เดนมาร์กกับบทบาทพ่อค้าทาสแอฟริกัน


เพิ่มเพื่อน    

(ภาพเขียนโรงงานน้ำตาลและไร่อ้อยบนเกาะเซนต์โทมัส อาณานิคมของเดนมาร์กในทะเลแคริบเบียน (เครดิต : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดนมาร์ก))

 

 

      ในชุดบทความชาติยุโรปกับธุรกิจค้าทาสแอฟริกันที่ผมได้ทยอยเขียนลงในหน้าคอลัมน์แห่งนี้เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ยังคงขาด “เดนมาร์ก” ผู้เล่นสำคัญในธุรกิจนี้ไปอีกราย จึงขออนุญาตเรียบเรียงเนื้อหาจากเว็บไซต์ต่างประเทศนำเสนอแด่ท่านผู้อ่านในวันนี้

      เดนมาร์กกระโจนเข้าสู่วงไพบูลย์แห่งการค้าทาสแอฟริกันและตั้งอาณานิคมหมู่เกาะเวสต์อินดีสในทะเลแคริบเบียนเพราะเห็นตัวอย่างความสำเร็จของชาติยุโรปอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน และเนเธอร์แลนด์ รวมถึงสวีเดนเพื่อนบ้านไม้เบื่อไม้เมาที่นำหน้าในธุรกิจนี้ไปก่อนด้วยการสร้างอาณานิคมในอเมริกาเหนือเมื่อ ค.ศ.1638

      ช่วงเวลานั้นเดนมาร์กยังคงเป็นทองแผ่นเดียวกับนอร์เวย์ ในชื่อ “ราชอาณาจักรเดนมาร์ก” (ค.ศ.1536–1814) หรืออาจเรียกอีกชื่อว่า “เดนมาร์ก-นอร์เวย์”

      เดนมาร์กเป็นอีกหนึ่งชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องการเดินเรือ พวกเขาเข้าไปตั้งอาณานิคมในโกลด์โคสต์ ชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา แถวๆ ประเทศกานาในปัจจุบัน เมื่อราวๆ ปี ค.ศ.1660 มีท่าเรือค้าขายอย่างน้อย 8 ท่า แรกเริ่มค้าขายทองและงาช้างเป็นหลัก แล้วจึงค่อยเบนเข็มไปค้าขายทาสผิวดำ

      บริษัทเดนิชเวสต์อินเดียได้ถือกำเนิดขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกนโดยพระบรมราชานุญาตจาก “พระเจ้าคริสเตียนที่ 5” เมื่อปี ค.ศ.1671 และได้เข้าตั้งอาณานิคมบน “เกาะเซนต์โทมัส” พร้อมแรงงานติดพันธสัญญาจำนวนหนึ่งในปี ค.ศ.1672 จากนั้นได้ “เกาะเซนต์จอห์น” ในปี ค.ศ.1718 และ “เกาะซังต์คัวซ์” ซื้อจากบริษัทเฟรนช์เวสต์อินเดียของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1733 เรียกรวมกันว่า “เดนิชเวสต์อินดีส” ขณะที่ในชั้นเรียนของประเทศเดนมาร์ก ครูสอนให้เด็กเรียกว่า “เกาะน้ำตาล”

      ทั้ง 3 เกาะนี้มีพื้นที่ไม่มากแต่ปลูกอ้อยผลิตน้ำตาลทำกำไรมหาศาล ความต้องการแรงงานทาสจึงมีสูง และทาสที่ขนมาจากแอฟริกามีอายุอยู่บนเกาะเฉลี่ยเพียง 5 ปีเพราะโรคภัยและการถูกใช้แรงงานอย่างหนัก อัตราการตายมากกว่าการเกิดใหม่ นอกจากความต้องการทาสที่ขนมาโดยตรงจากแอฟริกามีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เจ้าของไร่ก็ยังสามารถซื้อแรงงานทาสผิวดำจากเกาะอื่นๆ ในทะเลแคริบเบียนอีกด้วย

      หลังการขึ้นฝั่งของทาสแอฟริกัน พวกเขาส่วนมากถูกจับแยกไปตามไร่ต่างๆ ตามที่เจ้าของไร่ได้ประมูลซื้อไป มีจำนวนน้อยที่โชคดี ผัว-เมีย และ พ่อ-แม่-ลูก ถูกซื้อไปอยู่ในสถานที่เดียวกัน แม้ว่าบางครั้งโชคจะอยู่กับพวกเขาไม่นาน เพราะเจ้าของไร่อาจต้องขายปลีกทาสออกไปเป็นรายคนให้กับนายทาสคนใหม่

      มีการแยกทาสออกเป็นประเภทและลำดับชั้น ได้แก่ ทาสในไร่และโรงงานน้ำตาล ถือเป็นทาสชั้นต่ำสุด ทำงานหนักที่สุด, ทาสแรงงานฝีมือ เช่น ช่างไม้ ช่างเหล็ก ถือว่าถ้าเอาไปใช้งานในไร่ก็ไม่คุ้มเท่ากับให้ทำงานตามความถนัด, ทาสรับใช้ในบ้าน ทาสกลุ่มนี้หนีไม่พ้นผู้หญิง มีหน้าที่ทำอาหาร ทำงานบ้าน รวมไปถึงเลี้ยงดูลูกเจ้าของไร่ และบางกรณีถูกนายทาสข่มขืนกระทำชำเรา อาจตั้งท้องและให้กำเนิดบุตรออกมา ฝ่ายเจ้าของไร่ก็ได้แรงงานทาสเพิ่มโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ

      สุดท้ายคือ “บอมบา” ทาสระดับสูงสุด ได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลทาสประเภทอื่น นอกจากสั่งงานแล้วก็ยังสามารถลงโทษทาสระดับล่างลงไปได้ด้วย อีกทั้งส่งผลดีไปยังครอบครัวของบอมบา เช่น ลูกสาวของบอมบาอาจไม่ต้องไปใช้แรงงานหลังขดหลังแข็งกรำแดดทนฝนในไร่ เพราะส่วนมากจะได้รับใช้เจ้านายในบ้านหลังใหญ่ แต่ก็ต้องลุ้นเอาเองว่าจะถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่

      คนเราเมื่อถูกกดขี่ข่มเหงเป็นระยะเวลานานๆ เมื่อมีโอกาสก็มักจะระบายออกมาเป็นความรุนแรง การก่อจลาจลเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1733 บนเกาะเซนต์จอห์น เจ้าของไร่อ้อยหลายแห่งถูกฆ่ายกครัวโดยพวกทาสผิวดำ เหตุการณ์ลุกฮือนี้กินเวลาหลายเดือนกว่าฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสและสวิสจากเกาะมาตินีคจะถูกส่งมาช่วยและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

      ปี ค.ศ.1755 “พระเจ้าเฟรดเดอริกที่ 5” ได้ทรงกำหนดระเบียบให้นายทาสถือปฏิบัติ เช่นว่า ไม่ให้มีการแยกเด็กออกจากครอบครัวทาส รวมถึงให้สิทธิในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยหรือชรา โดยรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมนั้นๆ ข้อแม้เช่นนี้ทำให้การปฏิบัติต่อทาสอย่างถูกทำนองคลองธรรมไม่เกิดขึ้นจริง

      อย่างไรก็ตาม วันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1792 “พระเจ้าคริสเตียนที่ 7” มีพระบรมราชโองการให้หยุดการขนส่งทาสจากแอฟริกาไปยังเวสต์อินดีสโดยให้มีผลในปี ค.ศ.1803 ทำให้เดนมาร์กเป็นชาติแรกในยุโรปที่แบนการขนส่งทาส อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานทาสยังคงมีอยู่ต่อไป รวมถึงการหาซื้อทาสจากอาณานิคมชาติอื่นในทะเลแคริบเบียน

      ระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1830–1840 อุตสาหกรรมน้ำตาลจากหัวบีทได้เข้ามาทำให้น้ำตาลจากอ้อยมีกำไรลดน้อยลง อีกทั้งมีตัวอย่างของอังกฤษที่ได้ออกพระราชบัญญัติยกเลิกระบบทาสในปี ค.ศ.1833 ในอาณานิคมหมู่เกาะเวสต์อินดีสซึ่งมีผลในปี ค.ศ.1840 ทำให้เดนมาร์กเริ่มมีการนำประเด็นนี้มาพูดคุย

      ว่ากันว่าภริยาของ “ปีเตอร์ ฟอน โชลเทน” ผู้ว่าการอาณานิคมเดนิชเวสต์อินดีส นาม “แอนนา เอลิซาเบธ ฮีกอด” ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากทาสแอฟริกันเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของสามีในความพยายามที่จะปฏิรูปไปจนถึงยกเลิกระบบทาส

      ปี ค.ศ.1847 “พระเจ้าคริสเตียนที่ 8” มีพระบรมราชโองการให้เด็กที่ถือกำเนิดจากแม่ผู้เป็นทาสไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป และทรงกำหนดให้มีการเลิกทาสแบบค่อยๆ ผ่อนปรนทีละนิด โดยให้หมดไปในอีก 12 ปีนับจากวันประกาศ ทว่าพระบรมราชโองการนี้ไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งฝ่ายทาสและเจ้าของทาส

      เหตุการณ์บนเกาะมาตีนิคและกัวเดอลูปที่ทางฝรั่งเศสกำหนดจะเลิกทาสใน 2 เดือนถัดไปนับจากวันลงนาม 28 เดือนเมษายน 1848 แต่ประชาชนรอไม่ไหว เกิดการจลาจลขั้นรุนแรง ทำให้การเลิกทาสสำเร็จเร็วขึ้นประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้บรรดาทาสบนเกาะของเดนมาร์กไม่ต้องการรอเช่นกัน การลุกฮือ ประท้วง ก่อจลาจล วางเพลิง เกิดขึ้นทุกหัวระแหงบนเกาะซังต์คัวซ์ เพื่อป้องกันการนองเลือดและความเสียหายที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ วันที่ 3 กรกฎาคม 1848 “ปีเตอร์ ฟอน โชลเทน” ประกาศเลิกทาสโดยให้มีผลทันที แม้ว่าในฐานะผู้ว่าการอาณานิคมจะไม่มีอำนาจในการประกาศเลิกทาสก็ตาม ซึ่งในเวลาต่อมาเขาถูกเรียกตัวกลับเดนมาร์ก โดนตั้งข้อหาขายชาติและถูกระงับเงินบำนาญ

      ระหว่างปี ค.ศ.1671–1803 รวม 132 ปี เดนมาร์กขนทาสไปยังอาณานิคมในทะเลแคริบเบียนประมาณ 120,000 คน คิดเป็นจำนวนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับปริมาณทาสแอฟริกันที่ขนส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในช่วงการค้าทาสอันยาวนานเกือบ 400 ปีของยาวยุโรปที่รวมแล้วอาจมีมากถึง 20 ล้านคน แต่เมื่อเทียบกับประชากรในประเทศเดนมาร์กที่มีประมาณ 1 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าวก็นับว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

      จากเอกสารในปี ค.ศ.1770 รัฐบาลกรุงโคเปนเฮเกนได้มีคำถามไปยัง “นีล ไรเบิร์ก” พ่อค้าคนดังของเดนมาร์กในเวลานั้นถึงความสำคัญของเดนิชเวสต์อินดีส ไรเบิร์กตอบกลับไปว่า “จนถึงตอนนี้เวสต์อินดีสคือสาขาทางการค้าของเดนมาร์กที่สำคัญกว่าอาณานิคมใด” และ “เกาะซังต์คัวซ์ถือเป็นอัญมณีล้ำค่าที่สุดของทั้งหมด”

      หลังการเลิกทาสในเดนิชเวสต์อินดีสเมื่อปี ค.ศ.1848 เจ้าของไร่เรียกร้องค่าชดเชยจากการเสียแรงงานทาสหรือเรียกได้ว่าเป็นทรัพย์สินของพวกเขา รัฐบาลเดนมาร์กยอมจ่ายให้กับเจ้าของไร่ในอัตรา 50 ดอลลาร์ต่อทาส 1 คนที่ได้สูญเสียไปจากการเลิกทาส

      ในส่วนของทาสที่กลายเป็นไท ชีวิตของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากนัก ส่วนใหญ่ก็ทำงานรับจ้างในไร่เดิมโดยได้ค่าแรงเพียงเล็กน้อย หรืออยู่ในรูปแบบการแบ่งปันผลผลิตกับเจ้าของไร่ สภาพของแรงงานทาสรูปแบบใหม่นี้ดำเนินไปอีกราว 30 ปี จนมีการจลาจลที่เรียกว่าการเผาครั้งใหญ่ ทำให้ไร่อ้อยวายวอดไป 51 แห่งทั่วเกาะซังต์คัวซ์

      เดนิชเวสต์อินดีสมีสภาพทรุดโทรมลงไปในทุกด้านหลังจากอุตสาหกรรมน้ำตาลไม่ทำกำไร เดนมาร์กต้องการเดินออกไปอย่าง “แมวอ้วน” ที่กินจนอิ่มแล้ว จึงคิดปลดเปลื้องภาระจากอาณานิคมที่หมดผลประโยชน์ ความพยายามขายทิ้งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1867 และ 1902 แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายสหรัฐอเมริกาก็ซื้อไปครอบครองเมื่อปี ค.ศ.1917 ในราคา 25 ล้านเหรียญฯ (ในรูปแบบทองคำแท่ง) ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์สงคราม แล้วจัดการเปลี่ยนชื่อเป็น U.S. Virgin Islands

      การเคลื่อนไหวของลูกหลานอดีตแรงงานทาสสำหรับคำขอโทษและการเรียกร้องค่าเสียหายมีมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ในโอกาสครบรอบกึ่งศตวรรษการเปลี่ยนถ่ายจากเดนมาร์กไปอยู่ในมือสหรัฐเมื่อปี ค.ศ.1967 มีการพบปะกันของหลายฝ่าย แต่ไม่มีคำขอโทษและการชดใช้ใดๆ เกิดขึ้น

      เป็นที่น่าประหลาดใจที่เดนมาร์กคือประเทศผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายเรื่อง ตั้งแต่ออกกฎหมายเลิกขนส่งทาสก่อนชาติอื่น เป็นประเทศแรกที่รับรองการครองคู่ของคนเพศเดียวกัน เป็นชาติเป็นกลางในสงคราม รวมทั้งการเปิดประเทศให้กับผู้อพยพลี้ภัยจากทั่วโลก แต่กับเรื่องอาชญากรรมทำลายล้างทางมนุษยธรรมขั้นสูงสุด แค่คำขอโทษรัฐบาลเดนมาร์กก็กล่าวออกมาไม่ได้

       “แอสทริด นอนโบ แอนเดอร์สัน” นักวิชาการชาวเวอร์จินไอแลนด์ (เดนิชเวสต์อินดีสเดิม) ได้ทำวิจัยทางรัฐศาสตร์เกี่ยวกับการสำนึกผิดและการขอโทษ ให้เหตุผล 4 ประการว่าทำไมเดนมาร์กไม่ต้องการกล่าวคำขอโทษ ได้แก่ 1.ประวัติศาสตร์ช่วงการล่าอาณานิคมดังกล่าวไม่ปรากฏหรือผ่านการรับรู้และเข้าใจของชาวเดนมาร์ก จึงไม่มีแรงกดดันจากในประเทศ 2.รัฐบาลเดนมาร์กคงกลัวว่าการขอโทษจะนำไปสู่การจ่ายเงินชดเชย เหมือนเช่นที่ “นีรัป ราสมุสเซิน” อดีตนายกรัฐมนตรีของพวกเขากล่าวขอโทษต่อชาวกรีนแลนด์ซึ่งทำให้ต้องจ่ายเงินสร้างสนามบินให้กรีนแลนด์ 3.เดนมาร์กรอมติจากสหประชาชาติเกี่ยวกับคำขอโทษและการชดเชยซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่เคยได้รับประโยชน์จากการค้าทาสออกเสียงคัดค้าน และ 4.เวลานี้เวอร์จินไอแลนด์เป็นของสหรัฐ เดนมาร์กจึงอ้างการไม่แทรกแซงกิจการของชาติอื่น

      ฝ่ายเรียกร้องมองว่าในกรณีการค้าทาสและการใช้แรงงานทาสแอฟริกันของเดนมาร์กนั้นไม่เหมือนกับชาติอย่างอังกฤษ สเปน โปรตุเกส หรือฝรั่งเศส ที่หากต้องชดใช้ให้กับลูกหลานของอดีตทาสขึ้นมาจริงๆ ประเทศที่ว่ามาเหล่านี้อาจถึงขั้นล้มละลายเพราะทั้งจำนวนทาสและผลประโยชน์ที่เคยรับไปนั้นมากมายมหาศาล แต่สำหรับเดนมาร์กที่ครอบครองดินแดนขนาดเล็ก มีทาสไม่มาก ยิ่งในวันประกาศเลิกทาสมีทาสเหลืออยู่เพียง 35,000 คน การสืบย้อนลำดับการสืบสายเลือดไปยังทาสตัวจริงในอดีตเพื่อชดใช้ให้กับอนุชนคนรุ่นปัจจุบันย่อมทำได้ไม่ยากเพราะมีหลักฐานบันทึกไว้มากมาย และเดนมาร์กยังสามารถเรียกให้นอร์เวย์มาช่วยแบ่งเบาภาระได้ด้วยในฐานะที่เคยรับประโยชน์อยู่ด้วยกัน (นอร์เวย์แยกตัวออกจากเดนมาร์ก ปี ค.ศ.1814)

      ในปี ค.ศ.1998 โอกาสครบรอบ 150 ปีการเลิกทาสในอาณานิคมเวสต์อินดีสของเดนมาร์ก รัฐมนตรีต่างประเทศของพวกเขาในขณะนั้นปฏิเสธข้อเรียกร้องให้กล่าวคำขอโทษต่อการค้าทาส โดยบอกว่า “มีประโยชน์อะไรในเวลานี้สำหรับคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าทาสจะต้องไปขอโทษคนที่ไม่เคยเป็นทาส”

      การรณรงค์เคลื่อนไหวของชาวยูเอสเวอร์จินไอแลนด์ได้เข้าไปถึงระดับรัฐสภาของเดนมาร์กเมื่อปลายปี ค.ศ. 2013สมาชิก “แนวร่วมเรด-กรีน” ซึ่งอยู่ฝ่ายรัฐบาลหยิบยกขึ้นมาสู่การพิจารณาให้รัฐบาลมีแถลงการณ์เผยแพร่คำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อพลเมืองอดีตอาณานิคมของพวกเขา

      โฆษกพรรคประชาชนชาวเดนิช ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดมีที่นั่ง 22 เสียงจาก 175 เสียงในสภาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่าเดนมาร์กไม่ควรต้องไปรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีก่อน

      ฝ่ายรัฐมนตรีต่างประเทศก็กล่าวว่า “เรารู้ดีว่าเป็นส่วนดำมืดของประวัติศาสตร์ของเดนมาร์ก แต่มันก็นานเกินไปที่จะกล่าวขอโทษหรือชดเชยความเสียหาย” และ “เราต่อต้านการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสในทุกรูปแบบ แต่ไม่สมเหตุสมผลที่จะต้องไปขอโทษให้กับนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมานานแล้ว”

      หลังเปลี่ยนมือจากเดนมาร์กไปอยู่ในความครอบครองของสหรัฐครบ 100 ปีเมื่อ ค.ศ.2017 มีการสำรวจความคิดเห็นชาวเดนมาร์ก ผลปรากฏว่าประชาชนร้อยละ 49 เท่านั้นที่สนับสนุนการกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ และชาวเดนมาร์กถึงร้อยละ 30 ยังคัดค้าน

      เราจึงอาจต้องทำความเข้าใจระดับจิตใจของพวกเขาเสียใหม่.

 

***********************

 

อ้างอิง :

 

- en.natmus.dk/historical-knowledge/historical-themes/danish-colonies/the-danish-west-indies

 

- thecaribbeanradio.com/former-usvi-senator-presents-arguments-for-danish-reparations-and-apology

 

- stthomassource.com/content/2013/12/11/denmark-nixes-slavery-apology-reparations

 

- sciencenordic.com/criminality-denmark-ethics/denmark-cannot-apologise-for-slave-trade/1375831

 

- virginislandsdailynews.com/opinion/the-woman-behind-emancipation-in-the-danish-west-indies

 

- persee.fr/doc/outre_0300-9513_1975_num_62_226_1826#outre_0300-9513_1975_num_62_226_T1_0209_0000

 

- viconsortium.com/VIC/?p=51007

 

- en.wikipedia.org/wiki/Danish_West_Indies#Slavery_and_property_rights

 

- en.wikipedia.org/wiki/Danish_overseas_colonies

 

- en.wikipedia.org/wiki/Atlantic_slave_trade

 

/////

 

ภาพเขียนโรงงานน้ำตาลและไร่อ้อยบนเกาะเซนต์โทมัส อาณานิคมของเดนมาร์กในทะเลแคริบเบียน (เครดิต : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดนมาร์ก) 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"