สมุทรสาครยังไม่จบ! เชิงรุกพบอีก148ราย


เพิ่มเพื่อน    

 

ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ชายชาวพิจิตร มีโรคประจำตัว โล่งอก "หมอทวีศิลป์" ตรวจเชื้อแล้วผลเป็นลบ ไม่ต้องกักตัวเพราะอยู่วง 2 ขณะที่ศบค.ชุดเล็กหารือ ผ่อนคลายพื้นที่เสี่ยงหลังมีแนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น
    เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 180 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 69 ราย (สมุทรสาคร 56 ราย, กรุงเทพฯ 5 ราย, อ่างทอง 1 ราย, สมุทรสงคราม 5 ราย, สมุทรปราการ 1 ราย และระยอง 1 ราย) จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 111 ราย (จังหวัดสมุทรสาคร 107 ราย และกรุงเทพฯ 4 ราย) และการติดเชื้อในคนไทยหรือชาวต่างชาติที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ  เข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 18 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้ป่วยสะสม 13,302 ราย ยอดหายป่วยสะสม 10,448 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2,782 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 72 ราย
    ผู้ช่วยโฆษกฯ กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ เป็นชายไทยอายุ 81 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดพิจิตร มีโรคประจำตัวโรคเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวที่เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาคร โดยวันที่ 31 ธ.ค. มีอาการหน้ามืดและเข้ารับการรักษาตัว วันที่ 2 ม.ค.มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ถ่ายเหลว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากได้ประวัติจากญาติที่มีอาการติดเชื้อโควิด-19
    ต่อมาวันที่ 3 ม.ค. ผลยืนยันติดโควิด-19 ได้เข้าห้องแยกโรค ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น วันที่ 4 ม.ค. มีอาการปอดอักเสบรุนแรง เหนื่อยมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ในวันที่ 9 ม.ค. อาการดีขึ้น จนสามารถเอาท่อช่วยหายใจออก กระทั่งวันที่ 15 ม.ค. มีอาการไข้ ไอ เหนื่อยมากอีกครั้ง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ และอาการแย่ลงไม่ตอบสนองต่อการรักษา และวันที่ 22 ม.ค. เสียชีวิต ในเวลา 22.30 น. สำหรับสถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 98,742,691 ราย เสียชีวิตสะสม 2,116,319 ราย
    พญ.พรรณประภากล่าวอีกว่า ส่วนรายงานสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ของไทยตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 9,065 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อในประเทศ 3,987 ราย และการติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 4,495 ราย  
    ผู้ช่วยโฆษกฯ กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ประกาศข่าว NBT ที่ติดเชื้อจนทำให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ต้องไปตรวจหาเชื้อนั้น ผู้ติดเชื้อถือว่าอยู่ในวงแรก นพ.ทวีศิลป์และทีมงานอยู่ในวงที่สอง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ วันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ไปตรวจเชื้อแล้วผลเป็นลบ ขณะที่ผู้ดำเนินรายการของ NBT ที่มาทำงานที่ ศบค.ทั้ง 2 คนก็ได้ไปตรวจเชื้อและผลเป็นลบด้วยเช่นกัน หลังจากนี้ก็ต้องกักตัวเอง ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ที่เป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำนั้น เมื่อผลเป็นลบก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปในที่ชุมชน โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา และจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อในเร็วๆ นี้  
    ด้าน นพ.ทวีศิลป์เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก "More ทวีศิลป์" ว่า ไม่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโควิด-1 เนื่องจากอยู่ในวงที่ 2 ของผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวของสถานี NBT โดยกรมควบคุมโรคมีข้อปฏิบัติคือให้สังเกตอาการ หลีกเลี่ยงไปที่ชุมชน และใส่หน้ากากอนามัย โดยมีเพียงผู้สัมผัสที่อยู่ในวง 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยเท่านั้นที่ต้องกักตัว
         โฆษก ศบค.ยกตัวอย่างว่า กรณีของ 'พิธีกรสอร์' ผู้ที่อยู่ในวงที่ 1 คือพิธีกร 2 คน ซึ่งผลการตรวจไม่พบเชื้อแต่ต้องกักตัว ส่วนผู้ที่อยู่ในวงที่ 2 คือเป็นผู้ใกล้ชิดกับพิธีกรทั้ง 2 คน ซึ่งทั้งหมดมีผลการตรวจไม่พบเชื้อ และขอให้แก้ไขพาดหัวข่าว ยืนยันว่า ศบค.ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ และในวันจันทร์จะไปทำงานตามปกติ
ศบค.วงเล็กหารือปลดล็อก
    ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ชุดเล็ก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมถึง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค โดยที่ประชุมหารือประเมินสถานการณ์ก่อนถึงวันที่ 31 ม.ค. เพื่อวางแผนการออกแบบพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เสี่ยง และประเมินสถานการณ์เพื่อตัดสินใจว่าจะผ่อนคลายหรือเข้มมาตรการใด
    รวมทั้งนำข้อเสนอของแต่ฝ่ายมาพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งการเปิดการเรียน การเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดตลาดกลางกุ้งที่สมุทรสาคร ตามกำหนดวันที่ 26 ม.ค. รวมถึงประเด็นอื่นๆ ซึ่งข้อสรุปทั้งหมดจะนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 25 ม.ค. ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 26 มกราคมอีกครั้ง
     นพ.โอภาสให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า มาตรการต่างๆ ที่จะออกมา ต้องดูข้อมูลรายละเอียดในสัปดาห์หน้า เพื่อดูว่าข้อมูลมีความสอดคล้องกับแนวโน้มที่เราคิดไว้หรือไม่ ถ้าสอดคล้องกัน ก็แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่เหลือจุดที่เราต้องให้ความสำคัญคือที่ จ.สมุทรสาคร และที่ประชุมก็เน้นหนักไปที่ จ.สมุทรสาคร ส่วนมาตรการที่เราจะผ่อนคลายต่างๆ ก็ต้องดูสถานการณ์สัปดาห์หน้าเช่นกัน
    เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่าจะเปิดตลาดกลางกุ้งที่ จ.สมุทรสาคร หรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรคตอบว่า แนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบมาคือพยายามยึดหลักของการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลัก และที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกันว่า น่าจะมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ เข้าไป เพื่อให้สถานการณ์ที่ดีขึ้นอยู่แล้วดีขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งหลังจากนี้ก็จะมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม
    ซักว่ามีแนวโน้มว่าจะคลายล็อก จ.สมุทรสาครด้วยใช่หรือไม่ นพ.โอภาสตอบว่า ส่วนนี้ก็ต้องดูข้อมูลของสัปดาห์หน้าอีกครั้ง ที่จะมีมาตรการตรวจปูพรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ทางเอกชนและโรงงานต่างๆ มาร่วมด้วยช่วยกันมากขึ้น
    เมื่อถามว่า สถานการณ์ในพื้นที่ กทม. ยังมีความกังวลอยู่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า จากข้อมูลที่นำมาเสนอในที่ประชุมวันนี้พบว่าสถานการณ์ใน กทม.ยังค่อนข้างคงตัว อยู่ในระดับที่เราค่อนข้างพอใจ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ กทม.ที่เป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ จะมีการตรวจพื้นที่เชิงรุกมากขึ้นเช่นเดียวกัน
    “สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เรื่องการตรวจอย่างเดียว แต่ต้องมีความร่วมมือของประชาชนด้วย เช่น เรื่องการเว้นระยะห่าง ก็ต้องมีเพิ่มเติม โดยจุดที่เราเห็นเป็นปัญหาของ กทม. คือเมื่อมีคนติดเชื้อ 1 คน คนในครอบครัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยง และเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในที่ทำงานคือการนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น แต่ละองค์กรจะต้องจัดพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่ และพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันหลายๆ คน เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่เราเห็นได้ค่อนข้างชัด” นพ.โอภาสกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับมาตรการการป้องกันโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น ภายหลังจากวันที่ 22 ม.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นศูนย์การปฏิบัติงาน ศบค. รวมทั้งห้องปฏิบัติการสื่อมวลชนและจุดอื่นๆ ภายในทำเนียบรัฐบาล อีกทั้งหลังจากนี้ทำเนียบฯ จะดำเนินการฉีดพ่นฆ่าเชื้อทุกวันเพื่อสร้างความมั่นใจ
    ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครรายงานข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ณ เวลา 17.00 น.วันที่ 23 ม.ค.64 ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 148 ราย เป็นการพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจในโรงพยาบาล 76 ราย เป็นคนไทย 50 ราย ต่างด้าว 26 ราย ค้นหาคัดกรองเชิงรุก 72 ราย เป็นคนไทย 2 ราย ต่างด้าว 70 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
          รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่มีการระบาดรอบใหม่อยู่ที่ 5,493 ราย เป็นการพบผู้ติดเชื้อจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 4,221 ราย เป็นคนไทย 391 ราย ต่างด้าว 3,830 ราย พบเชื้อจากการตรวจในโรงพยาบาล 1,272 ราย เป็นคนไทย 787 ราย ต่างด้าว 485 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหาย/จำหน่ายเคสแล้ว 3,403 ราย (เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 62 ราย) เป็นคนไทย 1,008 ราย (เพิ่มขึ้น 26 ราย) ต่างด้าว 2,395 ราย (เพิ่มขึ้น 36 ราย) มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เมื่อวันที่ 5 ม.ค.64
         สำหรับผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างการดูแลรักษามีทั้งหมด 2,088 ราย เป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 401 ราย แบ่งเป็นคนไทย 168 ราย ต่างด้าว 233 ราย อยู่ในสถานที่กักตัวเพื่อสังเกตอาการ 1,687 ราย เป็นต่างด้าวทั้งหมด
         ส่วนการตรวจค้นหาเชิงรุกในชุมชนได้ดำเนินการเพิ่มเติมในวันนี้ 1,194 ราย มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มอีก 4,335 ราย รวมจำนวนการค้นหาเชิงรุกนับตั้งแต่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากตลาดกลางกุ้งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ทั้งสิ้น 60,956 ราย ได้รับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการรวมแล้ว 57,674 ราย มีผลเป็นบวก (พบเชื้อ) รวม 4,221 ราย เป็นคนไทย 391 ราย ต่างด้าว 3,830 ราย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"