หอสมุดแห่งชาติ...ยุคดิจิทัล เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่วงวัย


เพิ่มเพื่อน    

เปิดกลยุทธ์'หอสมุดแห่งชาติ'มัดใจ Gen Me

 

            115 ปี เป็นเวลาที่หอสมุดแห่งชาติเปิดให้บริการทุกวันแก่คนไทยและคนต่างประเทศ เป็นคลังความรู้ระดับสากล รวบรวมขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุดของไทย เพราะจัดเก็บและให้ใช้บริการหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ รวมถึงเอกสารโบราณ หนังสือหายากอันทรงคุณค่า อย่างสมุดไทย ใบลาน และจารึก กลุ่มผู้ใหญ่ รุ่นคุณลุงคุณป้ารู้จักและคุ้นเคยสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างดี 

            แต่ถ้าถามเด็ก "เจนมี" (Generation Me) ที่สนใจเทคโนโลยี อ่านเร็วติดสปีด ชอบอัพ แชร์ โพสต์ เรื่องราวบนโลกออนไลน์ นิยมความบันเทิง และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ก็คงสงสัยว่า..

            หอสมุดแห่งชาติ!?! มีอะไร

            ตามมาด้วยคำถามว่า ...จะเข้าไปทำอะไร แล้วทำไมพวกเขาต้องสนใจหอสมุดแห่งชาติ

            ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น โลกออนไลน์เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคน โดยเฉพาะเด็ก Gen Me ทำให้หอสมุดแห่งชาติ หน่วยงานสำคัญภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ใช้กลยุทธ์ใหม่เพื่อเจาะตรงเข้าถึงน้องๆ กลุ่มเจเนอเรชันนี้ นางสุภาณี สุขอาบใจ รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ บอกว่า ปี 61 หอสมุดแห่งชาติได้เปิดให้บริการ Smart Library เป็นห้องสมุดไร้หนังสือ เน้นให้บริการการอ่านแบบออนไลน์ ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของเราเพื่อใช้อ่านหนังสือ สืบค้นข้อมูลออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตส่วนตัว มีผู้ใช้มากกว่า 2,000 คนต่อเดือน

            “ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่รวมช่วงแพร่ระบาดของโควิด สถิติการใช้บริการของหอสมุดแห่งชาติลดลงประมาณ 400-500 คนต่อวัน เฉลี่ยเดือนละ 13,500 คน จากอดีตคนเข้ามาใช้หลักพัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รองลงมาเป็นประชาชนทั่วไป ชาวต่างประเทศก็นิยมใช้บริการ แต่ก็พบว่าผู้ใช้บริการหันมาอ่านออนไลน์ผ่านบริการต่างๆ ของหอสมุดแห่งชาติ ช่วงโควิดยิ่งได้รับความสนใจมาก หลังปลดล็อกโควิดแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้น หอสมุดแห่งชาติโฉมใหม่จึงไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเวลา สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่วงวัย" นางสุภาณีกล่าว

            แต่พฤติกรรมเฉพาะของเหล่า Gen Me รักษาการ ผอ.หอสมุดแห่งชาติ ย้ำว่า ในการพัฒนาต้องให้ความสำคัญและตอบโจทย์ความต้องการของคนเจเนอเรชันใหม่ๆ ให้ได้ สิ่งที่ต้องทำผ่าน 4 กลยุทธ์หลักเพื่อมัดใจคนเจนมี ได้แก่ การเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้บริการที่หลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ไลน์ออฟฟิเชียล แล้วก็ยูทูบ ทำให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ตามที่ตัวเองถนัดใช้งานได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ต่อด้วยทีมบรรณารักษ์ให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ น่าสนใจ อยู่ในกระแส เจาะตรงเข้าไปหากลุ่มเป้าหมาย เช่น คำว่า “น้อน” ที่นิยมใช้สื่อสารในโลกออนไลน์ แทนสิ่งมีชีวิตที่น่ารัก ก็ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นสัตว์มหัศจรรย์จากการสร้างสรรค์ของช่างปั้นถิ่นอีสาน ซึ่งมีคนสนใจมาก มีการแชร์ คอมเมนต์

            ขณะเดียวกันนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้บริการในหอสมุดแห่งชาติ ไม่ว่าจะนำบัตรสมาร์ท การ์ด มาใช้ในการเข้า-ออกหอสมุดฯ เปลี่ยนมาฝากของด้วยตู้ล็อกเกอร์อัจฉริยะ เป็นอิสระ ไม่ต้องยุ่งกับเจ้าหน้าที่ การใช้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงใช้ระบบ VDO Call ที่ทุกคนคุ้นเคย สำหรับสอบถามข้อมูลจากบรรณารักษ์ในแต่ละห้องบริการ ขณะเดียวกันมีจุดสัญญาณ WIFI ที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้ง 2 อาคาร ทำให้ทุกคนเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือฐานข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติเพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้สะดวก

            “กรมศิลปากรตั้งเป้าให้หอสมุดแห่งชาติเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การปรับปรุงและพัฒนา ลดกฎเกณฑ์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่โคเวิร์กกิงสเปซของกรุงเทพฯ เข้ามาทำรายงาน พูดคุยเป็นกลุ่ม เราต้องปรับตัว ปลดล็อกให้เข้ากับเด็กยุคใหม่ ที่ไม่ชอบอะไรเยิ่นเย้อ ชอบความรวดเร็ว และข้อมูลต่างๆ อยู่ในออนไลน์" นางสุภาณีย้ำ

            ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติมีการให้บริการด้านดิจิทัลหลากหลาย ประกอบด้วย E Book บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ให้บริการฉบับเต็มที่เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 1,700 ชื่อเรื่อง มีสารพัดหมวด เช่น กฎหมาย การศึกษา กีฬา ท่องเที่ยว สุขภาพ วิทยาศาสตร์ ฮาวทู นวนิยาย อ่านเล่น ประวัติศาสตร์ วรรณคดี มีจัดอันดับหนังสือยอดนิยม แนะนำหนังสือใหม่ๆ หนังสือรางวัลซีไรต์ ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน 2ebook หรือผ่านเว็บไซต์ https://2ebook.com/new/libery/index/nlt มีสมาชิกในปัจจุบันมากกว่า 27,000 คน และใช้บริการยืมอ่านออนไลน์เฉลี่ยเดือนละ 2,725 เล่ม

            รักษาการ ผอ.คนเดิมบอกสัดส่วนซื้อ E-Book ร้อยละ 80 ที่เหลือเป็นหนังสือเล่ม ที่ทุ่มกับ E-Book เพราะเด็กอ่านเยอะมาก อ้างอิงข้อมูลได้น่าเชื่อถือกว่าค้นหาผ่านเว็บไซต์ทั่วไป รวมถึงห้องสมุดเครือข่ายทั่วประเทศก็ใช้ได้ คุ้มค่ากว่า ตอบโจทย์หลายด้าน ก่อนจะจัดหาหนังสือใหม่ มีสำรวจและสอบถามความต้องการผู้ใช้บริการก่อน 

            ใครชอบหนังสือหายากก็มีห้องสมุดดิจิทัล D-library เก็บหนังสือหายาก หนังสือพิมพ์ และวารสารหายากฉบับเต็มที่ทำการดิจิไทซ์ทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 16,000 ชื่อเรื่อง แต่ถ้าอยากเห็นต้นฉบับของจริงก็เข้ามาที่หอสมุดแห่งชาติ ตอนนี้สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดนิทรรศการวารสารและนิตยสารฉบับแรก อยากดูคู่สร้างคู่สม ขวัญเรือน สกุลไทย พลอยแกมเพชร ฉบับแรก แวะมาชมกันได้ถึง 30 ธันวาคมนี้ 

            การสร้างภาพลักษณ์หอสมุดแห่งชาติที่ทันสมัยและโกอินเตอร์นั้น นางสุภาณีบอกว่า เราชูเรื่องฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์และนิตยสารออนไลน์จากกว่า 100 ประเทศ มากกว่า 60 ภาษา มากกว่า 7,000 ชื่อเรื่อง แถมยังอ่านย้อนหลังได้ 90 วัน เข้าใช้งานผ่าน www.pressreader.com และแอปพลิเคชัน pressreader เจาะกลุ่มนักศึกษาโดยเฉพาะเลย

            สำหรับแผนงานเชิงรุกในปีหน้า โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์เป็นตัวปูพรมสร้างการรับรู้และใช้โซเชียลมีเดียออนไลน์ในกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะคน Gen Me นั้น นางสุภาณีบอกว่า สำหรับกลุ่มเด็กมีกิจกรรม Kids Inspiration ทุกเดือน เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ทั้งการอ่าน ศิลปะ ดนตรี การประดิษฐ์ ถัดมากิจกรรม NLT Edutainment เน้นสร้างแรงบันดาลใจคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น โดยแทรกความบันเทิงเข้ากับพฤติกรรมคนเจนนี้ ชวนไอดอลรักการอ่าน การเขียน หรือนักเขียนคนดังมาพูดคุย โดยมีการไลฟ์สดผ่านสื่อออนไลน์ของหอสมุดแห่งชาติด้วย กลุ่มสูงอายุก็ไม่ทิ้งมีโครงการส่งเสริมการอ่าน

            ถัดมาเป็นโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเอกสารโบราณ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลเอกสารโบราณผ่านระบบออนไลน์ได้ คาดว่าพร้อมให้บริการกลางเดือน ม.ค.นี้ อนาคตของหอสมุดแห่งชาติจะทันสมัยยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มให้เข้าใจมากขึ้น เพราะแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกัน.  

 

----------------------------------------------------------

 

            เด็กยุคดิจิทัล..รู้จัก"หอสมุดแห่งชาติ"แค่ชื่อ

 

            นางสาวพิรดา เพ็ชรเม็ดเอี่ยม นักศึกษาชั้นปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า เคยใช้บริการหอสมุดแห่งชาติหนึ่งครั้ง ชวนกลุ่มเพื่อนมาเพราะต้องทำรายงานการตลาดออนไลน์ ตอนแรกคิดว่าเป็นห้องสมุดเล็กๆ เก่าๆ ไม่มั่นใจว่าจะได้หนังสือที่ต้องการมั้ย แต่พอมาใช้บริการสะดวกสบาย ทันสมัยมาก ค้นหารายชื่อหนังสือผ่านระบบออนไลน์ แล้วแจ้งชื่อหนังสือ รอไม่นาน เจ้าหน้าที่เรียกรับหนังสือที่เคาน์เตอร์บริการ

            “เจ้าหน้าที่แนะนำด้วยว่ามีบริการด้านดิจิทัล ใช้งานสืบค้นข้อมูลจากที่บ้าน ที่มหาวิทยาลัยได้ รู้สึกว่ามีประโยชน์มาก แต่โลกในอินเทอร์เน็ตไม่ได้มีครบทุกอย่าง ถ้าต้องการหนังสือต้นฉบับ เอกสารเก่าของจริง ก็ต้องมาที่หอสมุดแห่งชาติ" นางสาวพิรดาบอกจะแนะนำเพื่อนๆ มหาวิทยาลัยให้ใช้บริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์   

            ขณะที่ ด.ญ.ชลภัสสรณ์ ยังคง นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนราชวินิต บอกว่า หอสมุดแห่งชาติอยู่ใกล้โรงเรียน ทำให้หลังเลิกเรียนมาใช้บริการบ่อยครั้ง ทั้งมาคนเดียวและมาทำรายงานกับกลุ่มเพื่อน จะมาที่ Smart Library มีคอมพิวเตอร์ให้อ่าน E-Book ด้วย แต่ปกติใช้แท็บเล็ตส่วนตัว อ่านออนไลน์ ทั้งอ่านเล่นและหาข้อมูลทำการบ้าน ทำรายงานส่งครู สัญญาณไวไฟก็แรง ทุกวันจะมีคนเข้ามาใช้บริการทั้งเด็ก นักเรียน พี่ๆ นักศึกษาและผู้ใหญ่ เป็นสถานที่ที่มีประโยชน์มาก

            อกนิษฐ์ โชคชูสวัสดิ์ นักเรียน ปวช.แผนกบัญชี วิทยาลัยกรุงเทพการบัญชี บอกว่า สองเดือนก่อนเคยไปใช้บริการหอสมุดแห่งชาติ อ่านหนังสือกฎหมาย ซึ่งต่างกับการหาข้อมูลในกูเกิล เพราะมีข้อมูลและหนังสือให้เลือกเยอะกว่า ที่สำคัญสถานเงียบสงบ นอกจากนี้มีการบริการข้อมูลรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย จำได้ว่าครั้งแรกไปสมัยเรียนประถมศึกษา ไปรอบนี้หอสมุดปรับปรุงดีขึ้น ทันสมัย การค้นหาหนังสือก็ง่ายขึ้น ชอบมาก ที่นี่มีหนังสือหลากหลายแนวให้อ่าน

            ส่วน นายภวัต ชื่นศิริมงคล นักเรียนชั้น ม.4 รร.เซนต์ดอมินิก บอกว่า รู้จักหอสมุดแห่งชาติ แต่ยังไม่เคยไปใช้บริการ คิดว่าคงจะมีหนังสือดีๆ และข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง ละเอียดกว่าข้อมูลใน Google ถ้าต้องทำรายงานหรือการบ้านอาจจะใช้บริการหอสมุดแห่งชาติ ปกติเจะหาซื้อหนังสือที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เพราะเดินทางสะดวก มีหนังสือใหม่ๆ ด้วย

            ทิ้งท้ายกับสาวโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ภาพิมลบอกว่า ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.4 ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินชื่อหอสมุดแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะหาข้อมูลจากห้องสมุดที่โรงเรียน ส่วนแหล่งข้อมูลที่สะดวกมากสุดคือกูเกิล แต่ก็มองว่าหอสมุดแห่งชาติไม่เชยสำหรับเด็กยุคใหม่ เพราะจากชื่อน่าจะเหมาะกับคนที่ชอบอ่านหนังสือ หรือหาข้อมูลเฉพาะเจาะจงด้านต่างๆ. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"