คลังกางแผนกู้เงินมีเยอะ ครป.บี้‘เจ้าสัว’ช่วยคนจน


เพิ่มเพื่อน    

 "คลัง" กางแผนกู้สู้โควิด-19 แจงอนุมัติกรอบวงเงินกู้แล้ว 7 แสนล้านบาท กู้แล้ว 3.9 แสนล้าน ยันเงินยังเต็มกระเป๋าไม่ต้องกู้เพิ่ม สิ้นปีพร้อมลุยออกบอนด์ออมทรัพย์รุ่น "เราชนะ" 6 หมื่นล้านบาท "สภาองค์การลูกจ้างฯ" บี้นายกฯ ช่วยผู้ประกันตนตาม ม.33 บางส่วนที่รายได้ไม่เกิน 3 แสนต่อปี ประธาน ครป.เสนอกระจายงบประมาณจากโครงการต่างๆ มาเยียวยา เจรจาเจ้าสัวลดราคาสินค้า เก็บภาษีโควิดเพิ่มจากคนรวยมาช่วยคนจน

    เมื่อวันที่ 25 มกราคม นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ว่าล่าสุดมีการอนุมัติกรอบวงเงินกู้แล้ว 7 แสนล้านบาท และมีการกู้เงินแล้ว 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็น  39% ของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการด้านสาธารณสุขจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทนั้น อนุมัติแล้ว 1.96 หมื่นล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว  1.56 พันล้านบาท ส่วนวงเงินเพื่อการเยียวยา 5.6 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 5.58 แสนล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 3.22 แสนล้านบาท ขณะที่วงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3.9 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 1.33 แสนล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 4.8 หมื่นล้านบาท
    ทั้งนี้ หากการกู้เงินของรัฐบาลยังเป็นไปตามแผนในกรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่หากกู้เต็มวงเงินจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 56% ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง โดยในช่วง ม.ค.-ก.พ.64 สบน.มีแผนที่จะกู้เงิน 2.1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเราชนะตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบ่งเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น (PN), พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว, พันธบัตรออมทรัพย์ และเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย  (เอดีบี)  
     โดยหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 56% ภายในปีงบประมาณ 2564 เป็นการคำนวณจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 1% จากคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวเป็นบวก ซึ่งเป็นการรวมผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่แล้ว อย่างไรก็ดี เบื้องต้น สบน.ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพราะวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินเดิมยังเหลืออยู่
    ในส่วนของแผนการบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2564 มีกรอบวงเงิน 2.34 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเริ่มจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น "เราชนะ" วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท โดยในวันที่ 1-19 ก.พ. 64  จะจำหน่ายผ่านวอลเลต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง  วงเงินจำหน่าย 5 พันล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step-up) เฉลี่ย 2% ต่อปี โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท ซึ่งในทุกขั้นตอนผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร ผู้ลงทุนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียนและเตรียมโอนเงินเข้าวอลเลต สบม.ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
    ในวันที่ 5-19 ก.พ.64 จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ "เราชนะ" วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ให้แก่ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ โดยเชื่อว่าพันธบัตรออมทรัพย์จะจำหน่ายได้หมดตามวงเงินที่ตั้งไว้
    ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล นายมนัส โกศล  ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อขอให้ปรับหลักเกณฑ์การเยียวยาโครงการ "เราชนะ" ให้ครอบคลุมแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และลูกจ้างภาครัฐ     โดยนายมนัสกล่าวว่า จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.)  มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง คือโครงการเราชนะ ที่มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19  ซึ่งการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์จะพิจารณาจากรายได้  การมีระบบคุ้มครองทางสังคม ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง  เกษตรกร เป็นต้น แต่คณะกรรมการฯ พิจารณาคัดกรองตัดสิทธิ์ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ซึ่งบางส่วนมีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี ดังนั้นสภาองค์การลูกจ้างฯ จึงขอให้นายกฯ ทบทวนพิจารณาคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ์ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ว่า  "การช่วยเหลือที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
    ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ได้ร่วมกันแจกอาหารแก่ผู้ยากไร้ ผู้ประสบภัยโควิด และผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล โดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป.กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายการแก้ไขปัญหาโควิดของรัฐบาลในขณะนี้นั้นยังมีข้อบกพร่องบางอย่างอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งสถานประกอบกิจการขนาดเล็กขนาดกลางต่างก็ทยอยปิดกันตามการระบาดของโควิด แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่ได้มีการประกาศล็อกดาวน์ เมื่อเขาปิดกิจการก็ทำให้แรงงานส่วนนี้ต้องว่างงานไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับการชดเชยจากรัฐบาล ถึงแม้ว่ารัฐบาลบอกว่ากำลังจะพิจารณา แต่ว่าดูแล้วก็ค่อนข้างจะล่าช้า  เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรจะเร่งรัดจัดการปัญหาในส่วนนี้ เพื่อที่จะให้การกระจายเงินงบประมาณต่างๆ ได้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานที่ว่างงานเหล่านี้ เพราะหากทำไม่ได้หรือล่าช้าไปก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น แล้วคนเหล่านี้ก็ต้องอยู่ในความทุกข์ยากลำบากในสถานการณ์วิกฤติมากขึ้น
    รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า รัฐบาลควรจะลองทบทวนในช่วงของครึ่งปีงบประมาณว่าโครงการใดที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะโครงการที่กระจายไปยังหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ก็อาจจะดึงเงินส่วนนี้มาใช้ในการเยียวยาประชาชนจะดีกว่า  จะมีประสิทธิผลกว่าที่จะให้หน่วยงานราชการเอางบประมาณไปดำเนินโครงการที่ไม่จำเป็นต่างๆ มากกว่า  ควรจะไปพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่งแล้วก็จัดสรรงบประมาณใหม่
    "อีกประเด็นที่จะฝากก็คือ รัฐบาลควรจะเจรจากับบรรดากลุ่มทุนขนาดยักษ์ขนาดใหญ่ในเรื่องของราคาสินค้าต่างๆ ให้บรรดากลุ่มทุนเหล่านี้ลดราคาสินค้าลงบ้าง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจจะใช้มาตรการทางภาษีพิเศษที่จะต้องมีการเก็บภาษีพิเศษ หรือจะเรียกว่าภาษีโควิดก็ได้ เพื่อใช้หลักการในการแบ่งปันกันระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งรัฐบาลก็อาจจะไปเจรจากับกลุ่มภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคม หอการค้า สมาคมธนาคาร หรือสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็น่าจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องแสวงหาความร่วมมือ  ทั้งในแง่ของการร่วมมือให้ช่วยกันลดค่าครองชีพ ลดราคาสินค้า และในแง่ของการปรึกษาหารือกันในการที่จะเพิ่มมาตรการด้านภาษีต่างๆ" ประธาน ครป.กล่าว
    ขณะที่นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความโปร่งใสทุกโครงการในสภาวการณ์วิกฤติ อย่าฉวยโอกาสใช้วิกฤติสังคมเอื้อประโยชน์ส่วนตนและคดโกงงบประมาณแผ่นดิน อย่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คอร์รัปชันอำนาจ และให้เก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้ากับมหาเศรษฐีหมื่นล้านมาช่วยประชาชน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"