สหรัฐจับมือไทย ลงทุนผลิตอาวุธ ที่เมืองกาญจน์


เพิ่มเพื่อน    

 

“จัสแม็ก” จับมือกลาโหมไทยพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ไฟเขียวสหรัฐร่วมลงทุนผลิตยุทโธปกรณ์ 4 กลุ่ม เผยเปลี่ยนที่ตั้ง “นิคมอาวุธ” จากพื้นที่อีอีซีไปเมืองกาญจน์

     ที่ห้องภักดี สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) เมื่อวันที่ 27 มกราคม พล.อ.ชูชาติ บัวขาว รองปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ให้การต้อนรับการเข้าเยี่ยมคำนับของ พ.อ.เวย์น เทิร์นบุลล์ หัวหน้าจัสแม็กไทยและผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพฯ  เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างกระทรวงกลาโหม (กห.) ไทยกับสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงกลาโหมขอบคุณสำหรับการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการประสานงานต่างๆ อย่างดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในระดับ กห.และเหล่าทัพประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี อาทิ การประชุมด้านการทหาร การฝึกศึกษา การเยือนประเทศไทยของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสหรัฐ การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐเข้าประจำการ  
    ตลอดจนสนับสนุน กห.ในการดำรงตำแหน่งประธานประชุม รมว.กห.อาเซียนกับ รมว.กห.ประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) เมื่อปี 2562 และยังกล่าวแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 46 ของนายโจเซฟ อาร์ ไบเดน นอกจากนี้ยังกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทย-สหรัฐ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือสำคัญต่างๆ ในการยกระดับความเป็นพันธมิตรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
    สำหรับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้น   คณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้สำรวจพื้นที่ต่างๆ ทั้งในเขตอีอีซีและนอกเขตฯ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในเขตอีอีซียังมีข้อจำกัดและไม่เหมาะสมต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยในปัจจุบันคณะทำงานอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมพื้นที่นอกเขตอีอีซี บริเวณหนองกระทุ่ม ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี โดยมีเนื้อที่ 3,500 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินราชพัสดุ หากจะมีการจัดตั้งนิคมฯ หรือการดำเนินการรูปแบบอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ต้องมีการสำรวจในรายละเอียดของพื้นที่ทั้งทางกายภาพ การคมนาคม ทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมโดยรอบ ฯลฯ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ให้เกิดความชัดเจนก่อน เพื่อดำเนินการขอใช้พื้นที่ด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามระเบียบคำสั่งและกฎหมาย โดยการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.), กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก (กบ.ทบ.), กรมธนารักษ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม
    กห.ยังขอรับการสนับสนุนจากสหรัฐในการรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์ที่ไทยผลิต การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งการจัดตั้งโรงงานซ่อมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ยังมีประเภทการผลิตและหรือซ่อมสร้างอุปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งภาครัฐและเอกชนของสหรัฐ สามารถเข้าร่วมลงทุนกับไทยได้ ในเบื้องต้นได้แบ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1.ยานพาหนะและระบบอาวุธ (รถถัง รถเกราะ หรือยานพาหนะรบ) 2.ยานไร้คนขับและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตหรือซ่อม (ระบบยานภาคพื้นไร้คนขับ ระบบยานทางน้ำไร้คนขับ และระบบอากาศยานไร้คนขับ) 3.อาวุธ เครื่องช่วยฝึก และชิ้นส่วน (ปืน กระสุนปืน ระบบจรวด และระบบจำลองยุทธ์ รวมทั้งการฝึกเสมือนจริง) 4.อุปกรณ์ช่วยรบ (เสื้อเกราะกันกระสุนและสะเก็ดระเบิด แผ่นเกราะ และโล่ป้องกันกระสุน)
    ทางด้านหัวหน้าจัสแม็กไทยกล่าวแสดงความชื่นชม กห.และกองทัพในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี สำหรับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้น กห.สหรัฐมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล การให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านเทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"