'7ว่าที่กกต.'ลุ้น วิปสนช.เชื่อมติ สอยร่วงบางคน


เพิ่มเพื่อน    

    7 ชื่อว่าที่ กกต.ชุดใหม่บางคนอาจไปไม่ถึงฝั่ง โดนสอยร่วง โฆษกวิปฯ ระบุ สนช.อาจลงมติเห็นชอบบางคน-ไม่เห็นชอบบางคน ตั้ง กมธ.สอบประวัติฯ พฤหัสบดีนี้ "สมเจตน์" เตือน "บิ๊กตู่" อย่าตกหลุมพรางนักการเมือง ใช้ ม.44 ระงับไม่ต้องไพรมารีโหวต 
    พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอจากนักการเมืองให้ใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ยกเลิกการใช้ระบบเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. (ไพรมารีโหวต) ว่าถือเป็นความเสี่ยงที่ คสช.อาจจะทำสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากไม่พิจารณาให้รอบคอบ เพราะบทบัญญัติในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่กำหนดให้พรรคทำไพรมารีโหวตนั้น ถือเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในประเด็นของการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมต่อการเลือกผู้สมัครและประเด็นการปฏิรูปการเมือง เรื่องนี้เข้าใจถึงที่มาของข้อเสนอให้ยกเลิก เพราะพรรคการเมืองกังวลเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคที่มีไม่ถึงเกณฑ์ทำไพรมารีโหวต ล่าสุดมีสมาชิกที่ยืนยันเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของบางพรรคไม่ถึงเกณฑ์กำหนด แต่ในเนื้อหากฎหมายได้ระบุข้อยกเว้นไว้ว่าหากพรรคไหนมีตัวแทนจังหวัด และมีสมาชิกพรรค เกิน 100 คนในจังหวัดใด ให้พรรคนั้นส่งผู้สมัครได้ทุกเขตของจังหวัดนั้น 
    "ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งแรก หากพรรคการเมืองใดจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง 350 เขต ต้องมีสมาชิกพรรคกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอย่างน้อย 9,200 คน แบ่งเป็นใน 72 จังหวัด ที่ต้องมีตัวแทนประจำจังหวัด โดยใช้สมาชิกพรรคจังหวัดละ 100 คน ทำให้ต้องมีฐานสมาชิกจำนวน 7,200 คน และอีก 4 จังหวัดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีสาขาพรรค โดยใช้ฐานสมาชิก สาขาละ 500 คน ทำให้ต้องมียอดสมาชิกรวม 2,000 คน" พล.อ.สมเจตน์กล่าว  
    พล.อ.สมเจตน์กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองใดจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ต้องหาสมาชิกให้มากขึ้น และฐานสมาชิกนั้น เท่ากับเป็นการเพิ่มคะแนนให้กับพรรคด้วย เรื่องนี้เข้าใจว่าไม่ง่าย แต่เมื่อเราต้องการเดินไปข้างหน้า และเพื่อให้มีอนาคตที่ดี ควรจะเริ่มจากความไม่ง่ายนั้น ไม่ใช่ไม่ยอมลำบากเลย แล้วต่อไปปัญหาทางการเมืองก็จะอาจจะเกิดขึ้นได้อีก มองข้อเสนอที่ให้ใช้มาตรา 44 ยกเลิกหรือละเว้นการใช้ไพรมารีโหวต แม้จะต้องการแก้ปัญหาของพรรคการเมือง แต่ผลที่เกิดขึ้นอาจลามไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า คือ คสช.ทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นข้อเสนอที่เกิดขึ้นอาจเป็นการขุดบ่อเพื่อวางกับดักให้กลายเป็นปัญหาของ คสช.ได้ในอนาคต
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่นักการเมืองเสนอเพราะมีอุปสรรคต่อการหาสมาชิกพรรคใหม่ไม่ได้ เนื่องจากมี 2 คำสั่งของ คสช.ห้ามดำเนินการ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวโดยเชื่อว่า คสช.อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขคำสั่ง หรือมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคที่จะเกิดกับพรรคการเมือง และเมื่อ คสช.ปลดล็อกอนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้แล้ว เชื่อว่าพรรคการเมืองจะมีเวลามากพอที่จะหาสมาชิกได้ทัน อย่างน้อย 8 เดือนเมื่อนับถึงวันเลือกตั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือจะเลิกในช่วงเดือนมิถุนายนนี้
    ด้านความคืบหน้าการเตรียมเลือกกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ 
    นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการประชุม สนช. วันที่ 10 พฤษภาคมว่า มีวาระพิจารณารายชื่อของบุคคลที่ได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน ตามที่คณะกรรมการสรรหา กกต. ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ เสนอรายชื่อ 5 คน และจากตัวแทนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอีก 2 คน โดยในการพิจารณาดังกล่าว จะเป็นเพียงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประวัติ  ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมขึ้นมาตรวจสอบประวัติเชิงลึกของทั้ง 7 คน ก่อนที่จะนำเสนอรายงานเพื่อให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไม่เกินต้นเดือนสิงหาคมนี้
    นพ.เจตน์กล่าวว่า สำหรับรายชื่อที่มาจากการสรรหาบุคคลที่เข้าสมัครรอบล่าสุด ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีอย่างน้อย 2 คนใน 5 คน ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กกต.รอบแรก แต่ไม่ผ่านขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัตินั้น เป็นประเด็นที่ สนช.สามารถตั้งคำถาม หรือมีข้อสงสัยได้ แต่ในวาระพิจารณาวันที่ 10 พฤษภาคมนั้น ไม่เหมาะสมที่จะอภิปรายหรือซักถามใดๆ เพราะคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่ได้ร่วมประชุม แม้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ฐานะหนึ่งในกรรมการสรรหาฯ จะอยู่ร่วมการประชุม แต่ถือเป็นดุลยพินิจที่ประธาน สนช.จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานการประชุม ในช่วงวาระพิจารณาหรือไม่ก็ได้
    "คำถามที่สมาชิกสงสัย อาจต้องนำไปสอบถามกันในชั้นตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ว่าเหตุใดผู้ที่ไม่ผ่านการเลือกรอบแรก ทำไมถึงได้รับเลือกในรอบล่าสุดนี้ หากเป็นกรณีที่ผู้สมัครกลับไปแก้ไขคุณสมบัติตัวเอง เช่น กรณีถือครองหุ้น ที่เขาขายหรือมอบให้บุคคลอื่นครอบครองไปแล้ว อาจจะถือว่าผ่านคุณสมบัติก็ได้ ขณะที่ตำแหน่งทางราชการที่รอบแรกไม่สามารถเทียบเคียงได้กับตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า แต่รอบนี้สามารถนำมาเทียบเคียงกัน เช่น ตำแหน่งเอกอัครราชทูตนั้นเป็นประเด็นที่คณะกรรมการสรรหาฯ ต้องชี้แจง อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าการตีความของคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องเป็นไปภายใต้กรอบกฎหมาย" นพ.เจตน์ กล่าว
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวอาจมีใบสั่งให้การโหวตเลือก กกต. อาจซ้ำรอยล้มกระดานเหมือนกับการเลือก กกต.รอบแรก นพ.เจตน์กล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นไปตามกระแสข่าว เพราะการคัดเลือกบุคคลให้เป็น กกต.รอบล่าสุด ทางคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องใช้ความรอบคอบมากยิ่งขึ้น ยอมรับว่าการทำงานของคณะกรรมการสรรหาฯ มีข้อจำกัดด้วยเงื่อนไขด้านเวลา ซึ่งการตรวจสอบด้านประวัติและพฤติกรรมเชิงลึกถือเป็นภาระหนักที่ต้องทำให้รัดกุมขึ้น 
    "เชื่อว่าการเลือก กกต.ครั้งนี้ อาจมีผลเป็นไปในทิศทางที่ลงมติเห็นชอบบางคน และบางคนไม่เห็นชอบ เพื่อให้บุคคลที่ผ่านการลงมติเข้าไปเตรียมพร้อมและสร้างความคุ้นเคยต่อระบบการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่กรณีที่ สนช.จะลงมติไปในทางใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบประวัติฯ และการนำรายงานการตรวจสอบให้ สนช. ได้ไตร่ตรองก่อนลงมติ" โฆษกวิป สนช.กล่าว 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาฯ คัดเลือกและเตรียมเข้าสู่วาระประชุม สนช. จำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ 4.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และ 5.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 
    ส่วนบุคคลที่ได้รับการเสนอให้แต่งตั้งเป็น กกต. อีก 2 คนที่มาจากสายศาลนั้น มติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายืนยันส่งชื่อนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"