รู้จักไทยนิยมแต่ไม่รู้ทำอะไร


เพิ่มเพื่อน    

    คราวนี้ของจริง กรมประชาสัมพันธ์จับมือนิด้าโพลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “ไทยนิยม ยั่งยืน” ตบหน้ารัฐบาลฉาดใหญ่ ร้อยละ 41.46 รู้จักแต่ไม่รู้ทำอะไร ส่วน 20.73% ไม่รู้ไม่เห็นไม่เคยได้ยิน "ไก่อู" เผยนายกฯ สนใจข่าวเกษตรกรเอาหัวรถไถไปจำนำ วอนอย่าโยงการเมือง เพราะเป็นทางเลือกฉุกเฉินที่มีมานานแล้ว เป็นเรื่องปกติหลังเหตุน้ำท่วม ยันรัฐบาลเปิดโอกาสให้เกษตรกรนำอุปกรณ์ทางการเกษตรไปจำนำได้
    กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง โครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 เมษายน-1 พฤษภาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,050 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการรับรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นที่มีต่อโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บวิธีด้วยวิธีการลงพื้นที่สัมภาษณ์แบบพบตัว โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95
    จากการสำรวจเมื่อถามถึงโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.46 เคยได้ยินชื่อโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” มาบ้าง แต่ไม่รู้ว่าทำอะไร, ร้อยละ 37.81 ระบุว่ารู้จักโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” และร้อยละ 20.73 ระบุว่าไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” เลย
    สำหรับช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ โครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.77 ระบุว่าเคยได้ยินหรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารของโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ รองลงมา ร้อยละ 52.00 จากผู้นำชุมชน, ร้อยละ 29.97 จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ร้อยละ 24.74 จากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook หรือ Line, ร้อยละ 17.35 ครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จัก, ร้อยละ 14.71 สื่อวิทยุ, ร้อยละ 6.58 สื่อสิ่งพิมพ์, ร้อยละ 5.05 ป้ายประกาศ แผ่นพับ หรือใบปลิว, ร้อยละ 0.92 ช่องทางอื่น ๆ เช่น การลงพื้นที่ ของนายกรัฐมนตรี หรือเสียงตามสายภายในชุมชน และร้อยละ 0.62 ทางเว็บไซต์ เช่น Mthai Manager เป็นต้น
    ส่วนความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” จากผลสำรวจพบว่า โดยภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ ระบุว่า “ค่อนข้างเข้าใจ” ในหลักการหรือแนวคิดของโครงการ เมื่อพิจารณาตามกรอบการดำเนินการทั้ง 10 เรื่อง ดังนี้ (1) เรื่องสัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง ร้อยละ 51.71 (2) เรื่องคนไทยไม่ทิ้งกัน ร้อยละ 47.27 (3) เรื่องชุมชนอยู่ดีมีสุข ร้อยละ 48.39 (4) เรื่องวิถีไทยวิถีพอเพียง ร้อยละ 45.22 (5) เรื่องรู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย ร้อยละ 44.78 (6) เรื่องรู้กลไกการบริหารราชการ ร้อยละ 47.27 (7) เรื่องรู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม ร้อยละ 48.20 (8) เรื่องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ร้อยละ 48.78 (9) เรื่องร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 47.51 และ (10) เรื่องงานตามภารกิจ ของทุกหน่วยงาน ร้อยละ 46.34
    เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ตามกรอบการดำเนินการทั้ง 10 เรื่อง (เฉพาะผู้ที่เข้าใจ หรือค่อนข้างเข้าใจเกี่ยวกับหลักการหรือแนวคิดของโครงการ) พบว่า (1) เรื่องสัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง ร้อยละ 49.93 ค่อนข้างเห็นด้วย (2) เรื่องคนไทยไม่ทิ้งกัน ร้อยละ 58.02 เห็นด้วยมากที่สุด (3) เรื่องชุมชนอยู่ดีมีสุข ร้อยละ 54.80 เห็นด้วยมากที่สุด 
อยากให้รัฐบาลส่งเสริมอาชีพ
    (4) เรื่องวิถีไทยวิถีพอเพียง ร้อยละ 57.88 เห็นด้วยมากที่สุด (5) เรื่องรู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย ร้อยละ 50.40 เห็นด้วยมากที่สุด (6) เรื่องรู้กลไกการบริหารราชการ ร้อยละ 53.94 ค่อนข้างเห็นด้วย (7) เรื่องรู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม ร้อยละ 51.72 ค่อนข้างเห็นด้วย (8) เรื่องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ร้อยละ 50.33 ค่อนข้างเห็นด้วย (9) เรื่องร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 55.80 เห็นด้วยมากที่สุด และ (10) เรื่องงานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน ร้อยละ 49.50 เห็นด้วยมากที่สุด
    ความต้องการและความคิดเห็นเพิ่มเติมที่ตัวอย่างต้องการให้รัฐบาลดำเนินงานในโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และเพิ่มสวัสดิการให้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุไร้ญาติหรือไร้ที่อยู่ ร้อยละ 15.53, อันดับ 2 อยากให้รัฐบาลเพิ่มราคาพืชผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น เช่น ข้าว ข้าวโพด เป็นต้น ร้อยละ 13.11
    อันดับ 3 อยากให้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ร้อยละ 11.29, อันดับ 4 อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยหรือคนจนอย่างทั่วถึง ร้อยละ 8.13, อันดับ 5 อยากให้พัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตรให้มากขึ้น เช่น สนับสนุนที่ดินทำการเกษตร จัดสรรแหล่งน้ำทำการเกษตร มีตลาดรองรับสินค้าทางการเกษตร เป็นต้น     ร้อยละ 6.67
    อันดับ 6 อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ร้อยละ 5.83, อันดับ 7 อยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และโปร่งใส ร้อยละ 4.98, อันดับ 8 อยากให้รัฐบาลเพิ่มเงินสวัสดิการของรัฐให้มากขึ้น และอยากให้ช่วยส่งเสริมการศึกษาและจัดกองทุนการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาสหรือเด็กยากจน ร้อยละ 4.61, อันดับ 9 อยากให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาชุมชน ร้อยละ 3.64 และอันดับ 10 อยากให้รัฐบาลปราบปราม และแก้ปัญหาการทุจริต ร้อยละ 3.16
    สำหรับความคาดหวังของประชาชนต่อผลการดำเนินงานโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.39 ค่อนข้างคาดหวังว่าผลการดำเนินโครงการจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และร้อยละ 30.25 คาดหวังว่าผลการดำเนินโครงการจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินโครงการ จะทำให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถนำเงินไปใช้จ่ายแบ่งเบาภาระในครัวเรือนได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ได้รับความรู้และความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ 
เข้าใจความต้องการ
    รวมถึงหลักการหรือแนวคิดตามกรอบการดำเนินงานทั้ง 10 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด การยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างจิตสำนึกที่ดี การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการบริหารงานราชการในระดับต่างๆ ถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะทำให้รัฐบาลเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และมีหลักการดำเนินงานที่ชัดเจน ประชาชนสามารถเห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการทำโครงการได้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ของรัฐบาลจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
    นอกจากนี้ พบว่ายังมีประชาชนบางส่วน ร้อยละ 13.51 ไม่ค่อยคาดหวังว่าผลการดำเนินโครงการจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และร้อยละ 4.78 ไม่คาดหวังเลยว่าผลการดำเนินโครงการ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินโครงการยังขาดความต่อเนื่อง และวงเงินงบประมาณมีอยู่อย่างจำกัด จึงไม่สามารถเห็นผลสำเร็จของโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม 
    อีกทั้งการประชาสัมพันธ์และการกระจายข้อมูลข่าวสารยังไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนไม่ทราบรายละเอียดและประโยชน์ที่แท้จริงจากการทำโครงการ ที่สำคัญประชาชนมองว่ายังขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้กระทั่งในกลุ่มประชาชนเอง ทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ยาก จึงไม่สามารถเข้าถึง และแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างตรงจุด
    เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมในโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.98 ระบุว่าจะเข้าร่วมเวทีประชาคมรับฟังหลักการและแนวคิดของโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”, ร้อยละ 55.02 ระบุว่าจะร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนในโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”, ร้อยละ 48.66 ระบุว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น ตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีปัญหาสภาพคล่องช่วงใกล้เปิดเทอม โดยรัฐบาลห่วงใยและมีทางเลือกให้ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างหลากหลาย โดยไม่ต้องไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ 
รัฐบาลไฟเขียวเข้าโรงจำนำ
    ทั้งโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินของ ธ.ก.ส.และ ธ.ออมสิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท โครงการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) รายละไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งมีประชาชนไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และยังให้สถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเตรียมเงินให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระผู้ปกครอง ในระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.61 โดยหากเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท จะคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ต่อเดือน ส่วนเงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังให้ความสนใจข่าวที่เกษตรกรนำหัวรถไถไปจำนำที่โรงรับจำนำของเทศบาลเมืองชุมแสง จ.นครสวรรค์ และมีคนฉวยโอกาสนำไปอ้างว่ารัฐบาลบริหารงานไม่ดี จึงทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ โดยนายกฯ ไม่อยากให้นำความเดือดร้อนของประชาชนไปเชื่อมโยงกับประเด็นการเมือง หากจะวิพากษ์วิจารณ์ ก็ขอให้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง
    “การนำทรัพย์สินไปจำนำถือเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนที่ต้องการใช้เงินฉุกเฉิน ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และช่วงใกล้เปิดเทอมจะมีปริมาณการใช้บริการมาก ถือเป็นเรื่องปกติ และยังขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละช่วงด้วย เช่น หลังเกิดเหตุน้ำท่วมเกษตรกรก็จะนำหัวรถไถไปจำนำกันมาก เป็นต้น ส่วนภาพที่เห็นว่าขณะนี้มีหัวรถไถถูกนำไปจำนำเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากโรงรับจำนำของพื้นที่ใกล้เคียงใน อ.บางมูลนาก และตะพานหิน จ.พิจิตร ไม่ได้รับจำนำอุปกรณ์ทางเกษตร เพราะเป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เกษตรกรจึงต้องนำไปจำนำที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์”
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ทอง นาก เพชร และเครื่องรูปพรรณ เงินรูปพรรณ นาฬิกาข้อมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เป็นทรัพย์สินที่มีการนำไปจำนำมากที่สุดตามลำดับ ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรมีจำนวนน้อยที่สุด และมีปริมาณการจำนำใกล้เคียงกับทุกปี อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรนำอุปกรณ์ทางการเกษตรไปจำนำได้ เพิ่มเติมจากทรัพย์สินประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม นายกฯ อยากให้คนไทยทุกคนสร้างวินัยการออมเพื่ออนาคตในระยะยาวด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"