บทเรียนน้ำท่วมใหญ่เมืองคอน ระบบเตือนภัยที่ไร้พลัง


เพิ่มเพื่อน    

แฟ้มภาพ อุทภัยภาคใต้กลางเดือนธันวาคม 2563 

 

 

     สถานการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ จ.นครศรีธรรมราช จมบาดาลทั้งจังหวัด ทั้ง 23 อำเภอ ชาวเมืองคอนบอกว่านี่เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่รุนแรงที่สุดของจังหวัดในรอบ 50 ปี และไม่ได้มีแต่นครศรีธรรมราชเท่านั้น จังหวัดใกล้เคียงทั้งพัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี ก็ประสบภัยน้ำท่วมในบางพื้นที่ด้วยเช่นกัน แต่ไม่หนักเท่านครศรีธรรมราช

       น้ำท่วมครั้งนี้มีรายงานประชาชนเดือดร้อนกว่า 290,997 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 คน เป็นความสูญเสียจากภัยพิบัติที่รุนแรง แม้ขณะนี้ยังมีบางพื้นที่ที่น้ำยังท่วมขัง ไม่แห้งสนิท

      มีการพูดกันหนาหูว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า การพยากรณ์สภาพอากาศของหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นไปอย่างเรียบๆ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีการตระเตรียมตัวอพยพ หรือจัดการทรัพย์สินบ้านเรือนไว้ล่วงหน้า ทำให้หนีน้ำกันไม่ทัน ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก และมีการประเมินว่าภาคเกษตรเสียหายไม่ต่ำกว่า 6,600 ล้านบาท

แฟ้มภาพ น้ำท่วมใหญ่ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช

 

      ขณะที่ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ว่า ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ปภ.ได้สั่งการให้ ปภ.พื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก และแจ้งเตือนสภาพอากาศ ฝนตกหนัก คลื่นลมแรง ในพื้นที่ภาคใต้ โดยประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้แจ้งข้อมูลปริมาณน้ำฝน การคาดการณ์ฝน มีการแจ้งเตือนพื้นที่ต่างๆ โดยปลายเดือน พ.ย.แจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 2 ครั้ง  ประสานจังหวัด และองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ให้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ สร้างการรับรู้ รักษาตัว ให้ปลอดภัย พื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ไม่ให้ได้รับผลกระทบ

      ชาวบ้านนครศรีธรรมราชรายหนึ่งเจอภัยน้ำท่วม  กล่าวว่า มีการเตือนภัยจากภาครัฐจริง แต่ไม่ได้เป็นการเตือนแบบเน้นๆ ว่าฝนจะตกหนักมาก และอาจทำให้มีน้ำท่วมไหลหลากรุนแรง ทำให้คนไม่ได้ตระหนัก ตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมือ และมาเตือนอีกครั้งช่วงน้ำใกล้ท่วมเข้าบ้านแล้ว เลยทำอะไรไม่ทัน เรียกว่าเป็นการเตือนกระชั้นเกินไป

      " หลังน้ำท่วมเมื่ออาทิตย์ก่อน ทางการออกมาเตือนว่า วันที่ 17-18 ธ.ค.นี้ ฝนจะตกหนักที่นครฯ น้ำจะท่วมเหมือนคราวที่แล้วอีก แต่เอาเข้าจริง ฝนไม่ตกที่นครฯ เลยครับ ไปตกหนักที่พัทลุง หาดใหญ่ สงขลาแทน คราวนี้เขาเตือนแบบล่วงหน้านานเกินไป จนมันเหมือนมั่วๆ คงกลัวว่าถ้าไม่เตือน จะกระชั้นเหมือนคราวก่อน" ชาวบ้านรายนี้ กล่าว

      ในมุมของนักวิชาการ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า น้ำท่วมภาคใต้ปีนี้ว่า มีความรุนแรง มาจากปัจจัยปริมาณฝน เนื่องจากฝนตกกระจุกตัวเป็นพื้นที่ แต่ไม่กระจาย เหตุนี้ผู้เสียชีวิตจึงกระจุกตัวเป็นสถานที่ๆ และต้องยอมรับว่า แม้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนจะมีฝนตกหนักพื้นที่ภาคใต้ ระบุรายจังหวัด แต่การเตือนภัยเฉพาะยังมีช่องว่าง ขาดหน่วยงานรับข้อมูลนำมาประเมินพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงสูง อย่าง จ.สุราษฎร์ธานี แต่ละพื้นที่มีความเปราะบางและล่อแหลมต่างกัน เช่น พื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่เชิงเขา บางพื้นที่ประชาชนมีประสบการณ์รับมือน้ำท่วม บางพื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ถ้าเตือนแค่ระดับจังหวัด เหมือนเตือนโดยไม่เตือนส่วนนครศรีธรรมราช ที่น้ำท่วมครบทั้ง 23 อำเภอ ฝนตกหนักบวกกับความล่อแหลมของพื้นที่ แต่ประชาชนใช้ชีวิตปกติ บางจุดเหตุการณ์เลวร้าย น้ำไหลเร็วมากเป็นน้ำท่วมฉับพลันต่างจากภาคกลางท่วมแล้วแช่ขัง ใต้บางจุดมากกว่า 1.5 เมตรต่อวินาที บางพื้นที่ไหลบ่าถึง 3 เมตรต่อวินาที มีผู้จมน้ำเสียชีวิตพื้นที่ต่างๆ จากน้ำป่าไหลหลาก น้ำซัดเรือล่ม น้ำป่าลากมอเตอร์ไซค์ตก คนหนีไม่ทัน เพราะไม่รู้ข้อมูลและขาดความตระหนัก เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดมานานแล้ว น้ำป่าทะลักกรุงชิง-นบพิตำ ก็ตั้งแต่ปี 56

 

แฟ้มภาพ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ 

 

      อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านภัยพิบัติระบุ หลังจากนี้พื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมหนัก เพราะปัจจุบันไม่มีพื้นที่รับน้ำและแม่น้ำลำคลองตื้นเขิน เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำลงทะเล ป่าก็เหลือน้อย ความเสียหายจะหนักหรือไม่ขึ้นกับการบริหารจัดการน้ำ การเฝ้าระวัง เตือนภัย จากเหตุการณ์น้ำท่วมนี้สะท้อนส่วนกลางไม่พร้อม ท้องถิ่นยังขาดความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ความรู้สร้างความตระหนัก สนับสนุนเครื่องมือ งบประมาณ อย่างบอกท้องถิ่นทำไม่ได้ อนาคตข้างหน้ามีแต่ภัยคุกคาม จะถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ส่วนกลางไม่สามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ทันการณ์ ชาวบ้านก็รับเคราะห์ก่อน นอกจากนี้ พบว่าการซ้อมหนีน้ำท่วมขาดความต่อเนื่อง ถ้าฝึกซ้อมสม่ำเสมอจะลดยอดผู้เสียชีวิต ปีนี้เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ต้องเฝ้าระวังในปีหน้าน้ำมาก ต้องประเมินสภาพน้ำ เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้คล้ายกับปี 2553 ที่เกิดลานีญา เคยเกิดน้ำท่วมในภาคใต้ ท่วมหาดใหญ่ น้ำท่วมโคราช แค่ปีนี้ลานีญาระดับต่ำกว่า

      "เรายังวางใจไม่ได้ จากโมเดลคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 23 ธันวาคม เป็นจะมีพายุเข้าภาคใต้ของประเทศไทยอย่างแน่นอน มีโอกาสท่วมใหญ่ เพราะฝนตกต่อเนื่องทุกวัน ดินชุ่มน้ำ แม่น้ำลำคลอง หากพายุเข้าอาจเกิดดินโคลนถล่ม ต้องจับตา เราจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ หากไม่สามารถอุดช่องโหว่ตรงนี้ได้" รศ.ดร.เสรีเตือน

      ผลจากเหตุการณ์อุทกภัยภาคใต้ เกิดความเสียหายกระจายวงกว้าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับหน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและสั่งปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ให้ช่วยประชาชนแบบบูรณาการ ทั้งยังมอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำแผนงานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า นายกฯ ลงพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช สั่งทำโครงการที่ทำได้ทันที เช่น การซ่อมแซมและการขุดลอกแม่น้ำลำคลอง เพื่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำ โดยให้ใช้งบเร่งด่วน เพื่อไม่ให้สายเกินสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น และเร่งทำโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการขุดลอกคลองระบายน้ำใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพคลองเดิมเป็น 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ถือเป็นบายพาสเหนือเมือง ขณะนี้มีการศึกษาแล้ว อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ทำบางส่วน ยังไม่สำเร็จลุล่วง น้ำท่วมเมืองคอนที่ผ่านมาน้ำไหลเข้าเมือง 600-700 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่พื้นที่เมืองรับได้ประมาณ 260 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น ทำให้น้ำท่วมสูง

      ในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เลขาธิการ สทนช. เผยว่าในแผนงานยังมีโครงการแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะถนนบ้านเนิน-ธัมมัง มีแนวคิดให้กรมชลประทานประสานกรมทางหลวงชนบท ยกระดับถนนขึ้นมาไม่ให้ขวางทางน้ำ จากการสำรวจในพื้นที่ภาคใต้ปัจจุบันมีถนน สะพาน พื้นที่กว่า 151 แห่ง ขวางทางน้ำ จะต้องปรับปรุงทั้งสะพานเตี้ย ตอม่อชิด ระดับถนนต่ำ ซึ่งกรมทางหลวงฯ รับลูกเรียบร้อย ปัญหาถนนขวางทางน้ำเผชิญเหมือนกันทุกภาค ทั้งกลาง อีสาน ใต้ ก็ต้องปรับแก้ในแผนแม่บท

      นอกจากนี้ เขาบอกยังมีแผนงานอีกมากมายหลายโครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก จ.สุราษฎร์ธานี แก้มลิงฉลุง จ.สงขลา แก้มลิงหลายแห่งจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ และอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ให้สามารถเป็นที่หน่วงน้ำ กักเก็บน้ำ จะทำโครงการใน 5 จังหวัดภาคใต้ ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวจะได้ค่าเช่าเป็นการชดเชย ส่วนพรุควนเคร็ง นครศรีธรรมราช ประสานกระทรวงทรัพย์ จัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายในปี 65 เน้นพื้นที่นี้ช่วยพร่องน้ำ และชะลอน้ำ เป็นแหล่งถ่ายเทน้ำได้มีประสิทธิภาพ แล้วยังมีโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ขุดคลองผันน้ำให้สามารถระบายน้ำได้

      “ขณะนี้ให้หน่วยงานท้องถิ่น ทั้ง อบต. อปท. อบจ. ปรับแผนป้องกันน้ำท่วม กำหนดให้ส่งรายงานถึง สทนช. ภายในสิ้นเดือนธันวา.นี้ เพื่อจัดทำแผนแม่บทจัดการน้ำภาคใต้ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรน้ำ HEA แผนนี้จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่แนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำในสถานการณ์น้ำมากน้ำน้อย ระดับน้ำในลำน้ำที่ปลอดภัยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และแนวทางระบายน้ำ เพื่อให้ท้องถิ่นและชุมชนมีแผนการทำงานล่วงหน้า ลดความเสียหาย และเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะในอดีตใช้มาตรการเชิงรับมากไป อนาคตอันใกล้จะเน้นเชิงรุก ป้องกันเหตุ และให้ประชาขนปรับตัว" ดร.สมเกียรติเผยถึงแผนแก้ท่วมใต้

      อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ สทนช. ยอมรับน้ำท่วมใต้หนนี้เมื่อเทียบกับเหตุการณ์พายุปลาบึก ปี 62 ซึ่งมีการอพยพคน เตรียมพร้อมรับมือ ถือว่ายังมีจุดอ่อนเรื่องการเตือนภัยประชาชน และขาดพิกัดพื้นที่เสี่ยงภัยที่แน่นอน ผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปีนี้ภาคใต้ฝนตกหนักเหนือเมือง และปลายน้ำ ตลอด 7 วัน ปริมาณน้ำฝน 700-800 มิลลิเมตร ดินอิ่มตัว ทำให้เกิดผลกระทบมาก ซึ่งต้องกลับมาทบทวนปัญหา และสรุปบทเรียนอย่างจริงจัง เพราะคาดอีกว่า ต้นเดือนมกราคมจะมีพายุใหญ่เข้าอีกครั้ง กรมอุตุฯ อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ระหว่างนี้จะพัฒนาระบบคำนวณการไหลของน้ำเข้าพื้นที่ ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นที่นำสู่ความเสี่ยงอุทกภัย จะต้องทำให้ชัดเจนมากกว่านี้ พร้อมประกาศเตือนภัยภายใน 3 วัน อย่างช้าที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเตรียมพร้อมรับมือ อพยพไปสถานที่ปลอดภัยได้ทัน

      "การแก้น้ำท่วมใต้อย่างยั่งยืนจะสำเร็จไม่ได้ หากขาดการตัดสินใจที่เป็นเอกภาพบนพื้นฐานหลักวิชาการและความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ แต่ละพื้นที่ต้องปกป้องตัวเองจากน้ำท่วม แต่หากสุดท้ายต้องมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการ ต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ถ้าไม่เลวร้ายจริง มาตรการเวนคืนจะเป็นเรื่องท้ายๆ จะใช้กลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำเป็นหลักในการประสานประโยชน์และการจัดการน้ำที่เป็นธรรม" ดร.สมเกียรติ กล่าวในท้าย น้ำท่วมซ้ำซากแก้ปัญหาได้

      สัปดาห์หน้ายังต้องลุ้นว่าในช่วงวันที่ 23-25 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ พายุลูกใหญ่จะเข้ามาแถบจังหวัดสงขลา พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี ถ้าลมไม่พัดไป จังหวัดเหล่านี้ก็คงต้องเจอศึกหนัก.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"