แนะตรุษจีนตั้งการ์ดสูง สั่งกวาดล้างปาร์ตี้มั่วสุม


เพิ่มเพื่อน    

 

ไทยติดเชื้อใหม่ 809 ราย ศบค.เล็งปรับค้นหาเชิงรุกสมุทรสาครใช้วิธีสุ่มตรวจ แนะตรุษจีนวันรวมญาติ ยกการ์ดสูงงดแอลกฮอล์ลดเสียงดัง แจกอั่งเปาออนไลน์ ผบ.ทสส.แจงคำสั่งห้ามชุมนุมฉบับล่าสุด ปรับเข้มตามพื้นที่ควบคุม ตร.รับลูกสั่งกวาดล้างปาร์ตี้มั่วสุมฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 809 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 796 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 45 ราย ในจำนวนนี้พบที่ จ.ตาก 5 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 751 ราย ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร 750 ราย แบ่งเป็นคนไทย 201 ราย, แรงงานเมียนมา 549 ราย และราชบุรีอีก 1 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 22,058 ราย หายป่วยสะสม 14,798 ราย อยู่ระหว่างรักษา 7,181 ราย ในจำนวนนี้อาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 8 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 79 ราย
    อย่างไรก็ตาม สำหรับที่ จ.สมุทรสาคร การค้นหาเชิงรุกยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จะค้นหาต่อไปเป็นสัปดาห์ แต่ถ้าค้นหาวันละหมื่นรายจะใช้งบประมาณวันละ 20 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อย จึงต้องมาดูว่าจะทำให้ทุกอย่างสมดุลกันอย่างไร ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก จึงมีการพูดคุยกันว่าถ้าไม่ไปค้นหาเชิงรุก มีช่วงเว้นว่าง เราต้องหาคำตอบมาบอกกับประชาชนว่าตัวเลขจะทรงตัวหรือลดลง ทีมสมุทรสาครกับกรมควบคุมโรคพยายามนำหลักวิชาการมาศึกษา โดยทั่วไปถ้ามีคน 1 แสน ไม่ใช่ต้องค้นหาทั้ง 1 แสน เพราะค่าใช้จ่ายจะมาก เราจะใช้ระบบควบคุมโรคจากนั้นไปสุ่มหา เพราะเรารู้ระยะเวลาฟักตัวของโรคที่มี 14 วัน จึงมีคำถามว่าการไปค้นหาทุกวันจะมีประโยชน์อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกัน ซึ่งจะนำชุดข้อมูลมาให้ประชาชนทราบ
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สัปดาห์หน้าเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ยังต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนต่อไป ต้องระมัดระวัง เรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งเรื่องการจับจ่ายใช้สอยซื้อของไหว้ การไหว้เจ้า ต้องพยายามล้างมือและสวมหน้ากากอนามัย สัมผัสสิ่งต่างๆ การรวมญาติต้องรักษาระยะห่าง สามารถพบเจอกันได้ แต่ต้องสวมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัย หรือถ้าจะใช้ระบบออนไลน์พบกันก็ได้ จะได้ไม่ต้องเดินทาง ส่วนเรื่องอั่งเปาก็ใช้การออนไลน์เข้ามาช่วยได้ ดีมากกว่าการให้ซองให้เงินกันโดยตรง
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่าถ้าพิจารณาตามสถานการณ์ประเทศไทยวางแผนการฉีดวัคซีนแพร่หลายในเดือน มิ.ย. โดยเป็นวัคซีนจากแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ รวมกว่า 61 ล้านโดส ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร แต่ที่เราต้องหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ เพื่อมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากมีการระบาดที่สมุทรสาคร ภาคตะวันออกก่อนหน้านี้ แต่วันนี้สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าดีขึ้น สามารถคุมการระบาดได้ ร่วมกับการค้นหาเชิงรุก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องได้วัคซีนมาก่อนแผนเดิมในเดือน มิ.ย.ก็ได้ ยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนไม่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม วัคซีนล็อตอื่นที่จะได้มานอกเหนือจาก 61 ล้านโดสนั้น ตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผยข้อมูล อะไรที่ได้มาเพิ่มนอกเหนือจากแผนเดิมในเดือน มิ.ย.ก็ดี เต็มที่ถ้าจะได้มาคือ 2 ล้านโดส แต่หากมีความชัดเจน โดยวัคซีนส่งออกจากประเทศผู้ผลิตมายังประเทศไทยเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบทันที   
    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในคลัสเตอร์โต๊ะแชร์มหาสารคาม ซึ่งเป็นการระบาดแบบกลุ่มก้อน จึงจำเป็นที่ต้องคุมเข้มเมื่อต้องรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากที่อยู่ในประเทศไทย ได้ถือปฏิบัติประเพณีของบรรพบรุษมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เซ่นไหว้บรรพบุรุษ การนัดรวมตัวกันระหว่างญาติมิตร หรือมีการจัดงานเลี้ยงที่เป็นการรวมตัวของคนจำนวนมาก จึงขอให้คุมเข้มยกการ์ดสูง โดยปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการพูดคุยเสียงดัง   
    วันเดียวกัน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ศปม.) เปิดเผยถึงการออกประกาศเรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับที่ 3 ว่า เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนดระดับและเปลี่ยนแปลงพื้นที่การควบคุม และเจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องห้ามไม่ให้มีการมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ห้ามชุมนุม และบ่อนการพนัน หรือทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันในทุกพื้นที่ ให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุข
    ขณะเดียวกัน ยังคงดำรงความเข้มงวดการเข้าและออกในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดคือ จ.สมุทรสาคร ส่วนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ จะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และย้ำห้ามทำกิจกรรมรวมกลุ่ม มั่วสุม ชุมนุม ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ตามที่แต่ละจังหวัดกำหนดเวลาไว้ แต่ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ จะใช้ความร่วมมือ และหากพบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น จะแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้สั่งดำเนินการขั้นเด็ดขาด โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม ส่วนพื้นที่ชายแดน เข้มงวด ลาดตระเวน สกัดกั้น แรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ ศปม 5.31/73 ลงวันที่ 1 ก.พ. ถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 1-9 ใจความอ้างถึงข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 18) ผ่อนคลายการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์และการบังคับใช้บางมาตรการตามลำดับขั้นตอนและตามสภาพของพื้นที่ เพื่อให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบต่างๆ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ก.พ.2564 เป็นต้นไป
    เพื่อให้การดำเนินการตามข้อกำหนดฯ ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผบ.ตร. จึงกำชับให้ทุกหน่วยดำเนินการ ดังนี้ 1.ศึกษาข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 18 ให้เข้าใจว่าพื้นที่รับผิดชอบของตนถูกกำหนดเป็นพื้นที่สถานการณ์ใด ระหว่าง (1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (3) พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพในพื้นที่รับผิดชอบของตน 2.ให้ชุดตรวจร่วม สายตรวจจักรยานยนต์ และฝ่ายสืบสวน ระดมกำลังสุ่มตรวจสอบ ออกตรวจในเขตพื้นที่รับผิดชอบและกวดขันจับกุมสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับบาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด ร้านจำหน่ายสุรา และอื่นๆ ที่เปิดให้บริการหรือเปิดเกินกำหนดเวลา
    3.ให้สืบสวนหาข่าวทางโซเชียลมีเดียในการนัดรวมตัวของกลุ่มบุคคลเพื่อทำกิจกรรมหรือมั่วสุม โดยเน้นการจัดปาร์ตี้ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น โรงแรม หอพัก คอนโดมิเนียม บ้านเช่า ร้านอาหาร สถานบริการ ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบ วัน เวลา และสถานที่ในการนัดหมาย เพื่อจะได้วางมาตรการในการป้องกันและสืบสวนจับกุม 4.ให้มีคำสั่งมอบหมายผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติให้ชัดเจน รวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด อย่าให้เกิดข้อบกพร่องในกรณีดังกล่าว 5.ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบใดๆ โดยเด็ดขาด 6.เมื่อมีผลการจับกุมหรือผลการปฏิบัติให้ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยให้ประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับแจ้งทางสายด่วนหมายเลข 1599 หรือ 191.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"