กมธ.โวยปิดปากแก้รธน.! วิรัชห้ามแตะหมวดกษัตริย์


เพิ่มเพื่อน    

 

กมธ.แก้ไข รธน.ซีกฝ่ายค้านโวยประธานที่ประชุมสั่งปิดกลางคันหลังถามถึงความจริงใจขณะพิจารณาหมวด 1, 2, 15 ซัดเป็นขบวนการขัดขวางไม่ให้แก้ รธน.ทั้งฉบับ ด้าน กมธ.สัดส่วนส.ว.โต้กลับ อีกฝ่ายใช้อารมณ์จึงต้องปิดประชุม "วิรัช" ขออภัยทุกคน วอนให้ใจเย็นๆ ย้ำหมวด 1, 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แก้ไม่ได้ ต้องผ่านประชามติ รัฐบาลเคาะ “บิ๊กช้าง-เทอดพงษ์” นั่ง กก.สมานฉันท์ส่งถึงมือประธานรัฐสภาแล้ว
     ที่รัฐสภา วันที่ 17 ธันวาคม นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... แถลงว่า ที่ประชุม กมธ.พิจารณาการแก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 โดยมีการเปรียบเทียบกับหมวดอื่นๆ ว่าควรจะต้องทำประชามติหรือไม่ แต่เมื่อนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. ตั้งคำถามถึงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ในฐานะประธานชั่วคราว ได้ใช้อำนาจสั่งปิดประชุม ซึ่งตนผิดหวังในตัว กมธ.จากสัดส่วน ส.ว. เพราะไม่ได้มีเจตนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
    "คณะ กมธ.ได้ปิดไม่ให้มีการถ่ายทอดออกไปข้างนอกห้องประชุมก่อน เพราะคงกลัวดูไม่ดีในสายตาประชาชน โดยประธานที่ประชุมชั่วคราวพยายามห้ามปรามไม่ให้มีการพาดพิงกัน แต่ก็มีการตะคอกตัดบท จนที่สุดใช้อำนาจสั่งปิดที่ประชุมทันที ประเด็นที่เกิดความขัดแย้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกล่าวถึงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แต่เป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างสองฝ่าย ว่าควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยง่ายหรือให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก" นายรังสิมันต์กล่าว
    ด้านนายธีรัจชัยกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรจะเปิดให้ กมธ.ได้พูดทุกแง่มุม แต่ตนเองในฐานะเป็นรองประธาน กมธ. ถูกสกัดไม่ให้พูด และถูกใช้อำนาจปิดประชุม เมื่อตั้งคำถามถึงความจริงใจเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ หลังมีความเห็นแตกต่างกันใน กมธ. ฝ่ายหนึ่งอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยง่าย อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยง่าย ซึ่งตนเองอภิปรายถึงที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพูด แต่อาจจะสะกิดความรู้สึก ส.ว. ในคณะ กมธ.จึงถูกคัดค้านจาก ส.ว. ถึงขนาดบอกว่าจะไม่ร่วมทำงานด้วย และขอให้ปิดประชุม ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะไม่ยอมเด็ดขาด ไม่ควรใช้อำนาจกดขี่ ย้ำว่าสิ่งที่พูดทั้งหมดคือความจริง
    นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือขบวนการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ญัตตินายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 รวมถึงความพยายามให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับ ตามความเห็นของนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้งที่เอกสารชวเลขของ กรธ. ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ระบุว่าสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้
    ขณะที่นายโกศล ปัทมะ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า เสียดายเวลาที่ประธาน กมธ.สั่งปิดการประชุม เสียดายภาษี เสียดายเบี้ยเลี้ยง เรียกร้องให้ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานคณะ กมธ.มีวุฒิภาวะ และใครก็ตามที่จะมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้เป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะมากกว่านี้ และทุกฝ่ายมีสิทธิ์ชี้แจงทุกแง่ทุกมุมของรัฐธรรมนูญ อาจจะกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ขอให้ทุกคนมีสิทธิ์ชี้แจง
    ต่อมา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษก กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.มีการเสนอแก้ไขมาตรา 256 ให้มีเงื่อนไขการแก้ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง กมธ.กำลังพูดคุยกันว่าเห็นอย่างไรเป็นลักษณะการอภิปรายอย่างกว้างขวางที่ยังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่มีการลงมติแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ยังเป็นการอภิปรายทั่วไปให้ครอบคลุมเนื้อหาที่อยู่ในร่างจากนั้น จึงจะพิจารณาในรายละเอียดแต่ละประเด็นที่ กมธ.แต่ละคนได้แสดงความเห็นไว้ ซึ่งเราเห็นความสำคัญของการพิจารณาที่รอบคอบหลากหลาย ส่วนการถกเถียงกันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งแต่ละท่านมีการอภิปรายแสดงเหตุผลประกอบ บางครั้งอาจมีการพาดพิงกันบ้าง ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้าง ก็มีการชี้แจงจากผู้ที่ถูกพาดพิง ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการประชุม เหตุการณ์วันนี้อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ที่มีการอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญเก่า แต่ยืนยันว่าการทำงานของ กมธ.ยังเดินหน้าไปด้วยดี โดยที่ทุกคนมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเอง
    เมื่อถามว่า กมธ.ในส่วนของพรรคก้าวไกลระบุว่าในการประชุมมีการปิดกั้นการแสดงความเห็นและรวบรัดปิดประชุม นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า เป็นดุลยพินิจของผู้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในตอนนั้น เมื่อเห็นว่า กมธ.บางท่านกำลังมีอารมณ์ในการชี้แจงเหตุผลที่ต่างกัน ท่านจึงปิดประชุม ไม่ได้ผิดปกติ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่จะดำเนินการ ถ้า กมธ.บางท่านจะกล่าวหาว่า ส.ว.ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้หยุด เราทำงานร่วมกัน ต้องให้เกียรติกัน อยากให้สร้างบรรยากาศให้ดี ไม่กล่าวหากัน
     ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนในฐานะประธานการประชุม ได้ทำหน้าที่ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นต้องลงมาห้องประชุมใหญ่ จึงมอบหมายงานไว้กับรองประธานคือนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. แต่ลงมาได้ไม่ถึง 15 นาทีก็ได้รับโทรศัพท์ให้กลับไปห้องประชุมกมธ.ด่วน เมื่อไปถึงก็พบว่ามีการเตรียมปิดการประชุมวันนี้ไว้อยู่แล้ว เมื่อตนไปถึงก็เลยปิดทันที ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกคำพูด ทุกประโยคในการตัดสินใจ ต้องเป็นไปด้วยความละเอียดอ่อน ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ซักถาม สอบถาม และอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อทราบว่ามีความขัดแย้งจนต้องปิดประชุม ขอเรียนว่าวันนี้ที่ประชุมกำลังพิจารณามาตรา 256 (7) (8) และ (9) ซึ่งตนในฐานะ กมธ.ฝั่งรัฐบาล เห็นว่าควรคง (8) นี้ไว้ ส่วนฝ่ายค้านนั้น เสนอตัด (8) นี้ทิ้งทั้งหมด คิดว่าเรื่องนี้ตนคงต้องไปชี้แจง และตอบคำถามเองว่าเหตุใดจึงต้องคงวงเล็บนี้ไว้  
    "สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้สอบถามหลายท่านที่อยู่ในห้องประชุม รวมถึงคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย ผมอยากขออภัยทุกคน และขอให้ใจเย็นๆ เอาเหตุและผลมาคุยกัน ซึ่งทุกคนก็รับปากว่าครั้งหน้าจะมาเข้าประชุม และพิจารณาด้วยเหตุและผลต่อ จะนำมาพิจารณาอีกครั้งช่วงหลังปีใหม่ ประมาณวันที่ 6-8 ม.ค.64 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนประมาณกลางเดือนมกราคม" นายวิรัชกล่าว  
    เมื่อถามว่า สาเหตุที่ทะเลาะกันมีประเด็นละเอียดอ่อนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า ใน (8) นี้ จะไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งถ้าจะแก้ไขต้องทำประชามติ ซึ่งตนได้ให้แขวนประเด็นนี้ไว้ และอยู่ระหว่างการถกเถียงประเด็นกันอยู่ เมื่อถามอีกว่าสรุปแล้วหมวด 1 และหมวด 2 จะสามารถแก้ได้หรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า ยืนยันว่าถ้าคง (8) ไว้จะแก้ไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะแก้ต้องทำประชามติก่อน
     นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์สัดส่วนของรัฐบาลว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหา เป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมือง พรรคภูมิใจไทยเสนอชื่อนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาพรรคเป็นตัวแทนไปเข้าร่วม สำหรับตัวแทนของรัฐบาลนั้นยังไม่ได้มีการหารือ ส่วนจะเป็นใครนั้นเราไม่มีปัญหา เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรค รายชื่อที่ออกมาส่วนใหญ่ตนเห็นด้วย เพราะเป็นคนกันเองทั้งนั้น  
    เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะทำให้การทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์สะดุดจนไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า "ในส่วนของผมไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะผมต้องการสมานฉันท์อยู่แล้ว พรรคภูมิใจไทยเน้นการสมานฉันท์ เน้นความสามัคคีปรองดอง ปกป้องสถาบัน นี่คือแนวทางของพวกผม"
       ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับความคืบหน้าในการส่งชื่อบุคคลที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในสัปดาห์นี้ มีรายงานข่าวว่าเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ส่งรายชื่อสัดส่วนของรัฐบาลที่จะร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ถึงประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว จำนวน  2 คน ได้แก่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
    ขณะที่สัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 2 คน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้ส่งเรียบร้อยแล้วคือ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
    สำหรับสัดส่วนของ ส.ว. เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะส่งนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ เพราะเป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งตำแหน่งนี้เกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนอีก 1 คนนั้นมีเสนอหลายชื่อ แต่ยังไม่ได้เคาะ.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"