รัฐบาลตั้งเป้า2เดือนคุมโควิดอยู่


เพิ่มเพื่อน    

 

ศบค.ชี้ข่าวดี! ตัวเลขติดเชื้อรายสัปดาห์ลดลงเท่าตัว ถ้าให้ดีกว่านี้ต้องใกล้ศูนย์ รัฐบาลตั้งเป้า 2 เดือนคุมโควิดอยู่  นายกฯ ประชุมทางไกลจังหวัดตาก แนะแนวทางแก้ปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ พร้อมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า ผู้ว่าฯสมุทรสาครกลับมามีไข้ ติดเชื้อแบคทีเรียทางเดินหายใจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

    ที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 มกราคม เวลา 10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา และรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก,  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก, ผู้แทนหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  
    โดยนายกฯ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ร่วมกันทำงานอย่างหนักในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งจังหวัดและอำเภอจะเป็นหน่วยงานจัดทำแนวทางปฏิบัติ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การทำงานในพื้นที่มีความสอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเร่งรัดจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับประชาชนให้ได้ตามแผนที่วางไว้ จากนั้นได้รับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอำเภอแม่สอด ทั้งนี้ รพ.แม่สอดมีศักยภาพและความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยมีแผน 3 ระยะไว้รองรับ
    ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามชายแดนอย่างผิดกฎหมายในเชิงรุก โดยมีหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 กองร้อยทหารพรานและกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมชุดลาดตระเวน กระจายตรึงกำลังระยะทาง 500 กิโลเมตรตลอดแนวชายแดน 5 อำเภอจังหวัดตาก พร้อมชุดลาดตระเวนเพิ่มเติม จุดตรวจสกัดของฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตั้งด่านตรวจในพื้นที่ชุมชน 175 จุดด้วย รวมทั้งมีการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ถือเป็นมาตรการสำคัญในการตรวจหาเชื้อเพื่อสกัดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยมีเป้าหมาย 400 คนต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ต.ค.ถึงปัจจุบัน ตรวจหาเชื้อเชิงรุกไปแล้ว 20,096 ราย พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในด่านพรมแดนมิตรภาพไทย-เมียนมา 7,600 ราย พบผู้ติดเชื้อชาวเมียนมา 29 ราย และได้ประสานไปยังสาธารณสุขเมียนมาเพื่อดำเนินการรักษาผู้ติดเชื้อต่อไป
    ในช่วงท้าย นายกฯ ได้แนะนำถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงงาน รวมถึงการสร้างโรงพยาบาลสนาม พร้อมกับฝากให้จังหวัดตากช่วยคิดว่าสิ่งใดที่ทางจังหวัดสามารถทำได้เอง หรือมีสิ่งใดที่ต้องการให้รัฐสนับสนุน เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ฝากให้ทุกคนรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี ใส่หน้ากากให้ถูกวิธี รอบคอบและระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดโรค และที่สำคัญที่สุด เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ได้พระราชทานเครื่องมือต่างๆ ให้แก่ประชาชนคนไทยทั่วประเทศ  
        นายอนุทินได้ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศ ว่า ทางกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจเชิงรุกและพยายามตรวจให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ สิ่งที่คิดว่าสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมได้ คือยังไม่มีกลุ่มก้อนมาจากต้นตอที่เราค้นหาไม่ได้ ตอนนี้การติดเชื้อของแต่ละกลุ่มเราสามารถค้นหาได้ว่ามีต้นตอและต้นเหตุมาจากไหน สามารถสอบสวนโรคและทำการค้นหาติดตามผู้ที่สัมผัสได้ครบ จึงถือว่าสถานการณ์ยังอยู่ภายใต้การควบคุมที่ดี
    นายอนุทินยังกล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้ติดตามความพร้อมและดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาด โควิด-19 เมื่อดูแล้วเกิดความมั่นใจ นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมคนไทยที่เดินทางกลับมาจากฝั่งประเทศเมียนมา ซึ่งพบมีจำนวนหลายคนที่ติดเชื้อ จึงได้บอกคนไทยเหล่านี้ให้ไปบอกเพื่อนฝูงที่ยังอยู่ฝั่งเมียนมา อย่าลักลอบกลับเข้ามา ทุกคนมีสิทธิ์เดินทางเข้ามาอยู่แล้วแต่ให้กลับมาตามช่องทางที่ถูกต้อง เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย หากติดเชื้อก็ทำการรักษาดี
มั่นใจ 2 เดือนคุมโควิดอยู่
    นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือถึงมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ตั้งเป้าการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้ โดยนำบทเรียนแก้ปัญหาโควิด-19 เมื่อเดือนเม.ย.63 ซึ่งใช้เวลาถึง 3 เดือนจึงจะควบคุมสถานการณ์ได้มาเป็นประสบการณ์และเรียนรู้การแก้ปัญหาในครั้งนี้ให้รวดเร็วขึ้น เชื่อว่าหากผ่านช่วง 2 เดือนนี้ไปได้ เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน
    ต่อมา เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 188 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 154 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 81 ราย มาจากค้นหาเชิงรุกในชุมชน 73 ราย ผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 21 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากเมียนมาเข้ามาทาง อ.แม่สอด จ.ตาก 13 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 11,450 ราย หายป่วยสะสม 8,288 ราย อยู่ระหว่างรักษา 3,093 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 69 ราย ส่วน สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 93,529,253 ราย เสียชีวิตสะสม 2,002,347 ราย
    สำหรับภาพรวมการระบาดในประเทศระลอกใหม่รายสัปดาห์ การระบาดในสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. อยู่ที่ 2,674 ราย ส่วนสัปดาห์นี้ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,397 ราย ซึ่งต้องรวมตัวเลขของวันที่ 16 ม.ค.เข้าไปอีก อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตัวเลขในปัจจุบันถือว่าลดลงเท่าตัว เป็นข่าวดี เพราะประชาชนช่วยกัน แต่ขอพูดว่าสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าทรงๆ ตัว ถ้าจะให้ดีตัวเลขต้องลงมาใกล้ๆ ศูนย์ แต่ขณะนี้ยังหลักร้อย ขณะที่ปัจจุบันมีจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 60 จังหวัด มีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ราย จำนวน 10 จังหวัด สูงถึง 94% แต่ถ้าดูเฉพาะ 5 จังหวัดแรกที่ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง กทม. และสมุทรปราการ รวมตัวเลขกันแล้วคิดเป็น 85% ของการระบาดรอบใหม่ ถ้าทำตรงนี้ดีขึ้นได้ ตัวเลขต่างๆ จะดีขึ้น ขอให้ทุกคนช่วยกัน
    เมื่อถามถึงกรณีที่ กทม.ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในโซนสีแดงอยู่ ความเสี่ยงเกิดจากอะไร มีความน่าเป็นห่วงหรือไม่ และจะควบคุมได้อย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กทม.ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง มีการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขทุกวัน อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยตามประสาของเมืองใหญ่ มีทั้งสถานบันเทิง ตลาด การเดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาเฉพาะ ทาง กทม.ทำงานใกล้ชิดกับทาง ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข มีการค้นหาเชิงรุก ซึ่งจะได้วิเคราะห์แล้วนำชุดข้อมูลนั้นมาแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับนำแผนการของกทม.มาแจ้งให้ทราบด้วย ทั้งนี้ กทม.ถือว่ามีความแออัดพอสมควร เชื้อโรคชุก ตัวเลขสองหลักถือว่าทำได้ดี ต้องขอชมชาว กทม. เพราะมีประชากรมากกว่าคนอื่นหลายสิบเท่า  
    ทั้งนี้ ในช่วงท้ายนี้ นพ.ทวีศิลป์ได้พูดถึงทีมโฆษก หมอเบิร์ท พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ และหมอบุ๋ม พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ที่เข้ามาช่วยทำงาน ซึ่งทั้งสองคนยินดีที่จะเข้ามาช่วยในช่วงเวลาที่พวกเรามีภารกิจต่างๆ มากมาย ทุกคนมีภารกิจในส่วนของตัวเองไม่ได้ว่างทั้ง 7 วัน ดังนั้นจึงพยายามที่จะมาช่วยหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป อีกไม่นานจะได้มีการแถลงข่าวในรูปแบบที่เรียกว่าโฉมใหม่ ยืนยันว่าทุกอย่างต้องการการสื่อสารอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา และเมื่อสื่อสารแล้วประชาชนเข้าใจจะนำมาสู่การร่วมมือร่วมใจกันในทุกภาคส่วนทุกเพศและทุกวัยให้ได้ 100% เราจึงจะชนะโรคโควิด-19 นี้ได้
ผู้ว่าฯ สมุทรสาครไข้ขึ้น
    วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่าเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา พบการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีไข้ขึ้น ที่ทางเดินหายใจ ทำให้ปอดอักเสบอีกครั้ง แต่ไม่ใช่เกิดจากโควิด-19 จึงนำเชื้อดังกล่าวไปเพาะเชื้อเพื่อให้ยาปฏิชีวนะรักษาที่ตรงกับโรค คาดว่าต้องติดตามอาการอีก 48-72 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการถอดเครื่องช่วยหายใจออก ท่อเครื่องช่วยหายใจยังคงค้างไว้อยู่เพื่อใช้ในการดูดเสมหะออกจากลำคอ ทำให้การดูแลลดภาวะการติดเชื้อดียิ่งขึ้น เพราะได้ลดเอาเสมหะที่ค้างไว้ในคอออก
    "การให้ยาต่างๆ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ ถอยออกหมดแล้ว ทำให้รู้ตัวดี เมื่อวานผู้ว่าฯ สมุทรสาครได้ยินเสียงลูกสาวผ่านโทรศัพท์ แม้พูดคุยไม่ได้ แต่รู้สึกได้ว่าผู้ว่าฯ มีกำลังใจมากขึ้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว และว่า จากการดูประสิทธิภาพการทำงานของปอดพบว่าโควิดไม่ได้ทำลายเนื้อปอดมาก เนื่องจากสามารถกลับมาหายใจได้ดีโดยเครื่องช่วยหายใจ แต่คนไข้เป็นตัวกำหนด
    ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ว่า กลุ่มก้อนผู้ป่วยติดเชื้อที่มีประวัติไปสถานบันเทิงในพื้นที่ กทม. จากการสอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 123 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นพนักงานและผู้ใช้บริการเกี่ยวข้องกับร้าน New Jazz Plaza จำนวน 50 ราย และน้องใหม่พลาซ่า 47 ราย ที่มีการใช้นักร้อง พนักงานเสิร์ฟ ชุดเดียวกันหมุนเวียนทำงานในหลายๆ ร้าน เช่นร้าน New Jazz ใช้พนักงานร่วมกับร้านร้านมะรุมพลาซ่าคาราโอเกะ ร้าน Mr. Club by มะรุม และ The Villa เหม่งจ๋าย ร้านน้องใหม่พลาซ่า ใช้พนักงานร่วมกับร้านอีสานกรองแก้ว
    กลุ่มผู้ติดเชื้อนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับร้านอาหารและสถานบันเทิงอื่นๆ อีกหลายแห่งกระจายใน 5 เขตของพื้นที่ กทม. ได้แก่ เขตบางพลัด : ร้านน้องใหม่พลาซ่า ร้านอีสานกรองแก้ว, เขตธนบุรี : ร้าน New Jazz Plaza ร้าน Day Off ธนบุรีพลาซ่า, เขตบางแค : ร้านมะรุมพลาซ่าคาราโอเกะ ร้าน Mr. Club by มะรุม, เขตห้วยขวาง : The Villa เหม่งจ๋าย ร้าน Maldives และเขตบางคอแหลม : ร้าน Happy Fish ร้าน The roof bar
       และยังมีบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย ติดเชื้อจากกลุ่มก้อนนี้ ซึ่งติดจากการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่ผู้ติดเชื้อมารักษาโรคทั่วไป แต่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อและไม่ได้แจ้งประวัติเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทราบก่อนรักษา ทั้งนี้ ใครเคยไปใช้บริการร้านดังกล่าวนี้ เข้าระบบ BKKcovid19 : h ttp://bkkcovid19.bangkok.go.th/ หากระบบแจ้งว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง กทม. จะจัดเจ้าหน้าที่ติดต่อไปโดยเร็วที่สุด หรือจะโทร.สายด่วน สำนักอนามัย 0-2203-2393 และ 0-2203-2396
         ที่ จ.ชัยนาท นายเจษฎา สี่พี่น้อง นายกเทศมนตรีเมืองชัยนาท   เปิดเผยว่า เตรียมเปิดประชุมสภาเทศบาล เพื่อขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสมปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 3.6 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่านกระทรวงสาธารณสุข  6,000 โดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงจำนวน 3,000 คน หลังจากนั้นจะทำริสต์แบนด์หรือสายรัดข้อมือให้กับบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าบุคคลคนนั้นได้รับการฉีดวัคซีนมีภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะได้ทำให้คนในสังคมเกิดความสบายใจ
    ที่ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อมีมติและประกาศคำสั่งของทางจังหวัดเพิ่มเติมใน 6 ประเด็น คือ 1.อบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวจำนวน 100 คน 2.สร้างโรงพยาบาลสนามจำนวน 120 เตียง 3.ขยายเวลาตั้งด่านคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้ง 5 ด่านไปถึง 31 ม.ค. 4.ปิดสถานที่บ่อนไก่ชน สนามไก่ชน สนามซ้อมไก่ชน รวมถึงสถานที่เล่นการพนันต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นไปไม่มีกำหนด 5.เตรียมพร้อมสต๊อกอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ 60 วัน และ 6.ขอให้นายจ้างที่ดูแลลูกจ้างต่างด้าวผิดกฎหมายให้เข้ามารายงานตัวเพื่อรับการผ่อนผันเพื่อเป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"