พอช.ชี้แจง ‘บ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากร’


เพิ่มเพื่อน    

 พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกฯ มอบสัญญาเช่าที่ดินกรมธนารักษ์และใบอนุญาตก่อสร้างบ้านให้ชาวชุมชนวัดรังสิต ริมคลองเปรมฯ จ.ปทุมธานี  ในพิธีลงเสาเอกสร้างบ้านเมื่อวันที่ 17   ธันวาคมที่ผ่านมา

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / พอช.ชี้แจงความเป็นมาของการพัฒนาคลองเปรมประชากร  โดยรัฐบาลเห็นชอบตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง และการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมฯ ที่จะต้องมีการรื้อย้ายชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ  เพื่อเปิดพื้นที่สร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมและบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมฯ  โดย พอช. รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’ โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลัก มีเป้าหมาย 38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือน เพื่อให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี

 

ตามที่นายศรีสุวรรณ  จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า  ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานในพิธีลงเสาเอกบ้านมั่นคง "สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด" (บ้านสวย คลองใส วิถีใหม่ ชุมชนริมคลอง) ณ หมู่ 7 ถนนเลียบคลองเปรมประชากร ตำบลหลักหก  อ.เมือง  จ.ปทุมธานี พร้อมมอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ (เนื้อที่ 22 ไร่ 3 งาน 36 ตรว.) และใบอนุญาตก่อสร้างของสหกรณ์ฯ ให้แก่ประธานและกรรมการสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

 

โดยนายศรีสุวรรณอ้างว่า  พื้นที่ดังกล่าวเคยมีสภาพเป็นคลองสาธารณะมาก่อน  มีความกว้างของคลองประมาณ 50 เมตร  โดยมีชาวชุมชนปลูกบ้านอาศัยอยู่ตามแนวริมคลองมากว่า 77 ปีแล้ว  แต่กลับมีการไล่รื้อให้ชาวบ้านดังกล่าวออกไป แล้วนำพื้นที่ดังกล่าวมาถมปรับสภาพพื้นที่ถมดิน  โดยกรมธนารักษ์ให้เช่าก่อสร้างบ้านมั่นคง  พร้อมกับทำเขื่อนริมคลองให้ระยะ 628 เมตร   โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองด้วยงบประมาณ 64.2 ล้านบาท  ทำให้คลองเปรมประชากรมีสภาพความกว้างของคลองเหลือไม่ถึง 20 เมตรเท่านั้น  

 

โดยชาวบ้านที่รื้อถอนบ้านออกไปจะถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง  โดยแต่ละคนต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงินที่หน่วยงานรัฐประสานมาให้คนละ 5 แสนกว่าบาท  โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระ 15-20 ปี (ผ่อนชำระเดือนละประมาณ 3,000 บาท ไม่รวมค่าเช่าที่ดินที่ต้องจ่ายให้กรมธนารักษ์ในอัตราขั้นบันไดอีกต่างหาก)  หากใครไม่เข้าร่วมจะถูกกรมธนารักษ์ฟ้องขับไล่ข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ  แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ กทม. จะถูก กทม.ฟ้องฐานบุกรุกและรุกล้ำกีดขวางทางน้ำ  โดยอ้างว่าเป็นเหตุให้น้ำท่วม ฯลฯ  โดยไม่คำนึงว่าชาวบ้านยากจนข้นแค้นอยู่แล้ว  ข้าวกรอกหม้อยังแทบจะไม่มีจะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนชำระ 20 ปี

 

นอกจากนี้นายศรีสุวรรณ  ยังอ้างว่าพื้นที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นคลองสาธารณะตามธรรมชาติ  ดังนั้นการที่หน่วยงานรัฐนำดินมาถมรุกล้ำไม่ผิดกฎหมายหรืออย่างไร ?

 

ชุมชนริมคลองเปรมก่อนการพัฒนา

 

 ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร  ชุมชนแรกที่รื้อย้ายบ้านออกจากแนวคลองเปรมฯ เมื่อต้นปี 2563  ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้ว 193 หลัง

 

พอช.แจงความเป็นมาโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ

ทางด้าน นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)หรือ ‘พอช.’  ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า  โครงการบ้านมั่นคง "สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง และการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 โดยมีกรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน   คือ

 

นายสมชาติ ภาะสุวรรณ  ผอ.พอช.

 

1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของเมือง เช่น  การสร้างเขื่อนระบายน้ำริมคลองเปรมประชากรเพื่อป้องกันน้ำท่วมและระบบรวบรวมบำบัดน้ำเสีย  2. ด้านการพัฒนาชุมชนริมคลอง ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัยของทุกครัวเรือนอยู่ริมคลอง  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับผิดชอบดำเนินการ  มีกลุ่มเป้าหมายในเขตกรุงเทพมหานคร 3 เขต คือ ดอนเมือง หลักสี่ และจตุจักร จำนวน 32 ชุมชน  และพื้นที่เทศบาลตำบลหลักหก อ.เมือง จังหวัดปทุมธานี  6 หมู่  กลุ่มเป้าหมายรวม 6,386 ครัวเรือน  ระยะความยาวตามแนวคลองประมาณ 17 กิโลเมตร (จากความยาวทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร)  3. ด้านการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน  และ   4.ด้านกฎหมายและการขับเคลื่อนงาน

 

 ภาพกราฟฟิกการพัฒนาในคลองเปรมประชากร (ระบบบำบัดน้ำเสีย)

 

“การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรนั้น  พอช. ได้กำหนดแผนระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 โดยใช้รูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง ลักษณะเดียวกันกับการดำเนินโครงการที่คลองลาดพร้าว  โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการ  เริ่มจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เพราะเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแล  มีการออกแบบและวางผังร่วมกันทั้งชุมชน  เพื่อขออนุญาตปลูกสร้างบ้านใหม่จากกรมธนารักษ์และท้องถิ่น เพื่อให้บ้านใหม่ที่จะสร้างขึ้นมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการอยู่อาศัย เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย  และช่วยให้การดูแลรักษาสภาพแวดล้อมคลองเปรมประชากรเป็นไปได้อย่างยั่งยืน”  นายสมชาติกล่าวถึงความเป็นมาของการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ

 

ชุมชนริมคลองลาดพร้าว  เขตสายไหม  หลังการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้วประมาณ 3,000 ครัวเรือนใน 35 ชุมชน

 

เปลี่ยนจาก “ผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง”

นอกจากนี้นายสมชาติยังชี้แจงเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ดังนี้ 

1. ชาวบ้านริมคลองเปรมประชากร  บริเวณที่รื้อย้าย 628 เมตร  (เพื่อสร้างบ้านใหม่และเปิดพื้นที่ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองสร้างเขื่อนระบายน้ำ)  ส่วนใหญ่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงการสร้างหมู่บ้านเมืองเอก (ประมาณ 30-50ปี)   บางครัวเรือนมาอยู่อาศัยในช่วงประมาณสิบปีหลัง  ไม่ใช่ 77   ปีตามที่กล่าวอ้าง และเป็นที่ดินราชพัสดุ  กรมธนารักษ์ดูแล  โดยรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาคลองเปรมประชากร ซึ่งจะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคูคลองเพื่อเปิดพื้นที่สร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม  ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้พัฒนาที่อยู่อาศัย  จากเดิมที่มีสภาพเป็นชุมชนแออัด  บ้านเรือนทรุดโทรม  สถานภาพบุกรุก  เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  โดยจะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน  พัฒนาสิ่งแวดล้อม  และคูคลองต่อไป

2. ทุกครัวเรือนผ่านกระบวนการรับรองสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการ และเกือบทั้งหมดยินดีเข้าร่วมโครงการ เพื่อจะเปลี่ยนจากผู้อยู่อาศัยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย เป็นการอยู่อาศัยที่ถูกต้อง ด้วยการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์และปลูกสร้างบ้านตามแบบที่ได้รับการ อนุญาตจากท้องถิ่น  ตามผังที่ได้ตกลงแบ่งปันที่ดินริมตลิ่งร่วมกัน (ดำเนินโครงการเฟสแรก จำนวน 210 ครัวเรือน  มีเพียง 3 ครัวเรือน ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการและรื้อถอนบ้านเดิมที่ผิดกฎหมาย โดยมีการต่อต้าน 1 ครัวเรือน)

3.การกู้เงินเพื่อปลูกสร้างบ้านเป็นการกู้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (โดยสหกรณ์เคหสถานที่จัดตั้งขึ้นจากสมาชิกชุมชนในนามสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด) กระจายไปแต่ละครัวเรือนๆ ละ 360,000 บาท จากราคาบ้านที่ประมาณการ 460,000 บาท  โดยส่วนต่างเป็นการออมสบทบของสมาชิกและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล  ภาระการผ่อนครัวเรือนละ 2,580 บาท/เดือน  ระยะเวลา 20 ปี  นอกจากรัฐอุดหนุนเรื่องก่อสร้างบ้านเพื่อให้ชาวบ้านกู้เงินไม่สูงมากจนเกินภาระของครัวเรือนแล้ว   ยังมีงบช่วยเหลือเรื่องระบบสาธารณูปโภค  และค่าเช่าบ้านในช่วงรื้อย้ายบ้านเดิมและสร้างบ้านใหม่  (รวมงบอุดหนุนให้แต่ละครัวเรือน 147,000 บาท)

 

สภาพบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองเปรมประชากร

 

การกำหนดแบบบ้านจะพิจารณาจากความสามารถในการรับภาระของครัวเรือนด้วย (ดูจากเงินออมทรัพย์สมทบต่อเดือน)  โดยมีสมาชิก 10 ครัวเรือน ที่เลือกแบบบ้านชั้นเดียว เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพรายได้  โดยมีภาระผ่อนชำระประมาณ 1,500 บาท/เดือน 

 

ส่วนภาระค่าเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์  กรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าในอัตราผ่อนปรน  ปัจจุบันเฉลี่ย 60 บาท/ครัวเรือน  หรือปีละ 720 บาท  (ขนาดที่ดินต่อครัวเรือน 4X7 ตารางเมตร  ไม่รวมพื้นที่ส่วนกลาง)  มีการปรับค่าเช่า 3 ปี/ครั้ง ๆ ละ 9% โดยประมาณการว่าค่าเช่าในปีที่ 28-30 จะอยูที่ครัวเรือนละประมาณ 120 บาท/เดือน (ค่าเช่ารวม 30 ปีต่อครัวเรือนรวมไม่เกิน  30,000 บาท)

 

“การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนเห็นประโยชน์ร่วมกันทั้งส่วนตนและส่วนรวม  และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาไปพร้อมกับภาครัฐ เพื่อให้ชาวชุมชนริมคลองเปรมฯ  และลูกหลาน  มีคุณภาพชีวิต  มีสิ่งแวดล้อมที่ดี  ขณะเดียวกันส่วนรวมก็จะได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  รวมทั้งบำบัดน้ำเสียได้ด้วย”  นายสมชาติกล่าวในตอนท้าย

ภาพกราฟฟิกชุมชนวัดรังสิตหลังการพัฒนาที่

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"