ยกระดับคุมเข้ม28จว. จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานที่เสี่ยง-WFHก่อนเจอล็อกดาวน์!


เพิ่มเพื่อน    

            ศบค.เผยไทยป่วยโควิดเพิ่ม 216 ราย  ติดใน ปท. 214 ราย ตายเพิ่ม 1 ราย เข้มยกระดับ 28 จว.คุมโควิดสูงสุด วางมาตรการ 2 ขั้น ชงนายกฯ เคาะจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานที่ จับกุมมั่วสุมทำผิด กม. ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้าม จว. แต่ไม่เคอร์ฟิว ให้ Work from  Home ช่วง 4 ม.ค. - 1 ก.พ. หากตัวเลขไม่ลดเข้าสู่ขั้น 2  เข้มข้นขึ้น คาดจะมีการแพร่กระจายโรคเพิ่มอีกหลายเท่าตัวและไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่ "สาธิต" จ่อเสนอนายกฯ ล็อกดาวน์ภาคตะวันออก

      เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 2 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 216 ราย ติดเชื้อในประเทศ 214 ราย อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 2 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 7,379 ราย  หายป่วยแล้ว 4,299 ราย รักษาในโรงพยาบาล 3,016 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเสียชีวิตเป็น 64 ราย

      โดยรายที่ 64 เป็นหญิงไทย อายุ 47 ปี อาชีพรับจ้าง  ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ชลบุรี มีโรคประจำตัวเบาหวาน มีประวัติเสี่ยงเป็นผู้เล่นการพนัน วันที่ 30 ธ.ค.ผลตรวจพบเชื้อโควิด แต่ไม่มีอาการ เข้ารับการดูแลและรักษาในโรงแรมสถานที่กักตัวในพัทยา จ.ชลบุรี ต่อมาวันที่ 31 ธ.ค. เวลา  16.00 น. เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบจึงนำไปรักษาที่ รพ.บางละมุง แต่ผู้ป่วยแจ้งว่าอาการไม่มากขอนอนพักที่ห้องในโรงแรมต่อ กระทั่งเวลา 03.00 น.ของวันที่ 1 ม.ค.พบผู้ป่วยเสียชีวิตในห้องพัก

      นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยใหม่ในประเทศทั้งหมด 216 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 182 ราย ซึ่งมีประวัติเชื่อมโยงกับ จ.สมุทรสาคร 3  ราย, มีประวัติเชื่อมโยงกับ จ.ระยอง 1 ราย, มีประวัติเชื่อมโยงกับพัทยา จ.ชลบุรี 1 ราย และมีประวัติไปสถานที่อื่น มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 23 ราย นอกจากนี้ยังมีการค้นหาเชิงรุกในชุมชนเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว 32  ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันรัฐ 2 ราย 

      ขณะเดียวกันยังมีก้อนใหญ่อยู่ระหว่างสอบสวนโรคอีก  154 ราย ขอให้กักตัวเองไม่ไปพบปะคนอื่น ใส่หน้ากากร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีการไปมั่วสุมอีกแล้ว เพราะท่านมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้สูงมาก แบ่งเป็น จ.นนทบุรี 25  ราย สมุทรสาคร 37 ราย ระยอง 27 ราย ชลบุรี 32 ราย  จันทบุรี 10 ราย และสมุทรปราการ 23 ราย สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อรวม 84,374,983 ราย  รักษาหายแล้ว 59,634,932 ราย และเสียชีวิตรวม  1,835,221 ราย

      "วันนี้ยังไม่มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ยังคงเดิมคือ 53 จังหวัด แต่แม้วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะน้อยกว่าเมื่อวาน แต่ก็ยังขึ้นๆ ลงๆ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีประวัติการเดินทางข้ามจังหวัดไปมา โดยจะเห็นได้ว่าผู้ติดเชื้อมีอายุที่ลดลง  เป็นเด็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังเข้าไปสู่การแพร่กระจายเชื้อในครอบครัวที่มีการใกล้ชิดกันโดยไม่ได้เฝ้าระวังเป็นอย่างดี"

      นพ.ทวีศิลป์เผยว่า ความรุนแรงของโรคนี้ตามที่เราเคยรายงานว่า 100 คนจะเสียชีวิตอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ครั้งนี้อยู่ที่ 0.8-0.9 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่ายังไม่มาก คือ 100  คน เกือบๆ 1 คนที่เสียชีวิต ตอนนี้ตัวเลขพุ่งขึ้นมาเป็นหลักพัน แน่นอนว่า 100 คน เกือบๆ 1 คนเสียชีวิต ขณะที่  200 คน ก็คือ 1 คนกว่าๆ ที่จะเสียชีวิต ถ้าเราติดเชื้อวันละ  200-300 คน ก็จะมีอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแน่นอน และเราจะได้รับการรายงานผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง พยากรณ์ไว้ก่อนเลยว่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้จะเบาใจไม่ได้ เพราะการเสียชีวิตจะมาพร้อมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น

เพิ่มอีกหลายเท่าตัว

      โฆษก ศบค.กล่าวว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ร่วม 2 การประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือการประชุม ศบค.และประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับอดีต รมว.สาธารณสุข  และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีข้อสรุปขึ้นมาว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบันการคัดกรองในแรงงานต่างด้าวพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การระบาดรอบใหม่ที่น่าจับตามองคือกลุ่มก้อนในกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มกระจายในหลายพื้นที่และมีผู้เสียชีวิต โดยไม่สามารถหาความเชื่อมโยงจากศูนย์กลางการระบาดเดิมได้ ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นกว่าเดิม

      "คาดว่าจะมีการแพร่กระจายโรคเพิ่มอีกหลายเท่าตัวและไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรค มาตรการทางสังคมที่เข้มข้นและรวดเร็วจึงมีประสิทธิภาพเพียงพอ"

      ทั้งนี้ มาตรการที่ ศบค.ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. เดิมจะมีข้อแม้อยู่ 2-4 ข้อ คือยึดหลักจากมาตรการเบาไปหาหนัก ต้องอยู่ในข้อแม้ก็คือการระบาดต้องไม่มาก อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ ทรัพยากรยังพอมี คนร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชนต่างๆ ร่วมมือ ซึ่งตอนนี้ ศบค.ได้เอาชุดข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์สถานการณ์ ณ ตอนนี้ ศบค.วิเคราะห์แล้ว

      1.การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้มีรูปแบบของการแพร่ระบาดที่ต้องเฝ้าระวังเข้มข้นดังนี้

      1.1 ผู้ติดเชื้อหลายคนทราบดีว่าตนเองเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรือร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ไม่ยอมกักตัวเอง หรือไม่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น หรือไม่เข้าไปปรึกษาแพทย์ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเราเห็นภาพใน 2 สัปดาห์เป็นอย่างนี้เลย

      1.2 ยังมีกิจกรรมลักลอบมั่วสุมโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการพนันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาด นอกจากนั้นยังมีการมั่วสุมแบบเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วย

      2.จำนวนผู้ติดเชื้อและมีอาการต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลมีจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งขีดความสามารถทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งด้านบุคลากรและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลงจำนวนมาก มีความจำเป็นต้องทบทวนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในภาพรวม ทั้งนี้คนที่ติดเชื้อไม่มีอาการมีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

      และ 3.ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งยังขาดความระมัดระวังในมาตรการที่ ศบค.ขอความร่วมมือ จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิดเป็นภาพรวม

      "ทั้งนี้เมื่อเห็นภาพแผนที่ประเทศไทยวันที่ 2 มกราคม พื้นที่สีแดงสีเหลืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งประเทศ พื้นที่สีขาวและสีเขียวแทบจะไม่มีแล้ว ฉะนั้นหากเราใช้มาตรการแบบตามกันไปคงจะยาก เราจะต้องปรับมาตรการขึ้นมา โดยมาตรการต้องนำการติดเชื้อ หากปล่อยให้เป็นไปตามปกติและเราวิ่งไล่ตามไล่แก้ หาจำนวนเตียงมารอผู้ป่วยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้ ฉะนั้นมาตรการต้องเข้มข้นขึ้นทุกจังหวัด รวมถึงแนวชายแดน วันนี้ที่ประชุมทั้ง 2 แห่งมีความเห็นตรงกัน เกิดมาตรการขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความเข้มข้นสูงขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งจะต้องนำเรียนนายกรัฐมนตรี โดยจากสีเหลืองต้องขยับเป็นสีส้ม จากสีขาวต้องเป็นสีเหลือง ส่วนสีแดงต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มขึ้นไปอีก ต้องขออภัยความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในแต่ละจังหวัด"

ควบคุมแบบบูรณาการ

      นพ.ทวีศิลป์แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ได้สรุปกำหนดพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในวันที่ 4  ม.ค. และจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. คือ  1.พื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด พื้นที่สีแดง แบ่งเป็น จ.ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี  สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี  สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ  จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง และกรุงเทพฯ

      2.พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด พื้นที่สีส้ม แบ่งเป็น จ.สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท  เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และพังงา

      3.พื้นที่เฝ้าระวังสูง 38 จังหวัด พื้นที่สีเหลือง เป็นจังหวัดที่เหลือของประเทศไทย และพื้นที่เฝ้าระวัง เป็นพื้นที่สีเขียว โดยยังไม่ขอระบุจังหวัด ทั้งนี้แต่ละจังหวัดการ์ดจะตกจากระดับตรงนี้ไม่ได้ ต้องมีมาตรการนำกว่าไวรัส 

      โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า เราได้ผลเรียนรู้จากมาตรการใช้ยาแรงตั้งแต่ช่วงของเดือน มี.ค.63 และเราเจ็บปวดกันมากๆ ช็อกกันช่วงแรกๆ แต่เราเอาอยู่ภายในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. และเดือน มิ.ย.ถึงมีประกาศออกมาอีกฉบับ ครั้งนี้เราได้เรียนรู้การล็อกดาวน์ คำพูดนี้เจ็บปวดหัวใจเหลือเกิน ไม่มีใครอยากได้ยิน แต่ต้องมีผู้ที่เสียสละพื้นที่ที่เป็นสีแดง ซึ่งเราไม่อยากให้ถึงขนาดล็อกดาวน์ แต่อยากให้เป็นการเข้มงวดมากๆ ควบคุมสูงสุดมากๆ ที่จะเกิดขึ้น จึงขอในที่ประชุมเราต้องมีมาตรการอย่างไรบ้าง แบ่งเป็น 2 ขั้น ที่ทุกภาคส่วนดำเนินการมาตรการป้องกันโควิด-19  ในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่ ศบค.กำหนดอย่างบูรณาการและประสานสอดคล้อง ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดให้ดำเนินการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด

      โดยแบ่งเป็น 2 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1.จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ซึ่งหลายจังหวัดปิดไปแล้ว ค้นหาและจับกุมบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย อย่าให้มีการลักลอบเล่นอะไรสักอย่าง หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์ ให้มีการทำงานแบบ  Work from Home ทั่วทั้งพื้นที่ที่ ศบค.กำหนด มีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด เร่งการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุข ช่วงเวลาดำเนินการ  4 ม.ค.64 เวลา 06.00 น. - 1 ก.พ.64 เวลา 06.00 น. ให้จังหวัดกำหนด

      โดยส่วนนี้ข้อสรุปของทั้ง 2 ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันแล้ว นำเรียนนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค.พิจารณา ถ้าเห็นชอบก็ลงนามประกาศ แต่เห็นว่าควรมีช่วงเวลาให้ร้านค้าอย่างร้านอาหารได้เตรียมตัว 

      นพ.ทวีศิลป์เผยว่า ในที่ประชุมเลขาธิการ สมช.เองก็เป็นห่วงกังวลประกาศของ กทม.ในการปิดสถานที่ต่างๆ เป็นการชั่วคราว ที่พูดแล้วสั่งปิดเลย โดยต้องเห็นใจพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการด้วย ตอนนี้จึงได้สั่งให้ตนมาบอกข่าวก่อนเพื่อให้มีช่วงเวลาเตรียมตัว โดยวันที่ 4 ม.ค. เวลา  06.00 น.จะเริ่มใช้มาตรการตรงนี้ แต่ไม่ต้องไปกักตุนอะไร  เพียงแต่มีมาตรการเข้มข้นขึ้นป้องกันโควิด แต่ทำขึ้นมากับคนที่ไม่ร่วมมือกับเราให้มากที่สุด

Work from Home

      "ถ้าร่วมมือกันอยู่แล้วไม่ต้องกักตุน ทุกอย่างมีเพียงพอ ถ้านำเรียนนายกฯ แล้วเห็นด้วยจะมีเป็นประกาศออกมา ตอนนี้ยังมีช่วงเวลาเตรียมตัว ผมมีหน้าที่นำชุดข้อมูลจากที่ประชุมมาบอกก่อน เพื่อมีเวลาเตรียมการ เพื่อทำความเข้าใจตรงกัน ส่วนทำไมต้อง 1 เดือน จากที่ประชุมคุยกันว่านักวิชาการต้องบอกว่า 14 วันคูณ 2 เท่า ถึงจะยอมรับได้ในช่วงการจัดการ น่าจะบรรเทาสถานการณ์ลงได้"

      นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า แต่ถ้าตัวเลขไม่ลดลงและมีข้อแม้ที่แปรเปลี่ยนไป เช่น การไม่ร่วมมือ การติดเชื้อสูงขึ้น  ทรัพยากรไม่พอ ต้องไปขั้นที่ 2 คือ จำกัดเวลาเปิด-ปิด สถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น (รวมทั้งจำกัดการเปิดกิจการบางประเภทด้วย) เหมือนกับช่วงล็อกดาวน์ แต่เราไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ตรงนี้ ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด แต่ตอนนี้ยังเดินทางได้ ถ้าปฏิบัติตาม 6 ข้อมาตรการป้องกันได้ ก็ยังมีอิสระดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องตั้งด่านเต็มไปหมด เพียงแต่ประกาศหรือไม่ประกาศเคอร์ฟิวเท่านั้น 

      โฆษก ศบค.บอกว่าคงไม่ประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลาข้างหน้า เพื่อที่ทุกอย่างจะได้ดำเนินการไป สถานศึกษายังคงหยุดเรียน การสอนเว้นกิจกรรมที่มีความจำเป็น เช่น  การให้อาหารกลางวันแก่เด็กในถิ่นทุรกันดารยังถือว่าจำเป็น เร่งรัด และเพิ่มการทำงานแบบ Work from Home  อย่างเต็มขีดความสามารถ เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่เสี่ยง กิจกรรม/กิจกรรมเสี่ยง กลุ่มบุคคลเสี่ยง จำกัดเวลาออกนอกเคหสถานในพื้นที่ ศปก.จังหวัด กำหนดช่วงเวลาดำเนินการตามที่นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค.เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการฯ ในเงื่อนไขที่ ศบค.กำหนด

      ทั้งนี้ เรื่องของการจำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน ในที่ประชุมมีการพูดคุยกันมาก ถ้ามีตรงนี้เกิดขึ้น จังหวัดสามารถออกได้เองเข้มกว่าที่ ศบค.ออกได้ แต่อ่อนกว่าไม่ได้ ต่อไป ศบค.ในพื้นที่แต่ละจังหวัดจะเป็นคนกำหนด ถ้าเป็นคนที่ในจังหวัดติดเชื้อสูงมากๆ อาจจะล็อกดาวน์ก็เป็นไปได้ ต้องยืดหยุ่นในแต่ละพื้นที่ ถ้าคิดว่าจังหวัดตัวเองถูกล็อกดาวน์แล้วไปอยู่จังหวัดข้างๆ กับจังหวัดข้างๆ ก็ต้องถูกล็อกพื้นที่มากขึ้น เพราะฉะนั้น 28 จังหวัดถือว่ารับชะตาเดียวกัน จริงๆ ไม่อยากให้เครียดเพราะเชื้อไวรัสตัวนี้ไว้ใจไม่ได้ เพราะมามากขนาดนี้

      เมื่อถามว่า ประชาชนส่วนหนึ่งอยากให้มีการล็อกดาวน์ และอีกส่วนหนึ่งไม่อยากให้ล็อกดาวเนื่องจากได้รับผลกระทบ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานประชุม ศบค.ได้มีการพูดคุยกัน และได้มีการยกตัวอย่างว่าการล็อกดาวน์แบบมีเคอร์ฟิว ก็ยังพบตัวเลขการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ทั้งการเล่นการพนันและการออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการที่จะใช้ยาแรงก็ไม่สามารถจัดการกับคนที่ทำไม่ถูกต้องได้ แต่กลับทำให้คนที่ทำสัมมาอาชีพสุจริตต้องเดือดร้อน ตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือ เพราะการใช้กฎหมายจะไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ การใช้ยาแรงก็ไม่ใช่ผลบวกกับเรา แต่จะส่งผลกระทบภาพรวมกับเศรษฐกิจ จึงจะใช้วิธีการหากเจ็บไข้ตรงไหนใช้ยาแรงตรงนั้น และถ้าจะอธิบายเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ เราไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการสังคมที่มันแรงเกินไป

      ถามว่า จากประกาศปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวนั้น ของ กทม.ในส่วนของสปาหรือที่อาบน้ำของสัตว์เลี้ยงจะดำเนินการอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการประเมินของ กทม.ยังสามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากไม่เป็นที่แออัดหรือทำให้เกิดประเด็นปัญหา เพราะยังไม่มีการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนหรือจากคนสู่สัตว์

เสนอล็อกดาวน์ภาคตะวันออก

      นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รับมอบโรงพยาบาลสนามจากกองทัพเรือให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมกรณีเกินขีดความสามารถรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ภาคตะวันออก คือ จ.ระยอง  จ.ชลบุรี และ จ.จันทบุรี สำหรับผู้ติดเชื้อใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก พบเชื่อมโยงกับบ่อนการพนันถึงร้อยละ 99 ทั้งนี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่เตรียมเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ล็อกดาวน์ภาคตะวันออก 28 วัน  เนื่องจากพบกลุ่มเสี่ยงปกปิดข้อมูลและไม่มารายงานตัว  ทำให้การควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อยาก ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขย้ำว่า จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอดังกล่าวเพื่อให้สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างจำกัด โดยจะเสนอนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 ม.ค.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบหลายมิติ

      นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก  "อนุทิน ชาญวีรกูล" ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า "แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย คือ 0.87% ของจำนวนผู้ป่วย เป็นตัวเลขที่ไม่มากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ แต่ก็ไม่ควรเกิดขึ้น หากผู้ป่วยมาพบแพทย์และรับการรักษาภายในเวลา 48 ชั่วโมง เมื่อมีอาการป่วย"

      "ขอเรียนย้ำว่า คนไทยทุกคนที่มีความเสี่ยง มีสิทธิตรวจและรักษาโควิดฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลจ่ายให้ทั้งหมด ดังนั้น ขอความร่วมมือทุกคนที่มีความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคประกาศ มาพบแพทย์ทันที".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"