ไทยยึดหลักอาเซียน นายกฯขออย่าปั่นความขัดแย้ง รัฐประหารเมียนมา


เพิ่มเพื่อน    

 พรรคเอ็นแอลดีออกแถลงการณ์เรียกร้องทหารปล่อยตัว "อองซาน ซูจี" และทุกคนที่ถูกควบคุมตัว พร้อมขอให้ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพื่อนบ้านเห็นซูจีโดนกักบริเวณในบ้านที่กรุงเนปยีดอ เครือข่ายเยาวชนปลุกอารยะขัดขืน "โจ ไบเดน" ขู่สหรัฐอาจรื้อฟื้นคว่ำบาตร “ประยุทธ์” ท่องคาถายึดจุดยืนอาเซียน “ดอน” ยันคนไทยยังปลอดภัยดี “บิ๊กปั๊ด” ดุพร้อมจัดการเด็ดขาดถ้าจำเป็น ลั่นต้องไม่เกิดเหตุการณ์หน้าสถานทูตเมียนมาขึ้นอีก อึ้ง! ศาลให้ประกัน ไม่ต้องใช้เงินแค่สาบาน

    สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์ต่อเนื่องในเมียนมาภายหลังกองทัพก่อรัฐประหารและควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐวัย 75 ปี, ประธานาธิบดีวิน มยิน รวมถึงเจ้าหน้าที่และนักเคลื่อนไหวอีกหลายราย เมื่อเช้ามืดวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าสภาชุดใหม่จะเปิดประชุมนัดแรกที่กรุงเนปยีดอ
    รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ กล่าวว่า บรรยากาศที่เมืองหลวงของเมียนมายังมีทหารพร้อมอาวุธออกลาดตระเวน และยังมีทหารจำนวนหนึ่งวางกำลังอยู่ด้านนอกหอพักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเนปยีดอ ที่ ส.ส.ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) รายหนึ่งบรรยายภาพว่าเป็น "ศูนย์กักกันกลางแจ้ง"
    "พวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปภายนอก" ส.ส.หญิงผู้นี้เผยกับเอเอฟพีทางโทรศัพท์โดยขอให้ปิดบังชื่อเพราะกลัวทหาร "พวกเราวิตกกังวลกันมาก"
    ก่อนหน้านี้ ในวันเดียวกัน คณะกรรมการบริหารพรรคเอ็นแอลดีออกแถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊กทางการของสมาชิกระดับสูงของพรรค เรียกร้องให้ทหารปล่อยนางซูจี รวมถึงประธานาธิบดีวิน มยิน และสมาชิกพรรคทุกคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ "เรามองว่าสิ่งนี้เป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ของประเทศและกองทัพเมียนมา" แถลงการณ์กล่าว
    ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีและ ส.ส.โดนควบคุมตัวไว้กี่คน แต่แหล่งข่าวในพรรคบอกกับเอเอฟพีว่ามี ส.ส.เอ็นแอลดี 25 คนถูกกักตัวไว้ในที่พักที่กรุงเนปยีดอ
    แถลงการณ์ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของเม วิน มยิน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอ็นแอลดี ยังเรียกร้องให้กองทัพยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ได้รับการยืนยันแล้ว ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีได้คะแนนมากกว่า 80% และอนุญาตให้ ส.ส.ได้เปิดประชุมสภา
    เอเอฟพีรายงานอีกว่า ในช่วงบ่ายวันอังคาร เจ้าหน้าที่พรรคเอ็นแอลดีรายหนึ่งกล่าวว่าพวกเขายังไม่สามารถติดต่อกับนางซูจีได้ ถึงแม้ว่าเพื่อนบ้านจะเห็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมาเดินอยู่ในบ้านพักที่กรุงเนปยีดอ
    "ตามที่เพื่อนบ้านของนางที่เราติดต่อบอกมา บางครั้งนางออกมาเดินในบริเวณบ้านเพื่อให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่านางยังแข็งแรงดี" จี โท ฝ่ายสื่อของเอ็นแอลดีกล่าวถึงนางซูจี ซึ่งเคยโดนทหารกักบริเวณที่บ้านในนครย่างกุ้งเป็นเวลารวมประมาณ 15 ปี ระหว่างปี 2532-2553
สหรัฐขู่รื้อฟื้นคว่ำบาตร
    เขาบอกด้วยว่า รัฐมนตรีของรัฐทั่วประเทศส่วนใหญ่ถูกปล่อยจากการควบคุมตัวโดยทหารแล้ว แต่ยังถูกกักบริเวณที่บ้านเช่นกัน
    กองทัพเมียนมาอ้างเหตุผลที่ยึดอำนาจว่าเป็นเพราะเกิดการทุจริตอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้ง ที่เป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งที่ 2 นับแต่สิ้นสุดระบอบรัฐบาลทหารเมื่อปี 2554 คำประกาศของคณะรัฐประหารกล่าวว่า ขณะนี้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด คือผู้ดูแลอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการของประเทศ ถึงแม้ว่า มยิน สเว อดีตนายพลที่เคยรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี จะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีรักษาการ ในช่วงเวลา 12 เดือนที่อยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน
    ในวันอังคาร กองทัพกระชับอำนาจเพิ่มขึ้นด้วยการปลดรัฐมนตรี 24 ตำแหน่ง และแต่งตั้งตัวแทน 11 คนมากำกับดูแลกระทรวงต่างๆ ที่รวมถึงการคลัง, กลาโหม, การต่างประเทศ และมหาดไทย
    ที่นครย่างกุ้ง เมืองหลวงทางการค้า ซึ่งยังอยู่ภายใต้มาตรการเคอร์ฟิวควบคุมโรคระบาดโควิด-19 แม้ประชาชนบางส่วนจะเผยกับสื่อต่างชาติถึงความโกรธ, กลัวและอับจนหนทาง แต่แทบไม่มีสัญญาณของการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ บ่งบอกว่าพวกนายพลเมียนมาเชื่อว่าในเวลานี้พวกเขายังไม่เผชิญการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่
    เครือข่ายเยาวชนของเมียนมาประกาศรณรงค์ "อารยะขัดขืน" แต่ยังไม่พบเห็นการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในนครย่างกุ้งเมื่อวันอังคาร แต่มีประชาชนที่สนับสนุนกองทัพหลายร้อยคนมาชุมนุมฉลองการรัฐประหารใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง
    การยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนซึ่งทหารส่งสัญญาณมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เรียกเสียงประณามจากทั่วโลกทันที ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารฟื้นคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว และขู่ด้วยว่ารัฐบาลของเขาอาจกลับไปใช้มาตรการลงโทษอีกครั้ง
    "ประชาคมระหว่างประเทศควรรวมตัวกันเป็นเสียงเดียวเพื่อกดดันกองทัพพม่าให้สละอำนาจที่ยึดไว้โดยทันที ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวและเจ้าหน้าที่ที่พวกเขาควบคุมตัวไว้" ไบเดนกล่าว
    คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำหนดประชุมฉุกเฉินในวันอังคาร ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการโต้ตอบที่รุนแรงต่อการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้
    สำหรับสถานการณ์ในไทยนั้น ในช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการสั่งการให้ดูแลชายแดนหลังเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจในเมียนมา ว่าสั่งการไปหลายวันแล้ว ส่วนจุดยืนของไทยนั้น คืออาเซียน จุดยืนอาเซียน
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกครั้งในเรื่องนี้ว่า ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเสนอข่าวอย่างระมัดระวังที่สุด เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบ ทั้งการเสียประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ และประชาชนที่เป็นเพื่อนบ้านด้วยกัน ขณะเดียวกันขอให้เป็นเรื่องของอาเซียนด้วย จึงไม่อยากให้เกิดการขยายความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศของเรา และย้ำว่าต้องยึดตามหลักการอาเซียน
    เมื่อถามว่าจากเหตุการณ์ในเมียนมา การลงทุนต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาจะปรับแผนอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ชี้แจงไปแล้ว ที่มีปัญหาอยู่บ้างในขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมี รมว.การคลัง เพื่อเจรจาพูดคุยและแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยเหลือนักลงทุนของเราด้วย เรื่องนี้ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกัน อย่าสร้างความขัดแย้งโดยเฉพาะสื่อก็ต้องช่วยกัน        
บิ๊กตู่ลั่นไทยยึดจุดยืนอาเซียน
    เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์สนิทกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ได้พูดคุยบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่าไม่ได้คุย เมื่อถามย้ำว่าจะออกแถลงการณ์จุดยืนของไทยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบย้ำว่า เป็นไปตามหลักการของอาเซียน
    ขณะที่? พล.อ.ประวิตร? วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงการชุมนุมประณามรัฐประหารในเมียนมา?ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่?เขา ส่วนจะมีการชุมนุมต่อเนื่องหรือไม่ ก็ว่ากันไป
    นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศกล่าวถึงคนไทยในเมียนมา ว่ายังปลอดภัยดี ส่วนจุดยืนของไทยและอาเซียนนั้น ประธานอาเซียนได้ออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าวแล้ว
    ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนเผยแพร่แถลงการณ์ของบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานสมาคมอาเซียนในปีนี้ (2564) ที่ระบุเกี่ยวกับสถานการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาว่า  ชาติสมาชิกอาเซียนได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และในสถานการณ์เช่นนี้ อาเซียนขอยึดมั่นในวัตถุประสงค์และหลักการแห่งกฎบัตรอาเซียน นั่นคือการยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพและพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
    ประธานอาเซียนย้ำว่า เสถียรภาพทางการเมืองในชาติสมาชิกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนที่มีเสถียรภาพมั่นคง มีความสงบสุข และเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้เมียนมามุ่งใช้วิถีทางแห่งการเจรจา และการปรองดอง เพื่อนำประเทศชาติกลับคืนสู่ภาวะปกติและเป็นไปตามความมุ่งหมายและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา
    ส่วนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอให้กำลังประชาชนชาวเมียนมา ต้องยอมรับว่าพม่าในอดีตและเมียนมาในปัจจุบันมีประสบการณ์ด้านประชาธิปไตย และการยึดอำนาจมายาวนานกว่าบ้านเรา ฉะนั้น ประชาชนก็ได้รู้รสทั้งสองอย่างมาแล้วว่าอะไรคืออะไร ขอให้กำลังใจพี่น้องชาวเมียนมาทั้งหมด รวมถึงชาวเมียนมาที่ทำงานอยู่ในประเทศเราด้วย
    ขณะที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงการชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตเมียนมา ว่าเราต้องรักษากฎหมายเรา ความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เมื่ออยู่ในประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกฎ กติกา กฎหมายของบ้านเราโดยเคร่งครัด และนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งไม่มีนโยบายที่จะไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็ขอให้นึกถึงกฎหมายระเบียบต่างๆ และอยู่กันด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ไม่ควรต้องเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่พยายามบังคับใช้กฎหมาย แล้วพยายามไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่อย่างที่ทราบ มีตำรวจบาดเจ็บและต้องจับกุม หวังว่าจะไม่เกิดเรื่องอย่างนี้อีก เพราะเราพร้อมจัดการด้วยความเด็ดขาดถ้าจำเป็น
    เมื่อถามว่า มีการข่าวหรือไม่ที่มีแกนนำคนไทยเข้าไปยั่วยุให้คนเมียนมาก่อเหตุความวุ่นวาย พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า ก็ติดตามอยู่ ใครทำอย่างนั้นก็ต้องเข้าไปดำเนินการ เมื่อถามต่อว่าระยะหลังการชุมนุมมีความรุนแรงมากขึ้น มีการปาระเบิดปิงปอง ได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่อย่างไร พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่ไม่สบายใจ ในการสืบสวนก็ติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งคราวที่แล้วก็ได้จับกุมตัวไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ในช่วงนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังการป้องกันภยันตรายที่จะเกิดกับวัตถุระเบิดพวกนี้
    ถามต่อว่า เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า  ทุกกรณีคนเจ็บเป็นเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ก่อเหตุเป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวน ซึ่งคนเจ็บทั้งหมดก็มีเจ้าหน้าที่กับผู้สื่อข่าวเท่านั้น
    ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์พร้อมคณะได้เข้าตรวจเยี่ยมและมอบสิ่งของบำรุงขวัญให้กำลังใจแก่ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน 2 นายที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่บริเวณด้านหน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. คือ ส.ต.ต.สุวิทย์ ภู่ไหมพรม ผบ.หมู่ กองร้อยที่1 กก.ควบคุมฝูงชน 1 บก.อคฝ อายุ 25 ปี มีแผลฉีกขาดใต้เข่าขวา ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกอิฐตัวหนอนปาใส่ใต้เข่าขวา และ ร.ต.ท.ชัยชิต วงศ์แสนประเสริฐ รอง สว.สอบสวน สน.ท่าพระ ช่วยราชการ อคฝ. อายุ 26 ปี เยื่อแก้วหูทะลุ เนื่องจากถูกลูกประทัดปาใส่ใกล้หูข้างขวา มีอาการหูอื้อ ปวด และมีเลือดออกจากหู
ศาลให้ประกันการ์ดวีโว่
    พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงการดูแลพื้นที่แนวชายแดนว่า ได้กำชับ ตม.และ ตชด.พื้นที่ชายแดนดูความเคลื่อนไหว ตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนมาตรการดูแลสถานทูตเมียนมา สันติบาลและตำรวจพื้นที่ได้ปฏิบัติตามแผนที่สั่งการไว้ ซึ่งตำรวจไม่อยากดำเนินคดี แต่ละเว้นไม่ได้ การประท้วงแบบนี้ในช่วงโควิดต้องรับผลการกระทำ มีการแจ้งข้อหาไปตามข้อเท็จจริง การชุมนุมแบบนี้เขาห้าม เพราะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ทั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำร้ายต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และ พ.ร.บ.การชุมนุมทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. กล่าวถึงเหตุการ์ดวีโว่ปะทะกับตำรวจจนมีตำรวจบาดเจ็บ 14 นายว่า หลังการชุมนุมตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย คือ นายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล อายุ 19 ปี, นายเกียรติศักดิ์ พันธุ์เรณู อายุ 20 ปี และนายวิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ อายุ 21 ปี โดยผู้ต้องหา 2 คนแรก ตำรวจมีหลักฐานพบว่ามีพฤติกรรมการใช้อาวุธ การขว้างปาสิ่งของทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้มีตำรวจบาดเจ็บ 12 นาย และสาหัสอีก 2 นาย ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดผู้อื่นเพิ่มเติมอีกหลายราย ซึ่งผู้ที่ขึ้นปราศรัยชักชวนให้คนมาร่วมชุมนุมก็ถือว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 3 เช่นกัน
    “ผู้ชุมนุมอ้างว่าการชุมนุมเต็มไปด้วยความสงบ แต่ภาพที่ปรากฏออกไปก็จะเห็นว่ามีการใช้หิน พลุเพลิง ระเบิดควัน และวัตถุระเบิด เกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เช่น เหตุการณ์ยิงกันที่แยกเกียกกาย แยกรัชโยธิน กองสลากเก่า สามย่านมิตรทาวน์ ล้วนมีการใช้อาวุธก่อความไม่สงบ ซึ่งต้องรอให้เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด (อีโอดี) กับกองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจวิเคราะห์วัตถุระเบิดที่พบจากเหตุการณ์ที่สถานทูตเมียนมาว่ามีความเชื่อมโยงกับคดีอื่นที่ผ่านมาข้างต้นหรือไม่ ยืนยันว่าหากมีหลักฐานโยงไปถึงใครก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย”
ส่วนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้นำตัวนายปัณณพัทธ์ และนายเกียรติศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากเหตุปะทะหน้าสถานทูตเมียนมามาฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-13 ก.พ.นี้ เนื่องจากยังต้องสอบพยานอีก 5 ปาก และรอผลการตรวจสอบพิมพ์มือผู้ต้องหา โดยกล่าวหาว่า มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มาตรา 9 (2) ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
    ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหามีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง หากให้ประกันตัวเชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี ศาลได้พิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาหลังศาลอนุญาตฝากขังแล้ว ทนายได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกัน คนละ 50,000 บาท
    ขณะเดียวกัน ที่ศาลแขวงพระนครใต้ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้นำตัวนายวิชพรรษมาผัดฟ้องฝากขังครั้งแรก โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้พิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขังได้ ต่อมาญาติหรือทนายของผู้ต้องหามายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลจึงอนุญาตให้ใช้วิธีสาบานตน ก่อนปล่อยตัวออกไป โดยไม่ต้องเงินหรือใช้ตำแหน่งใดๆ ประกัน.
    ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เวลา 14.30 น. กลุ่มคนที่อ้างตัวเป็นกลุ่มชุมชนชาวเมียนมาที่ทำธุรกิจในประเทศไทยกว่า 100 คน รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ที่ยึดอำนาจจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี) โดยผู้ชุมนุมได้ชูธงชาติเมียนมา พร้อมถือป้ายข้อความต่างๆ และรูปของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี
    โดย พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง ผกก.สน.นางเลิ้ง นำกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 30 นาย เข้าดูแลความเรียบร้อย พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ชุมนุมเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนประสานเจ้าหน้าที่ยูเอ็นมารับหนังสือจากตัวแทนกลุ่ม.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"