ยันเป้าแจก3.5พันทั้งปท. พิพัฒน์หนุนช่วยท่องเที่ยว


เพิ่มเพื่อน    

 

รัฐบาลยันเป้าแจก 3,500 บาท 2 เดือน หวังครอบคลุมคนครึ่งประเทศ ไม่ใช่แค่ 28 จังหวัดสีแดง ยันมีเงินเพียงพอ “พิพัฒน์” ชงมาตรการอุ้มท่องเที่ยว ตั้งกองทุนดูแลต่างชาติ แบ่งจ่ายคนละครึ่ง ดูแลแรงงาน 4 แสนราย “แรมโบ้” แนะจตุพรใจเย็น เชื่อมีมาตรการออกมาอีก “กอร์ปศักดิ์” ชงจ่ายคนอายุ 18 ปีขึ้นไปจบไม่ยุ่งยาก
    เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ยังคงมีความต่อเนื่องจากมาตรการเยียวยาการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเราชนะ ที่จะมีการแจกเงินคนละ 3,500 บาท นาน 2 เดือน ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.2564 โดยล่าสุดมีการส่งต่อกันโนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องว่าจะแจกเฉพาะ 28 จังหวัดสีแดงเท่านั้น ล่าสุด มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่าไม่เป็นความจริง เพราะรายละเอียดของมาตรการยังไม่ได้ข้อสรุป โดยล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และกระทรวงการคลังประเมินว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ต้องได้รับเงินเยียวยาครอบคลุมทั้งประเทศ 30-35 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงิน 2.1 แสนล้านบาท โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนเยียวยาวงเงิน 5.55 แสนล้านบาท ที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาทมาดำเนินการ
    “ที่คุยกันไว้เบื้องต้นคือต้องการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งประเทศ เพราะแม้ว่าจะจำกัดการเดินทางพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด แต่จังหวัดอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวไปด้วย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าในข้อเสนอล่าสุดฝ่ายบริหารจะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการหรือไม่ ต้องรอในที่ประชุม ครม.วันที่ 19 ม.ค.นี้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องงบประมาณ หากต้องเยียวยาให้ประชาชนทั้งประเทศ เพราะมีวงเงินใน พ.ร.ก.กู้เงินเหลืออยู่” รายงานข่าวระบุ
    ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 ที่ลงทะเบียนอีก 5 ล้านสิทธิ์ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายเงินภายในวันที่ 14 ม.ค.2564 เพื่อรักษาสิทธิ์ในมาตรการ ล่าสุดมีผู้ใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังแล้ว 4 ล้านคน เมื่อรวมกับเฟส 1 อีก 10 ล้านคน มีผู้ใช้จ่ายแล้วรวม 13.6 ล้านคน ซึ่งต้องรอดูในวันที่ 14 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายจะมียอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หากมีผู้ถูกตัดสิทธิ์มาก การเปิดทะเบียนในรอบเก็บตกวันที่ 20 ม.ค. ก็อาจเปิดให้ลงทะเบียนมากกว่า 1 ล้านสิทธิ์ ซึ่งทั้งหมดต้องเสนอ ครม. เห็นชอบในวันที่ 19 ม.ค.นี้
    ส่วนนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬากล่าวถึงมาตรการการช่วยเหลือการท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ว่าจะเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนการท่องเที่ยวเพื่อรองรับกรณีที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยหากประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ซึ่งคล้ายกับภาษีซาโยนาระของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว โดยค่าใช้จ่ายการทำประกันนั้น นักท่องเที่ยวต้องเป็นผู้จ่าย โดยประเมินว่านักท่องเที่ยว 1 คนต้องจ่าย 10 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลและกรณีเสียชีวิต ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเก็บเงินส่วนนี้เข้ากองทุน และที่ผ่านมาเราก็อยากมีกองทุนของตัวเองเพื่อใช้เยียวยาผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ให้นโยบายมาแล้ว โดยหากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเห็นชอบ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ต่อไป
    นายพิพัฒน์ยังกล่าวถึงมาตรการดูแลผู้ประกอบการท่องเที่ยวว่า ได้หารือกับสมาคมต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม สมาคมการจัดประชุม ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะมีการผ่อนผันดอกเบี้ยเงินต้น การเข้าถึงซอฟต์โลน และการช่วยเหลือแรงงานในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะโรงแรม หลังจากนี้จะไปหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานประมาณ  4 แสนคน อาจทำในลักษณะการแบ่งจ่ายคนละครึ่ง รัฐบาลจ่าย 50% ผู้ประกอบการจ่าย 50% โดยผู้ประกอบการต้องไม่ปลดพนักงานออก โดยจะเยียวยาเป็นเวลา 2 เดือน คือเดือน ก.พ.-มี.ค.
    ด้านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เฟซบุ๊กไลฟ์ติติงมาตรการแจกเงินเยียวยาคนละ 3,500 บาทใน 2 เดือน เป็นความคิดที่ทุเรศ พร้อมขอให้ทบทวนให้เพิ่มไปที่เท่าเดิมคือ 5,000 บาทต่อเดือนนาน 3 เดือนว่า การให้ความช่วยเหลือประชาชนนายกฯ และรัฐบาลไม่เคยหยุดคิดที่จะหาแนวทางนำมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือ แต่การจะออกมาตรการใดๆ มานายกฯ ย้ำอยู่เสมอว่าต้องรอบคอบ โปร่งใส ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งมาตรการนี้นายกฯ ได้ชี้แจงแล้วว่าเป็นการพิจารณาในเบื้องต้น
“เชื่อว่านายกฯ จะมีมาตรการอื่นๆ มาช่วยเหลือประชาชนได้อีก ซึ่งนายจตุพรก็ควรคิดด้วยว่าหากจะมีการที่พิจารณามาตรการใดๆ ออกมาจะต้องคำนึงถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในอนาคตด้วย เนื่องจากเราไม่ทราบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะต่อเนื่องไปถึงเมื่อใด อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ หรือใช้คำไม่สุภาพ คำไม่เหมาะสมกล่าวหารัฐบาลเลย" นายสุภรณ์ระบุ
    วันเดียวกัน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกฯ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ว่าการจ่ายเงินโดยแยกอาชีพวุ่นวาย สมัยนี้ไม่มีใครมีอาชีพเดียว ไม่พอกิน ข้าราชการ คนค้าคนขาย เป็นเกษตรกรก็มี เกษตรกรมีบัตรคนพิการก็มี จ่ายทุกคนโดยใช้ข้อมูลรายได้ของกรมสรรพากรเป็นหลัก โดยงบประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นเงินมาก แถมต้องกู้มาด้วย ในความเป็นจริง ภาระใช้หนี้ตกอยู่กับผู้ที่ได้รับแจกเงินอยู่ดี เพราะต้องนำเงินภาษีมาใช้หนี้เงินกู้ก้อนนี้ในอนาคต วิกฤติขณะนี้รัฐไม่มีทางเลือกจะจ่ายเท่าไหร่ นานแค่ไหน เป็นความรับผิดชอบของคลังที่จะพิจารณา
    "ข่าวว่ารัฐบาลอาจให้เงินเยียวยาเฉพาะผู้อยู่เขตพื้นที่สีแดง ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะคนเดือดร้อนไม่ใช่เฉพาะในเขตพื้นที่สีแดง แต่เดือดร้อนทั่วไปหมด มากน้อยอาจต่างกัน ถ้ารัฐใช้รายได้เป็นตัวหลักน่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า เช่นให้ทุกคนที่อายุเกิน 18 รายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อเดือน" นายกอร์ปศักดิ์ระบุ
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ได้ทบทวนมติเกี่ยวกับมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 และมาตรการช่วยเหลือ SMEs โดยอนุมัติให้ขยายเวลาการขอสินเชื่อและพิจารณาสินเชื่อออกไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ปีนี้ โดยมี 4 มาตรการคือ 1.มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท ที่ยังคงเหลือวงเงินภายใต้โครงการอีก 2,142 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ซึ่งธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ซึ่ง 2 ธนาคาร มีวงเงินคงเหลือทั้งสิ้น 14,365 ล้านบาท
3.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบ ที่มีวงเงินเหลือ 2,987 ล้านบาท และ 4.โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานรากของธนาคารออมสิน ซึ่งมีวงเงินคงเหลือ 7,425 ล้านบาท.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"