'NT'ความหวังใหม่ของวงการโทรคมนาคม


เพิ่มเพื่อน    


    "คาดว่าจะใช้เวลาราวๆ 1 ปีกว่าทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย และได้มีการวางแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี สำหรับเป้าหมายใน 3 เดือนแรกคือ การมีบริการโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ NT Mobile ซึ่งมีคุณภาพและแพ็กเกจบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้"


    แนวคิดการควบรวมกิจการของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ถูกหยิบยกมาพูดกันยาวนานเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่ช่วงหมดยุคสัมปทานคลื่นโทรศัพท์ใหม่ๆ โดยผ่านรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีมาหลายชุด ก็ไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้
    จนกระทั่งมาถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการปักธงชัดเจนว่าจะต้องให้ 2 หน่วยงาน ซึ่งเดิมทีก็มีรากฐานมาจากแหล่งเดียวกัน ให้กลับมารวมกันอีกครั้งให้ได้ และในที่สุดเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จ ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 ให้ดำเนินการควบรวมกิจการระหว่างทีโอที และ กสท โทรคมนาคม และตั้งเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited : NT) ซึ่งมีการจดทะเบียนและเปิดตัวเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา
    การควบรวมกิจการของทั้ง 2 องค์กรนี้กลายเป็นองค์กรใหม่ 'NT' เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้น สามารถต่อสู้กับภาคเอกชนได้อย่างสูสี และยังเป็นกลไกในการผลักดันนโยบายด้านดิจิทัลของภาครัฐในด้านต่างๆ ด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สินทรัพย์ โครงข่ายเทคโนโลยี มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.เสาโทรคมนาคมกว่า 25,000 ต้น 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.ถือครองคลื่นความถี่หลัก เพื่อให้บริการรวม 6 ย่าน มีปริมาณ 600 เมกะเฮิรตซ์ 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,600 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้าเซ็นเตอร์ 13 แห่งทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงจากทุกประเทศในโลก รวมถึงบุคลากรรวม 17,000 คน ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการได้ไม่ยาก
    อย่างไรก็ดี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ผลักดันการควบรวมจนประสบความสำเร็จ เปิดเผยในงานวันจดทะเบียนบริษัทว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านของการควบรวมทั้ง 2 องค์กรคาดว่าจะใช้เวลาราวๆ 1 ปีกว่าทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย และได้มีการวางแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี สำหรับเป้าหมายใน 3 เดือนแรกคือ การมีบริการโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ NT Mobile ซึ่งมีคุณภาพและแพ็กเกจบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้


    และภายในสิ้นปีนี้ หาก กสทช.สามารถเปิดประมูลดาวเทียมได้ NT ก็จะเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าประมูลเพื่อเป็นผู้ให้บริการด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต และน่าจะนำมาเสริมศักยภาพบริการ 5G ได้อีกทางหนึ่ง
    ทั้งนี้ รมว.ดีอีเอสมองเป้าหมายในการทำงานคือ NT จะต้องเป็น 1 ใน 3 บริษัทโทรคมนาคมของประเทศให้ได้
    อย่างไรก็ดี ประเมินที่ทรัพยากรที่ NT มีอยู่ก็ไม่นับว่าขี้เหร่ สามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจได้อย่างสบาย เพราะมีคลื่นความถี่รวมกัน 600 MHz จาก 6 ย่านความถี่ สามารถแข่งขันได้ทั้งในธุรกิจโมบาย, อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์, บริการ 5G, ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส, ธุรกิจคลาวด์และธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งหากวางยุทธศาสตร์ดีๆ และนำทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ย่อมจะทำให้ NT จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในวงการโทรคมนาคมได้ไม่ยาก
    สำหรับแผนธุรกิจที่จะต้องนำไปสู่การวางแผน และทำตลาด เบื้องต้นพิจารณาความชัดเจนของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย) โดยได้สั่งการให้คณะกรรมการบริษัท NT ไปศึกษาดูว่า คลื่น 2100 MHz ที่เหลือการใช้งาน (คาปาซิตี้) 30% และคลื่น 2300 MHz เหลือคาปาซิตี้ 40% จะนำมารวมกับคลื่น 850 MHz ที่มีคาปาซิตี้เหลืออยู่ 30% ได้อย่างไรบ้าง โดยจะทำตลาดเน้นไปที่กลุ่มลูกค้ารัฐ ราชการ หรือขายไปพร้อมกับบริการอินเทอร์เน็ตบ้าน
    ขณะเดียวกัน ในส่วนการให้บริการ 5G มี 2 แนวทาง คือ การปรับคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz มาเป็น 5G ซึ่งในทางเทคนิคสามารถทำได้แต่ไม่ง่าย ดังนั้นเพื่อให้การให้บริการ 5G ทันต่อสถานการณ์ จึงจะมีการแลกเปลี่ยนในข้อสัญญากับเอกชนบางบริษัท โดยนำคลื่น 700 MHz แลกกับคลื่น 2600 MHz คาดว่าจะเห็นความชัดเจนและมีการแถลงข่าวในเร็วๆ นี้
    ส่วนคลื่น 700 MHz ที่ประมูลมา ระบบหลังบ้าน CAT ได้เตรียมไว้ระดับหนึ่ง ถ้าทำครบทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ดีที่สุดและประหยัดคือ หาพันธมิตร ซึ่ง CAT เดิมกำลังหาพันธมิตรอยู่ แต่ยังไม่ได้สรุปว่าเป็นใคร ซึ่งในเงื่อนไข พันธมิตรที่จะเข้ามาพัฒนาคลื่น 700 MHz ต้องเอาคลื่น 5G เช่น คลื่น 2600 MHz มาแลกในการใช้งาน
    นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จะผลักดันอย่างเต็มที่ และจะร่วมวางนโยบาย โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรแก่พนักงานเดิมให้สามารถทำงานภายใต้บทบาทและโครงการใหม่ๆ
    อย่างไรก็ดี มีการประเมินเรื่องการจัดตั้งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติและผลกระทบต่ออุตสาหกรรม จาก บล.ทิสโก้ ระบุว่า บริษัท เอ็นที จะมีรายได้ราว 1 แสนล้านบาท/ปี และมีสินทรัพย์กว่า 2.8 แสนล้านบาท โดยที่ราว 1 แสนล้านบาทเป็นเงินสด โดยเราเชื่อว่าในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทั้ง CAT และ TOT จะยังคงการดำเนินงานแบบเดิม และการควบรวมจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า
    ในมุมมองของเรา ภารกิจแรกของ NT คือ การแก้ปัญหาการออกระบบ 5G แม้ว่าจะมีการเซ็นสัญญาไปแล้วกับหลายบริษัท แต่เราเชื่อว่ากุญแจสำคัญของระบบ 5G คือ การเป็นหุ้นส่วนกับผู้ประกอบการในประเทศ (ADVANC หรือ TRUE) แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการควบรวมยังต้องใช้เวลา และยังไม่ชัดเจนว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดเท่าไหร่ ธุรกิจโทรศัพท์บ้าน, ดาวเทียม, Data Center, การออกมาของระบบ 5G และต้นทุนที่ลดลง
    อย่างไรก็ตามในมุมของผู้บริโภค จากนี้คงจะได้เห็นบริการใหม่ๆ ที่ออกจาก NT มากขึ้น และราคาถูกลง เพราะมีต้นทุนที่ถูกลงหลังจากควบรวมกิจการ ล่าสุดก็มีการเปิดตัวแพ็กเกจใหม่ บริการ NT Broadband เต็มรูปแบบ ซึ่งก็มีการจัดแพ็กได้น่าสนใจ ซึ่งหากโปรโมตได้ดีก็ยังคงแข่งขันกับคู่แข่งภาคเอกชน
    ดังนั้น การเกิดขึ้นของ NT จะทำให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้ามีทางเลือกใหม่ๆ และเป็นความหวังใหม่ที่จะมาสร้างสีสันในวงการโทรคมนาคมอย่างแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"