงานตรวจสอบภายในภาครัฐ ในวันจันทร์ที่ 7 พ.ค. ณ ห้องกษัตริย์ศึก โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์
น.ส.สุทธิรัตน์กล่าวอีกว่า งานสัมมนาดังกล่าวจะมีผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงาน ป.ป.ท., สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และกรมบัญชีกลาง มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินการบัญชีและด้านการตรวจสอบภายในของหน่วยงานภาครัฐ ได้เรียนรู้และสามารถปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงและการสร้างระบบการควบคุมภายในที่ดีในการบริหารงานและการปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งผลต่อความเสียหายและภาพลักษณ์ของหน่วยงานภาครัฐได้
“นอกจากสัมมนาเพื่อถอดบทเรียนการทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐแล้ว ยังได้สร้างการรับรู้ถึงการรับจ่ายเงินภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้เข้าปฏิบัติงานด้านการเงินการบัญชีและการตรวจสอบภายใน ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ในอันที่จะช่วยให้การรับ-จ่ายเงินด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างถูกต้อง มี ระบบการควบคุมและการตรวจสอบที่เพียงพอและเหมาะสม” น.ส.สุทธิรัตน์กล่าว
    วันเดียวกัน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เผยผลวิจัยเชิงสำรวจหรือโพลเรื่อง ความคิดเห็นต่อสิ่งที่ควรจะมีในประเทศไทย โดยสำรวจคนไทยทั่วประเทศ 1,249 ราย ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ค. ซึ่งผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือ 80.2% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเมื่อประเทศมีประชาธิปไตย ในขณะที่ 19.8% ไม่เชื่อ นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือ 85.7% เชื่อว่าทุจริตคอร์รัปชันจะลดลง เมื่อสื่อมวลชนมีเสรีภาพกว่านี้ ในขณะ 14.3% ไม่เชื่อ 
    “ที่น่าสนใจคือผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือ 73.9% เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะปฏิบัติดีเมื่อมีภาคประชาชนเข้มแข็ง ในขณะที่ 26.1% ไม่เชื่อ ผลสำรวจยังพบด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือ 83.4% เชื่อว่าการศึกษาไทยจะก้าวไกล ต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์เด็ก ในขณะที่ 16.6% ไม่เชื่อ” ผลโพลระบุ
    ทั้งนี้ ผลสำรวจยังมีข้อเสนอแนะ 5 อันดับแรก เพื่อทำให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้น พัฒนาสร้างสรรค์เด็กไทยสู่เป้าหมาย คือ 40.6% ระบุเพิ่มกิจกรรมนอกชั้นเรียนเพื่อเสริมทักษะด้านสติปัญญา และความรู้ในชีวิตจริง รองลงมา 23.9% ระบุเพิ่มคุณภาพครู อาจารย์ ผู้สอน เข้มงวดมากขึ้น ปรับปรุงหลักสูตร, 14.5% ระบุให้ผู้ปกครองส่งเสริมลูกในสิ่งที่ลูกสนใจ ไม่ใช่พ่อแม่ผู้ปกครองสนใจ ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง,  8.2% ระบุลดการบ้าน ไม่ใช้เวลาเรียนที่มากเกินไป ให้การบ้านน้อยลง เด็กจะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และ 7.5% ระบุนำหลักสูตรเหมาะสมกับวัยมาสอนให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นบ้าง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"