ติดเชื้อโควิดเริ่มทรง ยอดป่วยเหลือ157ราย/‘บิ๊กตู่’ไฟเขียวท้องถิ่นซื้อวัคซีนเอง


เพิ่มเพื่อน    

  ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มทรงตัว "ศบค." แถลงพบรายใหม่ 157 ราย เป็นในประเทศ 132 ราย "หมอทวีศิลป์" ขออย่าเพิ่งวางใจ ยังต้องป้องกันตัวเข้ม แจงปิดตลาดเปิดห้างยึดตามข้อมูลความเสี่ยง "สปคม." เตรียมลุยตรวจพ่อค้าในตลาดอีก 1.8 หมื่นราย "บิ๊กตู่” ไฟเขียวท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนฉีด ปชช.ในพื้นที่ แต่ต้องผ่านมาตรฐาน อย. "อนุทิน" ชี้นำเข้าวัคซีนต้องผ่าน สธ. ห้ามเอเยนต์ผู้ผลิตขายตรง "ทร." โล่ง 270 ลูกเรือจักรีฯ ไร้ติดเชื้อ

    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงสถานการณ์โควิดรายวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 157 ราย ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศ 132 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากการเฝ้าระวังและระบบบริการ 90 ราย ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน 42 ราย อยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 4 ราย และมาจากต่างประเทศคือเมียนมา 21 ราย ซึ่งตามขอบแนวชายแดนยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องช่วยกันสอดส่องให้เข้าและออกประเทศตามระบบ ไม่ต้องแอบซ่อน เราเข้าใจทุกคนที่กลับมา รวมถึงในประเทศที่ข้อมูลวันนี้มีผู้ติดเชื้ออายุเพียง 9 เดือนในพื้นที่ กทม. เรายิ่งต้องเฝ้าระวังมากขึ้นเช่นเดียวกัน
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะนี้มียอดผู้ป่วยสะสม 10,991 ราย หายป่วยสะสม 6,943 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 3,981 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดสะสมยังคงที่ 67 ราย ซึ่งจะเห็นว่าแนวโน้มกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ยังถือว่าทรงตัว ไม่เหมือนวันก่อนที่พุ่งขึ้น จึงขอให้คนไทยทุกคนช่วยกันดึงกราฟลงมา ส่วนสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 92,006,165 ราย เสียชีวิตสะสม 1,970,030 ราย
    "จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 60 จังหวัด ล่าสุดคือ จ.พิษณุโลก โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 50 ราย มีจำนวน 10 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ 11-50 ราย จำนวน 12 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ 1-10 จำนวน 38 จังหวัด และไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเลย 17 จังหวัด จึงขอให้ 17 จังหวัดนี้เฝ้าระวังให้ปลอดเชื้อไปตลอด รวมถึงอีก 38 จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยขอให้ลดปริมาณลงมา อย่างไรก็ตามใน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ราย บางจังหวัดอย่าง จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 3,000 ราย และหากนำตัวเลขผู้ป่วยใน 10 จังหวัดมารวมกัน จะพบว่าเป็นปริมาณ 70-80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศ ดังนั้นถ้าคนในพื้นที่ดังกล่าวรวมพลังกันไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยง น่าจะช่วยลดตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศลงมาได้จำนวนมาก" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกใหม่ในประเทศตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63-13 ม.ค.64 มีทั้งสิ้น 6,754 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 3,317 ราย คัดกรองเชิงรุก 3,006 ราย และมาจากต่างประเทศ 396 ราย นอกจากนี้ยังได้จำแนกผู้ป่วยตามปัจจัยเสี่ยงระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.63-12 ม.ค.64 ตามจำนวนผู้ป่วยที่ทราบประวัติทั้งหมดจำนวน 4,048 ราย พบว่ามากที่สุดคือ การค้นหาเชิงรุก 44.38%, แรงงานต่างด้าว 39.76%,  สถานที่ชุมชน ตลาด 39.69%, สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 10.63%, สถานบันเทิง 3.74%, บ่อนการพนัน 2.98%, สัมผัสบุคคลในครอบครัว 1.92%, สนามชนไก่ 1.18%, ร้านอาหาร 0.76% และสถานที่แออัด 0.63%
ปิดตลาดเปิดห้างยึดข้อมูล
    "การบริหารสถานการณ์ของ ศบค. เราใช้สถานการณ์และสถิติเหล่านี้ในการพิจารณา ที่มีการบ่นกันว่าห้างเปิด ตลาดปิด เราไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่เรายึดตามข้อมูล จึงขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย ต้องขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือกันดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะ โดยจนถึงวันที่ 12 ม.ค. มีการดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 6.79 ล้านเครื่อง มีจำนวนลงทะเบียนไปแล้วกว่า 4.83 ล้านคน แต่เป้าหมายคืออยากให้คนวัยทำงานที่มีอยู่กว่า 40 ล้านคนร่วมลงทะเบียน ดูตัวเลขแล้วตอนนี้ยังต้องการอีกประมาณสิบเท่า จึงขอให้ช่วยกันดาวน์โหลด" โฆษก ศบค.กล่าว
    ถามถึงข้อสังเกตการประเมินความเสี่ยงในแอปพลิเคชันหมอชนะ ซึ่งบางคนใส่ข้อมูลความเสี่ยงสูงทุกข้อ แต่เมื่อประเมินออกมาระบุว่าเสี่ยงน้อย ถือว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ ศบค.ชุดเล็กและหน่วยงานที่รับผิดชอบแอปพลิเคชันหมอชนะ รวมถึงกรมควบคุมโรคมาไล่เรียงข้อมูลที่มีความจำเป็นและตัดชุดคำถามให้เหลือเพียงการลงทะเบียน ถ่ายภาพใบหน้าจริง ซึ่งจะปรากฏคิวอาร์โค้ดสีเดียวออกมา ถ้าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อหรือเป็นขอบของ 28 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูง เมื่อใส่ข้อมูลต่างๆ เข้าไปแล้วระบบจะบอกด้วยว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน วันนี้มีคนลงทะเบียนรวม 4.8 ล้านคน และยิ่งลงทะเบียนกันมากขึ้นจะมีระบบนิเวศของคนจะเกิดระบบการเตือนและจะบอกข้อมูลเราได้ทันที และเชื่อว่าคงไม่ยุ่งยากในการแปลผล เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการใช้งาน
    ส่วน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) แถลงสถานการณ์โควิดพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า การระบาดรอบใหม่ในกรุงเทพฯ มีความต่างจากรอบแรกเปรียบเทียบกันพบว่าจำนวนผู้ป่วยในรอบสองยังไม่สูงพีกเท่ากับรอบแรก ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนและเฝ้าระวังโรค (PUI) ที่ไม่ต่ำก็แสดงให้เห็นว่าระบบเฝ้าระวังในพื้นที่ยังตรวจจับได้ดี ไม่ได้ลดการเฝ้าระวัง และผู้ป่วยรอบแรกติดเชื้อไม่มีอาการร้อยละ 29 ส่วนรอบสองสูงถึงร้อยละ 49
    "จุดเสี่ยงสำคัญของกรุงเทพฯ คือตลาด เพราะมีความเชื่อมโยงกับพ่อค้าแม่ค้า นำสินค้าจาก จ.สมุทรสาคร จึงสำรวจไปแล้ว 117 แห่ง โดยตั้งเป้าว่าผู้ค้าทุกรายที่มาจากตลาดที่มีความเสี่ยงต้องได้รับการตรวจหาเชื้อทางน้ำลาย และปัจจุบันได้ตรวจไปแล้วราว 12,000 ราย ซึ่งเราพบผู้ป่วย 14 ราย สัปดาห์นี้จะเก็บเพิ่มอีก 18,000 ราย ให้ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนมาตรการกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มีด่านตรวจไม่ให้เคลื่อนย้าย และสำรวจพื้นที่มีแรงงานอาศัยอยู่มาก วางแผนเพื่อเฝ้าระวังสุ่มสำรวจในโรงงานต่างๆ ทั้งนี้ จะนำเสนอต่อ ศปค.กทม.พิจารณาต่อไป" ผอ.สปคม.กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า หลายเรื่องจะทำให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปได้ยาก ข้อสำคัญคือเราทำให้คนจำนวนมากได้รับการดูแล นั่นคือเรื่องความเป็นธรรมใช่หรือไม่ ส่วนเรื่องของโอกาสก็ให้ทุกคนเข้าถึงโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีนหรือเรื่องอะไรต่างๆ ต้องใช้วิธีการที่เหมาะสม มีกระบวนการ ซึ่งนายกฯ ต้องเป็นผู้อนุมัติเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะเสนออะไรมาก็ต้องอนุมัติ โดยการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพูดก่อนอะไรก่อนก็ไม่รู้ แต่ถ้าเข้ามาแล้วไม่ได้ ไม่ผ่าน ไม่มีงบประมาณ ก็ไม่ได้ ฉะนั้นต้องระมัดระวังที่สุดในการใช้จ่ายงบประมาณเวลานี้ ซึ่งเราก็ยังเจอปัญหาอีกหลายด้านด้วยกัน งบประมาณมีอยู่จะเพียงพอในระยะนี้ไปก่อน ถ้าไม่พอค่อยว่ากันใหม่  
ไฟเขียวท้องถิ่นซื้อวัคซีน
    ถามถึงกรณีหลายท้องถิ่นประกาศจะจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็เป็นโอกาสที่ทำได้ ซึ่งตนเปิดโอกาสให้สามารถนำเข้าวัคซีนมาได้ หากจะใช้เงินท้องถิ่นก็ถือเป็นสิทธิและเป็นเรื่องของสภาท้องถิ่นจะจัดซื้อที่ไหนอย่างไรก็ว่ามา หากท้องถิ่นนำเข้ามาและผ่านมาตรฐานของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สิ่งสำคัญหลายคนตั้งความหวังกับวัคซีนมาก รัฐบาลจำเป็นต้องหาหลายช่องทาง หลากหลายประเทศ แต่ท้ายที่สุดต้องผ่านมาตรฐาน อย. ถ้ายังไม่ผ่านเราต้องระมัดระวังที่สุดในเรื่องของผลข้างเคียงอะไรต่างๆ
    "วันนี้เป็นที่น่ายินดีว่าวัคซีนที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ส่วนอื่นๆ ก็ยังต้องตรวจสอบกันต่อไป แต่เราก็เชื่อมโยงไว้หมด ไม่ว่าจะของใครก็ตาม และคิดว่าการผลิตวัคซีนจะมีมากขึ้น และต้องดูว่าประเทศต้นทางรับรองมาตรฐานหรือเปล่า นั่นคือประเด็นสำคัญ ผมจะต้องตัดสินใจตรงนี้ แม้เราจะมีวัคซีนเข้ามาก็ตาม ก็ต้องเร่งรัดการรับรองมาตรฐานจะทำอย่างไร ซึ่งต้องระมัดระวังผลกระทบข้างเคียงของประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว  
    นายกฯ กล่าวว่า ภาพรวมล่าสุดของการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศ วันนี้มีรายงานตัวเลขมาอยู่ที่ประมาณกว่า 100 คน ช่วงนี้ก็จะเป็นแบบนี้ขึ้นๆ ลงๆ แสดงว่าความร่วมมือของประชาชนมากยิ่งขึ้นในการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะการงดการเดินทางโดยที่ไม่จำเป็น อันนี้ทำให้การแพร่ระบาดคลี่คลายได้เร็ว และมีการคัดกรองคนเข้าระบบมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดต้องร่วมมือกัน ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการใดก็ตาม ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือกันก็ทำไม่ได้ทั้งหมด
    ต่อมาเวลา 16.20 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเวลา 15 นาที
    นายอนุทินกล่าวหลังการหารือกับนายกฯ ว่า มารายงานนายกฯ เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานเครื่องมือแพทย์ให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อมอบให้รัฐบาลใช้ในการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งนี้ เราต้องวางแผนการใช้ อย่างเช่นรถตรวจพระราชทาน หากรวมกับที่จะพระราชทานมาใหม่ก็จะมี 20 คัน รวมทั้งยังรายงานเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่ามาจากประเทศไหน เป็นอย่างไร เราต้องระมัดระวังอะไรบ้าง โดยขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนจากที่ไหนที่ปลอดภัยที่สุด เพราะถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุดต้องศึกษามาเป็นสิบปี แต่เราเพิ่งเผชิญเหตุการณ์มาปีกว่าๆ จึงต้องศึกษากันต่อไป แต่ส่วนใหญ่เขาก็ทดลองในระดับที่เชื่อมั่นว่าปลอดภัยในระดับหนึ่ง ซึ่งวัคซีนทั่วโลกตอนนี้ถ้าได้รับการใช้ก็เป็นการใช้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินหรือตามเงื่อนไขการขออนุญาตใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นการฉุกเฉิน จึงเป็นการฉีดโดยการพิจารณาของรัฐบาล ไม่ใช่ฉีดในเชิงพาณิชย์
    "การนำเข้ามาของวัคซีนจะต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุข ผู้ผลิตวัคซีนไม่สามารถไปขายโดยเอเยนต์หรือเชิงพาณิชย์ได้ ต้องเป็นการขายโดยรัฐต่อรัฐโดยตรง" นายอนุทินกล่าว
    รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า แม้สถานการณ์ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงแล้ว แต่อย่าไปดีใจหรือเสียใจกับตรงนั้น ขอให้เชื่อว่าระบบสาธารณสุขยังทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่ จำนวนผู้ติดเชื้อแม้จะมีมากขึ้น แต่ก็มากขึ้นในกลุ่มที่เราก็รู้ว่าจะต้องเพิ่มขึ้นจากตรงนี้ แต่สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือไปไหนมาไหนก็เจอแต่ผู้ติดเชื้อมาจากทุกที่ แต่เราไม่รู้ว่ามาจากไหนและติดจากไหน แต่เรายังไม่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ทั้งนี้ ที่สำคัญอัตราติดเชื้อจากผู้ที่ป่วยแล้วหาย ติดเชื้อแล้วมีอาการ หรือผู้ที่เสียชีวิตยังคงอยู่ในบรรทัดฐานของกรอบที่ยังไม่หลุดออกไป ซึ่งเรายังควบคุมได้อยู่
    นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. กล่าวถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกวัคซีนของประเทศไทยว่า จะคำนึงถึงเรื่องคุณสมบัติว่ามีคุณภาพและประสิทธิภาพ มีความเหมาะสมหรือไม่ ราคาเป็นอย่างไร เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และจำนวนเพียงพอที่ต้องการหรือไม่ เพราะมีรายงานว่าบางรายมีคุณภาพดี แต่จะส่งมอบได้ต้องรอถึงปลายปี อีกทั้งวัคซีนที่นำมาใช้ต้องไม่เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งข่าวที่อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลคือผลทดลองใช้วัคซีนระยะ 3 ของบริษัท ซิโนแวค ของสถาบันบูตันตันในบราซิล ที่ออกมาว่ามีประสิทธิผล 50.4% เท่านั้น โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นตัวเดียวกับที่เราสั่งซื้อไว้ 2 ล้านโดส และจะเริ่มทยอยนำเข้า 2 แสนโดสแรกในเดือน ก.พ.64 ซึ่งเรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนนำเข้าวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค
    "ข้อมูลการแถลงมีค่อนข้างจำกัด ขณะนี้เราขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัท ซิโนแวค รอตอบมาว่าข้อเท็จจริงคิดอะไร ซึ่งในขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อ อย. เขาก็ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้เราทราบ ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าวัคซีนที่จะนำมาใช้ต้องมีคุณภาพยอมรับได้ คำว่าประสิทธิภาพในภาพรวม 50.4% นั้นหมายความว่าระหว่างผู้ที่ฉีดวัคซีนกับไม่ฉีดวัคซีนจะมีอัตราการติดเชื้อแตกต่างกัน โดยสามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้เลย 50.4% ซึ่งทดลองในพื้นที่ที่มีการระบาดสูงกับบุคลากรทางการแพทย์ แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันการป่วยได้ 78% และไม่มีอาการหนัก 100%" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุ
270 ลูกเรือจักรีฯ ไร้โควิด
    นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนวัคซีนนั้นจะต้องมีการตรวจสอบ โดยมีหลักการประเมิน 3 ประการ คือ 1.คุณภาพ 2.ความปลอดภัย และ 3.ประสิทธิภาพ โดยผู้ขอขึ้นทะเบียนจะต้องยื่นข้อมูลให้พิจารณา เนื่องจากเป็นสถานการณ์เร่งด่วน ครั้งนี้จึงให้ทยอยยื่นข้อมูลได้ ขณะเดียวกันจะมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศมาร่วมพิจารณาไปล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นแต่ครบถ้วนตามขั้นตอนภายในเดือน ม.ค.64 โดยปัจจุบันมีผู้ขอทะเบียนแล้ว 2 ราย คือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และบริษัท ซิโนแวค นอกจากนี้ อย.ยังพร้อมให้เอกชนยื่นขอขึ้นทะเบียนเพื่อนำเข้าวัคซีนได้เช่นกัน
    วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งหากรัฐบาลปลดล็อกให้ท้องถิ่นฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เพราะท้องถิ่นมีศักยภาพสามารถให้บริการได้รวดเร็ว ทั่วถึงกลุ่มเป้าหมาย เทศมนตรีสงขลามีงบสะสมประมาณ 30 ล้าน เพียงพอที่จะดำเนินการ
    นายสมชาย เมฆาอภิรักษ์ ว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า สนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะท้องถิ่นมีบุคลากรมาก ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผลประโยชน์จะตกแก่ชาวบ้านจริง หากท้องถิ่นใดไม่มีงบประมาณมากพอดำเนินการ ควรให้ อบจ.จัดสรรเงินให้ เพราะ อบจ.มีงบประมาณมากพอที่จะดำเนินการเรื่องนี้ ส่วนที่หลายฝ่ายวิตกจะมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมาตรการในการใช้จ่ายงบประมาณที่รัดกุม และควรให้ อย.รีบรับรองโรงพยาบาลเอกชนดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับบุคคลที่มีความพร้อมก่อน   
    นายศรีชัย วีระนรพานิช นายกเทศมนตรีเมืองชุมพร กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าในขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 วัคซีนคือความหวังของประชาชน ซึ่งต้องมีวัคซีนอย่างเพียงพอและกระจายให้ทั่วถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว เพื่อจบปัญหาโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุด แล้วกลับมาเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ในฐานะที่เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันและระงับโรคติดต่อ
    "เทศบาลเมืองชุมพรมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยปัจจุบันเทศบาลเมืองชุมพรมีประชากรทั้งสิ้น 33,783 คน ให้วัคซีนจำนวน 2 เข็ม/คน จะใช้งบประมาณ 1,000 บาท/คน  ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 33,783,000 บาท ซึ่งหากรัฐบาลสั่งการให้เทศบาลสามารถนำเงินสะสมมาใช้จ่ายได้ ก็พร้อมที่จะให้บริการประชาชนได้ทุกคน เพราะเห็นว่าการป้องกันจะทำได้ง่ายกว่าการรักษา โดยกระทรวงสาธารณสุขและ อย.ต้องเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติบริษัทผู้ขายวัคซีนและรูปแบบการซื้อ เพื่อเป็นการป้องกันข้อกังวลของประชาชนที่เกรงว่าจะได้รับวัคซีนจากบริษัทที่ไม่มีคุณภาพ" นายกเทศมนตรีเมืองชุมพรระบุ
    ที่กองทัพเรือ พล.ร.ท.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงผลตรวจหาเชื้อโควิดกำลังพลเรือหลวงจักรีนฤเบศร จำนวน 270 นาย ว่ากรมแพทย์ทหารเรือได้ส่งผลการตรวจการสอบสวนและควบคุมโรคของกำลังพลเรือจักรีนฤเบศวรที่กักตัวควบคุมโรคครบแล้วทุกนาย ซึ่งกำลังพลทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่กักตัวที่อาคารรับรองสัตหีบ จำนวน 210 นาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.1 กำลังพลกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง จำนวน 9 นาย กักตัวสังเกตอาการระหว่าง 10-24 ม.ค.64 ได้ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลตรวจไม่พบเชื้อ 1.2 กำลังพลกลุ่มที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จำนวน 201 นาย กักตัวที่อาคารรับรอง ฐานทัพเรือสัตหีบ สังเกตอาการระหว่าง 11-25 ม.ค.64 ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 11 ม.ค.64 ผลตรวจไม่พบเชื้อ
    2.ผู้ที่กักตัวที่เรือ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่เตรียมความพร้อมอยู่บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร เช่น การดูแลรักษาอุปกรณ์ ป้องกันเพลิงไหม้ และเข้ายามรักษาการณ์ จำนวน 60 นาย ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 11 ม.ค.64 เรียบร้อย ผลตรวจไม่พบเชื้อ ทุกคนยังคงแข็งแรงและปฏิบัติงานได้ตามปกติ 3.ผู้ที่กักตัวที่บ้าน (ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานที่เรือในห้วงเวลาเดียวกับผู้ติดเชื้อ และผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ก่อนหน้านี้) จำนวน 17 นาย ผลตรวจไม่พบเชื้อ
    ส่วนความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ติดโควิด-19 และรับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ว่าฯ สมุทรสาครรู้สึกตัวดีหลังจากถอยยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อออก คาดว่าภายในวันที่ 14 ม.ค.2564 จะเอาเครื่องช่วยหายใจกับท่อช่วยหายใจออกได้
    "ในช่วงเช้าภาพรวมอาการดี ร่างกายฟื้นตัวดีกว่าร้อยละ 90 ทั้งผลเลือด การทำงานของไต ทางเดินอาหารก็ดี หลังจากรับอาหารทางสายยาง ร่างกายมีดูดซึมดี ขณะเดียวกันการทำงานของสมองก็ดี แต่อยากให้อยู่ในห้องไอซียูต่อจนครบ 14 วัน ซึ่งขณะนี้ก็ใกล้ครบกำหนดแล้ว หากอาการดีก็ยังอยากให้พักฟื้นต่อเนื่องอีก 14 วัน ทำงานก็ควรทำแบบเวิร์กฟรอมโฮม" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว.
    
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"