ถวายฎีกาเลิกม.112 เครือข่าย3นิ้วจ้องล้มล้าง‘ป๊อก-ปวิน’ปลุกสู้ยืดเยื้อ!


เพิ่มเพื่อน    

 

ขบวนการล้มเจ้าจัดกิจกรรมยกเลิก ม.112  "ปิยบุตร" ตีมึนอ้างการมี ม.112 ในหมวดความมั่นคงในราชอาณาจักร คือการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "ปวิน" ขุดศพอากงโยง ปลุก 3 นิ้วสู้ต่อ ยอมรับอาจใช้เวลานาน เจ็บปวดบ้าง ยังไม่เข็ด "เพนกวิน" คึก! อ้างคนกล้าพูดมากขึ้น ท้าทายกฎหมายนายสั่งมา เด็ก มธ.แนวร่วมม็อบ 3 นิ้วเผยถูกพ่อ-แม่ไล่ออกจากบ้าน ไม่สน จะสู้จนกว่าชนะ
    เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม กลุ่มต่อต้านรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์จัดกิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในการเสวนาหัวข้อ มาตรา 112 ว่าปกติมีการกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท และยังมีการจำแนกการหมิ่นประมาทในแต่ละตำแหน่งอีก ทั้งนี้ การหมิ่นประมาทก็ต้องไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป ซึ่งปัญหาของมาตรา 112 ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงในราชอาณาจักร ขณะที่การหมิ่นประมาทบุคคลอื่นและตำแหน่งอื่นไปอยู่ในหมวดอื่น การจัดให้ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงในราชอาณาจักรนั้น ก็จะเป็นเหมือนการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
    ส่วนเรื่องบทลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทมีความรุนแรง และไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและไม่มีเหตุยกเว้นโทษ ทั้งนี้ในมาตรา 112 เปิดช่องทางให้ใครก็ได้สามารถไปแจ้งความได้ ดังนั้นจึงเกิดการกลั่นแกล้งกัน ส่วนแนวทางการใช้และการตีความของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมาเกินเลยกว่าที่ระบุไว้ในกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่ามาตรา 112 ของไทย บทจะใช้ก็ใช้แบบสุดๆ บทจะไม่ใช่ก็ไม่ใช่เลย มันไม่ใช่แค่ กม.ที่อยู่ในอักษร มีเรื่องอื่นๆ กำกับไว้อยู่ ทั้งนี้ มาตรา 112 เป็นกฎหมายยุคโบราณที่ป้องกันไม่ให้มีการดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในรัฐสมัยใหม่ไม่มีใครใช้กันแล้ว เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้
    นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า หลายประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกกฎหมายข้อนี้ไปแล้ว หากถึงจะมีกฎหมายข้อนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการหยิบขึ้นมาใช้ ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ การยกเลิก 112 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และถึงเวลาแล้วที่โทษดูหมิ่นทั้งหมดควรนำออกจากประมวลกฎหมายอาญา
    นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรม "ยกเลิก 112 สิแล้วเราจะเล่าให้ฟัง" โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่ม Mob Fest ที่จัดขึ้นเนื่องในวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล มีการเปิดคลิปปาฐกถาพิเศษจากคนแดนไกล คือ นายปวิน หรือสุรชัย ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ต้องหาคดี ม.112 หนึ่งในแกนนำขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ มีสถานะผู้ลี้ภัยที่ประเทศญี่ปุ่น
    นายปวินกล่าวถึงการที่ตนเองเป็นเหยื่อ ม.112 ถึงแม้ยังไม่ได้รับแจ้งดำเนินคดี แต่ก็มีคนมาร้องให้ดำเนินคดีตนเยอะ ซึ่งตนเริ่มจากการเรียกร้องให้ปฏิรูปแก้ไข แต่ไม่มีหวัง ม.112 ถูกเอามาแกล้งคนเห็นต่าง ควรยกเลิกไปเลย อย่างที่นายอานนท์ นำภา อยากให้แก้ไขแล้วก็เป็นเหยื่อเอง ปัญหาของกฎหมายนี้ต่างจากกฎหมายหมิ่นทั่วไป โดยใครสามารถไปฟ้องร้องก็ได้ เป็นช่องว่างให้เอาไปใช้ในทางที่ผิด เปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ ใช้สถาบันทำลายล้างผู้อื่น คนฟ้องกลายเป็นฮีโร่ช่วยปกป้องสถาบัน ยกสถานะทางสังคมเป็นคนรักเจ้าและเป็นคนดี
    นายคนนี้กล่าวต่อไปว่า คนถูกฟ้อง ม.112 ส่วนใหญ่ถูกพิพากษาทำผิด ต้องทำตัวดี เพราะหวังได้รับการอภัยโทษ ส่วนบางกรณีไม่ยอม ไม่ขอรับอภัยโทษ เพราะว่าทำถูก แต่ถูกกระบวนการบังคับให้ยอมรับผิดเพื่อแลกอิสรภาพ ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีโทษป่าเถื่อนรุนแรงที่สุด บางคนโดนจำคุก 20-30 ปี มากกว่าฆาตกรหั่นศพ การปฏิรูปต้องมีหน่วยงานดำเนินคดีในนามสถาบัน เช่น สำนักพระราชวัง แต่ก็ไม่มีใครสนใจ เรื่องการลดโทษก็เช่นกัน คนเคยปฏิรูปจึงเห็นว่าทางออกที่ดีอาจจะต้องยกเลิก
"ปวิน"ขุดศพ"อากง"
    นายปวินเผยว่า ที่ตนทำแคมเปญเซฟ "อากง" (ชื่อเรียกจำเลยคดี ม.112 คนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำ) โดยเขียนชื่ออากงบนฝ่ามือโพสต์เฟซบุ๊ก แล้วกลายเป็นไวรัลมีคนทำตาม จึงนำรูปมารวมทำเป็นสมุดขาย นำรายได้ช่วยอากง ซึ่งตนเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าอากงไม่ผิด และเคยไปเยี่ยมอากงในคุก ทำให้จำไม่ลืมเมื่อคิดถึง ม.112 ก็คิดถึงอากงเสมอ
    "ในประเทศที่มีกษัตริย์ไม่มีใครใช้กฎหมายนี้แล้ว ต่างประเทศกฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐ ประมุขต้องฟ้องเอง มีกฎหมายเฉพาะ ไม่ใช่ใครก็ได้ไปฟ้อง ทุกครั้งที่ใช้ ม.112 เป็นการกัดเซาะทำลายสถาบันทีละน้อย"
    ช่วงท้าย นายปวินกล่าวถึงการนำ ม.112 กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อเป็นการปิดปากแกนนำผู้ชุมนุม เมื่อใช้กฎหมายอื่นและมาตรการปราบปรามไม่ทำให้ยุติได้ จึงเอา ม.112 กลับมาใช้ ถือว่าผิด คิดสั้น ฆ่าตัวตาย เพราะไม่ทำให้ยุติการพูดได้ และทำให้คนตื่นตัวอีกรอบว่า ม.112 เป็นปัญหา และออกมาต่อต้านการใช้มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แทน ม.112
    "สุดท้ายขอฝากแกนนำผู้ชุมนุม ขอให้ต่อสู้ดำเนินต่อไป ประชาธิปไตยต้องชนะ อาจใช้เวลานาน เจ็บปวดบ้าง ระบอบไหนไม่ปรับปรุงอยู่ไม่ได้ ให้กำลังใจแกนนำผู้ชุมนุม ผ่านไปได้จะภูมิใจในสิ่งที่เราทำ" นายปวินกล่าว
    ด้านนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย อดีตนักโทษคดี ม.112 ถูกจำคุก 7 ปี กล่าวในเวทีเสวนา "ยกเลิก 112 สิแล้วเราจะเล่าให้ฟัง" ที่จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่ม Mob Fest ว่า ป.อาญา ม.112 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บอกท่านไม่ให้ใช้ ม.112 ตนจงรักภักดีมาก แต่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ใช้กฎหมายทุกมาตรา กลับมาใช้ ม.112 ขัดพระราชประสงค์ไหม เหตุไฉนไม่ปฏิบัติตาม
    นายสมยศกล่าวถึงปัญหาการดำเนินคดี ม.112 ที่ผ่านมา มีการไม่ให้ประกันตัว เหมือนตัดสินล่วงหน้าผิดหลักยุติธรรม คุยกับทนายผ่านกระจก ผ่านโทรศัพท์ถูกดักฟัง หากยอมรับสารภาพได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง ทำให้ไม่รู้ความจริงว่าถูกหรือผิด เพราะรับสารภาพอัตโนมัติ ซึ่งตนไม่ยอมรับกระบวนการบิดเบี้ยวทำให้คนยอมรับ ตนไม่สามารถพูดว่าผิดแล้วได้ออกเร็ว เสียอิสรภาพทางกาย แต่ไม่ขอเสียอิสรภาพทางใจ จึงได้อยู่ต่อ
    เขายังเล่าถึงความสูญเสียหลังถูกจำคุกทำให้สูญเสียรายได้ การงาน 7 ปี เงินเก็บต้องเอามาใช้หมด ครอบครัวไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ออกมาเจอบ้านเปล่า ถูกที่ทำงานกดดัน ต้องไปทำงานที่ไม่ใช่ในประเทศไทย หลังรัฐประหาร 2557 มีการบุกจับคนที่บ้านและห้ามมาเยี่ยม หลังออกมากว่าจะปรับตัวใช้เวลาเป็นปี เพราะ 7 ปี เปลี่ยนแปลงไปมาก ขับรถยังหลงทาง ถูกตัดสิทธิ์การเมือง
    "ขณะผมถูกจำคุกไม่ถูกบังคับทำงาน แต่โดนย้ายไปคุมขังที่ต่างๆ ต่อมาเป็นวัณโรค และได้กลับมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ รอดมาได้ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิฉะนั้นผมอาจกลายเป็นวีรชนไปแล้ว" นายสมยศกล่าว
     นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำราษฎร กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา "#ยกเลิก ม.112" ว่าการใช้มาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายธรรมดา แต่เป็นคดีนโยบายตามนายสั่งมา ดำเนินคดีตามใบสั่งไม่ใช่ตามกระบวนการ ยอมรับว่าในอดีตมาตรา 112 มีความน่ากลัว แต่ไม่ใช่เพราะตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจบารมี แต่วันนี้มีคนกล้าที่จะพูดสูงขึ้น ทำให้มาตรา 112 ที่จะเป็นดาบฟาดฟันคนเห็นต่างกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว และยิ่งนำมาใช้มากขึ้น ประชาชนที่เห็นถึงข้อเสียจะยิ่งออกมามากขึ้น และจะเล่นเกมยาว
เพนกวินเดินตามนิติราษฎร์
    เพนกวินกล่าวว่า การเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ก็สืบเนื่องมาจากคณะนิติราษฎร์ ที่เคยมีข้อเสนอไว้ว่าควรแก้ไขมาตรา 112 มาถึงการยกเลิก เพราะเห็นถึงปัญหาจากการใช้มาตราดังกล่าวที่จับคนโดยไม่ยุติธรรมจะทำให้การเมืองเลวร้าย อย่างไรก็ตาม วันนี้ประเทศไทยเหมือนสามแยก ระหว่างปฏิรูปกับการปฏิวัติ มีราษฎรเป็นน้ำมันที่จะพาไป ส่วนคนที่ตัดสินใจว่าจะเลี้ยวไปทางไหนคือสถาบัน
    ที่น่าสนใจคือ นายเกียรติชัย ตั้งภรณ์ภรรณ หรือ บิ๊ก นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เผยว่า เข้ามาเคลื่อนไหวครั้งแรกก็โดน ม.122 ทันที เพราะไปปราศรัยที่รัฐสภา เรื่องรัฐธรรมนูญกับสถาบัน ในใบแจ้งความบอกว่า จาบจ้วง ทั้งที่พูดหลักการสากลทั่วไป
    "หลังพูดเสร็จโดน ม.116 ไม่นานได้ ม.112 ถูกครอบครัวขู่ตัดแม่ลูก โดนไล่ออกจากบ้าน และย้ายทะเบียนบ้านเรียบร้อย หลังจากนั้นบอกว่า ถ้าอยากรอด ไม่โดนอะไรให้หยุดเคลื่อนไหว แต่ผมหยุดไม่ได้ มาถึงขนาดนี้แล้วต้องต่อสู้เพื่อประชาชน พ่อแม่อาจจะเข้าใจผิด แต่ผมยังรักพวกเขาเหมือนเดิม จะต่อสู้จนกว่าชนะ และทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่เรื่องผิด พ่อแม่พยายามบอกว่าสิ่งที่เราทำไม่ถูก เดี๋ยวจะหมดอนาคต แต่ถ้าผมไม่สู้ก็คงหมดอนาคตตั้งแต่วันนี้ หลังโดน ม.112 อาจจะมีกลัวบ้าง เพราะเราเป็นนักศึกษา ต้องเรียน ต้องใช้ชีวิต ก็ไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไร แต่ชีวิตคนเรามีทางออกเสมอ แต่จะให้หยุดเคลื่อนไหว แต่หยุดไม่ได้จริงๆ"
    นายเกียรติชัยกล่าวว่า ตนเองมีความฝัน อยากเป็น ส.ส. มาพัฒนาประเทศ ถ้าโดน ม.112 อาจจะทำให้อนาคตไม่สามารถทำอาชีพที่อยากทำได้แล้ว แต่ไม่เป็นไร ไม่หยุด ความจริงคิดว่าไม่ได้กลัว เพราะมองว่าคือปริญญาประชาธิปไตย ซึ่งคุณพริษฐ์น่าจะเป็นดอกเตอร์ไปแล้ว
    "สักวันผมอาจเป็นดอกเตอร์อย่างคุณพริษฐ์ อย่างไรก็ดี ผมไม่กลัวกฎหมายนี้ เพราะล้าหลัง ประเทศที่เจริญแล้วไม่มีกฎหมายนี้ สุดท้ายอาจติดคุก แต่ไม่กลัว เพราะมีพี่น้องอยู่ข้างหลัง พี่น้องจะช่วยผมแน่อน"
    เขายังบอกว่า ประเทศที่เจริญแล้วจะไม่มีกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ ประเทศที่มีก็โทษจำคุกไม่เกิน 7 เดือน แต่เขาแทบไม่ใช้ ไทยมีโทษสูงสุดในอาเซียน ประเทศบูรไน ที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีโทษจำคุกเพียง 3 ปี ดังนั้นควรยกเลิก เพื่อให้เราพูดได้ว่าอยากอยู่ในรัฐแบบใด จะได้สู้ตามระบบ แต่นี่ไม่เปิดหนทางให้พูด ถ้าเราต้องการอยู่ในสังคมที่มีเสรีภาพในการพูด ไม่อาจอยู่ได้โดยมีมาตรา 112
    ต่อมาเวลา 18.30 น. น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร 2563 กล่าวปาฐกถาปิดงาน "ยกเลิก 112 สิแล้วเราจะเล่าให้ฟัง" ซึ่งมีเนื้อหาเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันใน ป.อาญา ม.112 พร้อมระบุเป็นกฎหมายจากระบอบเก่าที่ถูกเอามาใช้ในระบอบประชาธิปไตย หากเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เราคงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ได้โดยไม่โดน ม.112 ไม่โดนทำร้ายและลี้ภัย เพราะ ม.112 และบางคนถูกจำคุก 20-30 ปี เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าต้องถูกพรากไปเพราะพูดถึงเจ้า ขอให้สถาบันไตร่ตรองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกับเราหรือไม่ โลกจะดีกว่านี้แน่ ถ้ามนุษย์มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการกล่าวปาฐกถาเสร็จสิ้น พิธีกรได้ประกาศยุติกิจกรรมในวันนี้ ขณะที่ก่อนหน้าการกล่าวปาฐกถาของ น.ส.ปนัสยา บรรยากาศในการจัดกิจกรรมตลอดวันมีการเสวนาเกี่ยวกับการยกเลิก ป.อาญา ม.112 ความผิดหมิ่นเบื้องสูง ภายในห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขณะที่บริเวณภายนอกรอบอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีมวลชนกลุ่มราษฎร 2563 เดินทางมาร่วมกิจกรรมชมนิทรรศการของผู้จัดงาน ฟังดนตรีจากศิลปินที่เป็นแนวร่วม และชมการแสดงฉ่อยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำราษฎร 2563
ฟ้องยูเอ็นเลิก ม.112
    นอกจากนี้ เกิดความชุลมุนขึ้นเล็กน้อยในเวลาประมาณ 18.20 น. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาในพื้นที่บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อเข้ามาประกาศให้ยุติการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุม เนื่องจากเลยเวลาที่ขออนุญาตการชุมนุมในเวลา 18.00 น. ทำให้มวลชนต่างพากันลุกฮือและตะโกนขับไล่ให้เจ้าหน้าที่ออกไปจากพื้นที่ และทำให้การ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมต้องเข้าไปล้อมและเจรจา จนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินออกไปจากพื้นที่ทันที
    ที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก ช่วงสายวันเดียวกันนี้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมแนวร่วม มายื่นหนังสือข้อเรียกร้องพร้อมกล่าวว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การแสดงความเห็นและแสดงออกทางประชาธิปไตย กลายเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามโดยรัฐที่ดำเนินคดีอย่างละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมายื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายข้อนี้ ให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า จากนี้จะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่เหมือน 10 ปีก่อน เพราะมีผู้เห็นด้วยกับเรามีมาก โดยเฉพาะเยาวชนระดับนักเรียนชั้นมัธยม และเราจะเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติ
    นายสมยศกล่าวว่า สาเหตุที่มายื่นหนังสือวันนี้ ยึดวันสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อบอกกับยูเอ็นให้ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามพันธสัญญาเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง เราจะส่งจดหมายไปยังองค์กรภาคประชาชนทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของคนไทยในเรื่องการปฏิรูปสถาบัน อีกทั้งในเดือน พ.ค.2564 จะมีการประชุมยูเอ็นที่รัฐบาลไทยจะไปร่วมประชุม ตนกำลังรวบรวมและประสานยูเอ็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปประท้วงที่กรุงเจนีวา ที่ตั้งของยูเอ็น
    สำหรับบรรยากาศโดยรอบ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนกรุงเกษมและคลองผดุงกรุงเกษม มีการนำตู้คอนเทนเนอร์และรั้วหนามหีบเพลงมาปิดกั้นเพื่อป้องกันกรณีผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวไปยังจุดอื่นนอกเหนือจากที่แจ้งไว้ ซึ่งวันนี้มีรถสัญจรค่อนข้างบางตา ภาพรวมการจราจรเป็นไปอย่างปกติ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือจีโน่ 2 คัน และรถน้ำอีก 1 คัน จอดประจำการอยู่ฝั่งถนนราชดำเนินนอก
    นอกจากนี้ กลุ่มเคลื่อนไหวในนามคณะจุฬาฯ ร่วมกันเขียน “ฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ต่อกรณีดังกล่าว เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ 16 ภาษา หลังนิสิตและบัณฑิตอักษรศาสตร์ถูกแจ้งข้อหา ม.112 กลุ่มนิสิตเก่าและปัจจุบัน จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         โดยมีเนื้อหาใจความว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างบริสุทธิ์ใจ และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ม.112 ไม่สอดคล้องกับหลักสากล และหลักการอื่นในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบการทำงานขององค์กร และสถาบันต่างๆ และการวิจารณ์มิใช่การหมิ่นประมาท
      ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี แสดงความเห็นว่า แกนนำม็อบรู้ไหมว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่อยากจะรังแกใครก็ได้
         คำถามต้องถามแกนนำม็อบว่า พวกท่านคิดว่าการหมิ่นประมาท การดูหมิ่น การแสดงความอาฆาตมาดร้าย เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือ ถ้าไม่คิดกระทำสิ่งเหล่านี้แล้ว ทำไมต้องกลัว อย่าว่าแต่สถาบันเบื้องสูงเลย ถ้ามีคนไปหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายคุณพ่อคุณแม่ของเหล่าแกนนำ พวกท่านจะคิดอย่างไร
         "อย่าลืมนะครับ กฎหมายคุ้มครององค์พระประมุขแห่งรัฐนั้นมีทุกประเทศ แม้แต่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอเมริกาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก ไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ภายหลังศาลสูงของญี่ปุ่นเองเป็นผู้วินิจฉัยว่าห้ามละเมิดองค์จักรพรรดิ ในวันที่ 20 พ.ย.1989"
วันนี้แกนนำม็อบจ้องล้มล้าง
       ที่สำคัญคือการคุ้มครององค์ประมุขแห่งรัฐไม่เพียงแต่คุ้มครองตามมาตรา 112 แต่ยังมีกฎหมายมาตรา 133 ที่มีสาระเหมือนกัน แต่คุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ รวมทั้งมาตรา 134 ให้ความคุ้มครองผู้แทนรัฐต่างประเทศ ในเนื้อหาเดียวกันอีกด้วย
         สิ่งที่ต้องถามแกนนำม็อบ ถ้าจะขอยกเลิกมาตรา 112 ทำไมไม่ขอยกเลิกมาตรา 133 และมาตรา 134 ด้วย หรือจะให้คุ้มครองเฉพาะประมุขรัฐ และผู้แทนประมุขรัฐต่างประทศ แต่ไม่ต้องคุ้มครององค์ประมุขรัฐของไทย
         "วันนี้แกนนำม็อบจ้องล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบสาธารณรัฐ จึงขอให้ยกเลิกมาตรา 112 อีกหน่อยคิดอยากจะหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นใคร ก็คงต้องไปร้องให้ยูเอ็น กดดันรัฐบาลให้เลิกมาตรา 326 และ 393 จะได้ไม่มีความผิด" นพ.วรงค์ระบุ
    ขณะที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เจ้าของฉายาแรมโบ้อีสาน กล่าวว่า ที่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับผู้ชุมนุม ถือว่าเป็นการทำตามกฎหมายที่มีอยู่มีความเหมาะสมที่สุดแล้ว และที่ก่อนหน้านี้นายกฯ ระบุว่าจะไม่ใช้มาตรา 112 เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา   มีพระมหากรุณาธิคุณ ไม่อยากให้มีการดำเนินคดี แต่มาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่าผู้ชุมนุมทำการจาบจ้วงก้าวล่วงสถาบันอย่างหนัก
    "คนเลวๆ พวกนี้ไม่เคยมีจิตสำนึกที่ทรงพระเมตตาประทานให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลและเจ้าหน้าที่จึงจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งนี้ มองว่าหากผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายอย่างหนักเช่นนี้ต่อไป คนในประเทศก็ยอมรับไม่ได้เช่นกัน"
    นายสุภรณ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยห้ามการชุมนุม และตักเตือนด้วยความห่วงใยในฐานะลูกหลานว่าอย่าทำผิดกฎหมายบ้านเมือง แต่ผู้ชุมนุมได้ทำผิดซ้ำซาก อีกทั้งจาบจ้วงสถาบันอย่างมาก และนับวันยิ่งกระทำมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ซึ่งตนมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่รักประเทศ รักสถาบัน ต้องการให้บังคับใช้มาตรา 112 กับผู้ชุมนุม เพราะทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของแกนนำผู้ชุมนุมที่กำลังต้องการให้เกิดความรุนแรง วุ่นวายในบ้านเมือง หวังเพียงสร้างสถานการณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหมดความอดทน ใช้กำลังสลายการชุมนุมตามที่แกนนำต้องการเพื่อเรียกร้องความเห็นใจและใส่ร้ายรัฐบาลใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
    เขาระบุว่า ใครก็อ่านแผนการเกมตื้นๆ ของแกนนำเหล่านี้ออก รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ตกหลุมพราง ซึ่งต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ใช้ความนิ่มนวล อดทนถึงที่สุด และหันมาบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ รวมถึงใช้มาตรา 112 กับพวกคนเลวๆเช่นนี้ ถือว่าทำถูกต้อง และได้รับเสียงเรียกร้องปรบมือให้กำลังใจจากประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ ว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่เดินมาถูกทางแล้ว
    นายสุภรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมก็ควรมีจิตสำนึกด้วยว่า กฎหมายคือกฎหมาย หากไม่อยากให้ถูกดำเนินคดี ก็ควรหยุดจาบจ้วงสถาบัน และยุติการชุมนุมไป อย่าพูดหรือคิดเอาแต่ใจตัวเอง ต้องฟังเสียงจากคนอื่นบ้าง กล้าทำแล้วก็ต้องกล้ารับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง และยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย และที่ผ่านมารัฐบาล เจ้าหน้าที่บ้านเมือง รวมถึงประชาชนในประเทศก็พยายามใช้ความอดทนที่จะไม่ดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุม แต่มาถึงตอนนี้ ก็คงไม่มีใครที่จะทนกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมได้อีกต่อไป
    "คนเลวๆ คิดล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ถือว่าเป็นพวกคิดกบฏต่อประเทศ กล้าหาญชาญชัยคิดจะเปลี่ยนการปกครองประเทศให้เป็นสาธารณรัฐ สมควรต้องจับแกนนำเหล่านี้เข้าคุกให้หมดหรือไม่ก็ต้องช่วยกันขับไล่ออกนอกประเทศโดยเร็ว" แรมโบ้อีสานกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"