ไทยติดเชื้อ 809 ราย เล็งปรับวิธีตรวจเชิงรุกสมุทรสาคร จัดสมดุลควบคุมโรค-งบประมาณ


เพิ่มเพื่อน    

4 ก.พ.64 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 809 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 796 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 45 ราย ในจำนวนนี้พบที่ จ.ตาก 5 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 751 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร 750 ราย แบ่งเป็นคนไทย 201 ราย แรงงานเมียนมา 549 ราย และราชบุรีอีก 1 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 22,058 ราย หายป่วยสะสม 14,798 ราย อยู่ระหว่างรักษา 7,181 ราย ในจำนวนนี้อาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 8 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 79 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 104,901,741 ราย เสียชีวิตสะสม 2,278,440 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับที่ จ.สมุทรสาคร การค้นหาเชิงรุกยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เราจะค้นหาต่อไปเป็นสัปดาห์ แต่ถ้าเราค้นหาวันละหมื่นรายจะใช้งบประมาณวันละ 20 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อย จึงต้องมาดูว่าจะทำให้ทุกอย่างสมดุลกันอย่างไร ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก จึงมีการพูดคุยกันว่าถ้าไม่ไปค้นหาเชิงรุก มีช่วงเว้นว่าง เราต้องหาคำตอบมาบอกกับประชาชนว่า ตัวเลขจะทรงตัวหรือลดลง

ทีมสมุทรสาครกับกรมควบคุมโรคพยายามนำหลักวิชาการมาศึกษา โดยทั่วไปถ้ามีคนหนึ่งแสน ไม่ใช่ต้องค้นหาทั้งหนึ่งแสน เพราะค่าใช้จ่ายจะมาก เราจะใช้ระบบควบคุมโรค จากนั้นไปสุ่มค้นหา เพราะเรารู้ระยะเวลาฟักตัวของโรคที่มี 14 วัน จึงมีคำถามว่าการไปค้นหาทุกวันจะมีประโยชน์อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกัน ตนจะนำชุดข้อมูลมาให้ประชาชนทราบ

นอกจากนี้ มีชุดข้อมูลของ กทม. ที่ไปทำการค้นหาเชิงรุกในเขตที่มีพื้นที่ติดกับ จ.สมุทรสาคร พบว่าเขตที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บางขุนเทียน ภาษีเจริญ บางพลัด บางรัก และธนบุรี สำหรับการค้นหาเชิงรุกในโรงงานที่อยู่ในเขตติดต่อกับ จ.สมุทรสาคร จะใช้วิธีใกล้เคียงกับการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร อาทิ เขตภาษีเจริญ มีโรงงาน 11 แห่ง มีแรงงาน 5,635 ราย สุ่มตรวจในโรงงานและชุมชนรอบๆ 1,721 ราย พบผู้ติดเชื้อ 26 ราย หรือที่เขตบางขุนเทียน มีโรงงาน 25 แห่ง มีแรงงาน 11,228 ราย สุ่มตรวจโรงงานและชุมชนรอบๆ 6,772 ราย พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รายงานการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเก็บข้อมูลจาก 77 จังหวัด  จำนวน 72,626 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27-29 ม.ค. พบว่าส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือและโน้ตบุ๊กในการเรียนการสอน โดยรูปแบบการเรียนการสอนของสถานศึกษานั้น พบว่าเป็นการสอนออนไลน์ 48.44% สอนทั้งออนไลน์และห้องเรียน 29.74% สอนในห้องเรียนทั้งหมด 20.84% และอื่นๆ 0.98% ดังนั้น ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเห็นว่าถึงเวลาที่เราต้องปรับการเรียนการสอนมาทางด้านนี้ ไม่ใช่ปิดการเรียนการสอนทั้งหมด แต่ต้องปิดๆ เปิดๆ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ และการเว้นระยะห่างดีที่สุด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน หากจำได้ว่าเมื่อปีก่อนตรุษจีนอยู่ในช่วงปลายเดือน ม.ค. เรายังใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ในช่วงดังกล่าวตรุษจีนของประเทศจีนเขาปิดเมืองทั้งหมด ในส่วนของประเทศไทยปีนี้อยู่ในสภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ไม่ถึงขนาดปีที่แล้วของจีน เราไม่มีการปิดเมืองมากมาย โดยตรุษจีนของเราในปีนี้ยังต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนต่อไป ต้องระมัดระวัง เรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโรค โควิด-19 ผ่านเรื่องของอาหารการกิน การพบปะกัน การรวมตัวกันภายในครอบครัว จึงต้องขอฝากเรื่องการรณรงค์ของกรมควบคุมโรค และสสส. ทั้งเรื่องการจับจ่ายใช้สอยซื้อของไหว้ การไหว้เจ้า ต้องพยายามล้างมือและสวมหน้ากากอนามัย สัมผัสสิ่งต่างๆด้วยการให้ความสำคัญ การรวมญาติต้องรักษาระยะห่าง สามารถพบเจอกันได้ แต่ต้องสวมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัย หรือถ้าจะใช้ระบบออนไลน์พบกันก็ได้ จะได้ไม่ต้องเดินทาง ส่วนเรื่องอั่งเปาก็ใช้การออนไลน์เข้ามาช่วยได้ ดีมากกว่าการให้ซองให้เงินกันโดยตรง ดังนั้น สิ่งดีๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น ขอให้เริ่มต้นกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ฝากทุกคนดูแลกันภายในครอบครัวซึ่งถือเป็นหัวใจของประเทศชาติและสังคมด้วย 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"