กทม.ผ่อนผัน13กิจการแต่ควบคุม


เพิ่มเพื่อน    

 

ยอดติดเชื้อโควิด-19 กลับมาหลักร้อย พบรายใหม่ 142 ราย กระจาย 63 จังหวัด "หมอทวีศิลป์" ยกข้อมูลระบาดรอบใหม่รุนแรงน้อยกว่ารอบแรก ปัด "ดีเจมะตูม" เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ แย้ม “บิ๊กตู่” ถก ศบค.ชุดใหญ่ประเมินผ่อนคลายสิ้นม.ค.นี้ "กทม." ชิงผ่อนผัน 13 กิจการแต่ต้องควบคุม "กมธ." ขอสภาออกใบรับรอง ส.ส.ปลอดเชื้อ "แพทย์" เผย "ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร"  อาการยังทรงตัว ห่วงปอดและการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 21 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 142 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 88 ราย ในจำนวนนี้มาจากการระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 88 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 37 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 17 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 12,795 ราย หายป่วยสะสม 9,842 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,882 ราย มีผู้ป่วยอาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 11 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 71 ราย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกระจายไปใน 63 จังหวัด ล่าสุดคือ จ.เชียงราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ลดลงไป แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะวันนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้นมันขึ้นๆ ลงๆ เราต้องควบคุมโรคให้ได้ ส่วนสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 97,306,536 ราย เสียชีวิต 2,083,257 ราย
    "ในการเปรียบเทียบข้อมูลการระบาดระลอกแรกกับระลอกใหม่ที่เริ่มนับจากวันที่ 15 ธ.ค.63 ถึงวันที่ 20 ม.ค.64 จะเห็นว่ารอบแรกมีผู้ติดเชื้อ 4,237 ราย มีผู้เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.42 ระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อ 8,416 ราย มีผู้เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.13 ราย ทำให้เห็นว่าการระบาดระลอกใหม่รุนแรงน้อยกว่าระลอกแรก แต่ที่ใกล้เคียงกันคือคนเหล่านี้ต่างมีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคปอด มะเร็งปอด และไตวาย ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรคประจำของผู้สูงอายุ" นพ.ทวีศิลป์กล่าว  
    ถามว่ากรณีดีเจมะตูมดารานักแสดงติดเชื้อโควิด-19 จะถือว่า กทม.กำลังมีการแพร่กระจายของเชื้อเป็นวงกว้าง และจำเป็นต้องล็อกดาวน์ให้มีการค้นหาเชิงรุกหรือไม่ โฆษก ศบค.กล่าวว่า กรณีของดีเจมะตูมเพิ่งทราบผลเมื่อคืนวันที่ 20 ม.ค. จึงยังไม่ได้นับรวมกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ของวันนี้ ส่วนที่ถามว่า กทม.เป็นแหล่งกระจายเชื้อหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่า กทม.เป็นศูนย์กลางประเทศที่เดินทางได้ง่าย จึงไม่แปลกที่จะมีการกระจายเชื้อไปทั่ว ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการควบคุมและวางแผนดูแล
    "เร็วไปที่จะสรุปดีเจมะตูมเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่ต้องขอชื่นชมที่ออกมาเปิดเผยไทม์ไลน์อย่างละเอียดตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.มาถึงปัจจุบัน เชื่อมโยงกับหลายๆ ที่ ทั้งสถานที่ทำงาน พฤติกรรมส่วนตัว แต่ถือว่าเก่งที่จำได้ นี่คือความสำคัญที่เราอยากให้แอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อช่วยเก็บความจำ และเมื่อเห็นไทม์ไลน์ของดีเจมะตูมออกมาแล้ว อยากให้คนที่ใกล้ชิดได้แยกแยะความเสี่ยง ถ้าใกล้ชิดมากให้กักตัวเอง ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล หากใครติดใจสงสัยก็สามารถไปตรวจคัดกรองโรคได้" โฆษก ศบค.กล่าว
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขอให้ทุกคนเข้มข้นในการดูแลตัวเอง จะต้องต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. ซึ่งชุดข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะนำมาสู่การออกแบบพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เสี่ยง เพื่อวางแผนกันใหม่อีกรอบหนึ่ง โดยกระทรวงสาธารณสุขกับ ศบค.ชุดเล็กจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ววางแผน เพื่อที่จะให้เกิดภาพว่าจะผ่อนคลายหรือเข้มข้นดี ซึ่งอยู่ที่ช่วงเวลาถึงวันที่ 31 ม.ค.นี้ ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. จะประชุมก่อนสิ้นเดือน ม.ค. จึงขอฝากทุกคนว่าขอให้เข้มข้นกันตอนนี้ เพื่อที่เดือนหน้าเราจะได้สบาย ขอให้ช่วยกันทุกคน
    ส่วน น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลว่า ผลการตรวจทุกคนเป็นผลลบ โดยจะมอบสติกเกอร์ผ่านการตรวจโควิดให้ ต่อไปผู้ที่มารอสัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จะอนุญาตเฉพาะผู้ที่มีสติกเกอร์นี้เท่านั้น
    ขณะที่ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2564 ว่าคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครมีมติผ่อนปรน 13 กิจการที่ให้เปิดได้ แต่ต้องมีมาตรการควบคุม 1.สถานที่ตู้เกม มีมาตรการทำความสะอาดบ่อย สวมหน้ากาก 2.ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต 3.สถานดูแลผู้สูงอายุ ลดเวลาทำกิจกรรม 4.สนามแข่งขัน ยกเว้นมวยม้า ห้ามมีผู้ชม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง มีจำนวนไม่เกิน 300 คน โดยไม่ต้องมีมาตรการ ถ้าเกิน 300 ขออนุญาต 5.สนามพระเครื่อง 6.สถานเสริมความงามที่ไม่มีหมอ 7.สักและเจาะผิวหนัง จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ 8.ออกกำลังกาย ฟิตเนส ยกเว้นอบไอน้ำ 9.สถานบริการนวดแผนไทย สปา ไม่รวมอาบอบนวด 10.สถานที่ฝึกซ้อมมวย ยิม โดยไม่มีคู่ชก ห้ามแข่ง 11.สนามโบว์ลิ่ง สเกต โรเลอร์เบลด 12.สถาบันลีลาศ ห้ามจัดประกวด และ 13.โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. เป็นต้นไป
    ด้านรัฐสภา นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขและคณะ ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติ วิธีการ หรือมาตรการที่ใช้บังคับกรณีเดินทางมาร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมคณะกรรมาธิการของ ส.ส.  
    นายปกรณ์ระบุว่า การที่ ส.ส.ต้องเดินทางมาประชุมสภาหรือการประชุม กมธ. ซึ่ง ส.ส.ส่วนใหญ่มีการเดินทางข้ามจังหวัด และเดินทางมาจากทุกจังหวัดของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้ ส.ส.เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรการ และวิธีการต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง จึงควรกำหนดแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ควรมีหนังสือรับรองการตรวจคัดกรองในเบื้องต้นเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา ให้แก่ ส.ส.ภายหลังเดินทางมาร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือการประชุมคณะกรรมาธิการฯ แล้ว เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการเดินทางกลับจังหวัดของ ส.ส.แต่ละคน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19
    วันเดียวกัน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงความคืบหน้าอาการป่วยของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่าอาการ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา การอักเสบของปอดยังคงให้ยาอยู่ ตอนนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มที่เพื่อให้หลับเต็มที่ ไม่ให้ต้านเครื่องช่วยหายใจ และเนื่องจากให้หลับ ยาที่ให้มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นอาหารบางส่วนต้องให้เสริมทางเส้นเลือด โดยทั่วไปก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าการติดเชื้อคุมไม่อยู่ ส่วนอื่นๆ ดี หมด ชีพจร ความดัน ไม่ต้องให้ยาช่วยความดันหรือกระตุ้นหัวใจ ปัญหาใหญ่ยังคงเป็นการทำงานของปอด
    ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่กำลังคิดตอนนี้คือตกลงการทำงานของปอดที่เหลืออยู่จะเพียงพอหรือไม่หากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ที่เตรียมเอาเครื่องช่วยหายใจออก หลังจากที่นอนหงายได้แต่ท่านเหนื่อย ตราบใดที่ใส่เครื่องช่วยหายใจปัญหาออกซิเจนในเลือดไม่มีแน่นอน แต่หากจะถอดเครื่องช่วยหายใจต้องดูว่าตกลงปอดที่เหลือไหวหรือไม่ จะประเมินในส่วนตรงนี้อย่างไร หากไม่ได้ ต้องจัดการอย่างไรต่อ เป็นโจทย์ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากที่ผ่านมา
    “หากเทียบกับอาการเมื่อวันที่ 20 ม.ค. เรียกว่าใกล้เคียงหรือดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย เพราะไม่ต้องให้ยาความดันหรือกระตุ้นหัวใจ แต่เดิมให้ต่ำๆ ตอนนี้ไม่ต้องใช้ ดังนั้นหัวใจ ชีพจร ความดันปกติ ส่วนยาปฏิชีวนะให้ไป หากจะดูว่าคุมเชื้อได้หรือไม่ ต้องติดตามว่ามีไข้ขึ้นหรือไม่ การทำงานอวัยวะอื่นกระทบหรือไม่ เพราะหากยาคุมเชื้อไม่อยู่เชื้อจะลามมีผลต่ออวัยวะอื่น แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้แบบนั้น เพราะฉะนั้นโดยอาการทางคลินิกถือว่าตอนนี้ยาคุมเชื้อได้อยู่ แต่อยากให้เร็ว เพราะไม่อยากให้เชื้อโรคพัฒนาตัวเองให้ดื้อยา แต่ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานแบบนั้น” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
      คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กล่าวว่า หากย้อนหลังกลับไปวันศุกร์ ท่านยังดีอยู่ วันเสาร์ก็ปกติ และวันอาทิตย์เริ่มไข้ขึ้น ตอนเย็นปอดอักเสบแล้ว แสดงว่าเชื้อในตัวค่อนข้างเยอะ และเชื้อไปจมในปอด จึงเริ่มสตาร์ทยาตั้งแต่วันอาทิตย์เย็น แต่มีบางส่วนที่อาจจะถูกทำลายไป ประกอบกับปัจจัยเรื่องอายุ ซึ่งปอดไม่ 100% อยู่แล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้นเนื้อปอดเหลืออยู่เท่าไหร่ต้องประเมินสถานการณ์จากตอนที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ นอนหงายหายใจได้ดี แต่พอลองเอาเครื่องช่วยหายใจออกไม่พอ ออกซิเจนตกและเหนื่อย เกิดคำถามว่าตอนนี้เนื้อปอดที่เหลืออยู่เพียงพอต่อการที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าสมมติรอบนี้การหายใจที่แย่ลงเกิดจากการติดเชื้อในปอด หลังจากให้ยาปฏิชีวนะไป ฆ่าเชื้อได้ดี ปอดคงจะฟื้นตัวกลับมาได้
    "ตอนนี้อยากให้เป็นแบบนั้น แต่เผื่อแผนสองไว้ หากไม่ใช่ตามนั้น แสดงว่าตัวเนื้อปอดเองไม่ไหว ก็ต้องคิดวิธีอื่นๆ ตอนนี้ต้องอยู่ในไอซียู เพราะมีเครื่องมือและแพทย์อยู่ตลอดเวลา การให้ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่การติดเชื้อในปอดต้องดูไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์แน่นอน และดูจากอาการหากมีไข้แสดงว่าอาจจะไม่ได้ผล แต่ก็ต้องเอกซเรย์ปอดร่วมด้วยว่ามีไข้จากสาเหตุอื่นหรือไม่ ปอดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนั้นห้องไอซียูสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ตลอด หากปอดเริ่มเคลียร์ ไม่มีไข้ แปลว่าการอักเสบดีขึ้น จะสามารถเอาเสมหะไปตรวจเป็นระยะว่ายังมีเชื้ออยู่หรือไม่ ใช้เหล่านี้ประกอบการตัดสินใจ สรุปว่าตอนนี้ปัญหาที่ยังเป็นห่วงคือเรื่องปอดว่าเนื้อปอดเป็นอย่างไร และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ต้องดูสถานการณ์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กล่าว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"