โควิดกับเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

 

          สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยน่าห่วงตั้งแต่ต้นปี จากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 ที่ถึงแม้ว่า รัฐบาลจะยังไม่มีคำสั่งเข้มงวดในการล็อกดาวน์ แต่ก็มีบางจังหวัดที่มีการประกาศล็อกดาวน์เป็นบางส่วนไปบ้างแล้ว และมีการออกกฎเข้มในการใช้สถานที่ที่มีคนหมู่มากรวมตัวกัน ก็ส่งผลให้ต้องมีการหยุดให้บริการไปโดยปริยาย

            สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดให้บริการในบางธุรกิจ หรือจำกัดเวลาการใช้บริการในบางธุรกิจ อย่างกลุ่มร้านอาหาร ที่ห้ามนั่งทานที่ร้านหลัง 3 ทุ่มของ กทม. หรือบางจังหวัดให้เพียงซื้อกลับบ้านเท่านั้น

            คำสั่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจซึ่งบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเอง ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่อย่างที่เคยทำเมื่อปี 2020 แล้ว เนื่องมาจากภาระการกู้เงินของรัฐเกือบจะเต็มเพดานกรอบความยั่งยืนทางการคลังแล้ว แม้ยังมีช่องว่างให้เหลือใช้บ้าง แต่ถ้าเอามาใช้ในการแจกเงินอีก ก็คงไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก

            เพราะในเวลานี้การระบาดของโรคโควิด-19 มันทวีความรุนแรงสูงขึ้น และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชน ขณะเดียวกันมีการปิดของตลาด หรือตลาดนัดหลายแห่ง ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงตามไปด้วย

            สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ โครงการคนละครึ่งของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ได้เปิดระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นกลไกที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ และประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยจากข้อมูลของกระทรวงการคลังล่าสุดระบุว่า วันที่ 3 ม.ค.2564 มีผู้ใช้สิทธิ์ตามโครงการคนละครึ่ง และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 แล้วจำนวน 12,050,115 คน โดยเป็นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์เดิมจำนวน 9,536,644 คน ใช้จ่ายสะสม 52,358.3 ล้านบาท และผู้ได้รับสิทธิ์ใหม่จำนวน 2,513,471 คน ใช้จ่ายสะสม 1,073.6 ล้านบาท รวมยอดการใช้จ่ายสะสม 53,431.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 27,353.4 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 26,078.5 ล้านบาท

            จะเห็นว่าในช่วงเวลาสั้นๆ มีเงินไหลเวียนในระบบสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำไปได้

            แต่ต่อจากนี้มีการกลับมาระบาดซ้ำของเชื้อโควิด-19  และรุนแรงมากกว่าครั้งแรก แน่นอนแนวทางล็อกดาวน์มันช่วยให้การระบาดหยุดได้เร็ว แต่ต้องแลกกับเศรษฐกิจที่จะพังพินาศ ทำให้เชื่อแน่ว่ารัฐบาลจะไม่ใช้แนวทางนี้แน่ เพราะมีความรู้มากขึ้น และสามารถบริหารจัดการได้ ก็น่าจะปล่อยให้มีการระบาดแบบจัดการได้ เช่น การสร้างโรงพยาบาลสนาม แยกผู้ป่วยไม่หนักให้ไปอยู่ด้วยกัน ป้องกันการระบาดไปยังคนอื่น และการสั่งให้กักตัวเอง สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เสี่ยง แน่นอนวิธีนี้อาจจะควบคุมโรคได้ช้า แต่ก็สามารถรักษาสมดุลกับทางเศรษฐกิจได้

            อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มคนที่เสียสละ และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เรื่องการยืดภาระหนี้ การช่วยเรื่องเงินทุน ยังมีความจำเป็นต้องทำ ขณะที่นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งก็เป็นไปได้ เพื่อช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนต่อไป

            ที่หนักสุด คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่จะต้องเฝ้ารอความหวังจากวัคซีนเพียงอย่างเดียว ก็ต้องเอาใจช่วยกันต่อไป ให้ต่อสู้ให้ถึงที่สุด 

                สุดท้ายสิ่งที่รัฐบาลต้องพยายามรักษาความสมดุล ระหว่างการควบคุมโรคระบาด และการบริหารเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"