ผ่าร่าง พรบ.ตำรวจฯ ฉบับตัดตอน


เพิ่มเพื่อน    

      น่าเสียดายที่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ของกรรมการชุดอาจารย์มีชัยได้ออกแบบไว้แล้ว แต่มาไม่ถึงรัฐสภา ถูกนำไปแก้ไขโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียก่อน...อยากเห็นต้นร่างที่กรรมการชุดดังกล่าวออกแบบไว้ให้มาถึงรัฐสภา แล้วใครจะเสนอขอแก้ไขเรื่องอะไรก็เสนอเข้ามา แต่ว่ามันไปถูกตัดตอนเสียก่อน

 

ผ่าร่าง พรบ.ตำรวจฯ ฉบับตัดตอน

ปฏิรูปวงการสีกากีได้หรือไม่?

      การปฏิรูปตำรวจซึ่งเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ที่หลายฝ่ายติดตามกันมาตลอดหลายปีตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.มาถึงจังหวะสำคัญ เพราะการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องทำผ่านการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ  แต่ที่ผ่านมามีการมองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้มีอำนาจในฝ่ายรัฐบาลตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงรัฐบาลปัจจุบันไม่เอาจริงกับเรื่องการปฏิรูปวงการสีกากี จนทำให้ที่ผ่านมาหลายปีการปฏิรูปตำรวจวนอยู่ในอ่าง ถูกมองว่ามีการซื้อเวลามาตลอด อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 19 ม.ค.64 ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... และล่าสุดร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาวันอังคารที่ 9 ก.พ.นี้ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณารับหลักการในวาระแรก

        คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา-โฆษกวิปวุฒิสภา และอดีตคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นประธาน ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวเพื่ออธิบายที่มาที่ไปของเรื่องนี้ รวมถึงทัศนะต่อร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ในประเด็นสำคัญๆ 

      เริ่มต้นที่ สว.คำนูณ ลำดับความเป็นมาในการต้องออกกฎหมายฉบับนี้ว่า การที่ต้องมีการออกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ก็เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 258 ง.(4) ที่ให้มีการปฏิรูปตำรวจภายในหนึ่งปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้เลยเวลามามากแล้ว โดยบรรดาเรื่องการปฏิรูปทั้งหมด รัฐธรรมนูญเขียนโดยเน้นว่าการปฏิรูปตำรวจสำคัญที่สุด เพราะการปฏิรูปด้านอื่นรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะเป็นผู้จัดทำแผนการปฏิรูป 11 ด้าน แต่มีการปฏิรูปสองด้านที่เขียนแยกออกมาเป็นการเฉพาะโดยบัญญัติระยะเวลาและกระบวนการพิเศษเอาไว้ นั่นคือการปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปการศึกษา

      การปฏิรูปตำรวจ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ส่วนการปฏิรูปการศึกษาให้ทำภายในสองปี ซึ่งทั้งสองด้านมีการกำหนดกระบวนการให้มี คณะกรรมการพิเศษ ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นการเฉพาะ เมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับ รัฐบาล คสช.ก็ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตาม รธน. มีพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์  อดีต ผบ.ทสส.เป็นประธาน โดยทำเสร็จภายในระยะเวลาใกล้ครบหนึ่งปีของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือประมาณเดือนมีนาคม 2561 เมื่อส่งไปถึงคณะรัฐมนตรี ครม.ก็มีมติรับหลักการ โดยมีข้อสังเกตหลายประการและให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา โดยมีท่านมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวมีกรรมการกฤษฎีกาอยู่ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งไม่ได้มาจากกรรมการกฤษฎีกา  ทำให้กรรมการชุดดังกล่าวคล้ายเป็นกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ที่ได้รับข้อสังเกตจาก ครม.และรับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ จากพลเอกบุญสร้าง ซึ่งพลเอกบุญสร้างได้เข้าไปเป็นกรรมการชุดพิเศษดังกล่าวด้วย จนมีการยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาฯ ขึ้นมา โดยพิจารณาเสร็จประมาณต้นปี 2562 และส่งไปให้รัฐบาลช่วงยุค คสช.  

      ...ระหว่างนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ หลายประการ จนต่อมามีการเลือกตั้งใหญ่เมื่อมีนาคม 2562 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนประชุมร่วมรัฐสภาแถลงนโยบายรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็บอกต่อที่ประชุมว่าจะเข้ามาดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองและจะเดินหน้าปฏิรูปตำรวจ

      ต่อมาช่วงสิงหาคม 2562 นายกรัฐมนตรีก็ตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ โดยยังตั้งอาจารย์มีชัยเป็นกรรมการ รวมถึงกรรมการคนอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นชุดเดิมที่พิจารณาตอนช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2562  และต่อมากรรมการก็เชิญตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาชี้แจงข้อที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฯ ที่ทำไว้ก่อนหน้านั้น ในที่สุดก็เสร็จและส่งไปยัง ครม.เมื่อประมาณต้นปี 2563

      ต่อมาคณะรัฐมนตรีก็ส่งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ  กลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณา ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้วก็มีการทำความเห็นกลับมาว่ามีข้อไม่เห็นด้วย 14 ประเด็น จนต่อมามีการจัดประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงมิถุนายน 2563 แล้วก็ส่งร่าง พ.ร.บ.ไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไข จนต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาเสร็จก็ส่งกลับไปเข้าที่ประชุม ครม.เมื่อ 15 ก.ย.63 โดยให้กระทรวงการคลังนำไปแก้ไขรายละเอียดตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในเรื่องกองทุนแก้ปัญหาอาชญากรรม จนในที่สุดร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ได้ถูกนำเข้าที่ประชุม ครม.จนมีมติเห็นชอบอีกครั้งเมื่อ 19 ม.ค.64

      ...ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่ผ่าน ครม.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการแก้ไขจากร่างเดิมที่มาจากคณะกรรมการชุดอาจารย์มีชัยเป็นประธาน แม้จะมีการปรับแก้ไขไม่มาก แต่เป็นการแก้ไขที่กระทบในสาระสำคัญพอสมควร และรัฐบาลก็ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่วมกันในฐานะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ที่จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระในวันที่ 9 ก.พ.นี้

        คำนูณ-อดีตคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... กล่าวต่อไปว่า หากจะถามว่าทำไมรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตำรวจเป็นอันดับหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่าคณะผู้ร่าง รธน.เห็นว่า ตำรวจเป็นต้นสายธารของกระบวนการยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าหน่วยงานตรงนี้ยังมีทุกข์ เช่นตำรวจชั้นผู้น้อย ตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้าย หรือระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีเสียงครหากันอยู่เนืองๆ มันก็ยากที่จะทำให้ตำรวจที่เขาเติบโตในระบบด้วยความรู้ความสามารถอย่างเดียวจะขึ้นไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ได้ ทางคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จึงเขียนไว้ใน รธน.มาตรา 258 ง.(4) ซึ่งแม้การปฏิรูปตำรวจจะมีมุมมองของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป แต่การปฏิรูปตำรวจตาม รธน.ฉบับปัจจุบันโดยสรุปก็คือ การให้มีการปฏิรูประบบแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และใช้หลักอาวุโสประกอบกับเรื่องความรู้ความสามารถ

      ประเด็นดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในชั้นกรรมการชุดนายมีชัยก็ได้พิจารณากันว่าวัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่จะออกมาจะต้องแก้ใน 2 ทุกข์ไปพร้อมกันคือ  ทุกข์ของตำรวจกับทุกข์ของประชาชนที่ได้รับจากการปฏิบัติงานของตำรวจ

      ...ทุกข์ของตำรวจก็หมายถึง ทุกข์ของตำรวจชั้นผู้น้อย หรือตำรวจชั้นกลางโดยทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถ  อยากทำงานรับใช้ประชาชน แต่เมื่อมาเจอกับระบบแต่งตั้งโยกย้ายบางส่วนที่มันอาจขาดความเป็นธรรม เช่นถูกการแต่งตั้งข้ามหัว หรือเจอระบบอุปถัมภ์ การวิ่งเต้นแซงไปโดยตลอด หรือกระทั่งที่มีข่าวที่สื่อก็ทราบดีที่มีในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ถึงเรื่องการ ซื้อขายตำแหน่ง ที่จะมีหรือไม่มีก็ไม่ทราบ แต่ก็พูดกันมาตลอด แม้กระทั่งล่าสุดก็ยังพูดกันเป็นตัวเลขชัดเจน สิ่งนี้ก็คือทุกข์ของตำรวจที่เขาอยากทำงาน

      ส่วนทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งหน่วยงานตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด แล้วก็มีเหตุการณ์หลายอย่างที่มันฟ้องว่าองค์กรตำรวจมันเกิดปัญหาขึ้น มันเหมือนเป็นสองด้านของเหรียญ คือเมื่อตำรวจก็ยังมีทุกข์ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย หรือเมื่อไปดำรงตำแหน่งแล้วก็ไปเจอปัญหาไม่มีงบประมาณ ไม่มีกำลังคนที่เพียงพอ เลยไปเปิดโอกาสให้มีผู้ปรารถนาดีเข้ามาสนับสนุนเงินทอง ก็ทำให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบาก ส่วนทุกข์ของประชาชนก็เกิดขึ้นได้ตลอด...กรรมการชุดอาจารย์มีชัยเลยเห็นว่าต้องแก้สองด้านไปพร้อมกัน ทุกข์ของตำรวจและทุกข์ของประชาชน เพื่อขจัดสภาวะสองซื้อขาย คือหนึ่ง-การซื้อขายตำแหน่ง ที่จะมีหรือไม่มีก็ตาม แต่ต้องสร้างระบบเพื่อไม่ให้เกิดมีสภาพแบบนี้ขึ้นมา สอง-ต้องซื้ออุปกรณ์การทำงานเอง จะพบเห็นตัวอย่างได้ตลอดว่า เมื่อตำรวจไปรับตำแหน่งไปทำงานก็เจอปัญหา เช่น ค่าน้ำมันก็ไม่พอ พาหนะที่จะพาผู้ต้องหาไปศาลก็ไม่มี หรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือแม้กระทั่งทำงานที่โรงพัก อุปกรณ์บางอย่าง ต้องติดแอร์คอนดิชันเนอร์เอง มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด ที่ก็ควรแก้ปัญหาโดยจัดสรรงบประมาณและกำลังพลให้เพียงพอต่อการทำงาน ให้มีกำลังพลอยู่กับโรงพักที่ใกล้ชิดกับประชาชนให้มากที่สุด ไม่ใช่ชื่ออยู่โรงพักแต่ตัวไปตามผู้หลักผู้ใหญ่ ไปตามนักการเมือง-เศรษฐี ทั้งหมดคือภาพรวมที่นำมาสู่การยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ขึ้นมา โดยสาระสำคัญเพื่อตอบโจทย์ปฏิรูประบบการแต่งตั้งโยกย้ายก็คือ กรรมการชุดอาจารย์มีชัยก็ออกแบบให้การแต่งตั้งโยกย้าย

หลักสำคัญก็คือ ให้นำ ระบบคะแนนประจำตัวมาใช้ในการแต่งตั้งโยกย้าย ที่หมายถึงเมื่อแต่ละคนเข้ามารับราชการเป็นตำรวจ ทุกคนจะมีคะแนนประจำตัว 100  คะแนน เป็นคะแนนเต็มติดตัวอยู่ โดยแบ่งเป็นคะแนนอาวุโส 45 คะแนน คะแนนความรู้ความสามารถ 25  คะแนน คะแนนความพึงพอใจของประชาชน 30 คะแนน  เมื่อได้ลำดับแค่ไหนอย่างไรก็จัดลำดับไว้ พอถึงช่วงแต่งตั้งโยกย้ายก็เรียงไปตามลำดับนี้ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าว คะแนนอาวุโส 45 คะแนนจะมีความตายตัว คือเมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งในลำดับชั้นต่างๆ หากอยู่นานที่สุดก่อนคนอื่นก็ได้คะแนนเต็มไป 45 คะแนน ถ้าลดหลั่นกันลงไปก็ลดลงไปปีละ 5 คะแนน ส่วนความรู้ความสามารถผู้บังคับบัญชาก็ประเมิน ก็ยังมีช่องว่างที่จะใช้ดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาได้อยู่ แต่ลดลงมาเหลือ 25 คะแนน ส่วนความพึงพอใจของประชาชน 30 คะแนน

      หลักการก็คือ ให้หน่วยงานภายนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็คือสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาเป็นผู้สำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่ได้รับจากการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ ตำรวจในหน่วยงานดังกล่าวก็ได้คะแนนเท่ากันไป ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ทำให้ตำรวจแต่ละคนจะรู้ว่าตัวเองมีคะแนนเท่าใด แล้วถ้าการจัดออกมาไม่เป็นที่พึงพอใจของตนเอง หรือมีความผิดพลาดบกพร่อง ก็ให้ร้องเรียนได้ มีระบบร้องเรียนและระบบตัดสินชี้ขาด ผนวกกับมีกฎเกณฑ์จำกัดการโยกย้ายข้ามสายงานให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด จำกัดการโยกย้ายข้ามจังหวัดข้ามพื้นที่ให้น้อยที่สุด คือยังทำได้แต่ก็มีกฎเกณฑ์ควบคุมไว้เพื่อไม่ให้เกิดการวิ่งเต้น ไม่ให้เกิดสภาวะการเหาะข้ามห้วย รวมถึงการออกแบบให้โรงพักหรือสถานีตำรวจมีสามระดับ คือระดับเล็ก กลาง ใหญ่ โดยกำหนดไว้ว่าคนที่จะไปเป็นผู้กำกับการในสถานีตำรวจระดับใหญ่ ต้องผ่านการเป็นผู้กำกับการในสถานีตำรวจระดับเล็กกับกลางมาก่อนไม่น้อยกว่าสองปี นี้คือการวางหลักเกณฑ์เอาไว้ในกลุ่มปฏิรูปการแต่งตั้งโยกย้าย

      ส่วนอีกกลุ่มคือสายงานสอบสวน ก็กำหนดให้สายงานสอบสวนเป็นสายงานที่เติบโตได้ในสายงานสอบสวนที่มีแท่งงานสอบสวนของตัวเอง ให้มีผู้บังคับบัญชาสายงานสอบสวนโดยเฉพาะ ในผู้บังคับบัญชาของตำรวจก็จะมีคู่กันไป ทั้งผู้บังคับบัญชาทั่วไปกับผู้บังคับบัญชาสายงานสอบสวน เช่นในสถานีตำรวจก็จะมีผู้กำกับการสถานีตำรวจที่บริหารงานทั่วไป แต่สำหรับงานสอบสวนก็จะมีผู้กำกับสอบสวนทำงานควบคู่กันไป ดูแลเฉพาะเรื่องสำนวนหรือการทำความเห็นต่างๆ ในงานสอบสวน รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายในสายงานสอบสวนด้วย เพราะว่าปัญหาของตำรวจสายงานสอบสวนก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของตำรวจในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมามีตำรวจในสายงานสอบสวนฆ่าตัวตายหลายรายมาก เพราะมีแรงกดดัน เพราะงานหนัก และไม่มีใครอยากมาอยู่สายงานนี้

กก.พิทักษ์ระบบคุณธรรมคือ?

      คำนูณ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กรรมการชุดนายมีชัยก็ได้ออกแบบให้มีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้น คือ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือก.พ.ค.ตร. และ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ กร.ตร. โดยทำให้จากเพียงที่เคยเป็นแค่อนุกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ก็แยกออกมาเฉพาะและให้มีบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

      ขณะที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร.ตามร่างเดิมของกรรมการชุดนายมีชัย ออกแบบให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็น ก.ตร.ได้บ้าง ไม่ใช่ให้ตำรวจดูแลกันเองทั้งหมด และในส่วนของอดีตนายตำรวจที่จะเข้ามาเป็น ก.ตร.ผ่านระบบการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจด้วยกันเอง ก็ออกแบบให้มีการเลือกตั้ง ก.ตร.ที่เสรีจริงๆ โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาจัดการเลือกตั้ง และให้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงและลับ ตลอดจนขยายผู้มีสิทธิ์เลือก ก.ตร.ให้ไปถึงระดับนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรทุกคน

      หลักการดังกล่าวจะทำให้การเลือกตั้ง ก.ตร.ค่อนข้างจะเป็นอิสระ ผู้บังคับบัญชาในปัจจุบันยากที่จะไป  dominate นายตำรวจที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือก ก.ตร.จากการเลือกตั้ง ภายใต้หลักการสำคัญคือ ไม่ได้ต้องการให้ตำรวจดูแลกันเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ตำรวจมีผู้ร่วมดูแลด้วยจากส่วนงานอื่น ตรงนี้ก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกัน เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะมองว่าคนภายนอกไม่รู้เรื่องราวของตำรวจ ให้ตำรวจดูแลกันเองดีแล้ว แต่ปัญหาก็คือ เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าถ้าตำรวจดูแลกันเองมันก็เกิดปัญหา ตามร่างเดิมของกรรมการชุดอาจารย์มีชัย จึงให้คนนอกมามีส่วนร่วมดูแลพิจารณา อย่างเช่นองค์กรใหม่อย่าง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ จากเดิมที่เป็นอนุกรรมการใน ก.ตร. แต่งตั้งกันเองดูแลกันเอง แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มองว่าไม่ถูก และยังคงไม่สบายใจที่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่เสนอมายังคงให้มีกรรมการทั้งสองคณะเอาไว้ เพราะเขามองว่าตำรวจต้องเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอก ตำรวจต้องดูแลกันเอง แต่อีกมุมหนึ่งคนก็มองว่าตำรวจเป็นอิสระจากภายนอก แต่ตำรวจไม่ได้เป็นอิสระจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มันก็เป็นประเด็นปัญหาเหมือนกัน

      ส.ว.คำนูณ ย้ำว่า สำหรับประเด็นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติหลังได้รับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ จาก ครม.ไปแล้ว ก็ได้มีการแก้ไขในจุดใหญ่ๆ ก็คือ แก้ไขในระบบแต่งตั้งโยกย้าย คือไม่เอาระบบคะแนนประจำตัว โดยแก้ไขให้ใช้ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายแบบที่ใช้ในปัจจุบันเพียงแต่ปรับปรุงบ้างเล็กน้อย อยากจะเรียกว่า ระบบแบ่งกอง

      ...อยากเปรียบเทียบว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ใช้หลักอาวุโสกับความรู้ความสามารถประกอบกันในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย โดยหากถามคนสิบคน ทั้งสิบคนก็จะเห็นตรงกันว่า หากเขียนแบบนี้ก็หมายถึงว่าในแต่ละตำแหน่งที่ว่างลง เมื่อจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายใครเข้าไป ก็ต้องพิจารณาตัวบุคคลที่ใช้หลักอาวุโสประกอบกับความรู้ความสามารถ แต่ที่เป็นอยู่ปัจจุบันเขาใช้ระบบแบ่งกอง คือ 33  เปอร์เซ็นต์ ที่หมายถึงหากตำแหน่งว่าง 100 ตำแหน่ง 33  ตำแหน่งเอาไปเลยอาวุโสอย่างเดียว ที่เหลืออีก 67  ตำแหน่งถึงเอาอาวุโสประกอบกับเรื่องอื่นๆ ตรง 67  ตำแหน่งดังกล่าวเปิดช่องให้มีการวิ่งเต้น เปิดช่องให้มีกรณีอย่างอื่นที่มีข้อครหาหลายอย่าง ซึ่งเมื่อรวมกับการไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์การย้ายข้ามสายงาน ย้ายข้ามจังหวัด ย้ายข้ามพื้นที่ซึ่งชัดเจนเข้มข้น มันจึงเป็นปัญหาตรงนี้ที่ใช้กับระบบปัจจุบัน

ชำแหละระบบแต่งตั้งแบบแบ่งกอง

      ส.ว.คำนูณ กล่าวลงรายละเอียดถึงเรื่องระบบแต่งตั้งโยกย้ายตามร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขจากร่างเดิมของกรรมการชุดนายมีชัยว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังคงใช้ระบบแบ่งกอง แต่แบ่งออกเป็นสามระดับ คือ

1ในชั้นผู้บังคับบัญชาระดับสูง คือรอง ผบ.ตร.ลงมา จนถึง ผช.ผบ.ตร. ให้เป็นอาวุโสไปเลยหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

2.ระดับผู้บัญชาการลงมาจนถึงระดับผู้บังคับการ จะแบ่งกองคือ หากตำแหน่งว่าง 100 ตำแหน่ง เอาไปเลย 50  เปอร์เซ็นต์คนที่อาวุโส ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ถึงพิจารณาประกอบกัน

3.ระดับตั้งแต่รองผู้กำกับการลงมา ใช้ระบบแบ่งกอง  คือหากมีตำแหน่งว่าง 100 ตำแหน่ง 33 เปอร์เซ็นต์เอาไปเลยอาวุโส ที่เหลือ 67 เปอร์เซ็นต์ไม่ต้อง

      ...ระบบคะแนนประจำตัวของตำรวจตามร่างเดิมของกรรมการชุดอาจารย์มีชัย ถามว่ายังมีช่องโหว่ไหม ก็ยังมีอยู่เพราะที่เขียนให้ใช้หลักความรู้ความสามารถ 25 คะแนน และดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาด้วยระดับหนึ่ง แต่มันก็น้อยลง หรือแม้กระทั่งเกณฑ์การสำรวจความพึงพอใจของประชาชน หลายคนก็ถามว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร  ที่มีรายละเอียดอีกมากที่ต้องไปออกกฎหมายลำดับรองขึ้นมา แต่อย่างน้อยก็มีหลักประกันอย่างหนึ่งว่าเราได้สร้างระบบขึ้นมาใหม่

      ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามก็คือ เกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบแบ่งกองตามร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่พัฒนามาจากระบบที่ใช้ปัจจุบัน ตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง.(4) หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการร่วมรัฐสภา ที่จะตั้งขึ้นหลังร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ผ่านวาระแรก

        -หัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ  ฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา จะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่?

      ถามว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ดังกล่าวมีข้อใหม่ๆ หรือไม่ ก็ต้องถือว่ามีอยู่ เช่นคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ รวมถึงคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ที่ร่างฉบับกรรมการชุดอาจารย์มีชัยสร้างไว้ก็ยังคงอยู่ หรือการพัฒนาระบบแบ่งกองจากปัจจุบันไปเป็นระบบแบ่งกองแบบใหม่ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ แล้วระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายหลัก  ก็ถือว่าพัฒนาในระดับหนึ่ง แต่ถามว่ามันจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมดหรือไม่ ผมก็ยังเชื่อว่าน่าเสียดายที่ร่าง พ.ร.บ.ของอาจารย์มีชัยได้ออกแบบไว้แล้ว แต่มาไม่ถึงรัฐสภา ถูกนำไปแก้ไขโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียก่อน ผมไม่ได้คิดว่าสิ่งที่กรรมการชุดอาจารย์มีชัยออกแบบไว้ต้องถูกต้องทั้งหมด แต่ผมอยากเห็นต้นร่างที่กรรมการชุดดังกล่าวออกแบบไว้ให้มาถึงรัฐสภา แล้วใครจะเสนอขอแก้ไขเรื่องอะไร ก็เสนอเข้ามา แต่ว่ามันไปถูกตัดตอนเสียก่อน ไปถูกแก้ไขโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียก่อน 

      ทั้งนี้ ผมก็ไม่ได้คิดว่าร่างของกรรมการชุดนายมีชัยดีที่สุดหรือปรับปรุงแก้ไขไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าอยากเห็นสิ่งที่กรรมการออกแบบไว้ในร่างดังกล่าว ที่หลายอย่างสามารถนำมาปรับปรุงได้ให้มันอยู่ในร่างแล้วเข้ามาสู่รัฐสภา ส่วนใครไม่เห็นด้วยก็มาแก้ไขในรัฐสภา เพราะกรรมการชุดอาจารย์มีชัยก็รับไม้ต่อจากกรรมการชุดพลเอกบุญสร้าง โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและจาก ครม. โดยมีการแต่งตั้งนายมีชัยมาเป็นกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ซ้ำถึงสองครั้ง  ที่พอจะอนุมานได้หรือไม่ว่า ครม.ก็เห็นด้วยกับแนวทางของกรรมการชุดนายมีชัย แต่สุดท้ายพอตำรวจไม่เห็นด้วย กลับมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแก้ไข ซึ่งเป็นตรรกะที่แปลก

      ...เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่มีทางอื่น ก็ต้องรับหลักการ  เพราะหากไม่รับหลักการก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย  โดยเมื่อรับหลักการในวาระแรกไปแล้วและมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก็มีการแก้ไขปรับปรุงไป ประเด็นไหนไม่แน่ใจก็เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนถึงทางเลือกต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมถึงการจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากตำรวจ แต่ไม่ได้ฟังความคิดเห็นจากภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเป็นทางการเท่านั้น เพราะหากทำเช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่จะทำความเห็นเข้ามา จึงต้องดูว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีกระบวนการรับฟังความเห็นลงไปถึงนายตำรวจระดับล่าง ระดับชั้นผู้น้อย ระดับที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด พื้นที่ทุรกันดาร เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาขาดแคลนอะไร และถามว่าเขาต้องการระบบการแต่งตั้งโยกย้ายแบบไหน โดยเสนอทางเลือกให้เขาเลย  1-2-3 ทางเลือก เพื่อให้ดูว่าทางเลือกไหนดีกว่ากัน โดยต้องให้มีหลักประกันว่าการแสดงความคิดเห็นของเขาทำได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเพ่งเล็งจากผู้บังคับบัญชา โดยอาจให้สถาบันภายนอกเข้ามาจัดการรับฟังความคิดเห็นจากตำรวจทุกระดับ เช่นสถาบันพระปกเกล้า หรือสถาบันใดก็ได้

        -หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ร่าง  พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ โดยไม่มีการแก้ไขในหลักการสำคัญตามร่างที่ส่งมา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปตำรวจอย่างที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่?

      ก็คงได้บ้าง แต่จะไม่ตอบคำถามได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะว่าที่จริงหลายอย่างของร่างก็ยังมีเชื้อที่ดีที่สืบเนื่องมาจากร่างของกรรมการชุดอาจารย์มีชัยทั้งสองชุดอยู่ แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ คือ ระบบการแต่งตั้งโยกย้าย ว่าระบบแบ่งกองแบบพัฒนาแล้วตามร่างดังกล่าว  มันใช่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง.(4) จริงหรือไม่ และมันตอบโจทย์การปฏิรูปเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายได้จริงหรือไม่ ถ้าเราคิดว่าระบบการแต่งตั้งโยกย้ายคือปัญหาของสิ่งไม่ดีไม่งามที่เกิดขึ้น แล้วเราคิดจะเปลี่ยนแปลงมันจริงๆ  เราก็ต้องดู คือผมก็เคารพระบบแบ่งกองที่พัฒนาแล้วในร่างฉบับดังกล่าว แต่ก็ขอถามคำถามว่ามันตรงตาม รธน.มาตรา 258 ง.(4) หรือไม่ และมีทางเลือกอื่นที่สามารถนำมาเปรียบเทียบและสามารถนำมาปรับแก้ทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ผมจะไม่พูดว่าให้นำหลักตามร่างของกรรมการชุดอาจารย์มีชัยมาใช้ เพราะเดี๋ยวก็จะมีคำถามตามมาว่าแล้วอาจารย์มีชัยเป็นเทวดามาจากไหน แต่เอาเป็นว่าเมื่อแนวทางของกรรมการชุดนายมีชัยเขียนทางเลือกไว้ในเรื่องการใช้ระบบคะแนนประจำตัว เราก็ลองเอามาเปรียบเทียบกันดู  แล้วอาจหาทางเลือกที่ดีกว่าหรือปรับแก้ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดโดยผ่านกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้น รวมทั้งการผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะจากตำรวจเอง ที่ไม่ใช่แค่จากตำรวจชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น ถ้าเราทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้จะเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติครั้งสำคัญ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"