เลิกเถอะ! "คำขวัญวันเด็ก" 61 ปีไม่เกิดผล


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา “วันเด็ก ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญ”  โดยศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ  อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่างานวันเด็กของประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นเวลา 61 ปี ส่วนใหญ่จะเน้นกิจกรรมการละเล่นที่แต่ละหน่วยงานจัดขึ้น และการให้คำขวัญวันเด็กจากทุกรัฐบาล โดยพบ 6 คำสำคัญที่ถูกใช้ซ้ำ อันดับ 1 วินัยและการเรียน 18 ครั้ง ตามด้วยชาติ 17 ครั้ง คุณธรรม 15 ครั้ง ขยัน 11 ครั้ง ประหยัด สามัคคี ซื่อสัตย์ 9 ครั้ง และประชาธิปไตย 4 ครั้ง ซึ่งล้วนเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมคาดหวังต่อเด็กมาทุกยุคสมัย  ดังนั้น 3 คำที่พบมากสุดคือ “วินัยและการเรียน – ชาติ – คุณธรรม ซึ่งล้วนเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมคาดหวังต่อเด็กมาทุกยุคสมัย   ส่วนคำขวัญวันเด็กประจำปีนี้คือ รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี  จะเห็นได้ว่าคำขวัญแต่ละปีล้วนแต่เน้นเรื่องการเรียนหนังสือ การมีระเบียบวินัย มีคุณธรรม เป็นคนเก่ง คนดี วนเวียนซ้ำไปมา 

    " ที่สำคัญมีการพูดถึงคำว่า ประชาธิปไตย น้อยมาก ส่วนตัว ผมมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับเด็กไทย คือต้องรู้จักกับความเป็นประชาธิปไตย "     ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้   จากผลการสำรวจความคิดเห็นเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในหัวข้อ “วันเด็ก...ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญ”  จำนวน 1,503 คน ระหว่างวันที่ 25 ธ.ค.60 – 8 ม.ค. 61 ว่า ยังพบอีกว่าเมื่อพูดถึงวันเด็ก  คนส่วนใหญ่นึกถึงของขวัญ เช่น รางวัลและของเล่น ตามด้วยของกิน กิจกรรม ความสุข และคำขวัญ

 

    ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวย้ำอีกว่า การที่แต่ละปีคำขวัญวันเด็กที่ออกมา เน้นแต่เรื่องการศึกษา ให้เด็กตั้งใจเรียน เรียนให้เก่ง สอบให้ได้ อยู่ในระเบียบวินัย แต่ขาดการให้สิทธิมีส่วนร่วมของเด็ก แสดงว่า ระบบการศึกษาไทยยังบกพร่องอยู่หลายเรื่อง เช่น ถูกสอนให้นั่งนิ่งในห้องเรียน เป็นระเบียบวินัย คิดตามครู อยู่ในกรอบ อย่าถาม อย่าเถียง ระบบการศึกษาแบบนี้จึงเป็นตัวเหนี่ยวรั้งระบบการคิด พัฒนาการของเด็กมาหลายต่อหลายรุ่น ยืนยันได้เลยว่าหากยังไม่ทำเรื่องปฏิรูปการศึกษาก็อย่าเพิ่งก้าวไป 4.0 เด็กที่จะเก่งต้องผ่านการขัดเกลาทำกิจกรรม ไม่ใช่ผ่านการเรียนหนังสือมากๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ยังขาดคือการให้โอกาสเด็กให้เท่าเทียม เราต่างพูดเป็นวาทกรรมว่าลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ ขับเคลื่อนนโยบายจริงๆ เลยยังไม่พัฒนา 


    ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า แต่เมื่อมองประเทศอื่น จะแตกต่างจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง จะให้ความสำคัญกับเด็กทุกวัน อย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ขณะที่ข้อค้นพบที่น่าสนใจกรณีวันเด็กใน 11 ประเทศ พบว่า มีการจัดทำนโยบายที่สำคัญด้านเด็ก การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม และการรับฟังเสียงเด็ก โดย 1.ประเทศอังกฤษ เด็กมีส่วนร่วมจัดกิจกรรม เช่น จัดตั้งกองทุนอิสระ #iwill เพื่อส่งเสริมให้เด็กเยาวชนอายุ 10-20 ปี เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม 2.โรมาเนีย เด็กมีส่วนร่วมลดความรุนแรงในโรงเรียนและพัฒนาคู่มือเล่นเกมใช้จัดกิจกรรมในสถานศึกษา 3.ฝรั่งเศส มีมาตรการแก้ปัญหาเด็กเติดมือถือ ออกเป็น “กฎระเบียบ ก.ย. 2018” ห้ามนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นใช้มือถือในโรงเรียน 4.ไอซ์แลนด์ แก้ปัญหาวัยรุ่นเป็นนักดื่มหนักที่สุดในยุโรป โดยโครงการ Youth in Iceland  5.ลัตเวีย พยายามลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของชาวโรมาชนกลุ่มน้อยผ่านโครงการฝึกครูผู้ช่วยชาวโรมา เพื่อส่งเสริมให้เด็กโรมาเรียนร่วมกับนักเรียนคนอื่น และพัฒนาชาวโรมาให้เป็นครูผู้ช่วยเพื่อดึงเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา 6.สหรัฐอเมริกา เน้นการแก้ปัญหายาเสพติด เพศ และการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กเยาวชน จึงทำโครงการ Let’s Talk รณรงค์การพูดคุยในครอบครัวเชิงบวก 7.ฟินแลนด์ มี พ.ร.บ.สวัสดิการเด็ก เพื่อปฏิรูปการดูแลเด็กทั่วประเทศ ทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก เงินสนับสนุนเด็กและครอบครัว และกิจกรรมสร้างสรรค์ 8.ออสเตรเลีย ออกกฎหมายและตั้งคณะกรรมการอิสระ รักษาความปลอดภัยสำหรับเด็กบนโลกออนไลน์ พร้อมกับมีบริการสายด่วนให้คำปรึกษาเด็กเยาวชนเพื่อป้องกันความรุนแรงบนโลกไอที

    ประเทศที่รับฟังเสียงเด็ก เช่น 9.สวีเดน มีการสำรวจความคิดเห็นเด็ก 12-16 ปีทั่วประเทศ ในโครงการ Young Voices  เพื่อนำไปสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบาย  10.เยอรมนี ใช้โอกาสวันเด็กรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก เช่นปี 2017 ใช้ชื่อ Give children a voice เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสภาในการกำหนดนโยบาย 11. แคนาดา มี “วันพา ส.ส. ไปโรงเรียน” เป็นกิจกรรมประจำวันเด็กแคนาดา โดยส.ส. จะต้องเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ตนเอง 1 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้ส.ส.และนักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้จักกันและกัน

    "อย่างไรก็ตาม วันเด็กแต่ละปีจัดกิจกรรมแจกของขวัญ ตุ๊กตา ขนม ของเล่น ฯลฯ โดยมักจะอ้างกันว่าช่วยปลูกฝังประชาธิปไตย ความสามัคคี ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะให้เด็ก การทำลักษณะนี้เกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียวเเล้วอีก 364วัน ประเทศไทยทำอะไรเพื่อเด็กบ้าง  ดังนั้นถ้าอยากจะให้ได้ผลดีเราต้องเลิกธรรมเนียมนิยมให้แต่คำขวัญวันเด็ก แล้วไม่เกิดผลอะไร แต่มาปฏิรูปงานวันเด็กใหม่ให้เกิดนโยบายพัฒนาเด็ก ช่วยทำให้เด็ก เป็นผู้มีบทบาทในสังคมมากขึ้น" รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"