ขยะคือขุมทรัพย์


เพิ่มเพื่อน    

       เรื่องของ “ขยะ” ในโลกปัจจุบันนั้นเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่อาจจะก่อปัญหารุนแรงขึ้นได้หากไม่มีการจัดการที่ถูกวิธี แล้วขยะยังสามารถเพิ่มพูนขึ้นทุกวันๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นก่อให้เกิดขยะอย่างมากในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และในปัจจุบันแม้จะมีกระบวนการจัดการ จัดเก็บ หรือใช้ประโยชน์ขยะเกิดขึ้นมากมาย แต่การจะทำให้ขยะหมดไปทั้ง 100% ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้ 

            ทั้งนี้ ขยะยังเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาเมืองทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่โครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้กลายมาเป็นพื้นที่สำคัญในการสนับสนุนการลงทุนและเศรษฐกิจให้ประเทศ แต่ก็ยังพบว่าปัญหาขยะก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อาจจะมาขวางทางการพัฒนาครั้งนี้ 

            โดยจากข้อมูลสำรวจจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 พบว่าพื้นที่อีอีซีมีปริมาณขยะมูลฝอย 4,268 ตันต่อวัน แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี มีปริมาณขยะรวม 2,591 ตันต่อวัน รองลงมาคือ ระยอง มีปริมาณขยะ 967 ตันต่อวัน และฉะเชิงเทรา มีปริมาณขยะเกิดขึ้นรวม 709 ตันต่อวัน รวมทั้งยังมีขยะที่รับจากกรุงเทพฯ เพื่อกำจัดในพื้นที่ฉะเชิงเทราอีกสูงถึงวันละ 2,000-3,000 ตันต่อวัน และที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ปริมาณขยะก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

            ที่ผ่านมาการกำจัดขยะในพื้นที่อีอีซีส่วนใหญ่จะใช้ระบบฝังกลบ เพราะมีต้นทุนต่ำและใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน แต่ปรากฏว่าแต่ละชุมชนก็ยังมีการกำจัดขยะไม่ถูกวิธี รวมถึงยังไม่มีระบบบริหารจัดการที่ชัดเจนในการกำจัดขยะติดเชื้อ ส่งผลกระทบทำให้น้ำใต้ดินเกิดปัญหาปนเปื้อนจากการรั่วซึมในพื้นที่ฝังกลบขยะ ที่สำคัญปัจจุบันเขตฝังกลบขยะในอีอีซีได้กระจายตัวจนเกือบเต็มพื้นที่แล้ว และยังเปิดใช้งานมากว่า 10 ปี จึงทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เพียงพอ รวมทั้งปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

            แต่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการปัญหาขยะพร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 4 ข้อ ได้แก่ 1.การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การกำจัดกับปริมาณขยะมูลฝอย ความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 2.การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชนอย่างน่าอยู่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง 3.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างกลไกการตรวจสอบการปล่อยมลพิษและของเสีย 4.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่า ต้นน้ำ และดิน เป็นต้น 

            โดยพร้อมจะเร่งขยายผลต้นแบบนำร่อง “โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี โดยเป็นการนำขยะที่ได้จากการคัดแยกมาป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตไฟฟ้า RDF ขนาด 10 เมกะวัตต์ สามารถกำจัดขยะได้สูงถึง 500 ตันต่อวัน  

            ช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเปลี่ยนขยะไม่มีประโยชน์สู่การสร้างมูลค่า จนให้ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ในระดับที่น่าลงทุน และด้านสังคม ที่ช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐในการบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมและชุมชน ตลอดจนผลบวกด้านสิ่งแวดล้อมในการคืนพื้นที่สีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะในหลุมฝังกลบได้มากกว่า 2.2 แสนตันต่อปี รวมถึงผลตอบแทนทางอ้อม  

                ต้องยอมรับว่าปัญหา “ขยะ” ต้องสร้างความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือ จิตสำนึกตระหนักรู้ในการคัดแยกขยะ และลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและทำได้ทันที  เพื่อคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีในวันนี้และอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป. 

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"