สภาฯเลื่อนประชุม14วัน ก้าวไกลโวยอดลับฝีปาก!


เพิ่มเพื่อน    


    "วิษณุ" ยันเลื่อนประชุมสภาหนีโควิดไม่กระทบแก้รัฐธรรมนูญ แต่ "รังสิมันต์" โวยลั่น! ถ้าปล่อยให้รัฐบาลใช้อำนาจอยู่ฝ่ายเดียวโดยที่ฝ่ายอื่นพักงาน การตรวจสอบถ่วงดุลทำไม่ได้ งานสภาไม่ใช่งานเล่นๆ ส.ส.ไม่ควรถูกปล่อยให้กินเงินเดือนหลักแสนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
    เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎรมีแนวโน้มเลื่อนการประชุมและจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณากฎหมายของรัฐบาลหรือไม่ว่า อาจมีผลกระทบโดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ความผิดฐานทำให้แท้งลูก หรือกฎหมายทำแท้ง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เร่งรีบ ตนเชื่อว่าเสร็จไม่ทันวันที่ 12 ก.พ.ซึ่งเป็นวันประกาศใช้   
    นายวิษณุกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีอะไร เพราะสามารถเลื่อนการประชุมได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากมีการเลื่อนการประชุมสภาจริง ก็ไม่สามารถประชุมสภาแบบออนไลน์ได้เพราะมีข้อยกเว้นเอาไว้ 
    ด้าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความเข้มงวดในมาตรการป้องกันโควิด-19 ในอาคารสภาผู้แทนราษฎร หลังมีหลายคนแสดงความเป็นห่วงว่า ที่ผ่านมาพยายามวางกฎให้เข้มงวดอยู่แล้ว รวมทั้งสภาก็ยังไม่เคยเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อแต่อย่างใด แม้จะเคยเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าร่วมประชุมกรรมาธิการก็ตาม เพราะหลังส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในห้องประชุมกรรมาธิการดังกล่าว 29 คนไปตรวจเชื้อมาแล้ว ปรากฏว่าทั้ง 29 คนก็ไม่มีใครติดเชื้อ
    เขาเชื่อว่า หากทุกคนสามารถปฏิบัติตามมาตรการเดิมที่มีมาอยู่แล้วได้ พร้อมขอความร่วมมือ ส.ส.ให้เชิญบุคคลภายนอกมาร่วมประชุมกรรมาธิการน้อยที่สุด ซึ่งในฐานะหมอมองว่าจะสามารถลดโอกาสการติดเชื้อได้มากเลยทีเดียว
    ส่วนที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ตั้งข้อสังเกตหากมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสภา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบนั้น นพ.สุกิจระบุว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ทุกคนที่อยู่ในอาคารรัฐสภาต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน อย่างไรก็ตาม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญประธานวิปฝ่ายค้าน รัฐบาล และหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมทั้งประธานวิปวุฒิสภา ร่วมหารือในทางการปฏิบัติ หลังมีการขอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน ว่าจะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร หรือจะประชุมชดเชยอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเวลา  15.00 น.
    ขณะที่บรรยากาศบริเวณอาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังคงมีมาตรการคัดกรองบุคลากรและผู้ที่เดินทางมายังอาคาร มีการตั้งจุดสอบสวนโรคสำหรับกลุ่มเสี่ยง  โดยเฉพาะข้าราชการเจ้าหน้าที่ หากพบว่าไปในสถานที่เสี่ยงจะถูกส่งตัวไปตรวจโรคทันที นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่คอยทำความสะอาดพื้นผิวภายในรัฐสภาโดยตลอด
     นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  โพสต์เฟซบุ๊กว่า "เมื่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19  รอบที่สองเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา คำถามที่เกิดขึ้นทันทีในแวดวงของสมาชิกรัฐสภา คือ แล้วการประชุมสภาจะยังดำเนินต่อไปหรือไม่ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มมีสมาชิกบางท่านออกมาแสดงความเห็นในทางที่จะให้งดการประชุมกันแล้ว
    ผมว่าก่อนที่เราจะด่วนสรุปว่าเมื่อการระบาดเกิดขึ้นแล้วเท่ากับประชุมสภาไม่ได้ไปโดยปริยาย เรามาลองคิดหามาตรการรองรับเพื่อให้การทำงานของสภายังเป็นไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนดีกว่าไหม"
    นายรังสิมันต์ระบุว่า "เราต้องไม่ลืมว่าประเทศเรานั้นมีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย และไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน หากเราปล่อยให้รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารใช้อำนาจอยู่ฝ่ายเดียวโดยที่ฝ่ายอื่นพักงาน ในการตรวจสอบถ่วงดุล และถ้าหากฝ่ายตุลาการอย่างศาลต่างๆ ก็ยังต้องทำงานพิจารณาคดีต่อไป ก็ไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสภาจะว่างเว้นหน้าที่อยู่ฝ่ายเดียว
    งานสภาไม่ใช่งานเล่นๆ ที่เมื่อรัฐบาลปล่อยปละละเลยให้สถานการณ์บานปลายแล้วจะมาบีบให้สภาต้องหยุดงานตัวเองตามอยู่ร่ำไป และสมาชิกรัฐสภาเองก็ไม่ควรถูกปล่อยให้กินเงินเดือนหลักแสนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน"
    ส.ส.พรรคก้าวไกลยังอ้างด้วยว่า "ประเทศนี้ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องอาศัยอำนาจของสภาเท่านั้นในการแก้ หนึ่งในนั้นคืองานของคณะกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เคยคุยกันว่าจะให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 8 มกราคม แต่ทุกวันนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน
    หลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนนับแสนคนสู้อุตส่าห์ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  เอาตัวเข้าเสี่ยงกับการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและการคุกคามรูปแบบอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วนกว่าที่สภาจะได้ยินเสียงของพวกเขา คณะกรรมาธิการชุดนี้ทั้ง 45 คนซึ่งรวมถึงผมด้วย จึงมีหน้าที่น้อมนำเจตนารมณ์และความคาดหวังของพี่น้องประชาชน ทั้งที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องนับแสนคน และที่เห็นพ้องต้องกันอยู่เบื้องหลังอีกนับล้านคน ในการบรรลุภารกิจนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ทุกๆ วันล้วนมีค่า  เพราะหนึ่งวันที่งานส่วนนี้ต้องเนิ่นช้าออกไป ก็เท่ากับหนึ่งวันที่พี่น้องประชาชนจะต้องรับผลร้ายจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อไปเรื่อยๆ
    ดังนั้นผมขอฝากไปยังเพื่อนสมาชิก มาช่วยกันคิดวิธีการทำงานของพวกเรากันเถิดครับ หากเรามีปัญญาสร้างอาคารสภาที่ใหญ่โตถึงเพียงนี้ได้ แล้วเราจะไม่มีปัญญาหาทางประชุมแบบที่ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการระบาดได้เชียวหรือ    อย่าเพิ่งปิดทางเลือกของพวกท่าน เพราะนั่นหมายถึงการปิดทางออกของประชาชนด้วย" นายรังสิมันต์ระบุ
    ภายหลังที่ประชุมวิปสามฝ่าย และตัวเเทนพรรคการเมืองพิจารณาเลื่อนการประชุมสภาจากเหตุไวรัสโควิด-19  ระบาด ซึ่งใช้เวลาการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แถลงว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้งดการประชุมสภา ด้วยเหตุผลกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังขยายออกไปรุนแรง เราได้เชิญอธิบดีกรมควบคุมโรคเข้ามาให้ข้อมูลว่า ขณะนี้สถานการณ์ภายใน 2 สัปดาห์น่าจะยังมีปัญหาอยู่ จึงคิดว่าเงื่อนไขความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และสมาชิกรัฐสภาโดยการมาประชุม จะทำให้รัฐสภากลายเป็นชุมชนที่หนาแน่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
    ประกอบกับการที่รัฐบาลได้ออกข้อปฏิบัติห้ามการประชุมต่างๆ จึงเห็นควรระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อเชื้อโรค ดังนั้นเรื่องการประชุมสภาที่จะเริ่มในวันที่ 6-8  ม.ค.นี้ ที่ประชุมจึงมีมติไม่เอกฉันท์ สมควรให้งดการประชุมออกไปก่อน 2 สัปดาห์เพื่อรอดูสถานการณ์ แต่ถ้าภายในหนึ่งสัปดาห์สถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่หาก 2 สัปดาห์แล้วสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็ต้องขอความร่วมมือมาหารือกันอีกครั้ง  
    นายชวนกล่าวด้วยว่า ส่วนในเรื่องการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) และการประชุมย่อยต่างๆ ให้สามารถทำได้ แต่ห้ามนำคนนอกเข้ามา ทั้งนี้เป็นการตัดสินใจของตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหมด ในส่วนของตนจะมาทำงานตามปกติที่รัฐสภาทุกวัน แต่จะไม่มีการประชุมที่มีคนจำนวนมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"