ขอดูสถาการณ์7วัน นายกฯสั่งสธ.ทำเกณฑ์ล็อกดาวน์ทั้งปท.


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.พบป่วยโควิดเพิ่ม 382 ราย ยอดติดเชื้อสมุทรสาครพุ่ง 821 ราย รอลุ้นผลอีก 2.6 พันคน  นายกฯ ยังไม่ยกเลิกเคาต์ดาวน์ปีใหม่ ขอดูสถานการณ์ 7 วัน สั่ง สธ.ทำเกณฑ์ล็อกดาวน์ทั้งประเทศรับมือกรณีลามรุนแรง มท.สั่ง ผวจ.ทุกจังหวัดสแกนหากลุ่มเสี่ยงซื้อขายสัตว์น้ำมหาชัย กทม.ออกประกาศคุมเข้มสถานที่ 4  ประเภท จัดกิจกรรมเกิน 300 คนต้องขออนุญาต
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม  เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 382 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ  14 ราย จากพระนครศรีอยุธยา 1 ราย นครปฐม 2 ราย  สมุทรปราการ 3 ราย สมุทรสาคร 5 ราย กทม. 2 ราย ตาก  1 ราย และการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วยการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 360 ราย รวมทั้งผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 8 ราย  ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร 1 ราย สหรัฐอเมริกา 3  ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ยูเครน 1 ราย คูเวต 1  ราย ซูดาน 1 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศอยู่ที่ 5,289 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 3,385 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ  1,904 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้ป่วยที่พบว่ามีการติดเชื้อจากในประเทศ 14 รายของวันนี้ ส่วนใหญ่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้งที่ จ.สมุทรสาคร โดยผู้ป่วยแต่ละรายได้แยกกันเข้าไปรับการรักษาตาม รพ.ต่างๆ แล้ว แต่ยังมีบางรายที่จะต้องมีการสอบสวนไทม์ไลน์เพิ่มเติม สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานชาวเมียนมา 360 คนในวันนี้เป็นการตรวจค้นหาในเชิงรุก โดยส่วนใหญ่มากกว่า 90% พบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมียอดผู้ติดเชื้อทยอยเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน  โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอีก 2,600 คน  ในส่วนการดูแลแรงงานเมียนมาที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 นี้  ได้ใช้โมเดลจากประเทศสิงคโปร์เป็นแนวทางในการปฏิบัติ  โดยเป็นโรงพยาบาลสนามประมาณ 100 เตียงตั้งอยู่ในบริเวณนั้น จะมีการจำกัดพื้นที่ไม่ให้เข้าออกนอกหอพัก  และมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ทุกคนที่อยู่ในนั้นจะมีระบบสาธารณสุขดูแล มีการส่งข้าวส่งน้ำให้
    โฆษก ศบค.กล่าวด้วยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหาร สธ.ได้เข้าประชุมร่วมกับ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. โดยได้รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาครและจังหวัดอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยง หากสถานการณ์การระบาดมีความเชื่อมโยงไปหลายจังหวัด นายกฯ ได้มอบหมายให้ สธ.ไปพิจารณาและเตรียมจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เผื่อไว้ หากมีความจำเป็นจะต้องล็อกดาวน์หลายจังหวัด  หรือล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา จะต้องบังคับใช้กฎหมายฉบับใด และให้นำกลับมาหารือกันอีกครั้ง
    พร้อมกันนี้นายกฯ ยังขอให้พิจารณาถึงกรณีการขนส่งสินค้าไปในพื้นที่ จ.สมุทรสาครด้วยว่าจะมีการเข้าไปดูแลอย่างไร จะมีการใช้มาตรการแบบตามแนวชายแดนเพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องของผู้ขนส่งสินค้าด้วยหรือไม่  เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อประชาชนผู้บริโภคอาหารจากแหล่งที่มาของ จ.สมุทรสาคร รวมทั้งกำชับให้สถานศึกษาดูแลเด็กนักเรียน และเตือนถึงการชุมนุมว่าสถานการณ์ในช่วงนี้ไม่เหมาะสมให้มารวมตัวกัน ในพื้นที่ระบาดอาจให้มีการทำงานที่บ้าน เมื่อออกนอกบ้านขอให้คนไทยเตือนกันสวมหน้ากาก
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของภาครัฐและเอกชนว่า ขณะนี้อาจจะต้องรอรวบรวมข้อมูลสถานการณ์การระบาดในประเทศอีกสักสัปดาห์ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าแต่ละภาคส่วนสมควรที่จะจัดกิจกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การระบาดใน จ.สมุทรสาครเพิ่งเกิดขึ้นและมีข้อมูลเพียง 2-3 วันเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าแนวโน้มจะมากขึ้นหรือลดลงอย่างไร อาจจะต้องรอดูอีกสัก 7 วัน แต่หากนับไปถึงตรงนั้นก็เป็นวันที่ 28 ธ.ค. จะกระชั้นชิดไปหรือไม่ที่จะให้เอกชนได้ตัดสินใจว่าจะจัดกิจกรรมได้หรือไม่  ตอนนี้ตอบยากว่าควรจะจัดได้หรือไม่ ขอดูข้อมูลของแต่ละวันก่อน เพื่อให้ภาคเอกชนได้นำข้อมูลตัวเลขนี้ไปพิจารณาดูความเสี่ยงในการจัดงานของท่านเอง ทาง สธ.และ ศบค.จะรายงานตัวเลขให้ตัดสินใจ เราต้องมาแชร์ความรับผิดชอบร่วมกัน
    ส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการระบาดระลอก 2 หรือระบาดใหม่นั้น โฆษก ศบค.กล่าวว่า ตนไม่ใช่นักระบาดวิทยา เป็นแค่ทีมวิชาการ ก็จำคำของเขามาพูดว่าเป็นการระบาดใหม่ ยืนยันว่าการแถลงข่าวไม่มีการปกปิด เมื่อมีข้อมูลเข้ามาก็รายงานทันที ย้ำว่าตื่นตัวได้แต่ไม่ตื่นตูม วัคซีนรอปีหน้า หน้ากากผ้าวันนี้เลย
โควิดมหาชัยพุ่ง 821 ราย
    นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร สะสมอยู่ที่ 821 ราย โดยจำแนกเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง 33 ราย เป็นผู้ป่วยที่ค้นหาในชุมชน 788 ราย ซึ่งผลตรวจออกแล้ว 1,861  ราย โดยมีการตรวจทั้งหมด 4,688 ราย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการแพร่ระบาดจุดเริ่มต้นมาจากตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นตลาดกุ้งเลี้ยงไม่ใช่อาหารทะเลทั้งหมด โดยมีสมมุติฐานสาเหตุของการแพร่ระบาดมาจากแรงงานเมียนมา เนื่องจากการค้นหาเชิงรุกพบว่ามีการติดเชื้อกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานเมียนมาจากต่างประเทศในช่วงของการระบาด นำไปสู่การแพร่สู่ชุมชนแรงงานเมียนมาเดิมที่อยู่ในสมุทรสาคร และมีการแพร่ประปรายไปยังพื้นที่อื่น ทั้งนี้จะมีการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อเพื่อให้แน่ชัดว่ามีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ไหนกรณีใดบ้าง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดจำนวนมาก มาจากพฤติกรรมของแรงงานเมียนมาที่อยู่ร่วมกันอย่างแออัดโดยไม่มีมาตรการป้องกันตัวเอง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ว่า ขอยืนยันว่ามาตรการเรายังทำครบถ้วนอยู่ เพียงแต่ต้องแสวงหาข้อมูลให้มากขึ้นจากภาคเอกชน ในกรณีที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เดิมคิดว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศค่อนข้างจะปลอดภัย ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดควบคุมได้ แสดงว่ามีรูรั่วตรงนี้ ดังนั้นสังคมต้องช่วยกัน ถ้ายังทำอย่างนี้กันอยู่ มาตรการจะต้องนำไปสู่ล็อกดาวน์แน่นอนต่อไปในอนาคตถ้ามีปัญหา อย่างไรก็ตามช่วงเช้าได้ฟังรายงานสรุปจากนายอนุทินและ สธ.แล้ว ชี้แจงว่ายังสามารถควบคุมได้อยู่  แต่ได้มีการเตรียมมาตรการความพร้อมเอาไว้ ไม่ว่าจะเรื่องการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ยาฟาวิพิราเวียร์
    “ผมขอดู วันนี้ 21 ธ.ค. ผมจะดูอีก 7 วันข้างหน้าจะมีอะไรขึ้น นั่นแหละจะตามมาสู่ปีใหม่ จะทำอย่างไรกันดี  วันนี้ยังไม่ได้พูดไปตรงนั้นก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน  หวังอย่างยิ่งว่าภายใน 7 วันทุกอย่างจะคลี่คลายลง วันนี้ตรวจสอบยังไงต้องพบมากขึ้น เพราะตรวจสอบในพื้นที่คนงานต่างๆ เหล่านี้ นี่คือปัญหาของเรา การเล็ดลอดแต่ก่อนนี้ปลอดภัยมานาน เพราะคนเหล่านี้อยู่ในประเทศ แต่ปรากฏว่าลักลอบหนีกลับไปแล้วกลับเข้ามาใหม่ ตรงนี้ทำอย่างไร คนไทยต้องช่วยกันดูแล เจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนเท่าที่มี คนที่จะรู้จริงๆ คือคนในพื้นที่ เจ้าของโรงงาน วันนี้ผมได้กำหนดมาตรการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการติดตามตัวแรงงานทุกคน ถ้าเจอแรงงานผิดกฎหมายจะต้องปิดโรงงาน  ใครมีข้อมูลขอให้ให้มา" นายกฯ ระบุ
    ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาอาจมีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจรับผลประโยชน์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ให้ตรวจสอบและมีการรายงานตนมาแล้วจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเขาจับกุมได้แต่ก็มีเล็ดลอด แม้ว่ากลางคืนจะมีการลาดตระเวน แต่ระยะทางชายแดนประมาณกว่า 2,500 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อประเทศรอบบ้าน  เจ้าหน้าที่ทำเต็มที่แล้วเพราะไม่มีรั้ว เป็นพื้นที่ป่าเขา คนที่จะรู้คือชุมชน ท้องถิ่น ต้องมาบอกแจ้งเจ้าหน้าที่บ้าง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่แล้วให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเดียว ต้องรับผิดชอบด้วยกันจะได้ทำสำเร็จทุกเรื่อง นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่จำนวนมาก ได้สั่งการให้ สธ.แจ้งไปยังทุกจังหวัดทำการสุ่มตรวจในทุกพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าว
ขอดูสถานการณ์ 7 วัน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังไม่ได้ระบุให้ยกเลิกการจัดงานเคาต์ดาวน์ปีใหม่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ยัง ขอดูก่อน จะวันไหนก็วันนั้น ส่วนต้องพิจารณาไปถึงว่าต้องงดกิจกรรมวันเด็กปีหน้าด้วยหรือไม่นั้น ว่ากันทีละวันก่อน ปีใหม่ยังไม่เรียบร้อย ถ้าต้องไปถึงวันเด็กด้วย ไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนั้น ทั้งนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะไปประเมิน 7 วันว่าต้องทำอย่างไรต่อ ควรแค่ไหนอย่างไร"
    ถามว่าจะให้กำลังใจนายอนุทินที่โซเชียลมีเดียเรียกร้องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "แล้วถูกหรือไม่ที่ไปโทษคนนั้นคนนี้กันทั้งหมด ไม่อย่างนั้นต้องไล่ออกตั้งแต่ทหาร ตำรวจ ตลอดทั้งหมด ทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องไปหาแล้วชี้ว่าตรงไหนมีปัญหา ตรงไหนมีการทุจริต ถ้ามาบอกว่ามีแรงงานเข้ามาประเทศรออยู่แสนคน มีขบวนการ มีเจ้าหน้าที่รับเงิน ให้แจ้งมาว่าเป็นที่ไหน ซึ่งผมตรวจตลอด"
    ช่วงเช้าวันเดียวกัน นายอนุทินกล่าวภายพร้อมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ในการเข้าหารือนายกฯ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงว่า ตนและคณะได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครให้นายกฯ ทราบ  โดยเฉพาะมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
    เมื่อถามถึงข้อกฎหมายที่เสนอต่อนายกฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เข้มงวดมากขึ้นมีข้อสรุปอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตลอด หากเป็นข้อบังคับที่ใช้กันทั่วประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัด, คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสามารถออกมาตรการในพื้นที่นั้นๆ ได้ทันที ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงถึงการนำพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) โรคติดต่อที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่  22 ธ.ค.มาใช้นั้น คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข เนื่องจากเห็นว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นอาจจะต้องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  แล้วมาใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้นแทน แต่จนถึงขณะนี้ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ก่อน
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าการระบาดรอบนี้ เป็นเพราะแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมีความหละหลวมนั้นว่า "ขณะนี้เรากำลังตรวจสอบอยู่"
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.โรคติดต่อเพื่อควบคุมโรคระบาดอยู่ ยังไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้กฎหมายอื่น ต่อให้นอกเหนือจากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายทั้งสองฉบับได้
    เมื่อถามถึงข้อกังวลที่มีการปล่อยให้มีการลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนโดยผิดกฎหมายจนเกิดเหตุในประเทศ  จะต้องมีบทลงโทษอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่ามีอยู่แล้ว  โดยวันที่ 22 ธ.ค.นี้คงจะมีการพูดคุยกันในที่ประชุม ครม.  จะมีการเสนอ? พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา
กทม.คุมเข้ม 4 สถานที่
    วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้ 1.ให้สถานที่ดังต่อไปนี้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคตามประกาศแนบท้ายประกาศนี้ ได้แก่  ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด, สวนสาธารณะ, วัด มัสยิด  หรือสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา และสถานบันเทิง ผับ  บาร์ คาราโอเกะ ทั้งนี้ ในกลุ่มสถานบันเทิงตามประกาศจะมีการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ ไม่ให้แออัด กำหนดขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้ใช้บริการ 1 คน นั่งหรือยืนเป็นกลุ่มได้ไม่เกิน 5 คน งดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบเหยือก ถ้วย หรือใส่ภาชนะที่มีโอกาสจับหรือแชร์ร่วมกัน  งดนั่ง งดการเต้นรำ งดร้องเพลง
    2.ให้เจ้าของ ผู้จัดการสถานที่หรือผู้ที่จัดให้มีกิจกรรมใดๆ ทางธุรกิจ ทางคมนาคม มหรสพ สนามกีฬา ที่สาธารณะหรือแหล่งอื่นๆ ซึ่งมีการรวมกลุ่มหรือร่วมกิจกรรมลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิด สัมผัส และแพร่เชื้อโควิด-19 จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นๆ และ 3.การจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ที่มีการชุมนุมคนในพื้นที่ตั้งแต่ 300 คนขึ้นไป ต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัย กทม.ก่อนจัดงาน ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน  40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 จะถูกสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากที่อยู่อาศัย โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 21  ธ.ค. - 15 ม.ค.64 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
    ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.)  เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด  (ยกเว้นสมุทรสาคร) ดังนี้ 1.จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับสมุทรสาคร (สมุทรสงคราม นครปฐม และราชบุรี) และจังหวัดที่มีข้อมูลผู้ติดเชื้อหรือเดินทางเข้ามาในพื้นที่เสี่ยง  เช่น ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และสมุทรปราการ ให้ค้นหาบุคคลในพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าตลาดสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสาคร 2.จังหวัดพื้นที่ชายแดน ให้ผู้ว่าฯ วางมาตรการร่วมกับทหารตำรวจในพื้นที่ เข้มงวดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24  ชั่วโมง นอกจากนี้ให้พิจารณาถึงความจำเป็นในการควบคุม หรือระงับการเดินรถประจำทางสาธารณะหรือรถไฟ ซึ่งอาจเป็นจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค และ 3.ทุกจังหวัด (ยกเว้นสมุทรสาคร) ให้ตรวจสอบบุคคลที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัตว์น้ำในตลาดสัตว์น้ำจังหวัดสมุทรสาคร
    ที่ จ.สระบุรี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี แถลงว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย โดยทั้งหมดอยู่ในครอบครัวเดียวกัน คือ บิดา อายุ 41 ปี มารดา  อายุ 45 ปี และบุตรสาว อายุ 21 ปี ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดสระบุรี จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 รายมีประวัติเดินทางไปซื้อสินค้าที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาครหลายครั้ง ในช่วงวันที่ 8, 12, 14 และ 16 ธ.ค.  ต่อมาวันที่ 17-19 ธ.ค.63 ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ซึ่งประกอบอาชีพเป็นเจ้าของกิจการร้านแจ่วฮ้อนใน จ.สระบุรี ได้เข้าไปดูแลกิจการโดยไม่ได้เข้าไปคลุกคลีหรือให้บริการใกล้ชิดกับลูกค้า แต่จากการสอบสวนเชื่อว่ามีกลุ่มคนที่เข้าข่ายผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือพนักงานร้านจำนวน 20 ราย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กักตัวเฝ้าสังเกตอาการแล้ว.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"