คลังให้1.3ล้าน สิทธิ์คนละครึ่ง กทม.ช่วย‘ผู้ค้า’


เพิ่มเพื่อน    

  คลังเปิดจองสิทธิ์คนละครึ่ง 1.34 ล้านรอบเก็บตก 20 ม.ค.นี้ “สุพัฒนพงษ์” พูดทะแม่งบอกโมเดลเยียวยารูปแบบใหม่ เพราะไม่ได้ล็อกดาวน์ทั่วประเทศ “ส.ส.-ส.ว.” ชงแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเอสเอ็มอี กทม.คลอดมาตรการช่วยเหลือผู้ค้า 10 ตลาด ทั้งต่ออายุ 1 ปี-ลดค่าเช่า 50%-ผ่อนหนี้

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ หลังการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ โดยนายสุพัฒนพงษ์กล่าวภายหลังการหารือว่า รัฐบาลมีเงินกู้เพียงพอนำมาเยียวยาประชาชน ส่วนจำเป็นต้องออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 หรือเฟส 4 อีกหรือไม่ เรื่องนี้ต้องดูตามสถานการณ์ เพราะการแก้ปัญหายังมีความไม่แน่นอนสูง หากจำเป็นต้องออกมาตรการ รัฐบาลก็มีความพร้อม เพราะเชื่อมั่นว่าโควิดไม่น่าจะระบาดรอบที่ 3 หรือ 4 อีก
“มาตรการเยียวยาประชาชน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน  ขณะนี้ยังไม่ได้เจาะจงหรือวางแผนให้เป็นเฉพาะจุดหรือจังหวัด ต้องรอดูรายละเอียดวันอังคารที่ 19 ม.ค.นี้ แต่ยืนยันว่าดูแลประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งการเยียวยาครั้งนี้ถือเป็นโมเดลใหม่ในการช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้ทำรูปแบบเดิม เพราะไม่ได้ล็อกดาวน์ประเทศ แต่เป็นการประเมินสถานการณ์การระบาดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหม่ แต่มีเป้าหมายเดิมคือลดการระบาดและช่วยเหลือประชาชน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว และว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือการท่องเที่ยวนั้น รัฐบาลเตรียมมาตรการมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 แต่ความช่วยเหลือคงไม่ใช่ลักษณะของการหว่านแห
ขณะที่ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังสรุปตัวเลขผู้ใช้สิทธิ์ในมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 จำนวน 5 ล้านคน ที่ครบกำหนดต้องใช้จ่ายครั้งแรกภายในวันที่ 14 ม.ค.2564 พบว่ามียอดใช้จ่ายรวม 4.12 ล้านคน เหลือผู้ไม่ใช้สิทธิ์ประมาณ 8.8 แสนคน เมื่อรวมกับโครงการระยะที่ 1 จำนวน 10 ล้านคน มีผู้ใช้สิทธิ์รวม 13.66 ล้านคน คงเหลือผู้ไม่ใช้สิทธิ์ประมาณ 1.34 ล้านคน กระทรวงจึงจะนำตัวเลขผู้ไม่ใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่งที่เหลือทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 ม.ค.นี้ เพื่ออนุมัติให้นำมาเปิดลงทะเบียนใหม่รอบเก็บตก ในวันที่ 20 ม.ค.2564 และเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2564 ส่วนจะขยายเวลามาตรการออกไปอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายตัดสินใจ
“เดิมคาดว่าจะเปิดลงทะเบียนเก็บตกได้ประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ แต่จากตัวเลขปิดโครงการล่าสุด พบว่ามีผู้ใช้สิทธิ์ไม่ตามเงื่อนไขภายใน 14 วัน มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะตัวเลขผู้ใช้จ่ายในเฟส 2 ที่เหลือเกือบ 1 ล้านสิทธิ์ โดยการเปิดรับลงทะเบียนรอบเก็บตกน่าจะตีกลมๆ อยู่ที่ 1.3 ล้านสิทธิ์” น.ส.กุลยากล่าว
ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ได้นัดประชุม กมธ.ในวันที่ 20 ม.ค. เพื่อขอมติต่อการเสนอความเห็นไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ใช้อำนาจออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อแก้ไข พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พ.ศ.2563 (ซอฟต์โลน) หลังพบว่าเนื้อหาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนั้นเป็นการหารือร่วมกันของตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย? (ธปท.), ตัวแทน สศค. และตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เห็นว่าการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวยังมีปัญหา
     “เหตุผลที่ กมธ.เสนอเรื่องนี้ไปยังนายกฯ ?เพราะเห็นว่าจำเป็นเร่งด่วน และหากนายกฯ เห็นด้วยแทนที่จะใช้กระบวนการของสภาที่ออกเป็นพระราชบัญญัติ จะทำให้การแก้ไขรวดเร็ว โดยภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. สามารถปรับปรุงได้ แต่หากใช้ขั้นตอนของสภาอาจมีขั้นตอนที่ใช้เวลาเกือบปี ไม่ทันต่อสถานการณ์”
ด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หวังรัฐเร่งเพิ่มมาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งทุน ผ่อนคลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด โดยมี นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ เป็นผู้รับร่างกฎหมายดังกล่าว
นายวรภพกล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีกัดฟันต่อสู้กับวิกฤติมาตั้งแต่ปีก่อน แต่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล จึงได้มาเสนอกฎหมายกดดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการความช่วยเหลือ เพราะมาตรการปัจจุบันล้มเหลว โดยวงเงิน 500,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 ผ่านมาแล้ว 9 เดือน สินเชื่ออนุมัติไปเพียง 123,000 ล้านบาท หรือเพียง 25% เท่านั้นเอง หากนับเป็นรายจำนวนคืออนุมัติไปเพียง 74,000 ราย หรือเพียง 2% จากเอสเอ็มอี 3.1 ล้านรายทั่วประเทศ สะท้อนว่ายังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงมาตรการนี้
นายวรภพกล่าวว่า พรรคจึงเสนอเป็นร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพื่อให้เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้จริง มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ 1.ให้เอสเอ็มอีที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคารสามารถขอกู้ซอฟต์โลนได้ 2.เพิ่มเวลาผ่อนซอฟต์โลนจาก 2 ปี เป็น 5 ปี 3.เพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยจาก 2% เป็น 5% สำหรับผู้กู้ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว และเพดานดอกเบี้ย 7.5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร และ 4.เพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหายกรณีหนี้เสีย จากเดิม 60-70% เป็นไม่เกิน 80% เพื่อให้ธนาคารมั่นใจและกล้าปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี
“นอกจากนี้ ขอให้รัฐออกโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสามารถข้ามวิกฤติได้ทุกราย” นายวรภพกล่าว
วันเดียวกัน นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ระบุว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. มอบนโยบายให้สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครกำหนดมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ค้าและผู้เช่าในตลาดของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ประกอบด้วย ตลาดนัดจตุจักร, ตลาดนัดมีนบุรี และตลาดธนบุรี และมาตรการตลาดชุมชน 7 แห่ง ได้แก่ ตลาดประชานิเวศน์ 1, ตลาดบางกะปิ, ตลาดหนองจอก, ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก, ตลาดรัชดาภิเษก, ตลาดเทวราช และตลาดสิงหา ทั้งนี้ มาตรการก็มีทั้งการขยายอายุสัญญาเช่าแผงค้าต่อไปอีก 1 ปี ลดอัตราค่าเช่า 50% และผ่อนชำระหนี้ค้าง 5 เดือน โดยงดเว้นค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยถ้ามี
       ส่วนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอมาตรการการบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายคราฟท์เบียร์เนื่องจากผลกระทบจากของโควิด-19.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"