โอนตม.สะดุดรอกพร.เคาะ เสวนาหนุนโยกตร.ให้ผวจ.


เพิ่มเพื่อน    

 

     เดินหน้าปฏิรูปตำรวจเปิดช่องแจ้งความได้ทุก สน. มีอำนาจสอบสวนคดีที่ไม่ได้เกิดในท้องที่ของตนได้ โอน ตม.สะดุด! ต้องรอผลศึกษาของ ก.พ.ร. "มาร์ค" ผิดหวังปฏิรูป ตร. ไร้ความชัดเจน ดักทางอย่าอ้าง 4 ปีเวลาไม่พอ ขอยืดเวลาไปเรื่อย เสวนากระจายอำนาจ "กษิต" เสนอยุบกรมปกครองส่วนท้องถิ่น โยกตำรวจให้ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งดูแล "สมศรี" มั่นใจ ตร.จังหวัดประชาชนได้ประโยชน์ ยันโอนหน่วย ตร.ต้องไปทั้งหมด 

    เมื่อวันพฤหัสบดี นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ    เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.  มีมติให้จัดทำกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์ในการสอบสวนเพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยหลักการสำคัญๆ ที่จะได้รับการบรรจุไว้ อาทิ ให้ประชาชนสามารถแจ้งความได้ในทุกสถานี ไม่เฉพาะแต่ในสถานีท้องที่เกิดเหตุเท่านั้น    สถานีที่รับแจ้งความ หากมิใช่สถานีท้องที่เกิดเหตุจะเป็นผู้ส่งรายละเอียดไปยังสถานีท้องที่เกิดเหตุเอง ให้ทุกสถานีมีอำนาจสอบสวนคดีที่ไม่ได้เกิดในท้องที่ของตนได้ด้วย เช่น คดีที่เกิดขึ้นในขบวนรถไฟที่เคยอยู่ในเขตอำนาจของตำรวจรถไฟ คดีที่เกิดขึ้นในทางหลวงแผ่นดินสายที่เป็นเขตอำนาจของตำรวจทางหลวง

    "หากประชาชนทำเอกสารหาย ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน แล้วนำบันทึกประจำวันนั้นไปยังหน่วยงานผู้ออกเอกสารเพื่อให้ออกเอกสารใหม่ให้อีกต่อไป แต่จะกำหนดให้สามารถไปแจ้งที่หน่วยงานผู้ออกเอกสารนั้นที่เดียวได้เลย หรือ ในคดีที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อาจตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญนั้นเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน หรือที่ปรึกษาพนักงานสอบสวน"

    นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับประเด็นภารกิจของหน่วยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) นั้น มีการพิจารณาว่าควรจะยังอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ต่อไปเหมือนเดิม หรือถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานอื่นภายหลังจากรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สตช.และผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย แล้วที่ประชุมเห็นควรให้รอการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อรอผลความคืบหน้าในการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เรื่องภาพรวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการคนเข้าเมืองทั้งระบบ

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ 101 องศาข่าวทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 101 ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุจะเร่งทำปฏิรูป 5 ด้านในเรื่องเร่งด่วน ให้เห็นผลภายใน 8 เดือนก่อนการเลือกตั้งว่า สิ่งที่ท่านนายกฯ พูด ถ้าทำได้จริงก็ดีแน่ แต่อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะคุยเรื่องปฏิรูปทุกครั้ง เรายังไม่ค่อยเห็นความชัดเจน กรณีการปฏิรูปตำรวจเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี เพราะพูดมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ซึ่งเราเคยพยายามทำเรื่องนี้โดยมีแนวความคิดที่ชัดเจน เสนอโดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำไม่เสร็จ 

    "หลังจากรัฐประหารครั้งนี้ เรามี สปช. สปท. สุดท้ายมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนเวลาว่า ต้องทำภายใน 1 ปี ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องออกกฎหมาย แต่คนที่มีอำนาจออกกฎหมายคือ สนช.มาบอกว่าที่ทำมานี้ไม่ใช่ และกำลังมาผลักดันกันใหม่ ซึ่งดูทิศทางจะชัดเจนขึ้น เช่น พูดถึงเรื่องการจะถ่ายอำนาจออกมาจาก สตช. ในบางภารกิจ ทั้งการกระจายอำนาจ เรื่องการสอบสวน แต่ก็มีเงื่อนไข จึงต้องไปดูอีกทีว่าสุดท้ายกฎหมายจะเสร็จออกมาเมื่อไหร่" นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า เอาใจช่วยว่า 5 ด้านที่สำคัญที่หยิบขึ้นมาใหม่นี้ อยากจะทำให้ได้มากที่สุด แต่ว่าถ้าจะบอกว่าผ่านไปแล้ว 4 ปี ปฏิรูปยังไปไม่ถึงไหน เพราะฉะนั้นก็ต้องยืดสภาวะอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตนว่าวันนี้หาเหตุผลที่จะรองรับยากมาก

    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน วันที่ 10 พฤษภาคม มูลนิธิหมอ เสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนา "ประชาธิปไตย แบบล่างขึ้นบนกับการกระจายอำนาจและการบริหารราชการแผ่นดินไทย"  โดยนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า หลายประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประสบความสำเร็จในการกระจายอำนาจไปในส่วนท้องถิ่น ไปให้ประชาชน ให้สมาคมวิชาชีพเขาดูแลควบคุมกันเอง อาทิ ในเยอรมนี มีการโอนงานด้านสังคมสังเคราะห์ไปให้เอ็นจีโอดูแลไปเลย ไม่ต้องอยู่เป็นส่วนหนึ่งในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือในกระทรวงสาธารณสุข ในบ้านเราก็ควรมีการกระจายอำนาจให้มากขึ้น 

    "ขอเสนอให้ยุบกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดมีอิทธิพลต่อองค์กรแห่งนี้มาก ในการจะลงนามให้ทำหรือไม่ทำเรื่องใด หลายพื้นที่เลยมีปัญหาด้านการทุจริตคอร์รัปชันในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีการกระจายอำนาจที่ประสบความสำเร็จ มีการโอนให้ตำรวจขึ้นตรงต่อผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในประเทศเรา การเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีการเลือกปฏิบัติกันระหว่างคน กทม.กับคนต่างจังหวัด เหตุใดคน กทม.จึงเลือกผู้ว่าฯ ได้ แต่คนต่างจังหวัดเลือกไม่ได้ และอย่าบอกเลยว่าคนต่างจังหวัดนั้นไม่พร้อม ผมไม่เชื่อ"

    นายกษิตกล่าวว่า การกระจายอำนาจ ในญี่ปุ่นเองเหลือกระทรวงหลักที่ส่วนกลางควบคุมเพียงไม่กี่แห่ง อาทิ กระทรวงกลาโหม ยุติธรรม ต่างประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและศาสนา ส่วนที่เหลือ โอนให้ทางท้องถิ่นบริหารจัดการ ในประเทศไทยเองก็ควรเป็นเช่นนั้น เชื่อว่าการบริหารงานจะคล่องตัวมากขึ้น 

    นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนตื่นตัวในสิทธิ เสรีภาพ การใช้งบประมาณบางอย่าง มีการตรวจสอบแรงขึ้น เงินคนจนยังมีการโกง ประชาชนเองก็รับไม่ได้ มีการตรวจสอบกว้างขวาง  การมีส่วนร่วมของประชาชนได้พัฒนาถึงขั้นว่าจะไม่ให้อำนาจจากส่วนบนทำตามใจชอบได้อีกต่อไป ทางการเมืองด้านปฏิรูปต่างๆ ที่จะมีการปฏิรูป 11 ด้าน ใช้ เวลาถึง 20 ปี ประชาชนคงไม่ยอมให้รัฐมาบอกว่าต้องเดินตามนี้อีกต่อไป ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียอย่าง ทุกวันนี้ประชาชนรู้เท่าทัน จะไม่ยอมให้โดนหลอกกันข้ามวันอีกต่อไปแล้ว

    นางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ กล่าวว่า ประชาชนคงไม่ยอมอีก แล้วจะให้ตำรวจกำหนดชะตาชีวิตประชาชนอย่างเดียว เราจะตรวจสอบ ตรวจตราประเมินตำรวจกว่า 2.2 แสนนาย เรื่องการปฏิรูปตำรวจ ได้รับความสนใจมากขึ้น แม้เป็นเรื่องซับซ้อน ขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายอำนาจที่สำคัญ เป็นต้นทางเรื่องกระบวนการยุติธรรมและศาล เช่นเดียวกับอัยการ เราเรียกร้องให้มีการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับตำรวจ ในจังหวัดให้ตำรวจทำงานในจังหวัดตัวเองได้ ไม่ต้องถูกโยกย้ายไปโน่นไปนี่ ทำงานในจังหวัดอย่างมีความสุข ใกล้ชิดประชาชน ขณะเดียวกันประชาชนต้องตรวจสอบได้ด้วย

     "แม้ตำรวจไม่อยู่ภายใต้ สตช. ไปอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ในอนาคตเชื่อว่าจะมีการกระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อาจจะมีข้อถกเถียงตามมา จะทำให้ผู้ว่าฯ กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเกินไปหรือไม่ แต่อย่าลืมมีกระบวนการตรวจสอบอยู่ด้วย เพียงแต่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ มีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล เราไม่ได้มองว่าอำนาจจะไปฮั้วกัน ในระดับจังหวัด หากมุ่งมั่นจริง ทำได้ เชื่อว่าตำรวจเองก็ต้องการอย่างนั้น อยากไปเป็นตำรวจจังหวัด ทุกวันนี้ไปทำงานอีกจังหวัด จะไปเยี่ยมภรรยา ลูกอีกจังหวัด เสียค่าใช้จ่ายเดินทางเยอะ บางรายเสียความเป็นครอบครัวไปก็มี หากตำรวจเข้มแข็ง ประชาชนจะได้รับการบริการที่ดี การโอนตำรวจไป ไม่ใช่แค่ตำรวจ แต่ทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ ฝ่ายสอบสวนต้องไปด้วย เพื่อให้ทำงานได้คล่องขึ้น" นางสมศรีกล่าว.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"