โอนภารกิจจราจรไปแค่เนื้องาน


เพิ่มเพื่อน    

 

    เคาะปฏิรูปตำรวจ ซิมโทรศัพท์-บัตร ปชช.หายไม่จำเป็นต้องแจ้ง ตร. พร้อมถ่ายโอนภารกิจตำรวจรถไฟให้ รฟท. โอนงานจราจร-การรักษาความสงบให้ท้องถิ่นภายในเวลา 10 ปี "มีชัย" ระบุโอนเฉพาะเนื้องาน แต่ไม่โอนอัตรากำลัง "วิรุตม์" ย้อนถามขอ 5 ปีได้ไหม งง! ทำไมไม่โอนทั้งเนื้องาน คน ทรัพย์สินและสิ่งอุปกรณ์ทั้งหมดไปด้วย สตช.จะเก็บไว้ทำไม ตั้งงบใหม่ยิ่งซ้ำซ้อน

     เมื่อวันอังคาร นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายตำรวจ ว่า ขณะนี้ที่ประชุมอาจต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ และอาจจะต้องมีกฎหมายพิเศษขึ้นมา เพื่อให้การสอบสวนเกิดความสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้ไม่ยุ่งยาก เช่น ทำซิมโทรศัพท์หาย บัตรประชาชนหาย ไม่จำเป็นต้องแจ้งตำรวจ แต่แจ้งกับคนที่ออกให้ ทางคณะกรรมการฯ จะแก้กฎหมายว่าให้แจ้งความที่ไหนก็ได้ แล้วให้ตำรวจส่งไปยังโรงพักที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการต่อไป

    "สำหรับมติที่ประชุมเกี่ยวกับงานจราจร จะโอนให้ท้องถิ่น ให้ดูแลเรื่องอำนวยความสะดวกการจราจร รักษาความสงบเกี่ยวกับความผิดการจอดรถ อย่างไรก็ตาม วิธีการคือเราจะโอนเฉพาะเนื้องานไปให้ท้องถิ่น แต่ไม่โอนอัตรากำลัง"

    เมื่อถามว่า โอนเฉพาะภารกิจให้ท้องถิ่น ไม่โอนกำลังพลไปด้วย จะทำให้ท้องถิ่นต้องตั้งงบประมาณเพื่อรองรับ เท่ากับเป็นการโป่งพอง นายมีชัยกล่าวว่า อย่างงานจราจรทุกวันนี้เราใช้ตำรวจยศนายพลไปดูแลจราจร ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องคนระดับยศนายพล ซึ่งเท่ากับว่าจะประหยัดลง

    ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ได้มีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการถ่ายโอนงานที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้ออกไปให้องค์กรอื่นที่มีความพร้อม โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ซึ่งในส่วนของการจราจรทั่วประเทศ จะกำหนดให้ 1.งานจราจรทั้งหมด และการรักษาความสงบ ให้เป็นภารกิจของท้องถิ่นทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 10 ปี 2.งานอำนวยความสะดวกในการจราจร งานกวดขันวินัยจราจร และงานบังคับใช้กฎหมายจราจร เฉพาะความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้โอนให้ท้องถิ่นภายในระยะเวลา ดังนี้ สำหรับเมืองพิเศษ อาทิ กทม.และเทศบาลนคร ให้โอนภายใน 2 ปี สำหรับเทศบาลเมือง ให้โอนภายใน 3 ปี ส่วนท้องถิ่นอื่น ให้เป็นไปตามกำลังความสามารถ

    "การโอนดังกล่าวไม่ตัดอำนาจของตำรวจในการดูแลบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายในกรณีที่มีเหตุพิเศษ นอกจากนี้ ยังให้ตรวจสอบด้วยว่าหากขยายการโอนภารกิจไปถึงการบังคับใช้กฎหมายกับการกระทำความผิดอาญาอื่นๆ ที่เป็นเรื่องเล็กน้อย และมีแต่โทษปรับ จะกระทบกระเทือนการทำหน้าที่ของตำรวจเพียงใด"

    นายคำนูณกล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ลงลึกในการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยตำรวจบางประเภทที่หมดความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรถ่ายโอนงานให้หน่วยงานอื่นที่มีความพร้อมและเหมาะสมโดยเริ่มที่ตำรวจรถไฟ ซึ่งเห็นควรให้ถ่ายโอนภารกิจของตำรวจรถไฟในส่วนที่ดูแลความปลอดภัยภายในขบวนรถไฟให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) หรือหน่วยงานอื่นที่เป็นเจ้าของรถไฟ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลคดีที่เกิดในขบวนรถไฟ ให้อยู่ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และสถานีตำรวจที่ขบวนรถไฟแล่นผ่าน โดยให้เจ้าพนักงานสอบสวนตามรายทางรถไฟมีอำนาจสอบสวนได้ โดยวัตถุประสงค์เดิมของการก่อตั้งหน่วยตำรวจรถไฟในอดีต คือการดูแลการก่อสร้างทางรถไฟได้หมดไปแล้ว และปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถดูแลความปลอดภัยในขบวนรถไฟได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพ

    ขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า การโอนงานรักษาความสงบเรียบร้อยไปให้ท้องถิ่นภายในระยะเวลา 10 ปีนั้น ไม่รู้หมายถึงงานตำรวจทั้งหมดหรืออย่างไรแน่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตั้งเป้านานถึง 10 ปี ขอเพียง 5 ปีได้ไหม เพราะปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก ส่วนการโอนงานจราจรที่บอกว่าจะไม่โอนอัตรากำลังไปด้วยนั้น ไม่น่าจะถูกต้อง แล้วตำรวจที่มีอยู่จะเอาไปทำอะไร เก็บไว้ทำไม คำว่าท้องถิ่นอย่าไปคิดถึงแต่ อบจ.หรือ อบต. กรุงเทพมหานคร ก็เป็นการปกครองท้องถิ่นด้วย 
 

   "ทำไมไม่โอนกองบังคับการตำรวจจราจรไปทั้งเนื้องาน อำนาจ หน้าที่ คน อาคารสถานที่ ทรัพย์สิน และสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดไปให้ กทม. ตำรวจแห่งชาติจะเก็บไว้ทำไม เหมือนโอนงานดับเพลิง แต่ไม่ให้รถ ไม่ให้คนและอาคารสถานที่ เขาจะทำงานอย่างไร การบอกให้ไปตั้งงบประมาณใหม่ เป็นเรื่องซ้ำซ้อน ไม่ถูกต้อง ประชาชนจะได้รับความเสียหายเสียหาย หน่วยงานรัฐอยู่ในประเทศเดียวกัน ทำไมรัฐบาลจะบริหารจัดการในภาพรวมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างแท้จริงไม่ได้"

    พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวอีกว่า ในเรื่องการให้ประชาชนผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ที่ไหนก็ได้ เป็นเรื่องที่ควรทำมานานแล้ว แม้กระทั่งคดีอาญาทุกประเภท เพราะปัจจุบันบ้านเมืองเจริญขึ้นมาก ด้วยระบบคมนาคมที่หลากหลาย รวมทั้งชาวต่างชาติมาพักอาศัยอยู่ในรูปแบบต่างๆ มากมาย ประชาชนไม่ควรต้องมานั่งจดจำหรือตรวจสอบว่าการกระทำความผิดอาญาที่เกิดขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจแห่งใด โดยเฉพาะปัจจุบันสถานีตำรวจไม่ได้มีการระบุชื่ออำเภอหรือตำบลอะไร ทำให้ประชาชนสับสนไปหมด เรื่องนี้ก็ควรแก้ไขให้ระบุชื่ออำเภอและตำบลเหมือนเดิมด้วย

    "ทุกสถานีควรรับคำร้องทุกข์จากประชาชนได้หมดตามที่ผู้เสียหายสะดวก เมื่อรับแจ้งแล้วต้องมีการบันทึกเข้าระบบคอมพิวเตอร์บันทึกเลขคดีให้ถูกต้อง ส่วนวิธีการปฏิบัติจะโอนคดีไปให้สถานีที่เกิดเหตุสอบสวนหรือจะสอบสวนเองโดยให้สถานีตำรวจท้องที่ส่งข้อมูลการเกิดเหตุตรวจที่เกิดเหตุและสอบพยานหลักฐานต่างๆ มาก็ได้ ถ้าจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอะไร ก็ต้องดำเนินการสำหรับคนที่จริงใจแก้ปัญหา ทุกปัญหามีทางออก แต่สำหรับพวกจิงโจ้ ทุกทางออกจะมีปัญหาไปหมด" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"