ไม่อ่อนไหวตกใจง่าย ‘ประยุทธ์’โวสู้ศึกอภิปราย/ประธานกังวลปมโยง‘สถาบัน’


เพิ่มเพื่อน    

ศึกซักฟอกเดือดแน่! "ชวน" เซ็นอนุญาตบรรจุญัตติแล้ว ก่อนแจ้ง ครม.กำหนดวันที่จะมาชี้แจง “ศุภชัย” เผยตนเองและประธานสภาฯ กังวลฝ่ายค้านโยงสถาบัน หวั่นสาดน้ำมันใส่กองไฟ "บิ๊กตู่" ลั่นไม่ใช่คนตกใจง่ายไม่หวั่นไหวญัตติ ฝ่ายค้านโวพรรคร่วมฯ เข้มแข็ง เตรียมชี้แจงเป็นอย่างดี "สิระ" ซัด "สมพงษ์" ตระบัดสัตย์ จ่อแจ้งความ ส.ส.ผู้ร่วมลงชื่อผิด ม.112 ดึงฟ้าลงต่ำมายุ่งการเมือง พร้อมยื่นศาล รธน.ตีความ ปูดมีเงินตกใส่ พท.  ด้านเลขาฯ พท.อ้างเป็นข้อกล่าวหาเฉพาะตัวนายกฯ อย่าตีตนไปก่อน “โรม” เย้ย "สิระ" ไม่รู้กฎหมาย
    ที่รัฐสภา วันที่ 29 มกราคม นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการบรรจุญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า ล่าสุดฝ่ายค้านแจ้งยืนยันไม่แก้ไขถ้อยคำในญัตติ ดังนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้เซ็นลงนามอนุญาตให้ญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม ซึ่งหลังจากการเซ็นอนุญาตแล้วจะไม่สามารถแก้ไขถ้อยคำในญัตติได้
         “นอกจากนี้ทางสภาได้ส่งหนังสือประสานไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขอทราบความพร้อมของ ครม.เกี่ยวกับการกำหนดวันที่ครม.จะมาชี้แจงตามญัตติไม่ไว้วางใจต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อตอบกลับมาว่าพร้อมเมื่อใด จะมีการนัดประชุมวิปร่วมของสภาที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธาน หารือกำหนดวันเวลาในการอภิปราย ซึ่งเมื่อได้วันเวลาที่ชัดเจน จะมีหนังสือแจ้งไปยัง ครม.อีกครั้งเพื่อยืนยันให้มาชี้แจง”นพ.สุกิจกล่าว
    นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยืนยันไม่แก้ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า จากการพูดคุยกับทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้ให้ข้อคิดกับฝ่ายค้าน ทั้งนี้ ยืนยันว่าญัตติของฝ่ายค้านที่ยื่นมานั้นถูกต้องตามกระบวนการ สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้ แต่สิ่งที่ประธานสภาฯ และตนวิตกกังวลในเรื่องของการใช้คำพูดของข้อกล่าวหาที่ไปพัวพันถึงสถาบัน  จึงได้วิเคราะห์ว่า การตั้งข้อกล่าวหาในหลายๆ ประเด็นที่ไปพัวพันกับสถาบัน เวลาสมาชิกสภาฯ อภิปรายจะผิดข้อบังคับหรือไม่ เพราะในข้อบังคับห้ามเอ่ยถึงบุคคลที่สามและพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น แต่เมื่อญัตติเขียนระบุเชื่อมโยงไปถึงพระมหากษัตริย์ ถึงแม้จะไม่กล่าวหาสถาบันก็ตาม แต่สมาชิกสภาฯ จะหลีกเลี่ยงการพูดถึงสถาบันไม่ได้
    “เป็นเรื่องที่ลำบากใจ ถ้าสมมุติว่าฝ่ายค้านอภิปรายผิดข้อบังคับ แล้วรัฐบาลประท้วง ฝ่ายค้านก็จะอ้างว่ามีอยู่ในญัตติ ซึ่งตอนเขียนไม่ผิด แต่ตอนพูดผิด แล้วจะทำอย่างไร เรื่องนี้ประธานสภาฯ เป็นกังวลว่าการอภิปรายจะไม่เป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะแทนที่จะอภิปรายเสร็จภายใน 4 วัน และลงมติวันที่ 5 ก็อาจจะยืดเยื้อออกไปอีก ที่สำคัญประธานสภาฯ กังวลว่าไม่อยากให้การอภิปรายเป็นการเปิดประเด็นหลายๆ ประเด็น ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายตั้งข้อกล่าวหารัฐบาลที่ค่อนข้างแรง และนายกฯ ชี้แจง หากเปิดประเด็นแรงๆ ออกมา ก็จะเป็นการสาดน้ำมันเข้ากองไฟ ไฟก็ลุกโชติช่วง หรือสาดน้ำเข้าหากัน ต่างฝ่ายก็ต้องเปียก ทำให้ไม่เป็นผลดีต่อการทำงานร่วมกัน ซึ่งประธานสภาฯ เป็นห่วง และไม่อยากให้ใครตกเป็นจำเลยของสังคมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้” นายศุภชัยกล่าว
นายกฯ ไม่หวั่นฝ่ายค้าน
    นายศุภชัยกล่าวด้วยว่า ตนในฐานะที่เป็นผู้กลั่นกรองญัตติก็เป็นกังวล แต่เมื่อฝ่ายค้านยืนยัน เราก็ต้องบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระ ส่วนจะอภิปรายวันไหน ทางสำนักเลขาธิการสภาฯ จะประสานไปยังรัฐบาลว่าจะพร้อมชี้แจงวันไหน และหากมีปัญหาในระหว่างการอภิปรายสมาชิกสภาฯ แต่ละคนก็ต้องรับผิดชอบตนเอง ประธานในที่ประชุมก็อาจจะต้องทำหน้าที่หนักหน่อย อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้วิตกในการทำหน้าที่ เพราะเรายึดข้อบังคับการประชุมเป็นที่ตั้ง แต่อาจจะไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องแก้สถานการณ์เฉพาะหน้ากันต่อไป
     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านมีความเห็นอย่างไร และรู้สึกหวั่นไหวหรือไม่ ว่า “ผมไม่หวั่นไหว ผมไม่ใช่คนตกใจง่ายอยู่แล้ว ผมเป็นทหารมาก่อน เป็นผู้บังคับบัญชาคนจำนวนมาก อยู่ในสถานการณ์ที่คับขันมาหลายครั้งด้วยกัน ผมคงไม่ใช่คนใจอ่อนหรือหวั่นไหวไปเสียทุกเรื่อง คงไม่ไปหวั่นไหว วันนี้ทุกคนเข้มแข็งดี โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลก็ร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการที่จะเตรียมชี้แจงในส่วนที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ”  
    เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรกับเนื้อหาของญัตติที่มีความเชื่อมโยงระหว่างนายกฯ กับสถาบัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่าทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าวันนี้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ตนไม่อยากจะพูดถึงในเรื่องนี้
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านไม่ยอมแก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีการใช้คำเกี่ยวกับสถาบัน แม้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ อยากให้แก้ไข ว่าเป็นเรื่องของนายชวน ไม่ใช่เรื่องของตน
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านไม่ยอมแก้ญัตติอภิปราย อาจทำให้มีการประท้วงวุ่นวายจนการอภิปรายไม่เสร็จภายใน 4 วันว่า จบ-ไม่จบก็ไม่ทราบ แต่หากถึงเวลาตามที่กำหนดไว้เราก็ต้องขอปิดการอภิปราย ถือว่าให้เวลาพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้นในหน้างานเราก็ไม่ทราบว่าจะเป็นลักษณะใด จะหนักหรือจะน้อย หรือไม่มี ก็ต้องคอยดูหน้างานเอา  
    เมื่อถามว่า มีการรับปากในที่ประชุมร่วมกับรัฐบาลว่าจะแก้ไขญัตติ นายวิรัชกล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ ระบุว่าอย่างไรก็ต้องบรรจุญัตติ แต่ถ้าดำเนินการแก้ไขญัตติได้ในบางส่วนที่ไม่เหมาะสมก็จะเป็นการดี ซึ่งนายชวนก็ไม่ได้ติติงอะไร แต่ถ้าฝ่ายค้านยังยืนยัน ก็ต้องบรรจุญัตติให้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้  
    ขณะที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันจะไม่มีการแก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า จากการที่มีการละเมิดและพาดพิงสถาบันในญัตติ ซึ่งก่อนหน้านั้นผู้นำฝ่ายค้านบอกว่าเห็นญัตติแล้วก็มีความไม่สบายใจ และจะกลับไปแก้ไขญัตติ และยังมีการปรึกษาว่าจะแก้ไขได้ด้วยวิธีไหน แต่เมื่อออกนอกห้องประชุมกลับตระบัดสัตย์ ไม่แก้ถ้อยคำทุกตัวอักษรในญัตตินี้ ถือว่าตระบัดสัตย์จากที่รับปากไว้กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และบอกไว้ในที่ประชุม อยากถามว่ายังเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่มีความซื่อสัตย์อยู่หรือไม่ และคำพูดยังน่าเชื่อถืออยู่หรือไม่
จ่อแจ้งความม.112-ยื่นศาลรธน.
    “หากมีการยื่นและบรรจุญัตติ ถือว่านายสมพงษ์สร้างประวัติศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ปล่อยและเปิดโอกาสให้ ส.ส.จาบจ้วงสถาบันในที่ประชุมรัฐสภา เป็นการดึงฟ้าลงมาต่ำให้เล่นการเมือง ซึ่งสถาบันต้องไม่ยุ่งกับการเมือง และมีเจตนาอะไร ถ้ามีการยื่นและบรรจุญัตติ ฝ่ายกฎหมายของผมจะดำเนินการฟ้องร้องมาตรา 112 กับนายสมพงษ์และ ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติ” นายสิระกล่าว
    นายสิระกล่าวว่า ส่วนเรื่องข้อบังคับการประชุม ก็มีความชัดเจนว่าผิดข้อบังคับ เพราะต้องไม่นำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาอภิปราย รวมถึงบุคคลภายนอก บรรจุวาระต้องดูว่าหากประธานรัฐสภาบรรจุวาระ และดูข้อบังคับให้ละเอียดถี่ถ้วน ตนจะมีการยื่นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะในสภาหรือนอกสภา ซึ่งฝ่ายกฎหมายของตนได้พิจารณาแล้วว่าเรื่องนี้น่าจะผิดรัฐธรรมนูญ และจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความว่าญัตติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
    “อยากให้ประชาชนดูว่าฝ่ายค้านชุดนี้ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเล่นการเมือง ไม่นึกถึงความเสียหายของสถาบัน ถามว่าไม่จงรักภักดีกันแล้วใช่หรือไม่ ขอให้ประชาชนช่วยกันดู อยากถามว่าฝ่ายค้านไม่มีเรื่องอื่นแล้วหรือที่จะตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าเรื่องรัฐมนตรีคนใดทุจริตประพฤติมิชอบเลยดึงฟ้าลงมาเล่น หมดมุกหมดปัญญาแล้วใช่หรือไม่ ผมได้ข่าวว่าฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมีเงินหรืออะไรบ้างตกลงมาบ้างในการอภิปรายครั้งนี้ ซึ่งผมจะทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์สถาบัน” นายสิระกล่าว
    เมื่อถามว่า ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้วว่าสามารถบรรจุญัตตินี้ได้ นายสิระกล่าวว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ถามว่าเป็นการอภิปรายบุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อญัตติมีเรื่องของสถาบัน แต่สถาบันไม่ได้อยู่ในสภา ซึ่งถ้ามีญัตติบรรจุเรื่องของสถาบันจะไม่กล่าวถึงก็คงเป็นไปไม่ได้ ถามว่าแล้วจะพูดถึงอย่างไร จะบูชา จะเคารพอย่างนั้นหรือ เชื่อว่าจะเป็นการพูดอีกมุมหนึ่ง
    ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงว่า การที่นายสิระระบุว่าหากมีการบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะยื่นฟ้อง ม.112 หากดูญัตติจะเห็นว่าไม่ได้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภา และเมื่อวันที่ 28 ม.ค. มีการหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จะบรรจุญัตตินี้เข้าสู่วาระการประชุม อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายละเอียดของญัตติในประเด็นการกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ชัดว่าข้อกล่าวหาเป็นการกล่าวหาตัวนายกฯ และเมื่อถึงวันอภิปรายก็มีข้อบังคับว่าด้วยเรื่องการประชุมชัดเจนว่าการอภิปรายไม่ให้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น
    "ผมเชื่อว่าสมาชิกทุกคนจะปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือกันแล้วว่าจะใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้บรรยากาศการอภิปรายเป็นไปด้วยดี" เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว
    ส่วนที่นายสิระจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า ยืนยันว่าญัตติมีความสมบูรณ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และญัตตินี้เป็นการกล่าวหานายกฯ และเป็นเรื่องที่นายกฯ ต้องแก้ไขข้อกล่าวหาให้ประชาชนเข้าใจ และขอให้คอยฟัง ไม่ต้องการให้มีการตีตนไปก่อน ทั้งนี้ หลังจากที่ได้คุยกับพรรคร่วม ก็ได้มีการกำชับให้อภิปรายอยู่ในกรอบข้อบังคับ หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรกล่าวถึงสถาบัน แต่สามารถพูดถึงตัวนายกฯ ได้ หากผู้ประท้วงต้องการประท้วง จะต้องมีการแสดงเหตุผลอย่างชัดเจน ขออย่าวิตกกังวลเรื่องนี้มาก เนื่องจากประธานสภาฯ ทำหน้าที่อยู่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ทำหลายเรื่องเป็นที่สงสัย และเป็นหน้าที่ฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบและทำให้กระจ่าง
    นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายสิระจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากญัตติจาบจ้วงสถาบัน อีกทั้งจะมีการแจ้งความดำเนินคดี ม.112 ว่าเป็นสิ่งที่พูดเกินจริง ขอให้ ส.ส.รัฐบาลรอฟังเนื้อหาการอภิปรายก่อน ฝ่ายค้านถาม รัฐบาลตอบ ประชาชนตัดสิน
    “จริงๆ นายสิระก็ไม่มีความแม่นยำในเรื่องของกฎหมายหรือเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ควรเอาตัวเองให้รอดก่อนดีกว่า ไม่อยากให้ราคานายสิระ ถ้าหากพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกยุบ นายสิระก็ไม่ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างๆ และเมื่อมาเป็นประธานกรรมาธิการก็ด่าพรรคก้าวไกลตลอดว่าใช้กรรมาธิการไปทำเรื่องการเมือง ทั้งที่เรื่องจริงๆ ทำเพื่อประชาชน" นายรังสิมันต์กล่าว
    เมื่อถามว่ามีโอกาสจะได้อภิปรายหรือไม่ เพราะ ส.ส.พปชร. เตรียมประท้วงหากมีการพูดถึงสถาบัน นายรังสิมันต์ระบุว่า เป็นสิทธิ์ที่จะประท้วงได้ แต่ฝ่ายค้านก็จะชี้แจงตามหลักการ อธิบายเหตุผลที่ต้องพูดถึงการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าบริหารงานล้มเหลวและทำลายสถาบันอย่างไร.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"