ไฟเขียวนำเข้าวัคซีน บิ๊กตู่เปิดช่องเอกชนแต่ต้องขึ้นทะเบียน'อย.'ก่อน


เพิ่มเพื่อน    


    "ในหลวง-พระราชินี" พระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษเคลื่อนที่ต้นแบบ คัดกรองโควิดเชิงรุก "ศบค." พบผู้ติดเชื้อใหม่ 198 ราย เศร้า! หญิงไทยวัย  73 ชาวสมุทรสาครเสียชีวิตอีกราย ลุ้นคลายล็อกเปิดเรียนต้น ก.พ. "บิ๊กตู่" ไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ขอให้ขึ้นทะเบียนกับ อย.เพื่อมั่นใจว่าปลอดภัย "อนุทิน" ปัดเปิดสัญญาแอสตร้าเซนเนก้ากับสยามไบโอไซเอนซ์ แจงเป็นเรื่องระหว่างเอกชน "ทว." วุ่น ตร.ติดโควิด 
    เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินี ที่ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และทรงคำนึงถึงความยากลำบากของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและในพื้นที่แออัด และเพื่อให้สามารถเข้ารับบริการตรวจหาโควิด-19 ได้รวดเร็ว  ซึ่งกลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่อีกครั้ง จึงมีพระราชดำริให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมผู้เชี่ยวชาญสร้างและพระราชทาน รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษเคลื่อนที่ต้นแบบ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ แล้ว โดยจะใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่และทราบผลรวดเร็ว ซึ่งได้นำมาใช้ครั้งแรกในการค้นหาเชิงรุกกรณีพบผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 (NBT) ติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ตรวจจำนวน 222 ตัวอย่าง  ได้ผลที่รวดเร็วตามที่คาดหมาย
    นพ.โอภาสกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของรถพระราชทานนี้ เพื่อเสริมการปฏิบัติงานของบุคลากรด้านสาธารณสุข  ให้สามารถเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลการตรวจในพื้นที่ที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์สูงสุด อันเป็นการลดปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสิ่งส่งตรวจกลับมาตรวจที่หน่วยงาน ที่โดดเด่นคือสามารถนำไปใช้วิเคราะห์เชื้ออื่นๆ ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลิเมอเรส  (Real Time Polymerase Chain Reaction (PCR)) โดยใช้เวลาวิเคราะห์เพียง 3 ชั่วโมง และวิเคราะห์ได้ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบต่อเครื่อง
    สำหรับรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร ภายในมี 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม, ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลิเมอเรส ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตรวจวิเคราะห์ผลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ  สะดวกและปลอดภัย มีห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ, ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR  cabinet), เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ, เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลิเมอเรส  (Real-Time PCR), ตู้แช่แข็ง -20 องซาเซลเซียส, ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส, ช่องส่งตัวอย่าง, เครื่องเขย่าผสมสาร, เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน, ไมโครปิเปต, ระบบยูวีฆ่าเชื้อ, ระบบสื่อสารสองทาง, ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ
    "นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น หาที่สุดมิได้ โดยตั้งแต่ที่ได้พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จนถึงปัจจุบัน รถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนส่งต่อน้ำพระราชหฤทัย เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คนไทยทั่วประเทศ ด้วยปฏิบัติการตรวจบุคคลทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงแบบเชิงรุก รวมกว่า 80,000 ราย  เข้าถึงชุมชน ควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว อยู่ระหว่างจัดสร้างรถชีวนิรภัยเพิ่มอีก 7 คัน รวมเป็น 20 คัน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ในระบบเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกทั่วประเทศ" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว 
ลุ้นเปิดโรงเรียนต้น ก.พ.
    ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 191 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 118 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 73  ราย ในจำนวนนี้มาจาก จ.สมุทรสาคร 72 ราย สัญชาติไทย  2 ราย และแรงงานเพื่อนบ้าน 70 ราย และค้นหาเชิงรุกที่  จ.ระยอง 1 ราย นอกจากนี้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7  ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 13,500 ราย หายป่วยสะสม 10,567 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2,860 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในส่วนผู้เสียชีวิตเป็นหญิงไทยจาก จ.สมุทรสาคร อายุ 73 ปี มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม ลมชัก มีประวัติสัมผัสบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อ มีอาการไอ มีเสมหะ อ่อนเพลียตั้งแต่วันที่ 4  ม.ค.และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรสาคร จากนั้นวันที่ 7 ม.ค.ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และมีผลยืนยันว่าติดเชื้อวันที่ 9 ม.ค. ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ปอดอักเสบรุนแรง จนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลตากสิน 
    จากนั้นวันที่ 9-20 ม.ค.มีอาการดีขึ้น เอาเครื่องช่วยหายใจออกได้ แต่ยังมีเสมหะเหนียวข้น ต้องใช้เครื่องดูดเสมหะ กระทั่งวันที่ 23 ม.ค.เรียกแล้วไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น แพทย์ใช้เวลากู้ชีพ 30 นาที แต่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 73  ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสมใกล้ถึงร้อยล้านรายแล้ว โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 99,322,604 ราย เสียชีวิต  2,130,293 ราย 
    "ดูแนวโน้มการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.จนถึงปัจจุบันกราฟขึ้นๆ ลงๆ แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ และถ้าดูตัวเลขติดเชื้อรายสัปดาห์ สัปดาห์ที่หนึ่งของปี 64 มีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 39 จังหวัด สัปดาห์ที่สองมีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 30  จังหวัด สัปดาห์ที่สามมีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 24 จังหวัด และวันที่ 24 ม.ค.ซึ่งเป็นวันแรกของสัปดาห์ที่สี่ มีการติดเชื้อ 7  จังหวัด จึงอยากให้ทุกจังหวัดช่วยกันเฝ้าระวัง" พญ.อภิสมัยกล่าว
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้พูดถึงการค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร โดยตั้งแต่วันที่  19-24 ม.ค. ผ่านไป 5 วันมีการตรวจเชื้อไปแล้ว 60,000-70,000 ราย พบผู้ติดเชื้อ 5,532 ราย หรือคิดเป็นประมาณ  7% ยกตัวอย่างตรวจ 100 คนเจอ 7 คน แต่นี่เป็นการประมาณการเพื่อจะกำหนดมาตรการ ตัวเลขจริงอาจจะน้อยกว่าก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปตามตัวเลขที่ประมาณการ อีก 5  วันถัดไปในสัปดาห์หน้าจะพบผู้ติดเชื้อ 2,000-3,000 ราย  เราจะได้เตรียมพร้อมในการรักษา ซึ่งใน จ.สมุทรสาคร พยายามตรวจเชิงรุกอย่างเต็มที่ ตั้งเป้าตรวจให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์เพื่อให้ จ.สมุทรสาครมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น
    "มาตรการเข้มข้นดังกล่าวจะนำไปสู่การวางแผนลดหย่อนมาตรการ เนื่องจากมีคนถามเข้ามาว่าโรงเรียน  ตลาดกุ้ง และร้านอาหารต่างๆ จะมีการผ่อนคลายหรือไม่  ทั้งนี้เราตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จทั้งจังหวัดภายในสัปดาห์หน้า  และวันที่ 1-7 ก.พ.จะมีการเก็บรายละเอียดในพื้นที่เสี่ยง  เพื่อวันที่ 8-15 ก.พ.การติดเชื้อจะเบาบางลง เพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งสมุทรสาครจะเป็นตัวอย่างให้ทั้งประเทศที่จะทำควบคู่กันไป อย่างไรก็ตามสัปดาห์หน้าจะเข้มข้นมาตรการที่สุด ถ้าตัวเลขดีต่อเนื่องภายในต้นเดือน ก.พ.อาจมีสถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนได้ในบางพื้นที่ และถ้าตัวเลขดีเช่นนี้คาดว่าในสัปดาห์หน้าก็จะได้ยินข่าวดีมีมาตรการผ่อนคลายในหลายจุด" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว 
เอกชนนำเข้าวัคซีนได้
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีนโยบายให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยขอให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ อย.จะพิจารณาตรวจสอบวัคซีนที่จะขอนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินก่อนนำไปใช้จริง โดย อย.จะประเมินทั้งในด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านประสิทธิผลของวัคซีนว่าเหมาะสมกับคนไทยหรือไม่ โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลเอกสารหลักฐาน  เพื่อประเมินคุณสมบัติของวัคซีนทั้ง 3 ด้านดังกล่าว
    "อย.ได้ปรับการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ด้วยการระดมเพิ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด แต่ยังคงไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน" นายอนุชากล่าว
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความต้องการใช้สูงทั่วโลก อีกทั้งวัคซีนที่มีอยู่เพิ่งเสร็จจากงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตของแต่ละบริษัท ดังนั้นการนำเข้าวัคซีนต้องมั่นใจว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล  เนื่องจากวัคซีนที่ อย.รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง
    ส่วน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณและเป็นกำลังใจให้คณะแพทย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากรสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง  ทหาร ตำรวจ ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทำงานอย่างหนักเพื่อป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเกิดกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.63 ซึ่งหลายภาคส่วนได้เสียสละทำงานอย่างไม่มีวันหยุดเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว
    "รัฐบาลยังต้องขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดความเสี่ยงการติดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการงดการเดินทางโดยไม่จำเป็น งดเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง งดการรวมกลุ่ม  สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ ฯลฯ และขอบคุณประชาชนที่ให้ความมือเป็นอย่างดีเสมอมา โดยหลังจากนี้จะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ตามลำดับ แต่ต้องไม่ประมาท การ์ดไม่ตก" รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
    วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงกรณีมีการระบุการจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ล่าช้าว่า การดำเนินการไม่ได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น แต่ต้องยึดหลักความปลอดภัยและคุณภาพของวัคซีน ซึ่งการจัดซื้อมีขั้นตอน ไม่ใช่สั่งซื้อแล้วจะได้ของทันที อีกทั้งการจัดซื้อวัคซีนยังติดเงื่อนไขของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่การจ่ายเงินซื้อจะต้องมีสินค้าอยู่จริง ซึ่งแตกต่างกับบางประเทศที่ยอมเสี่ยงจ่ายเงินไปก่อน โดยยังไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะหากเกิดความเสียหายเงินที่จ่ายไปก็จะสูญเปล่า 
    ถามถึงเรื่องที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้เปิดสัญญาการจัดซื้อวัคซีนที่ทำกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กับบริษัท  สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด นายอนุทินกล่าวว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากคู่สัญญาเป็นเอกชนทั้งคู่และอยู่เหนือการควบคุมของรัฐ
    "ขอยืนยันไม่ใช่วัคซีนผูกขาด เพราะมีการเจรจาซื้อหลายบริษัท ซึ่งเรื่องวัคซีนคนที่รู้ดีที่สุดคือหมอและคณะกรรมการวิชาการที่ตั้งขึ้นมาศึกษาการใช้วัคซีนโดยเฉพาะ  รัฐมนตรีมีหน้าที่เห็นชอบตามที่คณะกรรมการวิชาการเสนอเรื่องมา ซึ่งข้อมูลที่นายธนาธรนำมาเปิดเผยปราศจากข้อเท็จจริง" นายอนุทินกล่าว
    ซักถึงเรื่องที่ไม่มีบริษัทผลิตวัคซีนอื่นมาขอจดทะเบียนกับ อย.ไทย รองนายกฯ และ รมว.สธ.กล่าวว่า  เราไม่ได้ปิดกั้น แต่การจดทะเบียนช่วงนี้เป็นการใช้ตามสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ EUA ไม่ใช่การจดทะเบียนเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น
ตำรวจ ทว.ติดเชื้อโควิด
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร.กล่าวว่า ได้รับรายงานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ติดเชื้อโควิดจำนวน 1  ราย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งตัวตำรวจรายดังกล่าวเข้ากักตัวและทำการรักษาแล้ว ส่วนสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.) นั้น พล.ต.ท.วิเชียร ตันตะวิริยะ  ผบช.สพฐ.ได้สั่งการให้ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณอาคารที่ทำการของ สพฐ.และ ทว.ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว โดยในวันที่ 25 ม.ค.นี้จะได้ดำเนินการสอบสวนโรคกลุ่มผู้สุ่มเสี่ยง และดำเนินการตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อย่างเคร่งครัด 
    "ส่วนของมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม ก็ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติตามแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดไว้แล้ว และขอฝากความห่วงใยไปถึงพี่น้องประชาชน และพี่น้องข้าราชการตำรวจรวมถึงครอบครัว  โดยขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็ว" โฆษก ตร.กล่าว 
    มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทว.ที่ติดโควิดเป็นตำรวจระดับสารวัตร และเป็นลูกชายอดีตตำรวจระดับนายพล ซึ่งคาดว่าติดเชื้อมาจากกลุ่มของดีเจมะตูม
    ที่ จ.สงขลา นายกิตติ เรืองเริงกุลฤทธิ์ ปลัดเทศบาลนครหาดใหญ่ ในฐานะรักษาการนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ กล่าวถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ว่า  เทศบาลนครหาดใหญ่มีศักยภาพที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่บริการ 1 แสนคน หากคณะรัฐมนตรีและ อย.รับรองเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นดำเนินการ ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรสาธารณสุขพร้อม คาดว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย 
    "เทศบาลนครหาดใหญ่สามารถนำงบสะสมที่มีอยู่มาใช้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 200 ล้านบาท หากไม่เพียงพอจะขอใช้เพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้บริการประชาชนในเขตบริการทันที ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางด้านจิตวิทยา ประชาชนจะคลายความวิตกกังวล และเป็นอีกตัวหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเมืองหาดใหญ่ให้เดินไปข้างหน้า ถึงแม้จะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม" นายกิตติกล่าว
    เช่นเดียวกับนายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรี เทศบาลนครสงขลา กล่าวว่า หาก ครม.เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการซื้อวัคซีนป้องกันโควิดได้ เทศบาลนครสงขลาจะสามารถนำงบสะสมออกมาใช้ได้ทันทีประมาณ 30 ล้านบาท เพราะมีเจ้าหน้าที่ อสม.พร้อมเข้าไปยังกลุ่มเป้าหมาย หากงบไม่เพียงพอกับความต้องการของจำนวนประชากรในเขตพื้นที่ ก็สามารถเจียดงบจากส่วนอื่นที่ไม่ขัดกับระเบียบมาใช้ได้ 
    ที่ จ.ตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา พร้อม นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง, นายอำเภอเมืองตรัง, เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ลงพื้นที่สถานีรถไฟและสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดตรัง เพื่อ ตรวจดูขั้นตอนประชาชนเดินทางเข้าและออกจังหวัดตรัง 
    นายขจรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิดจากเดิม 2 ราย เพิ่มอีก 3 รายเป็น 5 ราย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของพื้นที่ และได้เพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้นในช่วงที่มีประชาชนเดินทางเข้ามาในจังหวัด โดยทางอากาศที่ท่าอากาศยานตรังได้มีมาตรการเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดอีก 6 จังหวัด จากเดิมที่เข้มข้นอยู่แล้ว 5 จังหวัด เป็น 11 จังหวัด ซึ่งเป็น 11 จังหวัดที่มีบุคคลเดินทางเข้ามาที่จังหวัดตรัง มีมาตรการในการทำประวัติคัดกรองและมีการประเมินบุคคล ว่าถ้ามีความเสี่ยงสูงเราต้องบังคับให้กักตัวที่ LQ ของเรา ส่วนที่มีความเสี่ยงต่ำอยู่ที่บ้าน รวมถึงช่องทางอื่นที่จะเข้าสู่จังหวัดตรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ก็มีจุดตรวจจุดสกัดอยู่ 4 จุด.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"