ฝ่ายค้านงอแง‘ซักฟอก’ ‘ชวน’แนะยื่นพรุ่งนี้ก็ได้


เพิ่มเพื่อน    

 

พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภา 1 มี.ค. "ชวน" แนะฝ่ายค้าน อยากจะยื่นซักฟอกรัฐบาลให้ยื่นมาเลยพรุ่งนี้ก็ได้ ต้องก่อน 28 ก.พ. แต่ไม่ใช่มาขอเปิดสมัยวิสามัญถล่มรัฐบาล "สุทิน" งอแงขอทดเวลาเจ็บซัดรัฐบาลบกพร่องในการควบคุมสถานการณ์ แก้ปัญหาโควิด  

    เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหากไม่สามารถพิจารณาได้ทันในสมัยประชุมปกติว่า ไม่สามารถทำได้  การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้สมัยประชุมละ 1 ครั้ง ในสมัยการประชุมนี้จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ดังนั้นหากจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ต้องยื่นมาภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ถึงจะมีเรื่องสถานการณ์โควิด-19 มาเกี่ยวข้องก็สามารถยื่นได้ จะยื่นเมื่อไรก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้  
    เมื่อถามว่า หากฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมาภายในวันที่ 28 ก.พ. แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายภายใน 2 เดือน จนหมดสมัยการประชุม มีโอกาสที่จะเปิดประชุมวิสามัญเป็นกรณีพิเศษเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า เป็นไปได้ สมัยประชุมนี้ปิดวันที่ 28 ก.พ. มีเวลาอีก 2 เดือน จะยื่นเมื่อไรขึ้นอยู่ที่ความพร้อม ไม่ได้อยู่ที่สภา เมื่อยื่นมาแล้ว แต่จะบรรจุระเบียบวาระได้เมื่อไร ต้องหารืออีกครั้งระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลว่าจะเอาวันไหน
    ประธานสภาฯ กล่าวว่า การงดประชุมสภาไม่ถือว่ามีอุปสรรค ต่อการประชุม กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องยอมรับมาตรการที่ออกกำหนดมาบ้าง จะปล่อยไม่สนใจเลยไม่ได้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ได้เชิญทุกพรรคมา เพราะรู้ว่าถ้าไม่เชิญทุกพรรคมาจะไปพูดในทำนองที่เสียหาย จึงต้องให้ทุกคนได้พูดแสดงความเห็น ส่วนการประชุม กมธ.ต่างๆ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น คาดว่าภายในสัปดาห์นี้การแก้ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการประชุมผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์น่าจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ กมธ.ประชุมผ่านออนไลน์ได้  
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ฝ่ายค้านกังวลเรื่องดังกล่าวอยู่ แต่ยืนยันจะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงก่อนสิ้นเดือน ม.ค.แน่นอน ซึ่งเมื่อยื่นไปแล้วจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้เมื่อใด และจะได้เปิดอภิปรายได้เมื่อใด ทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 ก.พ.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
    "หากไม่สามารถเปิดอภิปรายได้ทันก่อนปิดสมัยประชุม ก็ต้องมีวิธีการชดเชยด้านเวลาให้ เช่น การขยายเวลาประชุมสภาออกไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. หรือการให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังไม่รู้ว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรจะใช้วิธีใด แต่ถ้าจะขยายเวลาประชุมสภา คงต้องขยายกันยาวๆ เพื่อชดเชยเวลาที่งดประชุมไป 2 สัปดาห์"
       นายสุทินเผยว่า ฝ่ายค้านจะหารือกันในสัปดาห์นี้ เพื่อกำหนดกรอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะมีเนื้อหาอย่างไร มีข้อมูลเรื่องใดบ้าง โดยจะพิจารณานำเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 รอบสอง ทั้งเรื่องความบกพร่องในการควบคุมสถานการณ์และการใช้งบประมาณแก้ปัญหาโควิด มาเป็นเนื้อหาการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย
    ด้าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ตอบโต้แกนนำพรรคก้าวไกลที่แสดงความรู้สึกผิดหวังกับมติงดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลา 2 สัปดาห์ อาจทำให้การทำงานเกิดความล่าช้าว่า การตัดสินใจงดประชุมดังกล่าวเป็นความเห็นร่วมกันของเสียงส่วนใหญ่ที่มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องยอมรับว่าสภาอยู่ด้วยมติและเสียงข้างมาก ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องเคารพ และยืนยันว่าสภามีมาตรการป้องกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะมีคนพยายามฝ่าฝืน
คนก้าวไกลพาโควิดเข้าสภา
    "จะเห็นได้จากกรณีที่อนุกรรมาธิการคณะหนึ่งปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อจากจังหวัดระยองเข้าร่วมประชุม โดยที่ประธานอนุกรรมการชุดนั้นก็เป็นคนของพรรคก้าวไกล ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ อยากให้คำนึงถึงความปลอดภัยและเสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของการเมือง หากดึงดันให้มีการประชุมจนทำให้ ส.ส.หรือใครในสภาติดเชื้อ อยากถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น และใครต้องรับผิดชอบ เพราะกรณีของอนุกรรมาธิการก็สร้างความวุ่นวาย ต้องส่งคนจำนวนมากรวมทั้งตนไปตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้ การงดประชุมอาจส่งผลต่อการทำงานหลายอย่าง แต่สภาก็จะให้มีการประชุมชดเชย ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ อาจจะขยายสมัยประชุมหรือเปิดสมัยประชุมวิสามัญก็ได้" นพ.สุกิจกล่าว
    แต่นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคก้าวไกล ตอบโต้ว่า สิ่งที่คุณหมอสุกิจกังวล เป็นความกังวลเดียวกันของทุกคนขณะนี้ แต่เราจะละเลยการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนในยามที่ประชาชนต้องการที่พึ่งเช่นนี้ไม่ได้ การเปิดประชุมสภาในสถานการณ์การของโรคระบาด รวมไปถึงสถานการณ์ใดก็ตามที่ไม่สามารถรวมตัวกันได้ เราจะต้องทำให้มีการเปิดประชุมออนไลน์อย่างมีศักยภาพ ซึ่งเรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้พยายามเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาให้สามารถประชุมออนไลน์ได้ตั้งแต่ปีก่อน
    “เราเป็นตัวแทนของประชาชน ต้องพยายามหาทางทำงานให้ประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้เสียเวลาไปด้วยการนั่งมองปัญหาอยู่ที่บ้าน"
    เขากล่าวกรณีที่หมอสุกิจยกตัวอย่างที่ประชุมอนุกรรมาธิการ การพนันออนไลน์ว่า อยากฝากไปยังประธานสภาฯ ทดสอบเครื่องตรวจด่านหน้าของสภาดูอีกทีว่าเพียงพอหรือไม่ มีประสิทธิภาพแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เหตุเกิดตอนนั้นอยู่ในช่วงต้นของสถานการณ์ ยังไม่รู้แน่ชัดว่าการระบาดไหนจุดไหน ร้ายแรงอย่างไร แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็พิสูจน์ให้เห็นว่า การรู้เหตุเร็ว พวกเราและผู้เกี่ยวข้องก็สามารถนำมาตรการที่วางเอาไว้มาใช้อย่างทันท่วงที ไม่มีใครติดเชื้อเพิ่ม
    "เวลานี้ ส.ส.กลัวไม่ได้ เพราะประชาชนคงกลัวยิ่งกว่าเรามาก พวกเขากลัวอดตาย อยากให้มองกันด้วยความเป็นจริง เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตอนนี้มีร่างกฎหมายหลายตัวที่เกี่ยวกับปากท้องของเขากำลังรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วนอยู่” นายณัฐชากล่าว
    นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่าการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติจะหยุดชะงักไม่ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์คับขันของประเทศชาติที่กำลังต้องการมาตรการที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ เวลานี้ต้องบอกว่าประชาชนกำลังหมดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อรัฐบาลอย่างถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจึงจำเป็นมาก เพื่อจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและทวงถามถึงความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารต่อปัญหาที่พวกเขาละเลย
ปิดสมัยประชุม 1 มี.ค.
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนพงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่าพรรคก้าวไกลรู้สึกผิดหวังที่ให้งดการประชุมออกไป 2 สัปดาห์ เพราะจะทำให้การผ่านกฎหมายหลายฉบับเกิดความล่าช้า เช่น การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ว่า  ส.ส.พรรคก้าวไกลต้องตระหนักถึงความสำคัญก่อนหลัง การประชุมสภาแบบที่เสนอไม่ใช่จำนวนคนเพียงแค่ 245 คนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงข้าราชการ สื่อมวลชน และคนงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาจำนวนมากที่ต้องมาอยู่รวมกันในสถานที่ที่เดียว และถ้าเกิดการแพร่ระบาด ก็ไม่ได้หมายถึง ส.ส.ที่มาประชุมจะได้รับเชื้อคนเดียว แต่จะเกิดความเสี่ยงไปถึงคนรอบข้างและประชาชนในพื้นที่ที่ ส.ส.ต้องกลับไปพบเจอ จะปล่อยให้ประเทศไทยติดเชื้อครึ่งค่อนประเทศแบบประเทศแถบยุโรปหรืออย่างไร
    “สถานการณ์เช่นนี้โควิดกระจายไปทั้งโลก ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย ผมจึงอยากถามว่าเรื่องอะไรสำคัญที่สุด ใช่เรื่องความปลอดภัย ความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนใช่หรือไม่ กฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฝ่ายก็ยืนยันแล้วว่าจะต้องแก้ให้เสร็จในสมัยรัฐบาลชุดนี้ และที่สำคัญการประชุมสภายังมีเวลาเหลือเฟือ เพิ่มวันประชุมทีหลังก็สามารถทำได้ ผมไม่เข้าใจว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลที่เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนวันนี้ทำไมถึงให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมากกว่าความเดือดร้อนของประชาชนที่เขาเลือกพวกคุณเข้ามา หรือเพราะพวกคุณส่วนใหญ่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่รวบรวมคะแนนมาจากบรรดา ส.ส.สอบตก จึงไม่เข้าใจหน้าที่ของ ส.ส.ว่าต้องทำอะไร”
    นายสิระกล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลและพรรคฝ่ายค้านบางคนต้องหยุดเล่นแต่เกมการเมือง ยุยง ปลุกปั่น ประชาชนในพื้นที่ของพวกคุณเขารอให้กลับไปดูแลเขาอยู่ อย่าเอาแต่เวลาไปประกันตัวบรรดาแกนนำม็อบทั้งหลาย เพราะตนได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าไม่เคยเห็นหน้าพวกคุณไปดูแลเขาเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ ก็คงยากที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีก วันนี้ตนคิดว่าพรรคก้าวไกลไม่เหมาะสมที่จะใช้ชื่อนี้แล้ว น่าจะเป็นก้าวลงเหวมากกว่า
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงหนึ่ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล แจ้งให้ ครม.รับทราบถึงการเลื่อนประชุมสภาผู้แทนราษฎรออกไป 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19  ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สอบถามทันทีว่าเป็นเรื่องของสภาใช่หรือไม่ โดยนายพุทธิพงษ์ตอบว่าใช่ ทำให้นายกฯ แจ้งกับ ครม.ว่าถ้าเป็นอย่างนั้นให้ช่วยกันชี้แจงว่าเป็นเรื่องของสภา อย่าให้มาต่อว่ารัฐบาลได้ในภายหลัง
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. พ.ศ.2564.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"