มิตรภาพอัมพาต แห่กลับกรุงแน่น ติดหนึบลากยาว


เพิ่มเพื่อน    


    ศปถ.เผยยอดอุบัติเหตุ 5 วัน คนไทยสังเวย 2,748 ครั้ง ดับแล้ว 316 ราย บาดเจ็บรวม 2,741 คน โคราชสยองรวมแล้ว 16 ศพ ด้านอธิบดีคุมประพฤติเผยเมาแล้วขับยังพุ่งพรวด 2,073 คดี บุรีรัมย์รับแชมป์ทำสถิตินำโด่ง ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM 39 ราย ห้ามออกจากบ้าน 5 ทุ่มถึงตี 4 ยาว 30 วัน 
    เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 ม.ค.2564 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 383 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 384 คน
    นายชยธรรม์กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.29 ขับรถเร็ว ร้อยละ 28.98 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.85 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 67.10 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.38 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.86 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 33.94 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 30.84
    นายชยธรรม์กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,930 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,655 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 529,869 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 117,106 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 31,305 ราย ไม่มีใบขับขี่ 28,884 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด (20 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด (21 คน) 
    "สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.63-2 ม.ค.64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,748 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 316 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,741 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (97 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (16 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (99 คน)" นายชยธรรม์กล่าว
    นายชยธรรม์กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลปีใหม่ คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับเป็นจำนวนมาก ทำให้เส้นทางสายหลักจากภูมิภาคต่างๆ ที่มุ่งเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดมีปริมาณรถหนาแน่น และบางเส้นทางอาจมีการจราจรติดขัด ประกอบกับผู้ขับขี่อาจมีอาการอ่อนล้าจากเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่วงหลับใน
    "ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนเส้นทาง สายหลัก ถนนสายรอง เส้นทางลัด และเส้นทางเลี่ยงเมือง โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยง ขับรถเร็ว รวมถึงเรียกตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุง่วงหลับใน" ปลัดกระทรวงคมนาคมระบุ 
    ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานแถลงข่าวศูนย์ ศปถ.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ได้เน้นย้ำเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน ทั้งความพร้อมด้านรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย และแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนที่ใช้บริการสาธารณะให้เดินทางกลับอย่างปลอดภัยและไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง
    วันเดียวกัน นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ถึงสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 ว่า เข้าสู่วันที่ 5 ของการควบคุมเข้มงวด (2 ม.ค.2564) แต่กลับมีจำนวนคดีที่เข้าสู่งานคุมประพฤติพุ่งสูงถึง 1,168 คดี 
    นายวิตถวัลย์กล่าวต่อว่า เป็นคดีขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 1,162 คดี ขับเสพ จำนวน 5 คดี และคดีขับรถประมาท จำนวน 1 คดี ทำให้ยอดสถิติคดีสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,196 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 2,073 คดี คิดเป็นร้อยละ 94.40 คดีขับเสพ จำนวน 105 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.78 คดีขับรถประมาท จำนวน 18 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.82
    "โดยจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1.จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 309 คดี 2.จังหวัดจันทบุรี จำนวน 182 คดี และ 3.จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 153 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่งานคุมประพฤติในวันที่ 5 ของช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2563 และ พ.ศ.2564 พบว่า คดีขับรถในขณะเมาสุราปี พ.ศ.2563 จำนวน 3,701 คดี และปี พ.ศ.2564 มีจำนวน 1,162 คดีลดลง จำนวน 2,539 คดี" นายวิตถวัลย์กล่าว 
    อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวว่า กรมคุมประพฤติได้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในคดีขับรถในขณะเมาสุราเพิ่มเติมอีกจำนวน 26 ราย โดยส่วนใหญ่มีเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัยในช่วงเวลาตั้งแต่ 23.00-04.00 น. เป็นระยะเวลา 30 วัน รวมยอดสะสมคดีขับรถในขณะเมาสุราที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM จำนวน 39 ราย จังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM สูงสุดคือ จังหวัดสุโขทัย มีจำนวนถึง 30 ราย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"